พม.เผยมติสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ปี ๕๓ เสนอแนวทางกระจายอำนาจลงส่วนท้องถิ่น เน้นดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว ครอบคลุมทุกระบบ

ข่าวทั่วไป Friday April 9, 2010 17:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--พม. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ โดยมีประชากรสูงวัยเกินกว่าร้อยละ ๑๐ จึงได้มีเตรียมการและดำเนินการเพื่อจัดการกับปัญหาและพัฒนาผู้สูงอายุเรื่อยมา เช่น กำหนดให้มีแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ ๒ ( พ.ศ.๒๕๔๕ — ๒๕๖๔ ) ซึ่งเป็นแผนระยะยาว ๒๐ ปี และมีกฎหมายเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ คือ พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. ๒๕๔๖ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมระดับชาติสำหรับผู้สูงอายุ เช่น การจัดงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๖ รวมถึงการจัดสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ ที่จัดต่อเนื่องมาทุกปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๘ เพื่อดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ในการกำหนดนโยบายทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยการจัดสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติในปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๗ — ๘ เมษายน ๒๕๕๓ ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กทม. ในหัวข้อ “การบริหารจัดการงานผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น ”เพื่อเสริมสร้างแนวทางการดำเนินงานผู้สูงอายุให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยส่งเสริมสนับสนุนการแสดงความคิดเห็นและการเสนอความต้องการบริการสาธารณะของชุมชนพื้นที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๗ ซึ่งเป็นการจัดทำนโยบายสาธารณะที่เกิดจากกระบวนการทางสังคม โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคม อย่างมีจิตสำนึก เรียนรู้วัฒนธรรมการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไขปัญหาระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมไปพร้อมกัน นำไปสู่การมีข้อมูลทางเลือกประกอบการตัดสินใจทางนโยบายอย่างมีคุณภาพ รอบคอบ ยั่งยืน และเป็นธรรม นายอิสสระ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติให้หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กระจายอำนาจและส่งเสริมศักยภาพการทำงานด้านผู้สูงอายุให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยให้มีนโยบายและแผนงาน ตลอดจนโครงการในการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการงานผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่นอย่างบูรณาการ เช่น การจัดทำระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุทั่วประเทศ เชื่อมโยงกับระบบข้อมูลของท้องถิ่น เพื่อใช้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและแผนงานในการจัดสวัสดิการสังคมที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุทุกประเภท นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึงต่อเนื่องและเป็นปัจจุบัน ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ โดยการจัดตั้งโรงเรียนหรือศูนย์การเรียนรู้สำหรับผู้สูงอายุ และประสานความร่วมมือในการดำเนินงานงานด้านผู้สูงอายุในทุกระดับ โดยให้เครือข่ายมีส่วนร่วมคิด ร่วมดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาผู้สูงอายุในชุมชนที่ชุมชนแต่งตั้งขึ้น เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลในทุกด้านตลอดจนพัฒนาและริเริ่มรูปแบบการดูแลผู้สูงอายุที่ระยะยาว รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต “การดูแลผู้สูงอายุในระยะยาวนั้น นอกจากสมาชิกครอบครัวที่มีบทบาทหน้าที่โดยตรงแล้ว ชุมชน และท้องถิ่น ก็มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงเป็นหน่วยงานฐานรากที่ทำงานใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด และมีบทบาทสำคัญในการริเริ่มและดำเนินการให้เกิดความก้าวหน้า เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ควรได้รับการดูแล การเฝ้าระวัง และสอดส่องจากชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้รับโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสามารถเข้าร่วมกิจกรรมสังคมต่างๆ รวมทั้งได้รับบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง” นายอิสสระ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ