“เชียงใหม่เอี่ยม” ปฏิบัติการเพิ่มค่าของคน ลดขยะล้นเมือง

ข่าวทั่วไป Wednesday June 2, 2010 15:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 มิ.ย.--4D Communications หลายต่อหลายครั้งที่มีคนหยิบยกและเปรียบเปรยว่า “คนพเนจร” ก็เหมือนขยะสังคม ทุกวันนี้การแยกแยะคนดีและคนไม่ดี มักจะถูกวัดกันที่สถานะและโอกาสทางสังคมเป็นหลัก แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะที่เชียงใหม่ ได้เริ่มเปลี่ยนแนวคิด ยกระดับและหันมาให้ความสำคัญและเพิ่มค่าความเป็นคนจากโครงการเล็กๆ ระดับเทศบาลที่ชื่อว่า “เชียงใหม่เอี่ยม” หนึ่งหัวใจหลักของโครงการเชียงใหม่เอี่ยม คือ รณรงค์แก้ปัญหา “ขยะจากมือมนุษย์” ให้ลดลง เพราะปัจจุบัน เชียงใหม่ถือเป็นเมองที่มีปริมาณขยะมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ และเทศบาลก็ต้องทุ่มงบหลายสิบล้านในการกำจัดขยะ แทนที่จะนำงบนั้นมาสร้างสรรค์พัฒนาชุมชนเพื่อคนเชียงใหม่ ทุกวันนี้ ยังมีคนจำนวนมากในสังคมที่มองข้ามคุณค่าของ “ขยะ” และทิ้งให้ศูนย์เปล่าไปโดยไม่ใยดี รู้หรือไม่ว่า การทำเช่นนั้นเท่ากับการทิ้งเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะ “ขยะทุกชิ้น” ที่ทิ้ง ก็คือเงินที่เราจะได้กลับมาจากการนำขยะเหล่านั้นไปขายนั่นเอง ที่เชียงใหม่ ความคิดเหล่านี้เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมาให้ความสำคัญ และสร้างให้เกิดความตระหนักถึงคุณค่าของขยะเหล่านั้นอย่างเป็นกระบวนการ ด้วยการรวมพลังเด็กๆ จากโรงเรียนต่างๆ การคัดแยกขยะโดยเทศบาล และกลไกสำคัญที่สุดคือ การรวมกลุ่มคนไร้บ้านเพื่อเป็นช่องทางในการผลักดัน การลดขยะในเมืองเชียงใหม่ลง “กลุ่มคนไร้บ้าน” ในเมืองเชียงใหม่ ปัจจุบันมีกว่า 100 ครัวเรือน และส่วนใหญ่ก็จะออกเร่ หาขยะเพื่อนำมาขายแลกข้าวแลกน้ำไปวันๆ ค่ำไหน นอนนั้น ท่ามกลางพลังสายตาที่ดูแคลนของสังคมที่มักจะยัดเหยียดความเป็น “ขยะสังคม” ให้แก่พวกเขา “สายตาคนส่วนใหญ่เวลามองมาที่พวกเรา ทำให้รู้สึกว่า เค้าไม่ได้มองมาที่คน” ประโยคนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกของ นางน้ำทิพย์ เปาป้อ หนึ่งในกลุ่มคนไร้บ้านของเมืองเชียงใหม่ “เราไม่มีบ้าน ค่ำก็นอน เวลาไปนอนหน้าบ้านเค้า ก็ถูกด่าว่าสารพัด ก็อาศัยหาเศษขยะขาย เพื่อเลี้ยงชีวิตไปวันๆ รายได้ก็ 40 บาทต่อวัน” แต่มาในวันนี้ ชีวิตเปลี่ยนไป การรณรงค์ของ ชาวเชียงใหม่เพื่อให้เห็นคุณค่าของขยะ ก็ได้เพิ่มค่าของความเป็นคนให้กับกลุ่มคนไร้บ้านเช่นกัน “ดีใจที่เมืองเชียงใหม่ทำให้คนเห็นค่าขยะ นำขยะมาขายตามจุดรับซื้อ และก็เห็นค่าของเราและยกระดับให้การรับซื้อขยะของเราเป็นอาชีพหนึ่งที่มีคุณค่าในสังคม เรามีรายได้เพิ่มเป็นวันละ 100 กว่าบาท และมีแรงที่จะอยู่ในสังคมอย่างเท่าเทียมและมีเกียรติ ซึ่งปัจจุบันเรารวมตัวกันได้กว่า 30 ครัวเรือน เพื่อสร้างกลไกการรับซื้อขยะและประสานกับทางเทศบาลในการบริหารจัดการขยะ อย่างถูกต้อง” นางน้ำทิพย์ เปาป้อ กล่าวด้วยน้ำเสียงภูมิใจ ณ ปัจจุบัน การรวมตัวของกลุ่มคนไร้บ้านในการรับซื้อขยะเริ่มมีแบบแผนมากขึ้น โดยมีการลงหุ้นเพื่อจัดเป็นกองทุนรับซื้อขยะ ซึ่งทำให้มีคุณภาพชีวิตมากขึ้น และนี่คือผลที่ได้จากจุดเริ่มของ 99 วันของปฏิบัติการเชียงใหม่เอี่ยม แต่อนาคตเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะ “การเพิ่มคุณภาพชีวิต จากขยะ” ย่อมต้องเกิดจากแรงหนุนและความเข้าใจของคนในชุมชน ที่หวังร่วมกันว่าจะได้เห็น “เชียงใหม่เอี่ยม” และน่าอยู่ดังในอดีต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ