ลุยตลาดอาหารฮาลาลอียู “สถาบันอาหาร” ชี้ช่อง เจาะตลาดผ่านงานแสดงสินค้า

ข่าวทั่วไป Wednesday July 28, 2010 10:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.ค.--สถาบันอาหาร สถาบันอาหาร แนะผู้ประกอบการไทยรุกตลาดอาหารฮาลาลในสหภาพยุโรป ผ่านงานแสดงสินค้า สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค เผยชาวมุสลิมในยุโรปใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหาร ฮาลาลประมาณวันละ 5-6 เหรียญสหรัฐฯ โดยในปี 2552 มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลในยุโรป มีมูลค่าประมาณ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 45.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2553 คาดทศวรรษหน้าธุรกิจเกี่ยวกับอาหารฮาลาลจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-25 นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า “ทวีปยุโรปเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่สำคัญของตลาดอาหารฮาลาล แม้จะมีประชากรมุสลิมไม่มากนัก โดยเฉพาะในประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ นับว่าเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ซึ่งการที่จะเข้าไปเจาะตลาดอาหารในสหภาพยุโรปให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ผู้ผลิตและส่งออกอาหารฮาลาลต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ ของสหภาพยุโรปอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะระเบียบ (EC) 178/2002 ซึ่งเป็นระเบียบของสหภาพยุโรปที่ได้วางหลักการทั่วไปและข้อกำหนดของกฎหมายอาหาร เพื่อให้มีการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎระเบียบกำหนดไว้ตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ซึ่งการบังคับใช้ดังกล่าวจะครอบคลุมถึงอาหารฮาลาลที่นำเข้ามายังตลาดสหภาพยุโรปด้วย” ทวีปยุโรปมีประชากรประมาณ 540 ล้านคน เป็นประชากรมุสลิมประมาณ 21 ล้านคน คิดเป็น ร้อยละ 4.0 ของประชากรทั้งหมด โดยประมาณร้อยละ 75 ของประชากรมุสลิมในทวีปยุโรปอาศัยอยู่ในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งประเทศฝรั่งเศสและโรมาเนีย มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่มากที่สุด คือ ประเทศ ละประมาณ 4.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 7 ของประชากรของฝรั่งเศส และร้อยะ 20 ของประชากรของ โรมาเนีย ขณะที่ประเทศเยอรมนีและอังกฤษ มีประชากรมุสลิมประมาณ 2.8 และ 1.6 ล้านคน ตามลำดับ สำหรับประเทศในแถบยุโรปตะวันตกที่อยู่นอกกลุ่ม EU มีประชากรมุสลิมน้อยมาก ในขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปตะวันออก พบว่าประเทศแอลเบเนีย มีประชากรมุสลิมมากที่สุดประมาณ 2.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 75 ของประชากรทั้งประเทศ รองลงมาได้แก่ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา คิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากร ทั้งประเทศ “สำหรับตลาดอาหารฮาลาลในยุโรป พบว่า ในปี พ.ศ. 2552 มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลในยุโรปมีมูลค่าประมาณ 44.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 45.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2553 ตลาดอาหารฮาลาลในยุโรปถือว่าเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรมุสลิมที่มีอยู่เพียงประมาณ 21 ล้านคน แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหารฮาลาลของชาวมุสลิมต่อหัวในยุโรปนั้นสูงมาก เฉลี่ยแล้วชาวมุสลิมในยุโรปใช้จ่ายเพื่อบริโภคอาหารฮาลาลประมาณวันละ 5-6 เหรียญสหรัฐฯ และทำให้ตลาดอาหารฮาลาลในยุโรปขยายตัวอย่างรวดเร็ว คาดว่าในทศวรรษหน้าธุรกิจเกี่ยวกับอาหารฮาลาลจะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-25 ดังนั้น ตลาดอาหารฮาลาลในยุโรปถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพในเชิงการค้าระหว่างประเทศที่ประเทศผู้ส่งออกอาหารฮาลาล ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส และอังกฤษ ถือว่าเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีมูลค่าตลาดสูงเป็นอันดับ 1 และ 2 ตามลำดับ” นายอมร กล่าว ประเทศฝรั่งเศส จัดว่าเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในยุโรป มีมูลค่าตลาดประมาณ 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2552 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 17.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ฝรั่งเศสมีประชากรมุสลิมประมาณ 4.4 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนประชากรที่ไม่มากนัก หากเปรียบเทียบกับประเทศมุสลิม แต่เป็นกลุ่มที่มีอำนาจซื้อสูงมาก ตลาดอาหารฮาลาลในฝรั่งเศสกว่าครึ่งหนึ่งจะกระจายตัวอยู่รอบๆ กรุงปารีส ซึ่งบริเวณนี้จะมีชาวมุสลิมอาศัยอยู่ประมาณร้อยละ 18 ของประชากรมุสลิมทั้งประเทศ ในอดีตอาหารฮาลาลในฝรั่งเศสสามารถหาซื้อได้เฉพาะตามร้านขายของชำทั่วๆ ไป เท่านั้น แต่ปัจจุบันอาหารฮาลาลสามารถหาซื้อได้ตามซูปเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ เช่น Carrefour, Cora และ Groupe de’ Casino เป็นต้น ภายใต้ตราสินค้าต่างๆ เช่น Isla Delice, Duc, Oriental Viandes, Knorr, Lacteor และ Maggi เป็นต้น สำหรับประเทศอังกฤษ มีประชากรมุสลิมประมาณ 1.7 ล้านคน และตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 4.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2552 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2553 ซึ่งคาดว่าตลาดอาหารฮาลาลโดยรวมในอังกฤษมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับฝรั่งเศส ขณะที่ในประเทศอื่นๆ ตลาดอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 23.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2552 คาดว่าจะลดลงเหลือ 23.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2553 รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวสรุปว่า “ผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลของไทยที่ต้องการเจาะตลาดอาหารฮาลาลในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะฝรั่งเศส ควรต้องดำเนินกลยุทธ์เชิงรุกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารฮาลาลไทยให้เป็นที่รู้จัก ถือเป็นช่องทางสำคัญที่จะส่งผลให้ผู้บริโภคชาวมุสลิมหันมานิยมเลือกซื้อสินค้าจากไทยมากขึ้น โดยผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถนำสินค้าอาหารฮาลาลไทยเข้าประชาสัมพันธ์ในงานแสดงสินค้าอาหารในฝรั่งเศส เช่น งานแสดงสินค้าอาหาร SIAL เป็นต้น นอกจากนั้น การแสวงหาความร่วมมือทางธุรกิจหรือการจับคู่ทางธุรกิจกับผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายสำคัญๆ ในฝรั่งเศส น่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความสำเร็จให้กับผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลของไทยในการเจาะตลาดอาหารฮาลาลในฝรั่งเศสได้ อีกทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ในยุโรปอีกด้วย”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ