กทม.จัดพิธีศักดิ์สิทธิ์มหาพุทธาเทวาภิเษกพระเสาชิงช้า

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2007 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กทม.
กรุงเทพมหานครจัดพิธีมหาพุทธาเทวาภิเษกพระเสาชิงช้า (พระศรีศากยมุนี — พระตรีมูรติ) ที่ระลึกในงานฉลองเสาชิงช้าใหม่ พ.ศ. 2550 ณ ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) โดยมีสมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าอาวาสวัดชนะสงคราม เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พระคณาจารย์ พระเกจิ 108 รูป ที่นิมนต์มาจากทั่วประเทศนั่งปรกครั้งละ 36 รูป จนถึงเวลา 23.09 น. พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ประกอบพิธีดับเทียนชัย
การประกอบพิธีเน้นความศักดิ์สิทธิ์และเป็นมงคล
สำหรับขั้นตอนการประกอบพิธี เริ่มต้นเวลา 15.09 น. ด้วยพิธีบวงสรวงเทพยดาทั่วท้องจักรวาล โดยพราหมณ์สุเมธ พรหมชาติ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจุดธูปเทียนประกอบเครื่องบวงสรวง จากนั้น 15.45 น. พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ จำนวน 10 รูป ได้แก่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำ พระสาสนโสภณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระพรหมมุนี วัดบวรนิเวศวิหาร พระพรหมเมธาจารย์ วัดบูรณศิริมาตยาราม พระธรรมวรเมธี วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระธรรมรัตนดิลก วัดสุทัศนเทพวราราม พระเทพปริยัติมุนี วัดทองนพคุณ พระราชสุธี วัดชนะสงคราม และพระศรีรัตนโมลี วัดราชสิทธาราม ประจำอาสนะ การบูชาพระรัตนตรัย อาราธนาศีล และให้ศีลโดยสมเด็จพระมหาธีราจารย์
เวลา 15.55 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์เจิมเทียนชัย และเทียนพุทธาภิเษก 15.59 น. สมเด็จพระมหาธีราจารย์จุดเทียนชัย ขณะที่พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระคาถาจุดเทียนชัย สมเด็จพระมหาธีราจารย์โปรยข้าวตอกดอกไม้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา บัณฑิตอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์เจริญพระพุทธมนต์ ธัมมจักกัปปวตนสูตร ผู้ว่าราชการ กทม. จุดเทียนชัยมงคล และถวายเครื่องไทยธรรมแด่สมเด็จพระมหาธีราจารย์และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์
จากนั้นเวลา 17.00 น. ผู้ว่าราชการ กทม. จุดธูปเทียนหน้าพระพิธีธรรม จุดเทียนพุทธาภิเษกและเทียนนวหรคุณ พระพิธีธรรมจากวัดราชสิทธารามสวดพระคาถามหาพุทธาภิเษก พระคณะจารย์ ชุดที่ 1 จำนวน 36 รูป นั่งปรกอธิษฐานจิต 19.00 น. ผู้ว่าราชการ กทม. จุดธูปเทียนหน้าพิธีธรรมอีกครั้ง ในครั้งนี้พระพิธีธรรมจากวัดสุทัศเทพวราราม สวดพระคาถาภาณวาร พระคณาจารย์ ชุดที่ 2 จำนวน 36 รูป นั่งปรก อธิษฐานจิต จากนั้น 21.00 น. ผู้ว่าราชการ กทม. จุดธูปเทียนหน้าพิธีธรรม และพระพิธีธรรมจากวัดสุทัศเทพวราราม สวดพระคาถาจตุเวทย์ทิพย์มนต์ พระคณาจารย์ ชุดที่ 3 จำนวน 36 รูป นั่งปรก อธิษฐานจิต จนกระทั่ง 23.09 น. พระวิสุทธาธิบดี เจ้าอาวาสวัดสุทัศน์ฯ ประกอบพิธีดับเทียนชัย และประพรมน้ำมนต์ โดยใช้น้ำมนต์นครฐานสูตรกรุงรัตนโกสินทร์ 225 ปี ที่ กทม.จัดทำขึ้นประพรมเพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่พระเสาชิงช้าด้วย
พระศรีศากยมุนี พระประจำกรุงเทพฯ —พระตรีมูรติรวม 3 อำนาจสูงสุด
เสาชิงช้าถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการทดสอบความมั่นคงแข็งแรงของการสร้างเมือง การบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้าใหม่ในครั้งนี้ถือเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งคาดว่าเสาชิงช้านี้จะอยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไปอีกนานนับร้อยปีจึงจะมีโอกาสแห่งการบูรณะและฉลองเสาชิงช้าครั้งต่อไป ดังนั้นเพื่อระลึกถึงวาระสำคัญอันเป็นประวัติศาสตร์นี้ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดสร้าง “พระเสาชิงช้า” ในรูปของ “พระศรีศากยมุนี” และ “พระตรีมูรติ” ให้ประชาชนได้มีไว้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคลและเป็นที่ระลึก
พระเสาชิงช้าถือเป็นสุดยอดวัตถุมงคล ที่รวมแห่งศรัทธาและความศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากจำลองมาจากพระศรีศากยมุนีซึ่งเป็นพระประจำกรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญลงมาจากวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จ. สุโขทัย (สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไทยหรือราวหกร้อยกว่าปีมาแล้ว) มาประดิษฐาน ณ วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นวัดที่โปรดให้สร้างขึ้นตรงบริเวณจุดกึ่งกลางพระนคร
ส่วนพระตรีมูรตินั้น เป็นรูปเคารพที่รวมเทพทั้ง 3 องค์ไว้ในรูปเดียวกัน คือ พระพรหม พระวิษณุ และพระศิวะ ถือเป็นการรวมตัวกันของพลังทั้ง 3 ที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด และมีอำนาจสูงสุด เชื่อกันว่าการบูชาพระตรีมูรติเป็นประจำจะประสบแต่ความอุดมสมบูรณ์ทั้งในชีวิต หน้าที่การงาน และความรัก ซึ่งเหมาะที่จะเป็นวัตถุมงคลของประชาชนชาวไทยในยุคที่บ้านเมืองต้องการความรักความสมานฉันท์เช่นปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง
มวลสารมงคลศักดิ์สิทธิ์
กรุงเทพมหานครได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ประทานมวลสารมงคล ซึ่งพระองค์ได้ตั้งอธิษฐานจิตจนครบ 3 วัน ก่อนจะประทานให้ กทม. เพื่อใช้ในการจัดสร้างพระเสาชิงช้า โดยคณะผู้บริหาร กทม. ได้เข้าเฝ้ารับประทานมวลสาร ณ ตึกสามัคคีธรรม โรงพยาบาลจุฬา เขตปทุมวัน
สำหรับมวลสารหลักของพระเสาชิงช้า ประกอบด้วย มวลสารเสาชิงช้าต้นเก่า และมวลสารของเสาชิงช้าต้นใหม่ซึ่งเป็นไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี รวมกับมวลสารที่เป็นมงคลอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งรวบรวมมาจาก 76 จังหวัดทั่วประเทศ จังหวัดละ 9 วัด โดยได้รับความอนุเคราะห์จากพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิและพระเกจิอาจารย์ต่าง ๆ ร่วมกันเขียนยันต์ลงผง ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช และมวลสารจากการจัดสร้างวัตถุมงคลในวโรกาสที่สำคัญ ได้แก่ 90 พรรษาสมเด็จย่า, 60 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ, 72 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ 72 พรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ
การผลิตพระเสาชิงช้าจะเน้นความละเอียดประณีตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การบดมวลสารศักดิ์สิทธิเป็นผงละเอียด จากนั้นนำไปอบแห้ง ผสมมวลสารเข้าด้วยกันโดยใช้เครื่อง ผสมเข้ากับน้ำผึ้ง น้ำมันตังอิ๊ว กล้วยน้ำว้าบด และกาวเพื่อสมานเนื้อพระผงให้เข้ากัน จากนั้นนำไปใส่เครื่องพิมพ์แบบอัดแห้ง โดยจะมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการพิมพ์พระทุกองค์ให้มั่นใจว่ามีความสวยงามสมบูรณ์ จากนั้นผึ่งไว้ให้แห้งประมาณ 2 วัน แล้วนำไปปัดทอง และบรรจุกล่อง เพื่อรอเข้าพิธีปลุกเสกในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ ณ ลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เนื่องในวาระพิเศษปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา กรุงเทพมหานครจึงจัดสร้างพระศรีศากยมุนี ซึ่งด้านหลังเป็นรูปเสาชิงช้าและพระวิหารวัดสุทัศน์ เป็นพระทองคำแท้หนัก 2 บาทลักษณะรูปวงรี ขนาด 3 x 2 ซม. เพื่อทูลเกล้าฯถวายต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ