หญิงวัยหมดระดูเสี่ยงข้อเข่าเสื่อม องค์กรร่วมทศวรรษฯ ชวนพี่น้องชาวไทยร่วมบริจาคผ่าตัดข้อ เข่า ฉลอง 80 พรรษาในหลวง

ข่าวทั่วไป Friday January 12, 2007 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ม.ค.--พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส
ร่างกายของมนุษย์ เปรียบได้กับรถยนต์ เมื่อเกิดใหม่ ก็เหมือนสภาพรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งออกจากอู่ แต่พอนานวันเข้า เครื่องยนต์ต่างๆ ก็สึกหรอ เหมือนกับข้อ เข่า สะโพก สันหลัง ของมนุษย์ที่เสื่อมตามอายุขัยนั่นเอง หากเรามีการดูแลสุขภาพที่ดีตั้งแต่อายุยังน้อย สิ่งเหล่านี้ก็จะดำรงอยู่ได้นาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมทั่วโลกปัจจุบัน สูงถึง 2.5 แสนคนต่อปี ในประเทศไทยพบโอกาสเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าในยุโรป และในแต่ละปี มีคนไทยมากกว่า 10,000 คนเข้าคิวรอรับการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพก ขณะที่แพทย์ที่ทำการรักษาโรคนี้มีจำนวนจำกัด ทำให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมบางคนต้องรอนานตั้งแต่ 6 เดือน — 2 ปีกว่าจะได้รับการผ่าตัด
พล.ท.นพ.ธำรงรัตน์ แก้วกาญจน์ ประธานองค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทย (ค.ศ.2000 — 2010) บอกว่า โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน โดยอาจจะเสื่อมตามวัยหรือเป็นความเสื่อมที่เกิดภายหลังการบาดเจ็บ ซึ่งในประเทศไทย พบความเสื่อมของข้อต่อ ข้อเข่า และกระดูกสันหลังในผู้ป่วยจำนวนมาก ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากที่โรคนี้จะกระทบกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะเพศหญิงที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ผลการวิจัยล่าสุดของทีมวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกา ยังบอกด้วยว่า เมื่อฮอร์โมนเอสโตรเจน (ฮอร์โมนเพศหญิง) ลดระดับลงภายหลังจากหมดประจำเดือน อาจจะมีผลต่อเนื้อเยื่อรอบข้อต่อ นอกจากนี้ กิจวัตรประจำวันของผู้หญิง เช่น การนั่งพับเพียบ นั่งคุกเข่า นั่งยองๆ ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักตัวทั้งหมด ทำให้กลุ่มแม่บ้านเป็นผู้มีความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม โรคนี้ ยังพบได้ในกลุ่มคนอายุน้อยที่บาดเจ็บบริเวณหัวเข่าอย่างรุนแรง ทำให้เกิดภาวะเสื่อมได้
ทั้งนี้ ร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคข้อ มักมาพบแพทย์ด้วยอาการปวดตามข้อต่างๆ ของร่างกายที่มักจะมีอาการรุนแรงแล้ว เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไปซื้อยามาทานเอง ซึ่งอันตรายมากต่อสุขภาพในระยะยาว เพราะผู้ป่วยอาจได้รับยาที่มีสารสเตียรอยด์ปะปน ทางที่ดีผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์เมื่อเริ่มมีอาการ โดยแพทย์จะรักษาตามอาการและความรุนแรง หากผู้ป่วยมีอายุมาก หรือเพิ่งเริ่มมีอาการสึก แพทย์จะเริ่มรักษาด้วยยาก่อนเพื่อลดการอักเสบและความเจ็บปวด ตลอดจนให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวอย่างถูกต้อง ตลอดจนการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้ป่วยควรลดการใช้งานของข้อในการรับน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบหรือนั่งยองๆ ลดน้ำหนักส่วนเกินโดยการงดของหวาน และไขมันทุกชนิด แต่หากอาการปวดยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีการผ่าตัด ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยคนไทยที่ยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากโรค และรอคอยการผ่าตัดเป็นจำนวนมากกว่า 10,000 คนเข้าคิวรอรับการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพกนานกว่า 2 ปี อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดแต่ละครั้งสูงมาก
“ด้วยเหตุนี้ องค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทยจึงได้จัดทำโครงการผ่าตัดข้อเข่า-ข้อสะโพก จำนวน 81 ข้อให้แก่ผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสมหามงคลสมัยทรงครองศิริราชสมบัติ 60 ปี ในปี 2549 และจะทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษาในปี 2550 ซึ่งผู้ป่วยที่จะเข้ารับการผ่าตัดนั้น ส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ป่วยในความดูแลของกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อเป็นการแบ่งเบาพระราชภาระของพระองค์ท่าน และอีกส่วนหนึ่งจะเป็นผู้ป่วยยากจนในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ซึ่งมีข้อบ่งชี้ชัดเจนจากแพทย์ที่รักษาระบุให้ทำการผ่าตัดและติดขัดเรื่องค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด
ปัจจุบัน นับเป็นมิติที่ดีที่หลายองค์กรและหน่วยงานที่ได้ให้ความสำคัญและให้การสนับสนุนโครงการนี้ ซึ่งบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรค และรอคอยการผ่าตัดที่บางครั้งต้องรอนานนับปี สามารถกลับคืนสู่สังคมและใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ทั้งนี้ ผู้สนใจ สามารถติดต่อบริจาคเงินในโครงการนี้ โดยผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี ชื่อบัญชี “มูลนิธิแพทย์ออร์โธปิดิกส์” บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 051-2-46345-7 เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศล หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ องค์กรร่วมทศวรรษโรคกระดูกและข้อแห่งประเทศไทย โทร. 0-2354-7597 ในวันเวลาราชการ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
รุ่งฤดี นราตรีกุล วันเพ็ญ โล่ห์เลิศพิภพ
บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท พีอาร์ แอนด์ แอสโซซิเอส จำกัด
โทร: 0-2665-4761 โทร: 0-2651-8989 ต่อ 222
อีเมล์: rungruedee.naratreegul@pfizer.com อีเมล์: wanpen@prassociates.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ