หาก "หมู่เกาะสุรินทร์และสิมิลัน" เป็นมรดกโลก ต้องออกกฎบังคับใช้ทันที เพื่อคงคุณค่ามรดกโลกทางทะเลไว้

ข่าวทั่วไป Thursday May 6, 2010 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 พ.ค.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ทรายเม็ดละเอียดสีขาวนวลเรียงตัวกันทอดยาวขนานกับเส้นขอบฟ้า ถูกตัดฉากด้วยเกลียวคลื่นที่ยกตัวม้วนตลบจนกระเซ็นเป็นฟองขาวก่อน จนซัดตามแรงลมและแรงคลื่นลูกหลังที่ประเดประดาเข้ามาไม่ขาดสาย ทำเอาบรรดาปูลมวิ่งซุกตัวลงหลุมทรายแทบไม่ทัน นี่คงอาจจะเป็นภาพที่คุ้นชินสำหรับผู้ที่เคยไปยลโฉมท้องทะเลฝั่งอันดามันที่ถูกโชลมไปด้วยความสวยงานจนยากจะตัดใจลืมสำหรับผู้ที่พานพบ ด้วยความสวยงามของท้องทะเลฝั่งอันดามันที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศวิทยา ควรแค่แก่การอนุรักษ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เตรียมการที่จะเสนอชื่อของอุทยานแห่งชาติทางทะเลสำคัญ ๆ ในท้องทะเลอันดามันของไทย ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก นั่นก็คือหมู่เกาะสิมิลันและหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งทั้ง 2 แห่งนี้มีคุณสมบัติตรงตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยเฉพาะที่มีความโดดเด่นครอบคลุมทางด้านทรัพยากรธรรมชาติเฉพาะถิ่นที่หาได้ยากและใกล้สูญพันธุ์อีกทั้งระบบนิเวศที่หลากหลาย เช่น ปะการังน้ำตื้น ปะการังน้ำลึก แหล่งท่องเที่ยว ดำน้ำที่สวยงาม รวมถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมของชนเผ่ามอแกน และอุรักลาโวย ตลอดจนความหลากหลายทางด้านโบราณคดี ดังนั้น จึงมีความน่าสนใจในเชิงคุณค่าเป็นอย่างมาก และจุดเด่นของพื้นที่ของทั้ง 2 หมู่เกาะนั้น นอกเหนือจากความโดดเด่นทางด้านธรรมชาติแล้วยังมีสัตว์ทะเลหายากหลากหลายชนิด เช่น เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ และสิ่งมีชีวิตในแนวปะการังน้ำลึกด้วย จากการประชุมผู้เชี่ยวชาญด้านมรดกโลกที่ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 26- 29 เมษายน ที่ผ่านมา ที่จังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ และผู้แทนจากประเทศต่างๆ กว่า 20 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการทบทวนกระบวนการนำเสนอชื่อขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกตามที่กำหนดไว้แล้วในแนวทางการดำเนินงานตามอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลก โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากการประชุมครั้งนี้แล้ว จะมีการนำผลการประชุมไปหารือเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 34 ที่จะจัดขึ้น ณ ประเทศบราซิล ในวันที่ 25 กรกฏาคม 2553 คณะกรรมการมรดกโลกจะมีการประชุมร่วมกันปีละหนึ่งครั้ง เพื่อตัดสินว่าสถานที่ที่มีการเสนอชื่อแห่งใดบ้างที่ควรได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือคณะกรรมการอาจร้องขอให้ประเทศที่เสนอชื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เพิ่มเติม โดยการพิจารณาว่าจะขึ้นทะเบียนสถานที่แห่งใด จะต้องมีลักษณะตามเกณฑ์มาตรฐานข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อตามข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นมรดกโลก โดยการที่ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดการประชุมครั้งนี้ขึ้นก็เพื่อที่จะอธิบายความสำคัญ ความจำเป็นและความเหมาะสม ในเรื่องการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆ ได้เข้าใจในเบื้องต้นก่อน เสมือนการร่นระยะเวลาเร็วขึ้นกว่าเดิม 10 ปี ด้วยพันธกิจของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งทำหน้าที่เสมือนปราการปกปักรักษาตั้งแต่ชายฝั่งสู่ท้องมหาสมุทรที่หยั่งรากลึกถึงสะดือทะเล หากจะกล่าวเช่นนี้ก็ไม่ผิดเพี้ยนนักจากความเป็นจริง แต่การขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น ไม่เพียงแต่ผลทางด้านการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นเป็นหลักแล้ว ทว่าลึกลงไปกว่านั้น มรรคผลที่จะได้กลับมาภายหลังจากการขึ้นทะเบียน คือเรื่องของกระแสการอนุรักษ์ที่จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย นายวรรณเกียรติ ทับทิมแสง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “หากหมู่เกาะทั้ง 2 แห่งดังกล่าวได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแล้ว รัฐบาลและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะต้องเร่งรัดในการกำหนดมาตราร่วมถึงการออกกฎระเบียบใหม่ขึ้นมาบังคับใช้ทันที เพื่อที่จะคงคุณค่าของความเป็นมรดกโลกไว้ อีกทั้งเป็นการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพรวมไปถึงการดูแลรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนต้องมีการกำหนดจำนวนของนักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปท่องเที่ยวเพื่อให้มีจำนวนที่เหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันการเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในอนาคต ไม่เพียงก่อประโยชน์ทางตรงในเรื่องการท่องเที่ยวให้กับหมู่เกาะทั้งสองเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีไปถึงระบบนิเวศส่วนรวมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามันทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องความอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลอันดามัน ที่จะได้มีการฟื้นตัวที่ดีตามลำดับ รวมไปถึงสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบก็จะได้รับการดูแลมากขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีมากเพราะสัตว์น้ำในทะเลก็จะมีอัตราการขยายพันธุ์มากขึ้นเช่นกัน” นายวรรณเกียรติกล่าวเสริม แม้การได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะเป็นการการันตีว่า สถานที่แห่งนั้นมีความสมบูรณ์และมีคุณค่าสูงส่งเพียงใด ทว่าหากจะให้มีคุณค่าอย่างแท้จริงนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคนในการร่วมดูแลรักษาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน มรดกโลกอาจเป็นสิ่งเร้ากระตุ้นให้ผู้คนเกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติที่มีอยู่มากยิ่งขึ้น หากมองในมุมนี้การเป็นมรดกโลกเป็นเพียงเป้าหมายประการหนึ่งเท่านั้น สิ่งสำคัญที่สุด ก็เพื่อให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของสิ่งที่ธรรมชาติได้เติมแต้มไว้ และช่วยกันปกปักรักษาความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามอันทรงคุณค่านี้อย่างยั่งยืนต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กลุ่มสื่อสารองค์กร กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 120 หมู่ 3 ชั้น 5 อาคารรวมหน่วยราชการ (อาคารบี) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ 10210 โทรศัพท์ 0-2141-1299 โทรสาร 0-2143-9249

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ