ตามไปดูเยาวชนประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม GSP ที่ศูนย์ประกวดโรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จ. ลพบุรี

ข่าวทั่วไป Tuesday August 10, 2010 11:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สสวท. รายงานข่าวสดๆ ร้อน ๆ จาก โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย จังหวัดลพบุรี หนึ่งใน 20 ศูนย์ประกวดผลงานสร้างสรรค์ของคนมีความสามารถทางคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad ระดับภูมิภาค จัดประกวดไปเมื่อวันที่ 6-7 สิงหาคม 2553 โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และศูนย์พัฒนาคุณภาพ การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ โดยใช้โปรแกรม The Geometer’s Sketchpad (GSP) ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น การแข่งขันครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ด้วยโปรแกรม GSP ในโรงเรียนและกระตุ้นบรรยากาศทางวิชาการในการเรียนรู้คณิตศาสตร์ด้วยสื่อบนคอมพิวเตอร์โดยโปรแกรม GSP การประกวด แบ่งเป็น 3 ระดับชั้น ได้แก่ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยที่ศูนย์ประกวดโรงเรียนพิบูลวิทยาลัยแห่งนี้ มีผู้เข้าร่วมประกวดทั้งหมด 38 โรงเรียน ประกอบด้วย ระดับประถมศึกษา 8 โรงเรียน มัธยมศึกษาตอนต้น 14 โรงเรียน และมัธยมศึกษาตอนปลาย 16 โรงเรียน จาก 6 จังหวัด ที่เข้าร่วมประกวด ได้แก่ ลพบุรี สิงห์บุรี สระบุรี อ่างทอง ชัยนาท อุทัยธานี ในส่วนของกรรมการที่เข้าร่วมตัดสินการประกวด ทางศูนย์ ฯ ได้ติดต่ออาจารย์จากหมวดคณิตศาสตร์โรงเรียนต่าง ๆ ในเขตจังหวัดที่เข้าประกวดทั้ง 6 จังหวัด มาร่วมเป็นกรรมการ ระดับละ 6 คน รวม 18 คน การประกวดวันแรก นักเรียนที่เข้าร่วมประกวดทั้ง 3 ระดับชั้น ได้นำเสนอผลงาน ในหัวข้อ “ท่องเที่ยวบ้านฉัน” ซึ่งส่วนใหญ่เด็ก ๆ จะคัดสรร แหล่งท่องเที่ยวที่โดดเด่นในจังหวัดของตัวเอง มาสร้างสรรค์ผลงานปรากฏเป็นภาพทางคณิตศาสตร์ ใช้หลักการทางคณิตศาสตร์ในการสร้างภาพ เช่น การแปลงทางเรขาคณิต การเลื่อนขนาน การหมุน การสะท้อน การย่อขยาย ฟังก์ชัน พาราโบลา ฯลฯ อย่างเช่น ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท ชวนเที่ยววัดหลวงปู่ศุข สวนนก เขื่อนเจ้าพระยา โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยสระบุรี จังหวัดสระบุรี นำเสนอ แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของแต่ละอำเภอ เช่น วัดดอนพุด วัดสูง วัดพระพุทธฉาย ผาเสด็จ น้ำตกมวกเหล็ก โรงเรียนศรีศักดิ์สุวรรณวิทยา จังหวัดสิงห์บุรี นำเสนอ วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร วัดพิกุลทอง พระอารามหลวง แม่ลาราชานุสรณ์และร้านอาหารแม่ลาปลาเผา เตาเผาแม่น้ำน้อยและวัดพระปรางค์ อนุสาวรีย์วีรชนชาวบ้านบางระจัน และวัดโพธิ์เก้าต้น ค่ายบางระจัน โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม จังหวัดชัยนาท นำเสนอการท่องเที่ยว “นามระบือสวนนก” ส่วนในชั้นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษา ก็เช่นเดียวกัน โดยมาก มักจะนำคำขวัญประจำจังหวัดของตนเอง มาจัดทำเป็นผลงานคณิตศาสตร์ ที่น่าสนใจ คือ โรงเรียนอนุบาลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในระดับประถมศึกษา ได้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่น เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีแข่งเรือ และเล่าถึงประวัติความเป็นมาของชื่ออำเภอเสาไห้ ความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้ คือ มีความตรงประเด็น “ท่องเที่ยวบ้านฉัน” ผลงานมีความน่าสนใจ รู้สึกว่า เจ้าบ้านตั้งใจเชิญชวนให้ผู้ชมไปเที่ยวบ้านของเขา และเมื่อได้เห็นผลงานแล้ว รู้สึกอยากไปเที่ยวเสาไห้ขึ้นมาเดี๋ยวนั้นเลย ในการนำเสนอนักเรียนได้พูดนำเสนอจากใจ จากความรู้สึกจริงๆ ไม่เหมือนจากการท่องจำมา ดูออกว่า นักเรียนภูมิใจในบ้านเกิดของเขา และภูมิใจในผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมาจนสำเร็จ ความแตกต่าง และโดดเด่นของทุกผลงานที่เข้าร่วมประกวด อยู่ที่เทคนิค การนำความรู้ทางคณิตศาสตร์ ผสานกับความคิดสร้างสรรค์ที่มี มาประยุกต์ใช้ในการสร้างผลงานของตน เช่น สร้างน้ำพุที่เคลื่อนไหวได้ สร้างน้ำตกที่ไหลจากบนลงล่างได้จริงๆ สร้างดอกไม้ที่หุบแล้วบานได้ ยิ่งภาพที่สร้างขึ้นนั้น มีความสวยงาม ความคิดสร้างสรรค์ ใช้ความซับซ้อนและแนวคิดทางคณิตศาสตร์ในการสร้างมากเพียงใด ก็ยิ่งได้ใจกรรมการมากเพียงนั้น โดยเกณฑ์ที่ใช้ประเมินสำหรับผลงานที่ร่วมประกวดในวันแรก กรรมการวัดจาก การสร้างสรรค์ผลงานบน GSP ให้คะแนนจาก ความสมบูรณ์และความถูกต้องของผลงานที่ทำ และความสวยงาม ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่ใช้ ให้คะแนนจาก ความหลากหลายของความรู้ทางคณิตศาสตร์ ความชัดเจนของการนำเสนอ ความสอดคล้องของการนำคณิตศาสตร์มาใช้ แนวคิดหรือความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ให้คะแนนจาก ผลงานมีความสอดคล้องกับหัวข้อที่กำหนด ผลงานมีความแปลกใหม่ ไม่ลอกเลียนแบบผู้อื่น และนำผลงานจากการเรียนรู้ GSP มาประยุกต์ใช้ ส่วนการประกวดในวันที่สอง นักเรียนแต่ละระดับจะได้รับโจทย์ปัญหา ให้พิสูจน์ทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ แล้วนำมาสร้างสรรค์ผลงานทางคณิตศาสตร์ ตามที่โจทย์กำหนดไว้ให้ถูกต้อง “ความพิเศษของการประกวดนี้ คือ ให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ มีจินตนาการ ได้แสดงออกถึงความสามารถของตนเอง ความยาก ของโจทย์ในครั้งนี้ถือว่าไม่ยากจนเกินไป คิดว่าไม่น่าจะเกินความสามารถของนักเรียนที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะจากการที่ได้อบรมและสอนนักเรียนเรื่องการใช้โปรแกรม GSP ตรงกับปัญหาที่ สสวท. กำหนดให้ในการแข่งขันครั้งนี้” อาจารย์ลือชัย ทิพรังศรี คุณครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนหนองฉางวิทยา จังหวัดอุทัยธานี หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินการประกวดกล่าว เด็กหญิงชนากานต์ แก้ววิเชียร (ฝ้าย) และเด็กชายมัชฌิมา คชานันท์ (มาร์ช) ชั้น ป. 6/2 โรงเรียนอนุบาลเสาไห้ จังหวัดสระบุรี เจ้าของรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง อันดับที่ 2 ระดับประถมศึกษา จากการแข่งขันดังกล่าว กล่าวว่า ตื่นเต้นมาก ก่อนมาแข่งขันได้ฝึกทำโจทย์ระดับประเทศของปีที่แล้ว ใช้เวลาเตรียมตัวก่อนมาประกวดประมาณเดือนกว่า ผลงานการออกแบบหัวข้อท่องเที่ยวบ้านฉันที่จัดทำมานำเสนอ นั้นเป็นภาพการแข่งขันเรือยาว มีศาลาแม่น้ำตะเคียน พระพุทธรูปทองคำ ผ้าทอหลากสี และข้าวเสาไห้ สำหรับการเรียน GSP ในโรงเรียนนั้น ได้เรียนในวิชาซ่อมเสริมทุกวันพุธ เคล็ดลับการเรียนคือ ต้องจำสูตรคณิตศาสตร์ และจำคำสั่งใช้งานของโปรแกรม การเรียนรู้โปรแกรม GSP นี้ ทำให้เข้าใจวิชาคณิตศาสตร์มากขึ้น สร้างภาพเราขาคณิตได้ง่ายขึ้น และเข้าใจมากขึ้น เด็กชายกวิน บุญนิล (วิน) ชั้น ม. 1 โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี เจ้าของรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง อันดับที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เล่าว่า ผลงานท่องเที่ยวบ้านฉันที่มานำเสนอ เป็นภาพประเพณีตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นประเพณีทางศาสนาที่สร้างความสงบสุขให้กับจังหวัด การใช้โปรแกรม GSP เราต้องมีพื้นฐานความรู้ทางเนื้อหาคณิตศาสตร์ และต้องอาศัยความเข้าใจในโปรแกรม และจินตนาการ เด็กหญิงบัณฑิตา ขยันการนาวี (แนท) ชั้น ม. 3 โรงเรียนอุทัยวิทยาคม จังหวัดอุทัยธานี เจ้าของรางวัลชนะเลิศ เหรียญทอง อันดับที่ 1 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น กล่าวว่า การเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ ทำให้ได้ฝึกความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีหลักการ มีลำดับขั้นตอน สำหรับการเตรียมตัวไปแข่งขันระดับประเทศนั้น จะศึกษาทบทวนเพิ่มเติมในด้านการสร้างรูปเรขาคณิต และการพิสูจน์สูตรทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งนี้ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งระดับภูมิภาค จากทั้ง 20 ศูนย์ จะได้เข้าร่วมชิงชัยระดับประเทศ ณ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 สอบถามเพิ่มเติมที่ สาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. โทร. 02 392 9348 หรือ 02 392 4021 ต่อ 2510

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ