“เศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคม 2553 เติบโตต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี แม้การส่งออกจะชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก”

ข่าวทั่วไป Monday August 30, 2010 16:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ส.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสาธิต รังคสิริ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ช่วยลดผลกระทบจากการส่งออกที่ขยายตัวชะลอลง สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 64.1 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ขยายตัวที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้ดีเช่นกัน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 44.0 ต่อปี และปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 25.4 ต่อปี และ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 20.6 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวที่ชะลอลงของเศรษฐกิจโลก” นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงเพิ่มเติมว่า “มูลค่าการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายได้ในระดับสูงถึงร้อยละ 36.1 ต่อปี สะท้อนการใช้จ่ายภายในประเทศที่เร่งตัวขึ้น โดยมูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบขยายตัวสูงถึงร้อยละ 53.9 ต่อปี ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าอุปโภค ขยายตัวที่ร้อยละ 29.2 และ 20.4 ต่อปี ตามลำดับ นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายขาดดุลในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนให้การใช้จ่ายภายในประเทศมีความแข็งแกร่งขึ้น” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวสรุปว่า “เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 น่าจะขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการใช้จ่ายในประเทศจะมีสัญญาณของการขยายตัวได้ดี แต่การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2553 อาจลดลงจากจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัวลง ทั้งนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะได้นำปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อทบทวนการประมาณการเศรษฐกิจไทย และประกาศต่อสาธารณชนในวันที่ 29 กันยายน 2553 ต่อไป” รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกรกฎาคม 2553 เศรษฐกิจไทยเดือนกรกฎาคม 2553 เติบโตต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศที่ขยายตัวได้ดี แม้การส่งออกจะชะลอลง ตามภาวะเศรษฐกิจโลก 1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2553 มีการปรับตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีสัญญาณของการชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 12.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.1 ต่อปี สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 18.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 39.6 ต่อปี ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 64.7 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 14.5 ต่อปี นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ระดับ 71.4 จุด ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้นและเศรษฐกิจที่เติบโตได้ดีต่อเนื่อง 2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกรกฎาคม 2553 ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน แม้ว่าจะมีสัญญาณของการชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 25.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 41.5 ต่อปี สำหรับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคมขยายตัวที่ร้อยละ 44.0 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 52.6 ต่อปี ส่วนเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวด การก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 37.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 158.1 ต่อปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งทำธุรกรรมเกี่ยวกับการโอนและค่าธรรมเนียมอสังหาริมทรัพย์ที่มาตรการได้สิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน 2553 สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ก.ค. 53 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.3 ต่อปี เนื่องมาจากฐานคำนวณที่สูงของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวสะท้อนถึงการเริ่มฟื้นตัวของการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศ 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกรกฎาคม 2553 พบว่า บทบาทนโยบายการคลังยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง โดยดุลงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2553 ขาดดุลจำนวน 37.3 พันล้านบาท โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนกรกฎาคม 2553 มีจำนวน 142.6 พันล้านบาท ทำให้ผลการเบิกจ่ายสะสมในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2553 (ตุลาคม 2552-กรกฎาคม 2553) เท่ากับ 1,481.6 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 จำนวน 1,342.1 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 78.9 ของกรอบวงเงินงบประมาณ 1,700.0 พันล้านบาท และ (2) รายจ่ายเหลื่อมปีจำนวน 139.4 พันล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีการเบิกจ่ายงบลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในเดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 20.7 พันล้านบาท ส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เท่ากับ 199.6 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 57.0 ของกรอบวงเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 350 พันล้านบาท ทั้งนี้ สำหรับรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) ในเดือนกรกฎาคม 2553 เท่ากับ 117.8 พันล้านบาทขยายตัวร้อยละ 16.9 ต่อปี สะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย 4. การส่งออกในเดือนกรกฎาคม 2553 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีสัญญาณของการชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 15.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 20.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 46.3 ต่อปี โดยเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 35.2 ต่อปี โดยแทบทุกหมวดสินค้าและตลาดมีการขยายตัวที่ชะลอลง ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่มีสัญญาณการขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมูลค่าการนำเข้าสินค้าในเดือน กรกฎาคม 2553 อยู่ที่ 16.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ร้อยละ 36.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 37.9 ต่อปี โดยเป็นผลจากปริมาณการนำเข้าที่ขยายตัวร้อยละ 27.5 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 30.0 ต่อปี ขณะที่ราคาสินค้านำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 6.7 ต่อปี ทั้งนี้ หมวดสินค้านำเข้าที่ขยายตัวได้สูง ได้แก่ วัตถุดิบ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือนกรกฎาคมขาดดุลที่ 0.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกรกฎาคม 2553 พบว่า ภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดี แม้จะมีสัญญาณของชะลอลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สำหรับภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ในขณะที่ภาคเกษตรหดตัวเล็กน้อย โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) ในเดือนกรกฎาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 14.2 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ระดับ 108.6 จุด ซึ่งสูงกว่า 100 จุด เนื่องจากการปรับตัวดีขึ้นของยอดคำสั่งซื้อและความเชื่อมั่นด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่เครื่องชี้ภาคบริการจากการท่องเที่ยวต่างชาติเดือนกรกฎาคม 2553 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่ 1.25 ล้านคน ขยายตัวสูงที่ร้อยละ 14.2 ต่อปี สะท้อนจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติ สำหรับเครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2553 หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -2.4 ต่อปี จากที่ขยายตัวในเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวจากข้าวนาปรัง และมันสำปะหลังเป็นหลัก เนื่องจากปัญหาโรคระบาดและศัตรูพืช สำหรับราคาสินค้าเกษตรในเดือนกรกฎาคม 2553 ยังขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงที่ร้อยละ 32.9 ต่อปี ทำให้รายได้ของเกษตรกรที่แท้จริงยังคงขยายตัวได้ดีติดต่อกันเป็นเดือนที่ 9 ที่ร้อยละ 21.2 ต่อปี 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2553ขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี จากราคาสินค้าในหมวดอาหารสด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ที่ขยายตัวสูงขึ้นเป็นหลัก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี สำหรับที่อัตราการว่างงานในเดือนมิถุนายน 2553 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.5 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนคนว่างงานเท่ากับ 4.6 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 42.6 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 อยู่ในระดับสูงที่ 151.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4.7 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ