"ยธ.ออกประกาศ "วงเงิน" ประกันตัวทุกความผิด

ข่าวทั่วไป Friday August 17, 2007 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--กระทรวงยุติธรรม
รู้กฎหมายเตรียมพร้อมไม่ถูกหลอกเมื่อถูกจับ ยธ. ออกประกาศ “วงเงิน”ประกันตัวทุกความผิด สำนักงานกิจการยุติธรรม กระทรวงยุติธรรมหอบโฉนดที่ดินกว่า 6 ล้านบาทประกันตัว "หมูแฮม" "จรัล" ใช้ตำแหน่งประกันตัว อีก 8 นปก.ยอมนอนเรือนจำ ทนายยื่นเงินสด 6 แสนประกันตัว 6 แนวร่วมนปก. " เสธ.แดง " ต้องหาหลักทรัพย์เพิ่มเติมเพื่อยื่นขอประกันตัว จับ"ศิวะ แตรสังข์"เมาแล้วขับก่อนใช้เงิน 2 หมื่นบาทประกันตัว
เหล่านี้คือตัวอย่างจากพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ที่แสดงถึงวงเงินในการขอประกันตัวผู้ต้องหาเพื่อมาสู้คดีในชั้นสอบสวน อัตราหรือวงเงินที่ต้องจ่ายจะแตกต่างกันไปตามอัตราโทษ บางคนใช้เงินอย่างเดียว บางคนใช้หลักทรัพย์ บางคนใช้ตำแหน่งบุคคล หรือบางกรณีอาจใช้ควบคู่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจการพิจารณาของพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ต้องหา หรือประชาชนจึงไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วในความผิดแต่ละกรณีนั้น “ผู้ต้องหา” จะต้องเตรียมเงินจำนวนเท่าใดจึงจะได้ประกันตัว หรือหลักทรัพย์อะไรใช้ได้บ้าง หรือใครจะมาประกันให้ได้ ที่ผ่านมาจึงอาศัยการถามผู้รู้ซึ่งอาจเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทนายความ ที่ใช้ประสบการณ์แนะนำในกรณีไหนน่าจะใช้วงเงินเท่าใด แต่ปะเหมาะเคราะห์ร้ายหากเป็นคนยากคนจนที่ไม่รู้กฎหมาย ไม่มีทนายที่ปรึกษาอาจต้องพึ่งพิงขบวนการนายหน้าประกันตัวที่มักเสนอตัวอยู่ตามโรงพัก ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการถูกหลอกถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย
คำแนะนำที่ได้ส่วนใหญ่มักให้ “ผู้ต้องหา”หรือญาติเตรียมเงินหรือหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ามากเกินมาเผื่อไว้ก่อน ทำให้เกิดการสูญเสียสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นที่ต้องเอาหลักทรัพย์มาเกิน เพราะบางครั้งตนเองไม่มีจึงต้องไปหยิบยืมหรือกู้หนี้ยืมสินมาเกิดเป็นภาระที่สร้างความทุกข์ซ้ำให้กับ “ผู้ต้องหา” ในชั้นสอบสวนและชั้นอัยการ ซึ่งเป็นการรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนที่จะมีการพิจารณาว่าควรฟ้องคดีหรือไม่
ด้วยเหตุนี้กระทรวงยุติธรรมได้ผลักดันออกเป็นกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน พ.ศ.๒๕๔๙ โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๘ และมาตรา 110 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ.๒๕๔๗ ซึ่งลงนามโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐
โดยมีสาระสำคัญ คือ การเรียกประกันหรือหลักประกันในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันโดยนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาซึ่งออกตามความในมาตรา 110 วรรคสาม แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ห้ามมิให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการกำหนดวงเงินประกันเกิน 3 ใน 4 ของวงเงินประกันที่กำหนดไว้ในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าว กรณีการใช้บุคคลเป็นประกันหรือการกำหนดให้หลักทรัพย์ใดเป็นหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวน ก็ให้ยึดข้อบังคับของประธานศาลฎีกาดังกล่าวมาบังคับใช้โดยอนุโลมเช่นกัน และมีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยบัญญัติให้การเรียกประกันหรือหลักประกันการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนจะเรียกจนเกินควรแก่กรณีมิได้
เพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์และเป็นสิทธิที่ประชาชนควรทราบเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนเองได้ กระทรวงยุติธรรมโดย นายชายชัย ลิขิตจิตถะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ดำเนินการออกประกาศกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 เรื่องการกำหนดวงเงินประกัน การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกันและการใช้บุคคลเป็นประกัน ในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อให้การเรียกประกันหรือหลักประกันผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนมีความเหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี และไม่สร้างภาระแก่ผู้ต้องหาในชั้นสอบสวนในการที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวจนเกินควรแก่กรณี
นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวว่า ประกาศกระทรวงดังกล่าวจะทำให้ประชาชนได้ทราบว่าหากตกเป็น “ผู้ต้องหา”และต้องการประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นสอบสวนนั้นจะต้องเตรียมเงินหรือหลักทรัพย์หรือบุคคลในอัตราเท่าใดที่แน่นอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และทำให้ประชาชนสามารถพิทักษ์สิทธิของตัวเองไม่ให้ถูกหลอกหรือเอาเปรียบได้ โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวประกอบด้วย
การกำหนดวงเงินประกัน พิจารณาจากความผิดหรือพฤติการณ์ในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ไว้ได้แก่
1. ความผิดลหุโทษหรือที่มีโทษปรับสถานเดียว ไม่เกินร้อยละ 37.5 ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น
2. คดีความผิดที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจซึ่งมีอัตราโทษปรับสูง ไม่ว่าจะมีโทษจำคุกด้วยหรือไม่ก็ตาม ไม่ควรเกินร้อยละ 37.5 ของอัตราโทษปรับขั้นสูงสำหรับความผิดนั้น และไม่ว่ากรณีใดต้องไม่เกินอัตราโทษปรับขั้นสูง
3. คดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน 5 ปี ไม่เกิน 75,000 บาท
4. คดีที่มีอัตราโทษจำคุกแต่ไม่มีโทษสถานอื่นที่หนักกว่าโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย ไม่เกิน 15,000 บาท
5. คดีที่มีอัตราโทษจำคุกตลอดชีวิต ไม่เกิน 450,000 บาท
6. คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ไม่เกิน 600,000 บาท
7. คดีที่มีหลายข้อหา ให้ถืออัตราโทษหนักที่สุดเป็นเกณฑ์
8. กรณี 1) ผู้ประกันตัวเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันทางการสมรส หรือ 2)ผู้ขอประกันใช้หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนและสะดวกแก่การบังคับคดีหรือ 3) ความผิดที่ผู้ต้อหากระทำด้วยความจำใจหรือด้วยความยากจน จะกำหนดวงเงินประกันต่ำกว่าเกณฑ์ปกติก็ได้
9. ผู้ขอประกันเป็นญาติพี่น้องหรือมีความเกี่ยวพันโดยทางสมรส ใช้เงินสดหรือหลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดมูลค่าที่แน่นอนสะดวกแก่การบังคับคดีเป็นหลักประกัน ให้วางเงินสดหรือหลักทรัพย์เพียงร้อยละ 20 จากจำนวนวงเงินประกันที่กำหนดได้
10. กรณีผู้ต้องหา 1)เป็นหญิงมีครรภ์ หรือ 2)มีบุตรอายุไม่เกิน 3 ปี อยู่ในความดูแล หรือ 3) เป็นผู้เจ็บป่วย ถ้าต้องขังจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพหรือ 4) เป็นผู้พิการหรือสูงอายุ ซึ่งโดยสภาพร่างกายหรือจิตใจอาจจะเกิดความทุกข์ยากลำบากเกินกว่าปกติในระหว่างต้องขัง ให้กำหนดวงเงินประกันให้ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
11. ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน ไม่มีการกำหนด
การกำหนดหลักทรัพย์ที่อาจใช้เป็นหลักประกัน ได้แก่ เงินสด ที่ดินมีโฉนด ที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ห้องชุด ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดิน หลักทรัพย์มีค่าอย่างอื่นที่กำหนดราคามูลค่าที่แน่นอนได้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล สลากออมสิน บัตรหรือสลากออมทรัพย์ทวีสินของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ใบรับเงินฝากประจำธนาคาร ตั๋วแลกเงินที่ธนาคารเป็นผู้จ่ายและธนาคารผู้จ่ายได้รับรองตลอดไปแล้ว ตั๋วสัญญาใช้เงินที่ธนาคารเป็นผู้ออกตั๋ว เช็คที่ธนาคารเป็นผู้สั่งจ่ายหรือรับรองซึ่งสามารถเรียกเก็บเงินได้ในวันที่ทำสัญญาประกัน หนังสือรับรองของธนาคารหรือบริษัทประกันเพื่อชำระเบี้ยปรับแทนในกรณีผิดสัญญาประกัน
การใช้บุคคลเป็นประกัน ได้แก่
1. ผู้ขอประกันเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ขอประกันจะต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอนและ เป็นผู้มีความสัมพันธ์กับผู้ต้องหาหรือเป็นบุคคลที่เห็นว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเสมือนเป็นญาติพี่น้องหรือมีความสัมพันธ์ที่เห็นสมควรประกันได้ โดยให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
2. ผู้ขอประกันเป็นนิติบุคคล กรณีผู้ต้องหาเป็นกรรมการ ผู้แทน ตัวแทน หุ้นส่วน พนักงาน ลูกจ้างของนิติบุคคล วงเงินสัญญาประกันจะพิจารณาตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไป
3. ผู้ขอประกันเป็นส่วนราชการ ตามระเบียบว่าด้วยการช่วยเหลือข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการที่ต้องหาคดีอาญา วงเงินสัญญาประกันจะพิจารณาตามที่เห็นสมควรเป็นกรณี ๆ ไป
4. ผู้ต้องหาทำสัญญาประกันตนเอง 1) ผู้ต้องหาต้องเป็นผู้มีตำแหน่งหน้าที่การงานหรือมีรายได้แน่นอน วงเงินสัญญาประกันให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้ โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน 10 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 2) ผู้ต้องหา หากเป็นพนักงานหรือผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น แพทย์ เภสัชกร พยาบาล วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ผู้สอบบัญชี ครู ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่เห็นสมควรให้ประกันได้ และหากการประทำที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่หรือในการปฏิบัติงานในการประกอบวิชาชีพนั้น วงเงินสัญญาประกันให้พิจารณาจากเงินเดือนหรือรายได้โดยให้ทำสัญญาไม่เกิน 15 เท่าของอัตราเงินเดือนหรือรายได้เฉลี่ยต่อเดือน
ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม กล่าวอีกว่า เพื่อให้เกิดการปฏิบัติและรับทราบอย่างแพร่หลาย สำนักงานกิจการยุติธรรมจะได้จัดพิมพ์สาระของประกาศกระทรวงดังกล่าวในรูปแบบต่าง ๆ เผยแพร่ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอาทิ เจ้าพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจต่าง ๆ พนักงานอัยการ รวมทั้งเผยแพร่ต่อประชาชนผ่านทางสื่อต่าง ๆ อาทิ เว็บไซต์ของสำนักงานกิจการยุติธรรม http:www.oja.go.th ซึ่งประชาชนสามารถดูและดาวน์โหลดเพื่อการเผยแพร่ต่อได้
และนี่คืออีกหนึ่งกฎหมายใกล้ตัวที่ประชาชนควรรู้
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานกิจการยุติธรรม โทร.0-22701350 ต่อ 109, 113
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ