ทิศทางอุตฯ สิ่งทอไทย ก้าวที่รักษ์สิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Thursday July 8, 2010 10:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลายเป็นประเด็นหลักสำคัญที่ถูกหยิบยกมาเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้า มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยในเกือบทุกสินค้า ต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง โดยที่เห็นเป็นรูปธรรมกว่าที่อื่น คือ EU ได้มีการออกสมุดปกขาว (EU White Paper) เวียนทั่วโลกเพื่อเป็นการแจ้งเตือนและให้เวลาในการปรับตัว ปัจจุบันเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วหลายมาตรการ ซึ่งสาระสำคัญจะระบุว่า การจะส่งสินค้าเข้า EU ได้ต้องผลิตสินค้าให้ตรงตามเงื่อนไขทุกประการ โดยมีประเด็นที่ว่าด้วยเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ เพื่อบอกให้รู้ว่า EU เอาจริงเรื่องนี้ และไม่เพียงเฉพาะ EU เท่านั้นที่ออกมาตรการดังกล่าว แต่หากรวมไปถึงประเทศคู่ค้าสำคัญๆของไทยด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบประเทศคู่ค้า ซึ่งได้วางยุทธศาสตร์การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยไว้หลายด้าน ซึ่งคำนึงถึงประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ และ ได้กำหนดเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าด้านสิ่งแวดล้อมแห่งอาเซียน(HUB สินค้าสิ่งแวดล้อมอาเซียน) ภายใน 10 ปี (2560) ซึ่งถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชาติในอันดับต้นๆ โดยเมื่อปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกรวมประมาณ 2 แสนล้านบาท และในไตรมาสที่ 1 ปี 2553 ส่งออกไปแล้วประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท ตลาดที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา EU ญี่ปุ่น และอาเซียน เนื่องจากอุตสาหกรรมสิ่งทอฯมีการผลิตครบวงจร จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีการจ้างงานในระบบไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน จากทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นคนไทยและเป็น SMEs ซึ่งมีขีดจำกัดเรื่องการปรับตัวและพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องมีมาตรการติดอาวุธทางการค้าให้เหนือกว่าคู่แข่ง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ “พร้อมก่อนเหนือกว่า” นั่นเอง กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้สนับสนุนงบประมาณ (ปี 2551-2553) เพื่อดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของประเทศคู่ค้า โดยมอบหมายให้สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นเจ้าภาพหลักดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย การจัดทำฐานข้อมูลอย่างครบวงจร การยกระดับห้องปฏิบัติการทดสอบ (LAB)ให้มีประสิ ทธิภาพ และการพัฒนาบุคลากรทั้งระบบ อุตสาหกรรมสิ่งทอฯ มีการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมดำเนินโครงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยคำนึงถึงการยกระดับการพัฒนาสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการผลิต เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคงเป็นไปตามทิศทางของกระแสโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การดำเนินกิจกรรมมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมฐานข้อมูลด้านกฎระเบียบของประเทศคู่ค้า การวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อการปรับตัว รวมถึงข้อมูลด้านการตลาด โดยแยกเป็นรายประเทศ รายผลิตภัณฑ์ และมีการออกบทวิเคราะห์ เพื่อส่งสัญญาณให้ผู้ประกอบการได้รับข้อมูลเชิงลึกอย่างต่อเนื่อง เช่น ขณะนี้ตลาด EU เตรียมบังคับใช้กฎหมายเรื่องสารเคมีในการฟอกย้อมศูนย์ข้อมูลจะทำการวิเคราะห์และบอกต่อไปยังผู้ประกอบการให้รับทราบเพื่อเตรียมปรับตัวอย่างทันเหตุการณ์ ซึ่งหากผู้ประกอบการจะได้รับข้อมูลเชิงลึกอย่างรวดเร็วจากผู้รู้จริงเสมือนเป็นตัวช่วยหนึ่งให้ผู้ประกอบการเดินหมากทางธุรกิจได้อย่างมีชั้นเชิง โดยฐานข้อมูลถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งที่มีผลต่อการติดปีกขีดความสามารถที่เหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งระบบฐานข้อมูลสิ่งทอ ฯมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และนำไปใช้ประกอบการวางนโยบายของภาครัฐ การวางแผนเชิงธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพของเอกชน การใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษาหรือการอ้างอิงในงานวิจัยของสถาบันการศึกษา นอกจากนี้ยังมีการยกระดับการพัฒนาบุคลากรทั้งระบบให้สูงขึ้น โดยเน้นสร้างนักบริหารมืออาชีพที่มีวิสัยทัศน์ทันโลกทันเหตุการณ์ สร้างนักวิจัยพัฒนาให้มีมากขึ้นเพื่อจะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด การยกระดับขีดความสามารถห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐานตรงตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการไทยอันจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าไปทดสอบยังต่างประเทศ โดยประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากEU ซึ่งถือเป็นการการันตีได้ว่าจะสามารถยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยให้เหนือกว่าคู่แข่งได้อย่างแน่นอน ดังนั้น เป้าหมายในการเป็น HUB สิ่งแวดล้อมอาเซียน ภายใน 10 ปี จึงไม่ใช่เรื่องที่ฝันไกลเกิน เพราะผลจากการดำเนินโครงการต่างๆเป็นแผนงานที่สอดประสานเป็นทิศทางเดียวกัน เมื่อผู้ประกอบการได้ประโยชน์โดยตรง ย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้เกิดความแข็งแกร่งและมั่นคงต่อไป และนี้คือก้าวย่างที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของไทยจากความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สิ่งทอไทยก้าวไกลอย่างยั่งยืน และก้าวไปพร้อมๆกับการรักษ ์สิ่งแวดล้อม โดยติดตามข้อมูลตลอดจนการเข้าใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูล และรับทราบความเคลื่อนไหวในกิจกรรมต่างๆภายใต้มาตรการเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทยในสาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอได้ที่ www.thaitextile.org/eu/ หรือ www.thaitextile.org/eu/document/EUproject/ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 202 4371 สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ