สภากทม. ลงพื้นที่ติดตามการแก้ไขน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 12, 2010 16:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 พ.ค.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. นายธวัชชัย ปิยนนทยา ประธานคณะกรรมการวิสามัญติดตามการดำเนินการป้องกันและแก้ไขน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน สภากทม. พร้อมด้วยคณะกรรมการฯ และนายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่เพื่อติดตามแนวทางป้องกันและการแก้ไขน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน โดยมีผู้แทนจากสำนักการระบายน้ำ สำนักผังเมือง และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้ข้อมูล ณ ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เขตบางขุนเทียน นายสุราษฎร์ เจริญชัยสกุล เจ้าหน้าที่จากสำนักการระบายน้ำ กล่าวว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน เดิมเป็นพื้นที่ป่าชายเลนที่มีความอุดมสมบูรณ์ ระยะทางยาวประมาณ 4.9 กม. เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและสถานการณ์ธรรมชาติ ทำให้ชายฝั่งทะเลทดถอยและป่าไม้ชายเลนลดลง นอกจากนี้สาเหตุหลักที่ทำให้แนวของชายฝั่งทะเลถดถอยเนื่องจาก การลดลงของดินตะกอนจากแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเขื่อนกักเก็บน้ำกั้นดินตะกอนไว้เหนือเขื่อน อีกทั้งยังเกิดจากกระแสน้ำชายฝั่ง การทรุดตัวของท้องทะเล และคลื่นขนาดใหญ่ในฤดูมรสุม ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้แนวชายฝั่งทะเลทดถอยอีกด้วย โดยในปัจจุบันชายฝั่งทะเลถูกน้ำกัดเซาะไปแล้วประมาณ 800—1,000 เมตร อัตราการกัดเซาะของน้ำทะเลประมาณ 1.4-4.5 เมตรต่อปี ซึ่งจากการวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองคณิตศาสตร์คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2559 แนวชายฝั่งจะถดถอยประมาณ 50 เมตร และ พ.ศ. 2579 แนวชายฝั่งทะเลถดถอยไปอีกประมาณ 100 เมตร โดยกรุงเทพมหานครได้พยายามรักษาชายฝั่งทะเลบางขุนเทียนมาโดยตลอด ด้วยมาตรการต่างๆ ทั้งมาตรการกฎหมายผังเมือง รวมทั้งการสร้างเขื่อนหินทิ้ง แต่สามารถแก้ปัญหาได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น นายสาทร ม่วงศิริ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตบางขุนเทียน ในฐานะรองประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการมาตรการชั่วคราว ด้วยการปักไม้ไผ่เป็นแนวป้องกันการน้ำกัดเซาะชายฝั่งทะเล ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้แนวทางธรรมชาติ ใช้งบประมาณน้อย ดักตะกอนได้ดี อีกทั้งมีผลกระทบต่อชายฝั่งข้างเคียงน้อย และมีผลกระทบต่อระบบนิเวศ ชายฝั่งน้อยกว่าแบบอื่นๆ โดยจะดำเนินการปักไม้ไผ่เป็นแนวตรงในระยะแรก หลังจากนั้นจึงจะดำเนินการปักด้านข้างเป็นกรอบสี่เหลี่ยม แล้วจึงจะมีการปลูกป่าชายเลนเพื่อเพิ่มพื้นดิน เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในบริเวณนี้ต่อไปอีก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ