อภิรักษ์ชูแผนแม่บทกิจการเพื่อสังคม สร้างระบบ ศก.ใหม่อย่างยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Tuesday May 25, 2010 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย ตั้งเป้าภายใน 5 ปีมีสัดส่วนกิจการเพื่อสังคม เพิ่มขึ้น 20% ต่อปี ย้ำชัดกิจการเพื่อสังคม ไม่ใช่การทำ CSR ปลูกป่า มอบทุนการศึกษา หรือทำเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดี แต่คือกิจการ ที่ตั้งขึ้นมีเป้าหมายนำผลกำไรส่วนใหญ่กลับคืนสู่สังคม เมื่อเร็วๆ นี้ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมคณะ นำเสนอแผนแม่บทการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม พ.ศ. 2553 — 2557 ในการประชุม เวทีปฏิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ครั้งที่ 33 ณ ห้องประชุม 1 ศูนย์ประชุมสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรุงเทพมหานคร โดยให้ความหมายกิจการเพื่อสังคม ( Social Enterprise) คือ กิจการที่มีรายรับจากการขาย การผลิตสินค้า หรือการให้บริการ ถูกตั้งขึ้นโดยไม่ได้มีเป้าหมายในการสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นและเจ้า ของเท่านั้น “ความสำคัญของกิจการเพื่อสังคมจะช่วยพัฒนาประเทศในระยะยาวอย่างยั่งยืน และสร้างความสมดุล ป้องกันความเหลื่อมล้ำต่างๆ ของสังคมชนบทกับสังคมเมืองที่เกิดขึ้นจากการเร่งการเจริญเติบโตทางด้าน เศรษฐกิจ โดยมีลักษณะพิเศษ คือ กระบวนการดำเนินการไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อเนื่องในระยะยาวต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีศักยภาพที่จะมีความยั่งยืนทางการเงินได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้ ผลกำไรส่วนใหญ่จะถูกนำไปเพื่อกลับไปลงทุน ในการขยายผลจากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ หรือคืนผลประโยชน์ให้แก่สังคม โดยผู้ให้บริการสามารถมีรูปแบบองค์กรที่หลากหลาย ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ขนาดใหญ่มีการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกว่า ทำ CSR เช่น การปลูกป่า การมอบทุนการศึกษา นั้น นายอภิรักษ์ กล่าวว่า เป็นเพียงส่วนเล็กน้อยของบริษัท ที่ทำเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์องค์กรให้ดูดีเท่านั้น ขณะที่เป้าหมายหลักของบริษัทยังคงมุ่งที่ผลกำไรจากการประกอบการ ซึ่งตรงนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีผลักดันให้เกิดจิตสำนึกในการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม “ขั้นเริ่มต้นทำได้โดยบริษัทที่มีการทำ CSR อยู่แล้ว หันมาสร้างบริษัทในเครือข่าย เพื่อเป็นบริษัทที่เน้นทำกิจการเพื่อสังคมโดยตรง ไม่แสวงหาผลกำไรที่เป็นตัวเงิน แต่มอบสิ่งดีๆ คืนแก่สังคม หรือในเครือข่ายย่อยที่ได้มีการทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้วนั้น แต่ทำในนามมูลนิธิหรือสมาคมนั้นก็สามารถนำมาต่อยอดทำต่อไปได้ โดยการเชื่อมโยงกัน และทำเป็นระบบมากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่องค์กรการกุศล เครือข่ายวัด โรงพยาบาลที่มีการรับบริจาคเพื่อสร้างศาสนสถาน ก็ดึงเข้ามา เพื่อช่วยกล่อมจิตใจและสร้างประโยชน์แก่สังคมส่วนรวม เช่น การจ้างงานของคนไร้บ้าน การผลิตสินค้า บริการที่เน้นทรัพยากรธรรมชาติ” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ การสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทยว่า เน้น 3 เรื่อง คือ 1.สร้างการรับรู้และการเรียนรู้เรื่องกิจการ เพื่อสังคมในประเทศไทย 2.พัฒนารูปแบบและขีดความสามารถของกิจการ เพื่อสังคม 3.พัฒนาช่องทาง การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรสำหรับกิจการเพื่อสังคม “แผนแม่บท นี้มีเป้าหมายหลัก คือ ผลักดันให้เกิดการทำงานกิจการเพื่อสังคมทำงานร่วมกับเครือข่าย โดยในระยะสั้นภายในปีนี้ จะจัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม โดยมีภาคส่วนราชการและเอกชนเข้าร่วม และจัดตั้งสำนักงานเพื่อดำเนินงาน, ระยะกลาง 3 ปี ผลักดันให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ให้สังคมตื่นตัวรับรู้ และนำกฎหมายเข้ามาช่วย และระยะยาว 5 ปี เกิดกิจการเพื่อสังคมที่หลากหลาย และมีอัตราการเจริญเติบโตในสัดส่วน 20 % ต่อปี เพื่อเกิดการทำงานอย่างสมบูรณ์แบบในการพัฒนาสังคม” นายอภิรักษ์ กล่าวด้วยว่า โอกาสของกิจการเพื่อสังคมในประเทศไทย ในแต่ละภาคต้องมีความหลากหลาย เช่น ภาคเหนือ อาจไปพัฒนาอาชีพชาวเขา หัตถกรรมท้องถิ่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำเรื่องเกษตรพอเพียง เกษตรอินทรีย์ ภาคกลาง ทำเรื่องสหกรณ์ กลุ่มแม่บ้าน ผู้ประกอบการรายใหม่ ภาคใต้ ทำเรื่องอนุรักษ์ชายทะเล ปะการัง ป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งกิจการเพื่อสังคม นอกจากจะช่วย ส่งเสริมจัดการกลไกที่ไม่เป็นธรรม จากการพัฒนาเศรษฐกิจที่กระจุกตัว ต่อไปจะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยสร้างให้คนรุ่นใหม่ ที่เบื่อการทำงานในระบบราชการหรือเอกชนที่เน้นเพียงผลกำไร มาทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์แก่สังคมด้านต่างๆที่น่าสนใจ กลายเป็นมุมมองที่แตกต่างและเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสังคม แทนการเข้าทำงานในฐานะลูกจ้าง เกิดเป็นการพัฒนาอาชีพใหม่ ที่เป็นประโยชน์ขึ้น “ขณะนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมขึ้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยการศึกษาแนวทางจากกลุ่มเครือข่ายเดิมที่มีการดำเนินงานเพื่อสังคมในประเทศไทย และศึกษาแนวทางจากรัฐบาลต่างประเทศอื่น ที่มีการวางรากฐานสนับสนุนกิจการเพื่อสังคมอย่างเป็นระบบ เช่น ประเทศอังกฤษ สิงคโปร์ ที่ได้ผลักดันและประสบความสำเร็จแล้ว เพื่อนำมาช่วยจัดการดำเนินงานในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ” ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย www.thaireform.in.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ