นักเรียนโรงเรียนศรีขรภูมิฯใช้ภูมิปัญญาไทย ยืดอายุข้าวก้นบาตรสู้วิกฤติเศรษฐกิจ

ข่าวทั่วไป Thursday May 27, 2010 08:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล ข้าวก้นบาตรพระมีค่า เด็กมัธยมปลาย ร.ร.ศรีขรภูมิพิสัยไอเดียเจ๋ง ทำ โครงการข้าวไม่ยากหมากไม่แพง ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นยืดอายุข้าวก้นบาตรให้กลับมาเป็นอาหารกลางวันนักเรียน พร้อมแบ่งปันให้ชาวบ้าน หวังช่วยแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ใกล้วันวิสาขบูชา เข้ามาเต็มที พวกเราชาวพุทธ จะนำข้าว ปลา อาหาร ไปทำบุญกันที่วัดกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกๆ ครั้งที่มีการทำบุญใหญ่เช่นนี้ แทบทุกวัดจะมีข้าวเหลือตกค้างอยู่เป็นจำนวนมาก ด้วยความเสียดาย และตระหนักรู้ถึงคุณค่าของ “ข้าว” ที่กว่าจะได้มาแต่ละเมล็ด ชาวนาต้องหลังขด หลังแข็ง ซ้ำร้ายยังต้องเผชิญกับสถานการณ์ข้าวที่นับวันจะก่อปัญหาให้กับชาวนาขึ้นทุกวัน ทั้งปัญหาภัยแล้ง โลกร้อน ผลผลิตตกต่ำ ซ้ำทั้งยังถูกพ่อค้าคนกลางกดราคา ขาดทุนไม่เว้นแต่ละปี คือ แรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ ลูกหลานคนไทย ลุกขึ้นมาทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อคนทุกข์ยาก จากข้าวก้นบาตร “น้องอ้อม” น.ส. พิมพ์ชนก สุขดี วัย ๑๙ ปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะพยาบาลศาสตร์ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีสุรินทร์ อดีตนักเรียนแกนนำขับเคลื่อนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย จ.สุรินทร์ เครือข่ายโรงเรียนแกนนำ ในโครงการเสริมศักยภาพการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาและชุมชนภายใต้การการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการข้าวไม่ยากหมากไม่แพง” เกิดขึ้นจากการร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่าย เช่น นักเรียน ครู โรงเรียน วัด และชุมชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความกินดีอยู่ดีของคนในชุมชน และสร้างภูมิคุ้มกันด้านความรู้และคุณธรรม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งมีนักเรียนเป็นแกนนำ โดยมีครูในโรงเรียนทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้การสนับสนุน โดยโครงการข้าวไม่ยากหมากไม่แพงเป็นเป็นโครงการต่อเนื่องมาจาก “โครงการสานสัมพันธ์วันทำบุญอบอุ่นทั้งตำบล” ที่นักเรียนและคนในชุมชนได้มีโอกาสทำบุญร่วมกัน โดยนำอาหารคาวหวาน ถวายพระภิกษุสงฆ์ที่วัดในวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลสำคัญๆ เช่น วันมาฆบูชา วันเข้าพรรษา วันวิสาขบูชา และประเพณีท้องถิ่น เมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมทางศาสนาจะมีข้าว ปลาอาหารเหลือทิ้งเป็นจำนวนมาก ในฐานะที่เป็นลูกหลานชาวนาทำให้รู้สึกเสียดายข้าวเหลือก้นบาตรพระที่มีปริมาณมาก เรียกได้ว่านำไปเลี้ยงคนในหมู่บ้านได้อย่างสบาย ดีกว่านำไปเททิ้งหรือนำไปเป็นอาหารสัตว์เหมือนเช่นที่ผ่านมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับชุมชน แนวคิดในการนำนวัตกรรมมาช่วยยืดอายุข้าวให้สามารถเก็บไว้รับประทานได้นานขึ้น จึงเป็นโจทย์ที่ทุกคนได้นำมาคบคิดและนำไปปรึกษาหารือกับครูเพื่อหาความเป็นไปได้ในการทำโครงงาน พร้อมคิดค้นวิธีการถนอมอาหาร กระทั่งได้ข้อสรุปว่าควรใช้วิธีการนำข้าวสุกมานึ่งในอุณหภูมิสูง และใช้ใบเตยเพื่อเพิ่มความหอมให้กับข้าว ก่อนจะนำข้าวบรรจุใส่ถุงสุญญากาศ ๑ กิโลกรัมต่อ ๑ ถุง นำไปเก็บรักษาไว้ที่อุณหภูมิ ๐ องศาเซลเซียส ก็จะสามารถยึดอายุข้าวได้นาน ๑ เดือน หลังใช้ระยะเวลาให้การเตรียมงานและทดลองสูตรการยึดอายุข้าวได้จนเป็นผลสำเร็จแล้ว จึงเรียกประชุมนักเรียนเพื่อแบ่งงานกันทำ ทั้งงานบัญชี การนึ่งข้าวและติดต่อประสานงานกับวัดทั้ง ๑๓ ตำบลในเขต อ.ศีขรภูมิ โดยจะมีผู้ปกครองของเพื่อนสมาชิกในกลุ่มเครือข่ายแต่ละตำบลค่อยช่วยเหลือขับรถไปรับข้าวจากวัดใกล้บ้าน ก่อนจะนำข้าวมาแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส่วนแรกจะเก็บไว้ที่โรงเรียนศีขรภูมิพิสัยเพื่อใช้เป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ส่วนที่เหลือจะถูกนำกลับไปนึ่งที่บ้านพักของนักเรียนเครือข่าย เพื่อสะดวกต่อการแจกจ่ายให้กับคนในชุมชน โดยแต่ละครอบครัวจะได้รับข้าวครั้งละไม่เกิน ๒ ถุง หากครอบครัวใดต้องการมากกว่านั้นทางโครงการข้าวไม่ยากหมากไม่แพงจะจัดจำหน่ายในราคาถุงละ ๕ บาทเท่านั้น โดยเงินที่ได้จะนำกลับไปใช้หมุนเวียนสำหรับซื้อถุงสุญญากาศเพื่อใช้ในครั้งต่อไป เมื่อใกล้จบการศึกษา น้องอ้อมและเพื่อนๆ ได้ช่วยกันปลุกปั้นรุ่งน้องขึ้นมาสานต่องานในโครงการฯ เพื่อไม่ให้โครงการดีๆ ที่สามารถช่วยเหลือคนในชุมชนต้องหายไป น้องกิ่ง น.ส.ชญาภัฐ สิงห์โตทอง อายุ ๑๗ ปี นักเรียนชั้น ม. ๕/๒ โรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย นักเรียนแกนนำรุ่น ๒ พร้อมด้วยเพื่อนๆ ซึ่งเป็นคณะกรรมการนักเรียน จึงขึ้นมาทำหน้าที่แทน น้องกิ่ง กล่าวว่า ได้มีโอกาสเรียนรู้กระบวนการดำเนินงานตั้งแต่ครั้งกำลังศึกษาอยู่ชั้น ม. ๔ ทั้งนี้เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีและได้มีส่วนช่วยเหลือสังคม จึงไม่รีรอเมื่อถูกเสนอชื่อให้เป็นหนึ่งในแกนนำขับเคลื่อนโครงการฯ แม้ขณะนี้การทำงานจะยังไม่เต็มรูปแบบ เพราะอยู่ในช่วงรวบรวมสมาชิกขึ้นใหม่เพื่อทดแทนรุ่นพี่ที่เรียนจบออกไป ตลอด ๑ ปีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินโครงการได้เห็นน้ำใจของกลุ่มเยาวชนและคนในชุมชน เช่น ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ หากมีข้าวเหลือก็จะขี่รถจักรยานยนต์ไปรับมาทำกันเองในห้องคหกรรม เพื่อเตรียมไว้ใช้ในวันจันทร์ บางครั้งอาจารย์ชวลิต วันดี ครูที่ปรึกษาโครงการข้าวไม่ยากหมากไม่แพงก็ทำหน้าที่เป็นสารถีพากลุ่มนักเรียนออกไปรับข้าวตามวัดต่างๆ บางวันก็มีผู้ปกครองนักเรียนมาช่วย จึงเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าสังคมชนบทยังเป็นสังคมที่เข้มแข็ง มีความผูกพันช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน สำหรับ “โครงการข้าวไม่ยากหมากไม่แพง” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากจิตอาสาของนักเรียนที่ช่วยกันดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกลุ่มเยาวชนที่ต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถลดรายจ่ายในครอบเรือนได้อย่างแท้จริงจนประสบผลสำเร็จ สร้างความอิ่มเอมใจให้กับสมาชิกที่ได้ร่วมสร้างรากฐานของสังคมให้เกิดความแข็งแกร่ง สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือการได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแกนในการขับเคลื่อนโครงการฯ ซึ่งถือเป็นการฝึกฝนตัวเองให้รู้จักความพอประมาณ คือ การรู้จักจัดสรรเวลาให้กับการเรียน และการทำกิจกรรม เพราะที่ผ่านมานอกจากต้องเรียนหนังสือแล้ว เวลาอีกส่วนหนึ่งยังต้องเจียดไปทำงานบ้านเพื่อแบ่งเบาภาระตากับยายจนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน แต่ไม่ได้ทำให้ผลการเรียนเสียแม้แต่น้อย ดูได้จากเกณฑ์เฉลี่ยปีที่ผ่านมาที่สูงถึง ๓.๗๒ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไม่ได้ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ หากรู้จักแบ่งเวลาให้เป็น กิจกรรมดีๆ เหล่านี้นอกจากจะสร้างความภาคใจและความสุขใจให้กับเด็กนักเรียนโรงเรียนศรีขรภูมิพิสัย แล้ว กการทำกิจกรรมยังช่วยให้นักเรียนเกิดทักษะในการทำงาน เกิดความละเอียดรอบคอบและมีการวางแผนการทำงานก่อนลงมือปฏิบัติ เพราะกว่าโครงการนี้จะประสบผลสำเร็จทุกคนต้องอาศัยความขยัน อดทนอดกลั้น และพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือผู้อื่น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ