ภาพข่าวฮอนด้าสนับสนุนเด็กไทยสร้างชื่อด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์ มอบทุนพัฒนาทีม KMUTT แข่งหุ่นยนต์ระดับโลก Robocup 2010 ที่สิงคโปร์

ข่าวยานยนต์ Monday July 5, 2010 13:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ก.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน-มาร์สเตลเลอร์ นายพิทักษ์ พฤทธิสาริกร (ที่ 3 จากซ้าย) กรรมการบริหาร บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด พร้อมด้วย นายอดิศักดิ์ โรหิตะศุน (ซ้ายสุด) ที่ปรึกษาระดับสูง บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด และนายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ (ที่ 2 จากซ้าย) ผู้จัดการทั่วไปสายงานองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด เป็นตัวแทนในนามกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย มอบเงินทุนสนับสนุนจำนวน 100,000 บาท ให้แก่ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ขนาดเล็ก KM Series ของทีม KMUTT ตัวแทนเด็กไทยเข้าร่วมชิงชัยในการแข่งขันรายการระดับโลก Robocup 2010 ประเภท RoboCup Soccer Humanoid League ณ ประเทศสิงคโปร์ โดยมี รศ.ดร.ไกรวุฒิ เกียรติโกมล (ที่ 4 จากขวา) อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.วนิดา พวกุล (ที่ 3 จากขวา) รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร. ชิต เหล่าวัฒนา (ขวาสุด)ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) ดร.ถวิดา มณีวรรณ์ (ที่ 2 จากขวา) รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม เป็นตัวแทนรับมอบ ปัจจุบันสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นสถาบันเดียวในประเทศไทยที่ค้นคว้าวิจัยด้านการเดินของหุ่นยนต์ เพื่อประยุกต์ใช้ในวงการอุตสาหกรรมและการผลิตขาเทียมสำหรับผู้พิการ โดยเริ่มต้นศึกษาวิจัยอย่างจริงจังมาตั้งแต่ปี 2546 และส่งทีม KMUTT เข้าร่วมการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก RoboCup ตั้งแต่ปี 2548 โดยมีกลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทยให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง จากการเข้าร่วมแข่งขันในเวทีระดับโลก ทำให้ทีมได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวิทยาการหุ่นยนต์จากนานาประเทศ และสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 3 ในการแข่งขัน RoboCup 2006 เกี่ยวกับบริษัท ฮอนด้า กลุ่มบริษัทฮอนด้าในประเทศไทย ได้ให้ความสำคัญด้านการส่งเสริมการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาได้สนับสนุนเงินทุนสำหรับนักวิจัยเพื่อใช้พัฒนาหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ต้นแบบขนาดเล็ก (Humanoid Robot) ให้กับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) พร้อมทั้งให้ความสนับสนุนการส่งทีม เพื่อเข้าร่วมแข่งขันรายการระดับโลกมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้เยาวชนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเรียนรู้เทคโนโลยีหุ่นยนต์ที่ก้าวหน้าในระดับนานาชาติ และนำความรู้กลับมาพัฒนาวงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์ของไทยต่อไป เกี่ยวกับการแข่งขัน RoboCup Soccer RoboCup World Championship แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภทหลัก ได้แก่ 1) RoboCup Soccer 2) RoboCup Rescue 3) RoboCup @ Home และ 4) RoboCup Junior สำหรับ RoboCup Soccer คือ การแข่งขันหุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัตโนมัติ โดยหุ่นยนต์ 2 ฝ่ายแข่งกันเตะบอล ฝ่ายไหนทำประตูได้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนดจะเป็นฝ่ายชนะ โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 5 ลีก ได้แก่ 1) Simulation 2) Small size 3) Middle size 4) 4-legged และ 5) Humanoid หรือหุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ขนาดเล็ก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ