ลูกเป็นผื่น..อย่านิ่งนอนใจ..อันตรายจากโรคมือเท้าปาก

ข่าวทั่วไป Thursday August 19, 2010 11:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--โรงพยาบาลบีเอ็นเอช เวลาที่ลูกน้อยมีผดผื่นขึ้นตามตัว คุณพ่อคุณแม่อาจคิดว่า เป็นผดผื่นธรรมดา มิได้มีอันตรายแต่อย่างใด แต่ช่วงหน้าฝนเช่นนี้มีอีกหนึ่งโรคที่ระบาดหนักโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก อีกทั้งเป็นโรคติดต่อที่สามารถติดต่อจากคนสู่คนนั้นคือโรค มือ เท้า ปาก หลายคนคงสงสัยว่า โรคนี้เป็นโรคร้ายแรงหรือมีอันตรายถึงชีวิตหรือไม่ คำตอบคือ โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่จัดได้ว่าไม่มีอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต แต่ก็สามารถสร้างความรำคาญใจให้กับลูกน้อยได้โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และก่อให้เกิดความหงุดหงิดใจให้แก่ผู้ที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างมาก เรามาทำความรู้จัก และสังเกตุอาการเบื้องต้นของโรคนี้ก่อนที่โรคจะมาสู่ตัวคุณหนูๆโดยแพทย์หญิงปวินทรา หะรินสุต สมนึก กุมารแพทย์ โรงพยาบาลบีเอ็นเอช โรงพยาบาลเอกชนแห่งแรกในประเทศไทย ได้อธิบายไว้ว่า โรคมือเท้าปาก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของคน มีชื่อว่า เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคของกระทรวงสาธารณะสุขตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายนของปี 2553 พบผู้ป่วยทั่วประเทศแล้ว 7,137 คน เกือบร้อยละ 90 เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี แต่ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต โดยเด็กจะมีอาการเป็นตุ่มใสๆ หรือตุ่มแดงเล็กๆ ขึ้นกระจัดกระจายในบริเวณมือ เท้า ทั้งหน้ามือและหลังมือ รวมถึงตุ่มใสๆในช่องปาก ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด เจ็บปาก ไม่อยากรับประทานอาหาร ผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ต่ำๆคล้ายไข้หวัด มีน้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ จาม ร่วมนำมาก่อนจะมีผื่น โรคมือเท้าปาก มักพบบ่อยในช่วงหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น ซึ่งทำให้เชื้อไวรัสมีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เชื้อไวรัสชนิดนี้จะถูกขับออกมากับอุจจาระ และสามารถแพร่กระจายเชื้อได้ด้วยวิธีการกินอาหาร ดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส หรืออาจติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผลของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโดยตรง วิธีป้องกันและวิธีการรักษาโรคมือเท้าปาก โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพอนามัยของเด็กอยู่เสมอ เช่น การหมั่นให้เด็กล้างมือ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือเล่นกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ นอกจากนี้การปลูกฝังให้เด็กรับประทานผักและผลไม้เพื่อเพิ่มภูมิต้านทานก็เป็นส่วนสำคัญ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้นั้น คุณพ่อคุณแม่ควรให้เด็ก ดื่มน้ำเยอะๆ และรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด โดยให้รับประทานครั้งละน้อยๆ บ่อยๆ ในช่วงที่ป่วยเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและโรคอื่นๆ ที่อาจจะตามมาจากการขาดสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย เนื่องจากโรคนี้ไม่มียารักษาจำเพาะ ถ้ามีอาการเจ็บแผลในปากมากจนรับประทานอาหารไม่ได้ หรือไข้สูง ซึม ควรรีบพามาพบแพทย์ นอกจากนี้แนะนำให้แยกเด็กที่ป่วยไม่ควรไปร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่นๆ และที่สำคัญคือฝึกฝนให้เด็กรู้จักใส่ใจสุขภาพ รักความสะอาด ฝึกฝนวิธีการล้างมืออย่างถูกวิธี ไม่ใช้ของปนกับผู้อื่น เพียงเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะหมดปัญหาคลายความกังวลกับโรคที่มีชื่อว่า โรคมือเท้าปาก อีกต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-6862700 โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
แท็ก โรคติดต่อ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ