ปภ. แนะวิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอย่างถูกต้องปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 21, 2010 15:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 เม.ย.--ปภ. ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการขาดความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน นอกจากจะทำให้ผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตจากการช่วยเหลืออย่างไม่ถูกวิธีแล้ว ยังส่งผลให้ผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือกลายเป็นผู้ประสบเหตุเอง หรือได้รับอันตรายมากกว่าผู้ประสบเหตุเสียอีก เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนอย่างปลอดภัย ดังนี้ ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ให้เปิดสัญญาณไฟฉุกเฉินของรถคันที่ประสบเหตุ นำกิ่งไม้มาวาง โบกธง หรือทำสัญลักษณ์อื่นๆ เพื่อเตือนให้รถคันอื่นทราบว่าเกิดอุบัติเหตุ จะได้เพิ่มความระมัดระวังและเปลี่ยนช่องทางได้ทัน พร้อมสังเกตสภาพแวดล้อมโดยรอบ รวมถึงสภาพจราจรบริเวณที่เกิดเหตุ หากมีความปลอดภัยจึงสามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุได้ สำรวจจำนวน ผู้ประสบเหตุ อาการบาดเจ็บของแต่ละคน พร้อมโทรแจ้งตำรวจและเรียกรถพยาบาลให้จัดส่งทีมแพทย์ฉุกเฉินที่มีทักษะในการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ณ จุดเกิดเหตุอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ หากผู้เข้าไปช่วยเหลือมีความรู้เกี่ยวกับการปฐมพยาบาล ในเบื้องต้น ให้ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บที่มีอาการรุนแรงที่สุดเป็นลำดับแรก โดยเฉพาะผู้ที่หัวใจหยุดเต้น และเสียเลือดมาก โดยให้ปฏิบัติ ดังนี้ ๑. กรณีหัวใจหยุดเต้น ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยปั๊มหัวใจ ๓๐ ครั้ง สลับกับการเป่าปาก ๒ ครั้ง จนผู้บาดเจ็บเริ่มหายใจด้วยตนเองได้ ๒. กรณีมีบาดแผล ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการห้ามเลือดเสียก่อน พร้อมทั้งปลดเสื้อผ้าส่วนที่รัดร่างกายคนเจ็บ ให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในท่าที่ปฐมพยาบาลได้สะดวก เพื่อป้องกันการเป็นลมหรือช็อคหมดสติ ๓. กรณีกระดูกหัก ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุ ยกเว้นเกิดเพลิงไหม้รถ เพราะจะทำให้ผู้ประสบเหตุพิการ กระดูกหักหรือบาดเจ็บเพิ่มขึ้นได้ ห้ามดึงให้กระดูกกลับเข้าที่ ควรให้ส่วนที่หักอยู่นิ่งที่สุด ประคบด้วยความเย็นและรีบนำส่งโรงพยาบาล ๔. กรณีอวัยวะฉีกขาด เช่น นิ้วขาด มือขาด เป็นต้น ให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลและพันรัดห้ามเลือดไว้ หากอวัยวะถูกตัดขาดให้ใส่อวัยวะในถุงพลาสติกสะอาด ปิดปากถุงให้แน่นแล้วแช่ถุงในกระติกน้ำแข็งและรีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที ข้อควรระวังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุซ้ำซ้อนและผู้ประสบเหตุได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้น ควรปฏิบัติ ดังนี้ - หากไม่มีความรู้เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้ผู้ประสบเหตุพิการหรือเสียชีวิตได้ - ตรวจสอบสภาพการจราจรโดยรอบบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ หากมีรถพลุกพล่าน ควรเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจถูกรถชนได้ - กรณีอุบัติเหตุเสาไฟฟ้าล้ม มีสายไฟพาดติดหรืออยู่ใกล้กับรถที่ประสบอุบัติเหตุ ไม่ควรเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว เพราะอาจถูกไฟฟ้าแรงสูงดูดเสียชีวิตได้ - หากมีน้ำมัน สารเคมีรั่วไหล หรือได้กลิ่นก๊าซ ให้รีบดับเครื่องยนต์และออกห่างจากจุดที่เกิดเหตุในระยะไม่ต่ำกว่า ๑๐ เมตร เพื่อป้องกันการระเบิดจนเกิดเพลิงไหม้ การเรียนรู้วิธีช่วยเหลือและการปฐมพยาบาลผู้ประสบภัยในเบื้องต้นอย่างถูกต้องและปลอดภัยตามหลักวิชาการ นอกจากจะช่วยให้ผู้ประสบเหตุได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีแล้ว และช่วยลดความรุนแรงจากการบาดเจ็บแล้วยังส่งผลให้ผู้เข้าไปช่วยเหลือได้รับความปลอดภัยมิต้องตกเป็นเหยื่อของอุบัติเหตุซ้ำซ้อนอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ