ผลการบริหารจัดการหนี้สาธารณะภาครัฐ ประจำเดือนเมษายน 2553 และรายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553

ข่าวทั่วไป Thursday June 3, 2010 14:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ขอสรุปผลการดำเนินการบริหารจัดการหนี้ภาครัฐประจำเดือนเมษายน 2553 พร้อมทั้งรายงานสถานะหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ดังนี้ 1. การกู้เงินภาครัฐ - เดือนเมษายน 2553 กระทรวงการคลังได้กู้เงินในประเทศเพื่อชดเชย การขาดดุลงบประมาณโดยการออกพันธบัตรรัฐบาล 29,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 16,000 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจได้กู้เงินในประเทศ วงเงินรวม 4,664 ล้านบาท โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้านครหลวงกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไป 4,210 ล้านบาท และ 454 ล้านบาท ตามลำดับ - ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553 ภาครัฐได้กู้เงินในประเทศรวม 321,680 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินของกระทรวงการคลัง 281,572 ล้านบาทและของรัฐวิสาหกิจ 40,108 ล้านบาท 2. การปรับโครงสร้างหนี้ภาครัฐ 2.1 เดือนเมษายน 2553 - หนี้ในประเทศ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) ที่ครบกำหนดในเดือนเมษายน 2553 จำนวน 39,440 ล้านบาท** รัฐวิสาหกิจได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ โดยทำการ Roll Over วงเงินรวม 2,440 ล้านบาท โดยธนาคารอาคารสงเคราะห์และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพได้ทำการ Roll Over หนี้เดิม จำนวน 2,000 ล้านบาท และ 440 ล้านบาท ตามลำดับ 2.2 ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553 - หนี้ในประเทศ กระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศ วงเงินรวม 127,440 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 1) การแปลงตั๋วเงินคลังเป็นพันธบัตรรัฐบาล 23,000 ล้านบาท 2) การปรับโครงสร้างตั๋วสัญญาใช้เงินที่ครบกำหนด 25,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน 3) การออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือ กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 (FIDF1) ที่ครบกำหนด 69,440 ล้านบาท และ 4) การปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ออกภายใต้ พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่สอง พ.ศ. 2545 (FIDF 3) ที่ครบกำหนด 10,000 ล้านบาท โดยการออกตั๋วสัญญาใช้เงินสำหรับรัฐวิสาหกิจนั้นได้ทำการ Roll Over หนี้เดิมรวม 105,915 ล้านบาท 3. การชำระหนี้ภาครัฐ - เดือนเมษายน 2553 กระทรวงการคลังได้ดำเนินการชำระหนี้โดยเงินงบประมาณรวม 17,431 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นการชำระคืนเงินต้น 5 ล้านบาท ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมรวม 17,426 ล้านบาท - ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาของปีงบประมาณ 2553 กระทรวงการคลังได้ชำระคืนต้นเงินกู้ ดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียมโดยเงินงบประมาณรวม 89,551 ล้านบาท รายงานหนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553 ยอดหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 มีจำนวน 4,124,712 ล้านบาท หรือร้อยละ 42.39 ของ GDP เป็นหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง 2,762,303 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน 1,103,725 ล้านบาท หนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน 188,569 ล้านบาท และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 70,115 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อน หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 49,568 ล้านบาท โดยหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน และหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ เพิ่มขึ้น 49,000 ล้านบาท 2,546 ล้านบาท และ 482 ล้านบาท ตามลำดับ สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลง 2,460 ล้านบาท ส่วนหน่วยงานอื่นของรัฐนั้นไม่มีหนี้คงค้าง การเพิ่มขึ้นสุทธิของหนี้สาธารณะคงค้างเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมานั้น ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง โดยเพิ่มขึ้นสุทธิ 49,000 ล้านบาท รายการที่สำคัญเกิดจากรัฐบาลได้ดำเนินการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 36,000 ล้านบาท และได้เบิกเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อดำเนินการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 20,000 ล้านบาท สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นสุทธิ 2,546 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการเพิ่มขึ้นของ หนี้ที่รัฐบาลไม่ค้ำประกันในส่วนของหนี้ต่างประเทศ เนื่องจากรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ สูงกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้ สำหรับหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกันลดลงสุทธิ 2,460 ล้านบาท ที่สำคัญเกิดจากการลดลงของหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงินที่รัฐบาลค้ำประกัน เนื่องจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเบิกจ่ายเงินกู้จากแหล่งเงินกู้ต่างๆ ต่ำกว่าการชำระคืนต้นเงินกู้ หนี้สาธารณะ จำนวน 4,124,712 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้ต่างประเทศ 372,303 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.03 และหนี้ในประเทศ 3,752,409 ล้านบาท หรือร้อยละ 90.97 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และเป็นหนี้ระยะยาว 3,871,832 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.87 และหนี้ระยะสั้น 252,880 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.13 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 5 และ 6 ตามลำดับ ส่วนวิจัยนโยบายหนี้สาธารณะ สำนักนโยบายและแผน สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ โทร. 0 2265 8050 ต่อ 5510

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ