พม.จัดเสวนาถกประเด็นปัญหาความเสมอภาคหญิงชาย หนุนสตรีมีบทบาทเท่าเทียม ลดเจตคติชายเป็นใหญ่

ข่าวทั่วไป Tuesday July 20, 2010 14:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--พม. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว จัดงานเสวนาโต๊ะกลม“ทบทวน ทิศทาง สู่สังคมเสมอภาค” เพื่อระดมความคิดเห็นในการทบทวนทิศทางการดำเนินงานด้านสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย โดยมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องในงานด้านสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายในประเด็นต่างๆ ร่วมศึกษาทิศทางและแนวทางการดำเนินงานด้านสตรีและการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชายที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ณ โรงแรมทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ นางฮูวัยดีย๊ะ พิศสุวรรณ อุเซ็ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า รัฐบาลปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย โดยระบุอยู่ในนโยบายด้านสวัสดิการสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 29 ธ.ค.2551 เพื่อมุ่งส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ขจัดความกระทำความรุนแรง และการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก สตรี และผู้พิการให้การคุ้มครองและส่งเสริม การจัดสวัสดิการทางสังคมที่เหมาะสมแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการหรือผู้ทุพพลภาพ และผู้ที่อยู่ในภาวะยากลำบาก ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งตนเองได้ นางฮูวัยดีย๊ะ กล่าวว่า สังคมไทยยังขาดความรู้ ความเข้าใจ และการตระหนักในคุณค่าของหญิงและชาย และยังไม่มีการกำหนดนโยบาย แผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ หรือสร้างหลักประกันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเพียงพอ สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาคของบทบาทหญิงและชายที่เกิดขึ้น การสัมมนาในครั้งนี้ จึงเป็นก้าวสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมาทบทวนถึงบทบาทการทำงานเพื่อสิทธิสตรีและความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพื่อเป็นผู้นำในการเสริมสร้างทัศนคติที่ถูกต้องแก่สังคม และให้เกิดตระหนักในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง ครอบครัว ระบบ โครงสร้าง ซึ่งเป็นภารกิจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องระดมสรรพกำลัง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ด้านรองศาสตราจารย์วิระดา สมสวัสดิ์ รองศาสตราจารย์ ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และประธานคณะกรรมการบริหารหลักสูตรศิลปะมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ปัจจุบัน ความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชายยังมีอยู่มาก โดยสะท้อนให้เห็นผ่านทางสถิติการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเสมอภาคนั้น จึงต้องเปลี่ยนแปลงในระดับรากเหง้า และหลุดออกจากกรอบเจตคติที่ว่าชายเป็นใหญ่ มีอำนาจเหนือกว่าผู้หญิง ภาคประชาสังคมรวมทั้งภาครัฐจึงต้องร่วมมือกัน จัดวางยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนเพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย “ความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย อยู่ในวิถีชีวิตของทุกคน อยู่ในการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม จึงไม่ควรอ้างว่า รอให้มีการจัดการด้านการเมืองก่อนแล้วจึงจะหันมาสนใจเรื่องความไม่เสมอภาคระหว่างหญิงชาย เพราะความไม่ เสมอภาคระหว่างหญิงชาย ไม่ใช่เรื่องเล็ก หากแต่ถูกทำให้เป็นเรื่องเล็กมากกว่า ” รองศาสตราจารย์วิระดา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ