เอกชนเผยหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันความเชื่อมั่น ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 50 ลดลง

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday March 21, 2007 11:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มี.ค.--ส.อ.ท.
เอกชนเผยหลายปัจจัยเสี่ยงกดดันความเชื่อมั่น ส่งผลดัชนีความเชื่อมั่นภาค อุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 50 ลดลงต่อเนื่อง ล่าสุด 30 กลุ่มอุตสาหกรรมยังน่าห่วงเสนอรัฐเร่งแก้ปัญหาความไม่สงบในประเทศ ควบคู่การกระตุ้นเศรษฐกิจและท่องเที่ยวมากขึ้น
นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 497 ตัวอย่าง ครอบคลุม 35 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาห-กรรมฯ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 82.7 จาก 83.6 ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวะการณ์อุตสาหกรรมในระดับที่ไม่ดีนัก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเห็นสอดคล้องกันว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงต่อเนื่อง เกิดจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การเมืองและความไม่สงบภายในประเทศ ปัญหาการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแรงซื้อภายในประเทศที่เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายโดยรวมปรับลดลง ประกอบกับในช่วง 3 - 4 เดือนที่ผ่านมา ระดับปริมาณสินค้าคงเหลืออยู่ในระดับเพิ่มขึ้นเนื่องจากยอดค่ำสั่งซื้อและยอดขายไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับลดปริมาณการผลิตลงเพื่อให้สอดคล้องกับยอดคำสั่งซื้อและยอดขาย ด้วยเหตุผลข้างต้นล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กดดันความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้คำนวณ พบว่า ค่าดัชนี 4 ใน 5 ปัจจัยมีการปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีโดยรวมของยอดคำสั่งซื้อ ยอดขาย ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ ปรับตัวลดลงจาก 100.6 101.5 103.1 และ 85.5 ในเดือนมกราคม เป็น 99.2 98.5 100.0 และ 85.2 ตามลำดับ ในขณะที่มีเพียงค่าดัชนีโดยรวมของ ต้นทุนการประกอบการ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 55.3 ในเดือนมกราคม เป็น 58.0 ในเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ผลสำรวจพบว่า มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับค่าดัชนีหลัก คือ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และยอดขายในต่างประเทศ ลดลงจาก 99.9 106.3 100.8 และ 103.2 ในเดือนมกราคม เป็น 96.3 103.1 94.7 และ 100.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ ในขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของราคาขาย การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต ลดลงจาก 94.0 101.0 และ 100.7 ในเดือนมกราคม เป็น 90.9 99.5 และ97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ เช่นเดียวกับค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของการลงทุนของกิจการ สินเชื่อในการประกอบการ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของโดยรวมของธุรกิจ ลดลงจาก 102.7 102.6 62.9 และ 83.2 ในเดือนมกราคม เป็น 95.6 102.4 61.1 และ 78.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของสินค้าคงเหลือ ความสามารถในการแข่งขัน และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เพิ่มขึ้นจาก 101.7 91.7 และ 46.3 ในเดือนมกราคม เป็น 101.9 93.7 และ 48.3 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ ทั้งนี้ สำหรับดัชนีโดยรวมของสภาพคล่องของกิจการ ค่าดัชนีไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนมกราคม โดยคงที่อยู่ที่ 89.5
เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมฯ โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภา อุตสาหกรรมฯ จำนวน 35 กลุ่ม พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรม 30 กลุ่ม มีค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมอย่างชัดเจน และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ที่ผ่านมา พบว่า มีอุตสาหกรรมที่มีค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 16 กลุ่มอุตสาหกรรม ลดลง 19 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมี 12 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ ลดลงจาก 116.0 เป็น 72.9 อุตสาหกรรมเคมี ลดลงจาก 94.1 เป็น 76.0 อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ลดลงจาก 99.0 เป็น 81.7 อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงจาก 97.5 เป็น 76.8 อุตสาหกรรมยานยนต์ ลดลงจาก 90.0 เป็น 76.9 อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ ลดลงจาก 106.4 เป็น 69.8 อุตสาหกรรมหนังและ ผลิตภัณฑ์หนัง ลดลงจาก 82.9 เป็น 61.1 อุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงจาก 91.1 เป็น 67.5 อุตสาหกรรมการจัดการของเสียและวัสดุเหลือใช้ ลดลงจาก 92.2 เป็น 72.0 อุตสาหกรรมน้ำตาล ลดลงจาก 121.0 เป็น 100.0 อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ลดลงจาก 92.0 เป็น 73.0 และอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ลดลงจาก 96.0 เป็น 84.0 ในทางกลับกัน มี 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซ เพิ่มขึ้นจาก 64.7 เป็น 94.5 อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เพิ่มขึ้นจาก 68.5 เป็น 85.5 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร เพิ่มขึ้นจาก 72.5 เป็น 96.2 อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เพิ่มขึ้นจาก 65.3 เป็น 76.3 อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น เพิ่มขึ้นจาก 85.6 เป็น 116.4 อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เพิ่มขึ้นจาก 48.0 เป็น 81.9 อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เพิ่มขึ้นจาก 120.0 เป็น 153.3 อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เพิ่มขึ้นจาก 50.8 เป็น 102.9 อุตสาหกรรมอาหาร เพิ่มขึ้นจาก 72.4 เป็น 87.3 และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพิ่มขึ้นจาก 89.1 เป็น 109.1
ด้านของปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกิจการในแต่ละอุตสาหกรรม ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ส่วนใหญ่ยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของสภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงราคาเชื้อเพลิงและค่าบริการสาธารณูปโภคที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ขณะที่ปัจจัยที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นดีขึ้น ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับปัจจัยที่ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นได้แก่ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และผลกระทบจาก FTA โดยรวมเช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เห็นสอดคล้องกันว่า ต้องการให้ภาครัฐเร่งแก้ปัญหาความไม่สงบในประเทศ พร้อมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคของประชาชนในประเทศมากยิ่งขึ้น ตลอดจนส่งเสริมบรรยากาศทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ควบคู่กับออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่องมากขึ้นในช่วงนี้
ในส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่แยกพิจารณาตามขนาดของกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางที่มีจำนวนแรงงาน 50 - 199 คน และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนแรงงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป มีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการอุตสาหกรรมในระดับที่ลดลงจาก 83.5 และ 92.1 ในเดือนมกราคม เป็น 82.1 และ 86.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ ขณะที่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่มีจำนวนแรงงาน 1 - 49 คน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นต่อสภาวะการประกอบการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 74.4 ในเดือนมกราคม เป็น 76.1 ในเดือนกุมภาพันธ์
สำหรับค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมแยกตามภูมิภาค พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม ยกเว้นภาคเหนือที่ทรงตัว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 78.5 และ 79.3 ในเดือนมกราคม เป็น 79.0 และ 85.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ ขณะที่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 82.8 95.4 และ 80.8 ในเดือนมกราคม เป็น 80.2 94.2 และ 78.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ ตามลำดับ ซึ่งน่าสังเกตว่าการที่ค่าดัชนีต่ำกว่า 100 ในทุกภูมิภาคเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะการชะลอตัวของภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศอย่างชัดเจน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทร. 0-2345-1013 โทรสาร 0-2345-1296

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ