กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ห่วงสถานการณ์ภัยธรรมชาติ เดินหน้า “ทดลอง วิจัย เติมน้ำลงชั้นน้ำบาดาล” แก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม

ข่าวทั่วไป Tuesday July 20, 2010 15:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลเตรียมรับสถานการณ์ภัยธรรมชาติ เดินหน้าศึกษาแนวทางแก้ปัญหา ภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลพื้นที่แอ่งเจ้าพระยาตอนบน จังหวัดพิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก พร้อมเฝ้าติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติ และสถานการณ์การใช้น้ำอย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่ ทั่วประเทศ นายโชติ ตราชู อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า สถานการณ์ภัยแล้ง ในปี 2553 รุนแรงกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตอนล่าง พบว่าระดับน้ำบาดาลในชั้นน้ำบาดาลได้ลดระดับลงอย่างรวดเร็ว เป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนลดน้อยลงในฤดูฝน และปริมาณ น้ำผิวดินที่ไหลซึมลงสู่ชั้นน้ำบาดาลน้อยลง โดยเฉพาะในบริเวณจังหวัดพิจิตร สุโขทัย และพิษณุโลก ที่มักประสบปัญหาอุทกภัยในฤดูน้ำหลาก และปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งของทุกปี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพเศรษฐกิจและวิถีการดำเนินชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ซึ่งระดับน้ำบาดาลที่ลดลงจะมีผลต่อการนำน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง ทำให้มีการทรุดบ่อเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ใช้น้ำบาดาล โดยเฉพาะพื้นที่การเกษตรประชาชนจะเสียค่าใช้จ่ายในการเพิ่มขนาดเครื่องสูบน้ำ และค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการสูบน้ำเพิ่มมากขึ้น ซึ่งระดับน้ำที่ลดต่ำลง 1 เมตร จะทำให้เสียค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องสูบน้ำเพิ่มขึ้นประมาณ 3.50 บาท ต่อ ชั่วโมง รวมถึงอาจมีผลให้ชั้นน้ำบาดาลแห้งลง ขาดศักยภาพในการพัฒนานำน้ำขึ้นไปใช้เพื่อการเกษตรและหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นของผิวดิน อันจะนำไปสู่ การเสียสมดุลทางระบบนิเวศวิทยา กรมทรัพยากรน้ำบาดาลจึงได้ศึกษาทดลองการเติมน้ำลงสู่ชั้นน้ำบาดาลผ่านระบบสระน้ำพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง จังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย พิจิตร โดยสำรวจ ศึกษา รวบรวมข้อมูลด้านธรณีวิทยา อุทกธรณีวิทยา และข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง คัดเลือกพื้นที่เหมาะสมเพื่อเป็นพื้นที่นำร่องทดลองระบบเติมน้ำลงชั้นน้ำบาดาล โดยการเติมน้ำผิวดินในช่วงฤดูน้ำหลากเข้ากักเก็บสู่ชั้นน้ำบาดาล และสูบขึ้นมาใช้ในฤดูแล้ง ซึ่งเป็นการลดความสูญเสียของพื้นที่เกษตรกรรม อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ขณะนี้ การดำเนินโครงการแล้วเสร็จไป ร้อยละ 80 และอยู่ระหว่างการทดลองระบบเติมน้ำระยะเวลา 6 เดือน การติดตามผลกระทบของการเติมน้ำทั้งปริมาณและคุณภาพ และประเมินความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์ คาดว่าจะได้ทราบผลการศึกษาในเดือนตุลาคม 2553 นายโชติ ได้กล่าวย้ำว่า “อยากฝากให้ประชาชนช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาล ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของประเทศที่มีการพัฒนานำไปใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ การใช้น้ำบาดาลอย่างรู้คุณค่า และบูรณาการการใช้น้ำผิวดินและน้ำบาดาลร่วมกันจะสนับสนุนให้เกิดระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความสูญเสียที่เกิดจาก ภัยธรรมชาติได้อย่างถาวรในอนาคต”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ