กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ผนึกกำลังรณรงค์ลดอุบัติการณ์ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องในวันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก

ข่าวทั่วไป Monday April 26, 2010 16:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 เม.ย.--คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ ? ทั่วโลกพบคนป่วยเป็นปอดบวม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทำให้เสี่ยงต่อชีวิตและทำให้พิการ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบที่ต้องเสียชีวิตมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี ซึ่งมีสาเหตุมากจากติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส[1][2] ? เชื้อแบคทีเรีย “นิวโมคอคคัส” เป็นต้นเหตุของโรคปอดบวมและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ทั้งยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ และเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้ป่วย ไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกเมื่อปี พ.ศ. 2460 (ค.ศ.1918), พ.ศ. 2500 (ค.ศ.1957) และ พ.ศ. 2511 (ค.ศ. 1968) ? แพทย์โรคติดเชื้อและโรคระบบทางเดินหายใจในเด็ก แนะหากลูกมีไข้ต้องสังเกต ฉีดวัคชีนใช้ป้องกันได้ ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า “กลุ่มโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรงหรือ กลุ่มโรคไอพีดี ประกอบด้วย โรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบปีละ 2 กว่าล้านคน และโรคติดเชื้อในกระแสเลือดและโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กที่องค์กรแพทย์นานาชาติผลักดันให้ทุกประเทศเฝ้าระวังเพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดและการตายมาอย่างต่อเนื่อง โดย “สมาพันธ์ป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ” (CoMO - The Confederation of Meningitis Organizations) ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสมาชิกกว่า 14 ประเทศ ได้กำหนดให้วันที่ 24 เมษายน 2553เป็นวันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก (World Meningitis Day) เพื่อร่วมรณรงค์ให้เกิดการตื่นตัวในการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เนื่องจากผู้ป่วยมีทั้งรักษาหาย หรือ ตาย และ/หรือพิการได้ ในรายที่สมองพิการ เด็กก็จะมีพัฒนาการที่ช้า มีโอกาสปัญญาอ่อน หรือมีโรคลมชัก หูหนวก รวมถึงการสูญเสียด้านอื่นๆ ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดของโรคติดเชื้อในเด็กคือ การป้องกันไม่ให้เกิดจะดีกว่า ศ.พญ.อุษา กล่าวเพิ่มเติมว่า ”ในปัจจุบันโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ที่กุมารแพทย์โรคติดเชื้อทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการป้องกันโรคฯ ด้วยการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน ซึ่งวิธีนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันโรคติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุดในการลดอุบัติการณ์การตายและพิการในเด็กเล็กอย่างเป็นรูปธรรม และส่งผลในทางอ้อมในการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล ลดความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจของครอบครัว ตลอดจนเวลาที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งความสูญเสียเหล่านี้เป็นความสูญเสียที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ดังนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2549 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้ฉีดวัคซีนให้เด็กเล็กทุกคนที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพื่อป้องกันโรคไอพีดี นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งองค์กรที่กำกับดูแลทางด้านวัคซีนโดยตรง อาทิ การจัดตั้งองค์กร International Vaccine Institute (IVI) เพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านวัคซีนใหม่ๆ แก่แพทย์ และประชาชน รวมทั้งผลักดันเพื่อให้เด็กเล็กทุกคน สามารถเข้าถึงวัคซีนอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรวางแผนเพื่อเร่งรัดการพัฒนาและการแนะนำวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส (PneumoADIP) ของสหพันธ์ GAVI เป็นต้น ศ.เกียรติคุณ นพ.ธีระชัย ฉันทโรจน์ศิริ ประธานชมรมโรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส นอกจากจะเป็นเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงในเด็กเล็กที่ก่อให้เกิดการตายและความพิการแล้ว จากการศึกษาล่าสุดของประเทศสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับผลกระทบทางสาธารณสุข และความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจจากการให้วัคซีนปอดบวม-ไอพีดี ในสถานการณ์ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล และสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธ์ใหม่ 2009 ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2553 ยังได้ชี้ชัดว่า เชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส เป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ระบาดทั่วโลกในปี พ.ศ. 2460, 2500 และ 2511 โดยเมื่อเกิดการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนในระบบทางเดินหายใจส่วนล่างและจะทำให้ปอดบวม เนื้อปอดโดนทำลาย และไม่สามารถส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ ทำให้ระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในที่สุด” ขณะเดียวกันผลการศึกษาดังกล่าว ยังได้ระบุว่า วัคซีนปอดบวม-ไอพีดี ซึ่งประเทศสหรัฐอเมริกาให้เป็นวัคซีนพื้นฐานในเด็กเล็กตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นั้น นอกจากจะสามารถป้องกันโรคปอดบวมและกลุ่มโรคไอพีดีในเด็กเล็กแล้ว ยังสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัสซ้ำซ้อน ในผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดตามฤดูกาล และนอกฤดูกาลอีกด้วย อีกทั้งช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยในช่วงที่มีไข้หวัดใหญ่ระบาดตามฤดูกาลและจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสแทรกซ้อนได้ถึง 1.6 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ สำหรับกรณีที่มีการระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ พบว่าการฉีดวัคซีนดังกล่าวจะช่วยประหยัดงบประมาณได้ถึง 7.3 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จากการป้องกันคนกว่า 1 ล้านคนให้พ้นจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัส และยังพบว่าร้อยละ 84 ของผู้ที่ได้รับการป้องกันไม่ให้เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนดังกล่าวโดยตรง แต่ได้รับการป้องกันทางอ้อม (HERD Immunity) จากการที่เด็กเล็กได้รับการฉีดวัคซีนปอดบวม-ไอพีดี นพ. อัมพร อิทธิระวิวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยา เปิดเผยว่า “ไฟเซอร์ ตระหนักดีว่าโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง หรือกลุ่มโรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease) ซึ่งประกอบด้วย โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคปอดบวม ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของหลายประเทศทั่วโลก ไฟเซอร์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านค้นคว้าวิจัยและพัฒนาชีวเวชภัณฑ์ (biopharmaceutical) ซึ่งรวมถึงการค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพ หรือวัคซีนชนิดใหม่ ๆ ที่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดระบบภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค เซลล์ผิดปกติ หรือสารพิษ ที่มีอยู่ในร่างกาย ทำให้ร่ายกายพร้อมต่อสู้กำจัดเชื้อโรคหรือสารพิษเหล่านั้น ซึ่งการฉีดวัคซีน เท่ากับเป็นการป้องกันไม่ให้เป็นโรคและ/หรือ รักษาโรคที่เกิดจากเชื้อนั้น ๆ ได้” นพ. อัมพร ยังกล่าวว่า “ไฟเซอร์ มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนของสังคม เพื่อให้ประชากรทั่วโลกมีสุขภาพที่แข็งแรง รวมถึงสานต่อเจตนารมขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในการรณรงค์ลดอุบัติการณ์เยื่อหุ้มสมองอักเสบในเด็กทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย และเนื่องในโอกาส “วันเยื่อหุ้มสมองอักเสบโลก” ครั้งนี้นับเป็นอีกวาระหนึ่งที่ไฟเซอร์อยากเห็นเด็กไทยมีสุขภาพดีปลอดจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และต้องการรณรงค์ให้ความรู้ ตลอดจนการแนวทางการป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบให้กับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำที่ทุกครอบครัวสามารถทำได้ คือ การให้ทารกดื่มนมแม่เพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ให้เด็กรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ ฝึกนิสัยให้เด็กล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี รักษาสุขอนามัยเป็นประจำ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด และหลีกเลี่ยงพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่แออัด สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ รวมถึงการเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเด็กเล็กด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งอาจเป็นอีกทางเลือกสำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่ต้องการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคในเด็กเล็กได้” นพ. อัมพร กล่าว สนใจเกี่ยวกับโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง หรือกลุ่มโรคไอพีดี สามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pfizer.co.th และ ที่ www.comoonline.com สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ: บริษัท คอมมูนิเคชั่น แอนด์ มอร์ จำกัด บุษบา สุขบัติ (บุษ)/ พิธิมา รัตนรังสิกุล (ก้อย) โทร. 0-2718-3800-5 ต่อ 133 / 138 E-mail : boodsabas@communicationandmore.com; pitimar@communicationandmore.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ