ปภ. แนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากประตูที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก

ข่าวทั่วไป Wednesday August 25, 2010 15:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ส.ค.--ปภ. อุบัติภัยอีกรูปแบบหนึ่งที่มักเกิดกับเด็ก ได้แก่ อุบัติภัยจากประตู ไม่ว่าจะเป็นโดนประตูล้มทับ ประตูหนีบนิ้วมือ วิ่งชนประตูกระจก โดยส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากประตูชำรุด ขาดการบำรุงรักษาและซ่อมแซมแก้ไขให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากประตู ดังนี้ ประตูรถ ปิดประตูรถให้สนิทและล็อคประตูรถทุกครั้งที่มีเด็กโดยสารไปด้วย เพราะหากเด็กนั่งพิงประตูรถและปิดประตูรถไม่แน่นหรือเด็กแอบเปิดประตูรถขณะรถกำลังวิ่ง อาจทำให้เกิดอันตรายได้ อีกทั้งควรสอนไม่ให้เด็กเล่นตัวกดล็อคประตูรถ ไม่ทิ้งเด็กไว้ในรถตามลำพัง เพราะเด็กอาจกดล็อคประตูเล่น ทำให้ติดค้างอยู่ในรถ ที่สำคัญ ก่อนเปิด — ปิดประตูรถทุกครั้ง ควรมองดูอย่างรอบคอบ จนมั่นใจว่าเด็กไม่ได้วางมือหรือนิ้วไว้บริเวณขอบประตู จะช่วยป้องกันประตูรถหนีบมือหรือนิ้วเด็ก - ประตูกระจก หากเป็นประตูกระจกแบบใส ควรติดสติ๊กเกอร์หรือแขวนป้ายเตือนในระดับสายตา เพื่อเตือนให้เด็กทราบว่าเป็นประตู จะช่วยป้องกันเด็กเดินชนประตู ไม่ให้เด็กวิ่งเล่นบริเวณประตูกระจก เพราะอาจวิ่งชนประตู จนถูกกระจกบาดได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะประตูเปิด — ปิดอัตโนมัติ ไม่ควรให้เด็กวิ่งเข้าออก เพราะหากระบบตรวจจับสัญญาณของประตูขัดข้อง เด็กอาจถูกประตูหนีบได้ ประตูรั้วบ้าน - ประตูเหล็กแบบล้อเลื่อน หมั่นตรวจสอบรางและระบบล้อเลื่อนให้สามารถใช้งานได้ดี ไม่ฝืดหรือลื่นเกินไป โดยประตูต้องอยู่ในสภาพแข็งแรง ไม่ชำรุด หรือผุกร่อน และติดตั้งเสาครอบตัวประตูอีกชั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันประตูหลุดออกจากรางเลื่อนจนล้มทับเด็กที่เล่นอยู่ในบริเวณดังกล่าว - ประตูเปิด — ปิดอัตโนมัติ ซึ่งใช้รีโมทควบคุมการเปิด — ปิดประตู ควรวางรีโมทประตูให้ห่างจากมือเด็ก เพื่อป้องกันเด็กหยิบรีโมทมาเล่น ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้อื่นได้ ก่อนเปิดประตูควรตรวจสอบว่าไม่มีเด็กยืนอยู่บริเวณประตู ประตูห้อง / บ้าน ติดโช๊คอัพประตูเพื่อป้องกันแรงกระแทกของประตู ทำให้เด็กถูกประตูหนีบนิ้ว กรณีที่ต้องเปิดประตูทิ้งไว้ในบริเวณที่ลมพัดแรงให้สับยึดประตูไว้กับผนังบ้าน จะช่วยป้องกันแรงลมพัดจนประตูปิดกระแทกถูกเด็ก ไม่ให้เด็กเปิด — ปิดประตูหรือเล่นบริเวณประตู สอนมิให้เด็กสอดหรือวางมือและนิ้วบริเวณขอบบานพับประตู เพื่อป้องกันประตูหนีบนิ้ว รวมถึงจัดเตรียมกุญแจสำรองไว้ในจุดที่สามารถหยิบใช้งานได้สะดวก กรณีเด็กกดล็อคประตูและติดค้างอยู่ภายในห้องตามลำพัง สุดท้ายนี้ ขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้บุตรหลานวิ่งเล่นบริเวณประตู วางมือหรือนิ้วบริเวณบานพับประตู เพราะอาจถูกประตูหนีบได้ ควรปิดประตูทุกประเภทให้สนิททุกครั้งหลังใช้งาน หมั่นตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของประตูอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากประตูขึ้นกับเด็ก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ