ผู้ว่าฯกทม. ชี้แจงสภาฯ กรณีปัญหาป้ายโฆษณา

ข่าวทั่วไป Thursday July 12, 2007 14:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ก.ค.--กทม.
การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่ 3 (ครั้งที่ 2) ณ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางรัก และนายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย เสนอญัตติให้กรุงเทพมหานครดำเนินการกับป้ายโฆษณาที่ผิดกฎหมายหรือไม่มี ความมั่นคงแข็งแรง เนื่องจากเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 50 ได้มีพายุฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายในหลายพื้นที่ ได้แก่ เสาไฟฟ้าล้ม ต้นไม้หักโค่น รถยนต์เสียหาย และร้ายแรงที่สุดคือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ล้มทับประชาชนจนเสียชีวิตบริเวณ ปาก ซ.โยธินพัฒนา เขตบางกะปิ ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับแก้ไขเร่งด่วน ด้วยทำการรื้อป้ายที่ไม่มีมาตรฐานสร้างผิดแบบ รวมถึงป้ายที่ไม่มั่นคงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เนื่องจากอยู่ในช่วงมรสุม ป้ายไหนหมดสัญญาให้ดำเนินการรื้อถอนทันทีและลดป้ายลงเพื่อให้เป็นมาตรฐานในการจัดระเบียบป้ายโฆษณา 1,524 ป้าย และป้ายที่ไม่ได้ขออนุญาตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พร้อมกันนี้ได้เสนอในการ ให้อำนาจหน้าที่แก่สำนักงานเขตอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบแบบและการดำเนินการก่อสร้างป้ายโฆษณา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เพื่อให้ทางราชการตื่นตัวในการร่วมรับผิดชอบต่อป้ายโฆษณาในพื้นที่ และเอาผิดกับวิศวกรซึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหา
ด้าน นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครประสบปัญหาในเรื่องป้ายโฆษณามาโดยตลอดจากการแก้ไขได้ทำการรื้อป้ายไปแล้ว 50 ป้าย แก้ไขป้ายที่ไม่ได้มาตรฐาน 60 ป้าย ส่วนปัญหาป้าย 28 ป้ายที่ไม่มั่นคงเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ล่าสุดได้ดำเนินการรื้อไปแล้ว 2 ป้าย และได้ทำการสั่งการรื้อเพิ่มอีก 3 ป้ายในพื้นที่เขตบึงกุ่ม คาดว่าจะดำเนินการรื้อถอนป้ายโฆษณาทั้งหมดภายในสิ้นเดือนกรกฎาคม พร้อมกันนี้กรุงเทพมหานครได้ประสานงานไปยังตำรวจนครบาล และเจ้าหน้าที่ในการผลักดัน พ.ร.บ.ป้าย เพื่อกำกับดูแลและเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อกัน ซึ่งคณะผู้บริหารไม่เคยนิ่งนอนใจในเรื่องนี้ และจะรีบดำเนินการในการรื้อถอนป้ายโฆษณา และขอความร่วมมือประชาชนไม่ให้การสนับสนุนต่อตัวสินค้าโฆษณาที่เป็นสาเหตุด้วย
ทั้งนี้ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในญัตติดังกล่าวและมอบให้เลขานุการสภากรุงเทพมหานครยืนยันให้ผู้บริหารกรุงเทพมหานครดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ในที่ประชุมสภากรุงเทพมหานคร ได้มีนักเรียนประถมชั้นปีที่ 5 จากโรงเรียนปิยจิตวิทยา เขตสวนหลวง จำนวน 58 คน เข้าร่วมเพื่อรับฟังและเรียนรู้ระบบการปกครองท้องถิ่นในครั้งนี้ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ