รพ.จุฬาฯ ติดตั้งเครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา “ เครื่องแรกของไทย ”

ข่าวทั่วไป Wednesday August 18, 2010 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ รพ.จุฬาฯ ติดตั้งเครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา “ เครื่องแรกของไทย ” สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็ง ( ที่ต้องฉายแสง ) ได้มากขึ้น และช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ( จากการฉายรังสี ) เมื่อวันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2553 เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม ชั้น 9 ตึก “ ล้วน — เพิ่มพูล ว่องวานิช ” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศ.นพ.อดิศร ภัทราดูลย์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เป็นประธานการแนะนำ “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” ( 1,000 Degrees Directions Arc Therapy ) เครื่องแรกในประเทศไทย โดยมี รศ.นพ.เกียรติ อาจหาญศิริ หัวหน้าฝ่ายรังสีวิทยา และ ผศ.นพ.ชลเกียรติ ขอประเสริฐ หัวหน้าหน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกันชี้แจงและอธิบายการทำงานและศักยภาพของ “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” ( 1,000 Degrees Directions Arc Therapy ) “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” เป็นเครื่องมือใหม่ มีเทคโนโลยีทันสมัย มีคุณภาพสูงสามารถปล่อยรังสีเอกซเรย์พลังงานสูง สามารถปรับรูปร่าง ความเข้มของลำรังสี ให้รังสีแบบสามมิติ เฉพาะจุด หรือครอบคลุมไปตามรูปร่างต่างๆ ตามที่แพทย์วางแผนการรักษาได้ มีความแม่นยำในการฉายรังสีสูงสุด ในขณะที่หมุนเครื่องรอบตัวผู้ป่วย สามารถหมุนไปกลับได้ต่อเนื่องถึง 1,000 องศา หรือ 2.77 รอบ สามารถให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้รวดเร็วขึ้น ใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเดิม ( 2 — 7 นาที / คน ) สามารถให้บริการผู้ป่วยได้เพิ่มมากขึ้น รวดเร็วขึ้น และ ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการฉายรังสีด้วย เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ยังติดตั้ง ระบบตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็ง ก่อนการรักษาด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ( Cone Beam CT ) ที่ติดตั้งอยู่กับเครื่องฉายรังสี แล้วนำภาพมาเปรียบเทียบกับภาพเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่ใช้ในการวางแผนการรักษา เพื่อตรวจสอบตำแหน่งของก้อนมะเร็งให้ถูกต้อง จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนจากเป้าการรักษาน้อยมาก ( น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ) “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” จะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับความสะดวกสบายและได้รับการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถลดระยะเวลาการฉายรังสีลงได้เหลือเพียงประมาณ 2 — 7 นาที ต่อการรักษาหนึ่งครั้ง ซึ่งใช้เวลาน้อยมาก ( เมื่อเปรียบเทียบกับ การรักษาแบบปรับความเข้ม “ แบบเดิม ” ซึ่งใช้เวลานานถึง 20 — 30 นาที ) และยังช่วยลดโอกาสคลาดเคลื่อนของตำแหน่งในการฉายแสง ที่มักเกิดกับผู้ป่วย ซึ่งต้องใช้เวลาในการฉายแสงนาน นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะ ผู้ป่วยมะเร็งบริเวณสมอง — ศีรษะ — ลำคอ ที่มีความจำเป็นต้องสวมหน้ากากพลาสติก ( Thermoplastic mask ) ซึ่งอาจจะเกิดความอึดอัด ในขณะฉายรังสี หรือ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถนอนฉายรังสีได้นานๆ อันเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ความเจ็บปวด , ความเมื่อยล้า หรือ อาการเหนื่อยหอบ เป็นต้น “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” ยังช่วยให้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สามารถให้บริการผู้ป่วยโรคมะเร็งได้เพิ่มมากขึ้น ปัจจุบัน มีผู้ป่วยมาขอรับการรักษาด้วยรังสีมีปริมาณสูง มากกว่า 2,000 รายต่อปี ( พ.ศ. 2550 มีผู้ป่วย 2,042 คน และ พ.ศ. 2551 มีผู้ป่วย 2,105 คน ) โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาโดยวิธีฉายรังสีแบบ 2 มิติ ประมาณ 45 % , แบบ 3 มิติ ประมาณ 45 % และแบบปรับความเข้ม มีเพียง 10 % โดยมี เครื่องฉายรังสี 3 เครื่อง ซึ่งถึงแม้ หน่วยรังสีรักษา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จะเปิดบริการให้แก่ผู้ป่วย ตั้งแต่เวลา 7.00 น. — 20.00 น. โดยไม่มีการหยุดพักกลางวัน แต่ก็ยังมี ผู้ป่วยเก่า ที่รอรับการรักษา ตกค้างอยู่อีกมาก และมี ผู้ป่วยใหม่ ที่มาเริ่มรับการรักษา จึงมีระยะเวลาในการรอเริ่มการรักษาที่นานมาก ดังนั้น เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา นี้ จึงสามารถช่วย ลดเวลาในการฉายรังสีต่อครั้งของผู้ป่วยได้ ซึ่งจะช่วยทำให้ สามารถเปิดรับบริการผู้ป่วยต่อวันได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” มีประสิทธิภาพสูงในการรักษามะเร็ง สามารถให้รังสีแบบ ๓ มิติ เฉพาะจุด และครอบคลุมไปตามรูปร่างต่างๆ ตามที่แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างอิสระ ตลอดการหมุนรอบของเครื่อง ซึ่งทำให้สามารถได้ผลการรักษาที่ดีกว่าการรักษาแบบปรับความเข้มแบบเดิม ( Intensity Modulated Radiation Therapy : IMRT ) นอกจากนี้ ยังมี เครื่องมือเอ็กซเรย์ 3 มิติ ( Cone Beam CT scan ) ติดตั้งอยู่ ซึ่งช่วยทำให้มองเห็นก้อนเนื้องอก และการเคลื่อนไหวของอวัยวะภายใน ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ในแต่ละวัน โดยที่สามารถจะตรวจสอบตำแหน่งของก้อนเนื้องอก ก่อนฉายรังสีได้อย่างแม่นยำ ที่สำคัญ ยังช่วยลดภาวะแทรกซ้อน ( จากการฉายรังสี ) อวัยวะปกติ ที่อยู่ติดกับก้อนมะเร็ง จะได้รับปริมาณรังสีที่น้อยกว่า ( เมื่อเทียบกับเครื่องรุ่นเดิม ) ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดผลข้างเคียง จากการฉายรังสีได้เป็นอย่างดี เช่น สามารถลดปริมาณรังสีต่อต่อมน้ำลาย ที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการน้ำลายแห้ง ในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ , ลดการเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบและ ลำไส้อักเสบจากรังสี ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมากด้วยรังสี เป็นต้น ค่าใช้จ่าย ในการรักษาด้วย “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” ผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่าย “ เท่าเดิม ” ไม่มีความแตกต่างของค่าใช้จ่าย ในการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ( เมื่อเทียบกับการฉายแสงแบบปรับความเข้มแบบเดิม ) ทั้งนี้ ผู้ป่วยบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า , ผู้ป่วยบัตรประกันสังคม และ ผู้ป่วยสิทธิข้าราชการ ( ที่มีข้อบ่งชี้ ) สามารถเบิกค่ารักษาฉายรังสีแบบนี้ได้ ผู้ป่วย ที่เหมาะในการรักษาด้วย “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” จะต้องเป็น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ แพทย์ ผู้รักษามะเร็ง เห็นว่า ควรได้รับการรักษาด้วยรังสี ซึ่งได้แก่มะเร็ง ที่ตำแหน่งดังนี้ มะเร็งโพรงหลังจมูก ( Nasopharyngeal Cancer ) , มะเร็งต่อมลูกหมาก ( Prostate Cancer ) ที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยรังสี , มะเร็งที่จะต้องได้รับการรักษาด้วยรังสี และอยู่ในบริเวณที่ติดกับอวัยวะสำคัญอื่นๆ ซึ่งแพทย์พิจารณาแล้วว่าการฉายรังสีแบบธรรมดาไม่สามารถหลบหลีกอวัยวะเหล่านั้นได้ เช่น บริเวณที่ติดกับก้านสมอง , ไขสันหลัง , เส้นประสาทตา อนึ่ง หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา ฝ่ายรังสีวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กำหนดจัด การประชุมวิชาการ เนื่องในโอกาสเปิดให้บริการ “ เครื่องฉายรังสีแบบปรับความเข้ม 1,000 องศา ” ( 1,000 Degrees Directions Arc Therapy ) วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุม ชั้น 9 ตึก “ ล้วน — เพิ่มพูล ว่องวานิช ” โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อให้ข้อมูลและอธิบายประสิทธิภาพของเครื่องฉายรังสีใหม่นี้แก่แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ ... ผู้สนใจ ติดต่อ โทรศัพท์ ( 02 ) 256 4334 , 256 3436 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 256 4183 , 02 256 4462 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02 256 4183 , 02 256 4462 Public Relations Office, Faculty of Medicine Chulalongkorn University

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ