วันแรกสงกรานต์ เกิดอุบัติเหตุ 557 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 คน ผู้บาดเจ็บ 607 คน

ข่าวทั่วไป Friday April 16, 2010 09:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 เม.ย.--ปภ. ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. 53 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 557 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 45 คน ผู้บาดเจ็บ 607 คน จึงได้ประสานให้จังหวัดจัดตั้งจุดสกัดในหมู่บ้าน ชุมชนควบคุมผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมิให้ขับขี่ยานพาหนะสร้างอันตรายต่อผู้ใช้เส้นทางรายอื่นๆ ตลอดจนกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวดการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ประธานแถลงข่าวสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เม.ย. 53 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและ ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2553 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 12 เม.ย. 53 ซึ่งเป็นวันแรกของการรณรงค์ “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย คนไทยรักกัน” เกิดอุบัติเหตุ 557 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (392ครั้ง) 165 ครั้ง ร้อยละ 42.09 ผู้เสียชีวิต 45 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (36คน) 9 คน ร้อยละ 25 ผู้บาดเจ็บ 607 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2552 (410 คน) 197 คน ร้อยละ 48.05 สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 40.22 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 24.78 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.22 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 54.94 บบถนน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 36.98 ทางหลวงแผ่นดิน ร้อยละ 32.68 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ กลางคืน ร้อยละ 62.48 โดยเฉพาะช่วงเวลา 16.01 — 20.00 น. ร้อยละ 30.16 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงานร้อยละ 55.53 จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 23 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา นครสวรรค์ สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี (3 คน) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ พิษณุโลก 27 คน จังหวัดที่ไม่เกิดอุบัติเหตุ มี 7 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ตราด ยโสธร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มี 44 จังหวัด จังหวัดที่ไม่มีผู้บาดเจ็บมี 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ตราด ยโสธร สมุทรปราการ สมุทรสงคราม อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,528 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,688 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 547,562 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 48,566 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.87 ของการเรียกตรวจ โดยมีความผิดฐานไม่มีใบขับขี่มากที่สุด 15,948 ราย ไม่สวมหมวกนิรภัย 15,373 ราย นายอนุชา กล่าวต่อว่า จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในวันที่ 13 เมษายน ปีที่ผ่านมา พบว่า การเมาแล้วขับเป็นสาเหตุสำคัญที่ ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 40 โดยเฉพาะผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยส่วนใหญ่เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ และผู้บาดเจ็บสาหัสมีโอกาสพิการสูงถึงร้อยละ 10 อีกทั้ง 1 ใน 3 ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน เพื่อป้องกันความสูญเสียจากเหตุดังกล่าว ศปถ. ได้สั่งการให้จังหวัดประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดตั้งจุดสกัดในหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อควบคุมผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัย เมาสุรา ไม่ให้ออกไปขับขี่ยานพาหนะสร้างความเดือดร้อนกับผู้ใช้เส้นทางรายอื่น ในกรณีที่พบว่าผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงเป็นเด็กและเยาวชน ให้แจ้งผู้ปกครองรับตัวกลับไปพักผ่อน รวมถึงขอความร่วมมือประชาชนให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 โดยห้ามนำเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปบริโภคในสถานที่จัดงานสงกรานต์ และกำชับให้เจ้าหน้าที่เข้มงวด การจำหน่ายเครื่องดื่มแอลอกอฮอล์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ทางถนนจากการเมาแล้วขับ นอกจากนี้ ขอย้ำเตือนประชาชนให้เล่นน้ำสงกรานต์ในพื้นที่ที่กำหนดอย่างมีมารยาท ไม่ใช้น้ำผสมแป้งสี น้ำแข็ง หรือปืนฉีดน้ำแรงสูงฉีดใส่ผู้ที่กำลังขับรถ โดยเฉพาะผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพราะอาจเสียหลักเกิดอุบัติเหตุลื่นไถลได้ ส่วนผู้ที่ขับรถกระบะบรรทุกคนเล่นน้ำ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการขับขี่ ไม่ใช้ความเร็วสูง โดยผู้ที่เล่นน้ำท้ายกระบะห้ามลุกขึ้นยืนขณะที่ รถกำลังวิ่ง อาจทำให้พลัดตกจากรถได้ ที่สำคัญ ขอฝากเตือนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ให้เพิ่มความระมัดระวังในการใช้จุดกลับรถบน ทางหลวงแผ่นดิน และไม่ขับขี่รถย้อนศร เพราะอาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้ อีกทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด อาจทำให้ผู้ขับขี่ รถทางไกลเหนื่อยล้าและง่วงนอนง่ายกว่าปกติ จึงขอฝากเตือนผู้ขับขี่ หากมีอาการง่วงนอน ให้จอดแวะพักตามจุดบริการต่างๆ หรือสถานีบริการน้ำมัน เพื่อปรับเปลี่ยนอิริยาบถหรือพักหลับ และจากการติดตามสภาพอากาศ พบว่า ในระยะนี้ภาคตะวันออกและภาคใต้จะมีฝนตกเป็นแห่งๆ ซึ่งในช่วงแรกที่ฝนตก ฝุ่นและน้ำมันบนพื้นผิวถนนจะรวมกับน้ำฝน ทำให้ผิวถนนลื่นกว่าปกติ ก่อให้อันตรายได้ง่าย ขอให้ผู้ขับขี่ผ่านเส้นทางดังกล่าวเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ขับรถเร็ว จะช่วยลดความรุนแรงจากอุบัติเหตุทางถนนลงได้ ทั้งนี้ ขอให้ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้โอกาสในวันมหาสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่ของไทย เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างความปลอดภัยทางถนน ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เพื่อให้เทศกาลสงกรานต์ปีนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยความปลอดภัย ... “สงกรานต์นี้ ขับขี่ปลอดภัย คนไทยรักกัน”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ