นักวิชาการเผย “ปรากฏการณ์อาทิตย์ 3 ดวง” คือ การทรงกลดแบบซันด็อก (Sundogs )

ข่าวทั่วไป Monday June 21, 2010 09:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--สวทช. ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. ในช่วงเช้าของวันที่ 19 มิถุนายน 2553 ได้เกิดปรากฎการณ์ที่ดูเสมือนว่ามีดวงอาทิตย์ถึง 3 ดวงอยู่บนฟ้าจังหวัดศรีสะเกษ อีกทั้งเมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์เช่นเดียวกันนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่นักท่องอินเตอร์เน็ตว่าจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองหรือไม่อย่างไร ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย และผู้ก่อตั้งชมรมคนรักมวลเมฆ อธิบายว่า นี่คือ อาทิตย์ทรงกลด (solar halo) แบบหนึ่งซึ่งเรียกว่า ซันด็อก (Sundogs) ซึ่งอาจเกิดเป็นคู่อยู่ด้านซ้ายและขวาของดวงอาทิตย์ แต่บางครั้งก็เกิดเพียงด้านเดียว “ซันด็อกเกิดจากการที่แสงอาทิตย์หักเหผ่านผลึกน้ำแข็งรูป 6 เหลี่ยมแบนๆ ที่อยู่ภายในเมฆระดับสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เมฆซีร์โรสเตรตัส (cirrostratus) แสงที่เดินทางผ่านผลึกจะปรากฏเป็นแถบแสงอยู่ข้างดวงอาทิตย์ โดยมีสีแดงจะอยู่ด้านใกล้ดวงอาทิตย์ 1. ซันด็อก ที่มาภาพ : http://atoptics.co.uk ชื่อซันด็อกมาจากตำนานเทพของพวกนอรส์ (Norse) โดยดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนเทพโอดิน (Odin) และแถบแสง 2 ข้างคือ สุนัขป่าที่ติดสอยห้อยตามเทพโอดิน หากแถบซันด็อกสว่างมากๆ จะทำให้ดูเหมือนว่ามีดวงอาทิตย์ 3 ดวงอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งฝรั่งเรียกว่า ม็อคซัน (mock suns) แปลว่า ดวงอาทิตย์เลียนแบบ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์ในภาษาละตินคือ พาร์ฮีเลีย (parhelia) มาจากคำอุปสรรค์ par (อยู่ข้าง) กับ helios (ดวงอาทิตย์) รวมกันหมายถึง อยู่ข้างดวงอาทิตย์ นั่นเอง” 2.ซันด็อกเกิดจากแสงอาทิตย์หักเหผ่านผลึกน้ำแข็ง 6 เหลี่ยมที่วางตัวในแนวระนาบ ที่มาภาพ : http://atoptics.co.uk 3. เส้นทางเดินของแสงในผลึกที่ทำให้ซันด็อกที่เกิดขึ้น มีสีรุ้ง โดยสีแดงจะอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ ที่มาภาพ : http://atoptics.co.uk ตำแหน่งของแถบแสงในปรากฏการณ์ซันด็อกจะขึ้นอยู่กับมุมเงยของดวงอาทิตย์ กล่าวคือ หากดวงอาทิตย์มีมุมเงยต่ำ เช่น 3 องศา ซันด็อกอยู่ในแนวระดับใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 22 องศา แต่หากดวงอาทิตย์มีมุมเงยสูงขึ้น ซันด็อกจะเคลื่อนตัวออกห่างจากดวงอาทิตย์และจางลง จนกระทั่งเมื่อมุมเงยของดวงอาทิตย์อยู่เกิน 40 องศา จะเห็นซันด็อกได้ยากเนื่องจากแถบแสงจางมาก 4. แผนภาพแสดงตำแหน่งของซันด็อกสำหรับค่ามุมเงยในช่วง 0 ถึง 40 องศา 5. สำหรับดวงอาทิตย์มีมุมเงย 3 องศา ซันด็อกอยู่ในแนวระดับใกล้เคียงกับดวงอาทิตย์ 6. สำหรับมุมเงยที่ 52 องศา เส้นทางเดินของแสงจะซับซ้อนทำให้แถบซันด็อกจาง ที่มาของภาพ : http://atoptics.co.uk ดร.บัญชา กล่าวว่า ปรากฏการณ์ในลักษณะนี้ยังอาจเกิดกับดวงจันทร์ได้อีกด้วย โดยเรียกว่า "มูนด็อก" (moondog) แต่มูนด็อกเป็นปรากฏการณ์ที่สังเกตเห็นได้ยากกว่า เนื่องจากดวงจันทร์จะต้องสว่างมาก เช่น ใกล้คืนวันเพ็ญ และมีเมฆซีร์โรสเตรตัสบดบังดวงจันทร์อยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทรงกลดแบบต่างๆ ของดวงอาทิตย์ สามารถศึกษาจากเว็บของ ชมรมคนรักมวลเมฆ (http://portal.in.th/cloud-lover) หรือสอบถาม ชมรมคนรักมวลเมฆ สาขา FaceBook ได้โดยสมัครเป็นสมาชิกของชมรมฯ ที่มาของภาพ http://atoptics.co.uk

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ