คต. จัดสัมมนา “FTA: โอกาสของสินค้าไทยในอาเซียน/อินเดีย/ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์” ณ จังหวัดเชียงราย

ข่าวทั่วไป Monday June 28, 2010 15:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มิ.ย.--คต. นายมนัส สร้อยพลอย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศได้จัดสัมมนาเรื่อง “FTA : โอกาสของสินค้าไทยในอาเซียน/อินเดีย/ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์” ในวันพฤหัสบดีที่ 24 มิถุนายน 2553 ณ โรงแรมดุสิต ไอส์แลนด์ รีสอร์ท เชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจได้รับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากความตกลง ตลอดจนมาตรการและความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรี (กองทุน FTA) ซึ่งการสัมมนาดังกล่าวมีผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และผู้ส่งออกในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง ให้ความสนใจเข้ารับฟังการสัมมนาในครั้งนี้กว่า 150 คน นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยที่จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือ ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำสู่กลุ่มประเทศ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและจีนตอนใต้ การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่เชียงรายในวันนี้ เป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการที่จะเสริมศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจ สามารถขยายการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านให้ขยายตัวมากขึ้น เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ได้ลดภาษีนำเข้าระหว่างกันเป็นศูนย์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 โดยสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ จะเป็นฐานการผลิตและเป็นตลาดเดียวกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และจะก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) ในปี 2558 หรือในอีก 5 ปี ข้างหน้า อาเซียนจึงนับเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย โดยในปี 2552 มีมูลค่าประมาณ 32,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากพิจารณาในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค. — เม.ย.) ไทยส่งออกไปอาเซียน มีมูลค่า 13,760 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 8,462 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึงร้อยละ 62 สำหรับมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน มีมูลค่า 4,257.32 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 74.58 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งมีมูลค่า 2,438.61 ล้านเหรียญสหรัฐฯโดยสินค้าสำคัญที่มีการใช้สิทธิสูง ได้แก่ รถยนต์บุคคล เครื่องปรับอากาศ มันสำปะหลัง ส่วนประกอบยานยนต์ เครื่องจักรโรงงาน ข้าวโพด อาหารปรุงแต่ง ฯลฯ นอกจากอาเซียนแล้ว ไทยยังได้ทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - อินเดีย (ASEAN- India Free Trade Agreement : AIFTA) โดยมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ไทยได้ทำ FTA สองฝ่ายกับอินเดีย แต่ครอบคลุมสินค้าเพียง 82 รายการ ที่สองประเทศเห็นว่าควรจะเร่งลดภาษีเป็นศูนย์ก่อน การที่ไทยได้ขยายการทำความตกลง FTA เป็นอาเซียน- อินเดีย โดยครอบคลุมสินค้ากว่า 4,700 รายการ จึงนับเป็นการเพิ่มโอกาสในการขยายการค้า เนื่องจากอินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรกว่าพันล้านคน โดยในปี 2552 มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า4,900 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหลังจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย มีผลบังคับใช้ มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินเดีย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2553 (ม.ค. — เม.ย.) มีมูลค่าการค้าระหว่างกันกว่า 2,187 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 1,314 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 66 สินค้าสำคัญที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์และของใช้ตกแต่งบ้าน อัญมณีและเครื่องประดับ ด้ายและเส้นใยสังเคราะห์ เป็นต้น สำหรับความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ASEAN-Australia-New Zealand Free Trade Area : AANZFTA) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา จะทำให้ไทยได้รับประโยชน์เพิ่มเติมจากการที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เปิดตลาดเพิ่มมากขึ้น/เร็วขึ้น จากที่ได้ เปิดตลาดภายใต้ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋าหนัง ชิ้นส่วนยานยนต์ เคมีภัณฑ์และอุปกรณ์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ยังช่วยให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกที่จะนำเข้าวัตถุดิบที่มีต้นทุนต่ำจาก 12 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ มาขอใช้สิทธิภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ได้ นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2553 กรมการค้าต่างประเทศมีโครงการที่จะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์โดยการจัดสัมมนาเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการในการใช้สิทธิประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากการที่ประเทศคู่ค้าได้เปิดตลาดภายใต้ความตกลง FTA ต่าง ๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศ ผู้ประกอบการและผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการสัมมนาได้ที่ www.dft.go.th หรือสอบถามที่สำนักสิทธิประโยชน์ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ ผ่านทางสายด่วน 1385

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ