ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน: ก้าวใหม่ที่ท้าทาย หรือ ความฝันที่ไกลเกินจริง”

ข่าวทั่วไป Friday June 22, 2007 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 มิ.ย.--กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บรรยายพิเศษ เรื่อง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน : ก้าวใหม่ที่ท้าทาย หรือ ความฝันที่ไกลเกินจริง”
การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) สำหรับเสาหลักด้านเศรษฐกิจ ผู้นำอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายให้จัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานมีฝีมืออย่างเสรี และเงินทุนอย่างเสรีมากขึ้น (free flow of goods, services, investment, skilled labor and freer flow of capital) เพื่อให้อาเซียนเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียวร่วมกัน (sing market and production base)
อาเซียนจัดเป็นกลุ่มทางเศรษฐกิจที่มีความใกล้ชิดกับประเทศไทยมากที่สุดทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม และในปีนี้ก็จัดว่าเป็นปีที่สำคัญของอาเซียนที่จะมีอายุครบรอบ 40 ปีของการจัดตั้ง ในวันที่ 8 สิงหาคม ศกนี้แล้ว ด้วยคำขวัญครบรอบ 40 ปีที่ว่า “one ASEAN at the heart of dynamic Asia” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเป็นหนึ่งเดียวของอาเซียนท่านกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงและความท้ายใหม่ๆ ในภูมิภาค
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก อันเนื่องมาจากการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกที่ลึกซึ้งและกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ หรือการลงทุน แต่ยังรวมถึงความร่วมมือในด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน เพื่อลดอุปสรรคทางด้านการค้า การลงทุน ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และให้เกิดการเคลื่อนย้ายของสินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานได้อย่างเสรี ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนามาตรฐานการครองชีพและความกินดีอยู่ดีของประชาชนภายในประเทศ และลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมให้น้อยลง
นอกจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในของอาเซียนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี หรือ FTA ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ซึ่งที่กำลังเจรจาอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และที่กำลังจะเริ่มการเจรจาในไม่ช้า ได้แก่ สหภาพยุโรป
ในการเจรจากับแต่ละประเทศมีความคืบหน้าที่ต่างกัน อาเซียน-จีน มีความคืบหน้ามากที่สุด โดยได้เริ่มลดภาษีสินค้าระหว่างกันตั้งแต่ปลายปี 2547 และจะลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2553 อย่างไรก็ดี ในภาพรวมทุกเวทีมีกรอบการเจรจาและเป้าหมายเดียวกัน คือ การเจรจาในกรอบกว้าง ครอบคลุมการค้าสินค้า บริการ การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ เช่น การแก้ไขมาตรการกีดกันการค้า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปรับประสานมาตรฐานและกฎระเบียบ เป็นต้น
ที่ผ่านมา อาเซียนมีการดำเนินกิจกรรมแผนงานด้านการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่กระจัดกระจาย ทำให้ไม่สามารถเห็นภาพรวมของความคืบหน้าการดำเนินการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจได้ และเนื่องจากเป้าหมายการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ได้ถูกเร่งรัดเป็นปี ค.ศ. 2015 ทำให้เหลือเวลาอีกเพียง 8 ปี และเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้สามารถบรรลุการเป็น sing market and production base ได้อย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการจัดทำ AEC Blueprint อย่างไรก็ดีรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนได้เห็นชอบให้มีความยืดหยุ่นในลักษณะตกลงกันล่วงหน้า (“pre-agreed” flexibilities) อาเซียนจะเป็นเขตเศรษฐกิจที่สามารถแข็งขันในตลาดโลก และมีเสถียรภาพมีความมั่งคั่งในการปฏิบัติตาม AEC Blueprint ทั้งสำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ (CLMV) และประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่มีข้อกังวล AEC Blueprint มีองค์ประกอบยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน ได้แก่
1. การจัดตั้งตลาดและฐานการผลิตร่วม (Single market and production base) การเปิดเสรีการค้าสินค้า : กรยกเลิกภาษีศุลกากร การยกเลิกอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) การปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า การปรับประสานพิธีการศุลกากร การจัดตั้ง ASEAN Single Window ปรับประสานมาตรฐานและลดอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า
- การเปิดเสรีการค้าบริการ ในทุกรูปแบบการให้บริการ (modes of supply)
- การเปิดเสรีการลงทุน การอำนวยความสะดวกและการคุ้มครองการลงทุน
- การเปิดเสรีเงินทุนมากขึ้น
- การเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมืออย่างเสรี
- การรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญ
2. การไปสู่ภูมิภาคที่มีความสารถในการแข่งขันสูง (Towards a Highly Competitive Economic Region) การจัดทำนโยบายการแข่งขัน,การมีกฎหมายสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา,การพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐาน ทางบก น้ำ และอากาศ เทคโนโลยีสารสนเทศ และความร่วมมือด้านพลังงาน,มาตรการภาษีที่เหมาะสม (taxation),การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
3. การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน (Equitable Economic Development) การพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs),การลดช่องว่างระดับการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกใหม่และสมาชิกเก่า ผ่านโครงการ Initiative for ASEAN Integration (IAI)
4. การรวมตัวเข้ากับเศรษฐกิจโลก (Integration into Global Economy) จะทำอย่างไรให้อาเซียนมีบทบาทในการค้าโลกมากขึ้น
AEC Blueprint มีผลผูกพันทางกฎหมาย ระบุให้มีการยกเลิกมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (NTBs) โดยให้เป็นไปตามมติที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน(AFTA Council) ขจัดมาตรการที่มิใช่ภาษีที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (work Programmed for Elimination of NTBs) โดยให้ทยอยยกเลิกเป็น 3 ระยะ คือ ภายในวันที่ 1 มกราคม 2008/2009/2010 สำหรับ ASEAN-5 (รวมทั้งไทย) ภายในวันที่ 1 มกราคม 2010/2011/2012 สำหรับประเทศฟิลิปปินส์ และภายใน 1 มกราคม 2013/2014/2015 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่
ไทยมีมาตรการโควตาภาษี (tariffs quota-TRQ) ในสินค้าเกษตรหลายรายการ ซึ่ง TRQ ถูกจัดเป็น NTB ที่จะต้องยกเลิกเดิมที 23 รายการ แต่บางรายการได้ยกเลิกไปแล้ว บางรายการอยู่ระหว่างเสนอคณะรัฐมนตรีให้ ความเห็นชอบ ส่วนรายการที่เหลือ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้จัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินสถานะแล้ว พบว่า สินค้าที่ไม่สามารถยกเลิกได้ภายในกำหนดเวลาปี 2010 คือ กาแฟและชา ซึ่งจะต้องขอเลื่อนการเปิดตลาดออกไปเป็นปี 2012 สำหรับสินค้าน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นสินค้าภาคใต้ที่มีความอ่อนไหวทางการเมืองสูง ไม่สามารถเปิดได้เลย
การค้าและการลงทุนในอาเซียนการค้าในอาเซียนมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องภายหลังจากจัดตั้ง AFTA ในปี 1993 มูลค่าการค้าของไทยกับอาเซียนในปี 2006 มีมูลค่า 50,420 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากเดิมในปี 1993 ซึ่งมีมูลค่า 12,525 ล้านเหรียญสหรัฐฯ FDI ระหว่างอาเซียนมีสัดส่วนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับ FDI ที่มาจากภายนอกภูมิภาค แหล่งที่มาสำคัญของ FDI ในอาเซียนได้แก่ EU US ญี่ปุ่น และไต้หวัน
โอกาสของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ คือ การเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วน กล่าวคือ ต้องทำให้อาเซียนเป็นทั้งพันธมิตรและหุ้นส่วนเพื่อให้ประเทศไทยเป็น gateway ของอาเซียน ทั้งการค้าและการลงทุน โดยการใช้เวทีทวิภาคีที่มีอยู่และความร่วมมือในกรอบอนุภูมิภาคต่างๆ เช่น ACMECS GMS และ IMT-GT เป็นตัวช่วยผลักดัน และต้องเปลี่ยนแนวคิดการมองอาเซียนจากคู่แข่งมาเป็นหุ้นส่วน โดยการสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นทั้งแก่คนไทย และผู้ประกอบการไทย โดยการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศเพื่อนบ้าน การเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าเกษตรที่ขาดแคลน และการชักจูงประเทศที่สามเข้าร่วมในการพัฒนา เป็นต้น
อีกทั้งเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญ คงต้องยอมรับว่าประเทศในอาเซียนมีความหลากหลายและความพร้อมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไป มีทั้งกลุ่มที่มีความชำนาญในด้านเทคโนโลยี กลุ่มที่เป็นฐานการผลิต และกลุ่มที่มีทรัพยากรและแรงงานสำหรับการผลิต ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องพิจารณาเลือกใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีอยู่ของแต่ละประเทศให้เหมาะสม
นอกจากนี้ก็มีโอกาสการเป็นฐานการผลิตให้อุตสาหกรรมไทย ซึ่งอาจจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยเฉพาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน และแรงงานกึ่งฝีมือ เช่น อุตสาหกรรม แปรรูปอาหาร สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ไม้ หรือการร่วมลงทุนกับประเทศเพื่อบ้าน และการเป็นตลาดที่มีประชากรกว่า 550 ล้านคน ซึ่งไทยจะต้องรักษาตลาดเดิมนี้ไว้ให้มั่นคง และพยายามขยายออกไปให้กว้างขวางมากขึ้น
และเป็นโอกาสการส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนจะเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้เกิดการขยายตัวในด้านการค้าและการลงทุนอันเนื่องมาจากการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาด ทั้งด้านมาตรการภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนต่างๆ
ดังนั้น จึงนับเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยที่จะต้องเร่งปรับตัว และใช้โอกาสจากการลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนต่างๆ ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีความพร้อมและมีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงในหลายๆ สาขา อย่างเช่น สาขาผลิตภัณฑ์อาหาร ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสาขาบริการ อาทิ สาขาการท่องเที่ยว การบริการสาขาสุขภาพ และสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ