อัตรา “หลักทรัพย์” ประกันตัว กฎหมายใหม่ที่ประชาชน “ควรรู้” สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม

ข่าวทั่วไป Thursday August 30, 2007 08:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กระทรวงยุติธรรม
ที่ผ่านมาเมื่อเกิดปัญหาคดีความในทางอาญา (ถูกตำรวจจับ) และต้อง “ประกันตัว” ประชาชนจะไม่สามารถทราบได้เลยว่า “อัตรา” วงเงิน หรือ หลักทรัพย์ หรือการใช้บุคคลในการประกันตัวชั่วคราวเป็นเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตำรวจ หรือ ศาล การไม่มีอัตราที่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้ประชาชนต้องเตรียมเงิน /หลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าสูงเผื่อไว้ก่อน ปัญหาตามมา หนึ่ง คือ ทำให้ประชาชนผู้ต้องคดี และญาติ โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจน เดือดร้อนจากการจัดหาเงิน หรือหลักทรัพย์ ( ต้องไปกู้เงิน หรือ ไปเช่าโฉนด ) อีกทั้งอาจตกเป็นเหยื่อขบวนการที่จ้องแสวงหาประโยชน์จากความไม่รู้ และอาจถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ เมื่อไม่รู้ประชาชนจึงไม่สามารถปกป้องสิทธิของตนเองได้
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่าเพื่อแก้ปัญหาในข้างต้นและเพื่อให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรมกับประชาชน กระทรวงยุติธรรมจึงผลักดันให้มีการ กำหนดอัตราวงเงิน/หลักทรัพย์ /บุคคล ค้ำประกันที่ชัดเจน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นมาตรฐานในการปฏิบัติร่วมกัน ทั้งในชั้นเจ้าพนักงานสอบสวนและเจ้าพนักงานอัยการ คือ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันไม่เกิน 3 ใน 4 ของวงเงินประกันที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฏีกา
ทั้งนี้ได้ประกาศเป็นกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน พ.ศ.2549 ซึ่งลงนามโดย นายกรัฐมนตรี รมว.มหาดไทย และ รมว.ยุติธรรม เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 นั้น อีกทั้งเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น กระทรวงยุติธรรมโดย นายชายชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ดำเนินการออกประกาศกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 เรื่องการกำหนดวงเงินประกัน การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกันและการใช้บุคคลเป็นประกัน ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้การเรียกประกันหรือหลักประกันผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนมีความเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี และไม่สร้างภาระแก่ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนในการที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวจนเกินควรแก่กรณี ซึ่งกระทรวงยุติธรรมได้จัดทำอัตราการกำหนดวงเงินประกาศ การกำหนดหลักทรัพย์ และการใช้บุคคลในการประกันตัว เพื่อให้ประชาชนได้ทราบและสามารถพิทักษ์สิทธิของตนเองได้
นายวิศิษฏ์ กล่าวว่า ประกาศกระทรวงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนได้ทราบว่าหากตกเป็น “ผู้ต้องหา”และต้องการประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นสอบสวนนั้นจะต้องเตรียมเงินหรือหลักทรัพย์หรือบุคคลในอัตราเท่าใดที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และทำให้ประชาชนสามารถพิทักษ์สิทธิของตัวเองไม่ให้ถูกหลอกหรือเอาเปรียบได้
ตัวอย่างเช่น คดีความผิดลหุโทษหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว อัตราขั้นสูงไม่เกินร้อยละ 37.5 ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น, คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี อัตราขั้นสูงไม่เกิน 75,000 บาท, คดีที่มีโทษจำคุกตลอดชีวิต อัตราขั้นสูงไม่เกิน 450,000 บาท,คดีที่มีโทษประหารชีวิต อัตราขั้นสูงไม่เกิน 600,000 บาท เป็นต้น
หลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกัน ได้แก่ เงินสด ที่ดินมีโฉนด ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ห้องชุด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น ส่วนการใช้บุคคลเป็นประกัน ก็จะมีการกำหนดทั้งใน กรณีผู้ขอประกันเป็นบุคคลธรรมดา เป็นนิติบุคคล เป็นส่วนราชการ และกรณีผู้ต้องหาจะทำสัญญาประกันตนเอง ก็มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนไว้แล้ว
ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า การดำเนินการเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ สำนักงานกิจการยุติธรรมได้จัดทำสรุปสาระสำคัญในรูปแบบต่าง ๆ และประสานแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสถานีตำรวจต่าง ๆ เพื่อได้ทราบและปฏิบัติโดยทั่วกันรวมทั้งการนำขึ้นเว็บไซต์ของสำนักงานกิจการยุติธรรม http:// www.oja.go.th ซึ่งประชาชนสามารถเข้ามาดูได้เพราะนี่คืออีกหนึ่งกฎหมายใกล้ตัวที่ประชาชนควรรู้
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ