เพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้าด้วยเทคโนโลยีแผนที่และจีพีเอส

ข่าวทั่วไป Thursday September 16, 2010 09:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--อีเอสอาร์ไอ น.ส.อัจฉรา สุขสิริวัฒน์ฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ฉบับนี้ขอว่าด้วยเรื่อง การนำเทคโนโลยีทางด้านแผนที่และจีพีเอสมาใช้ประโยชน์ในการจัดส่งสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมด้าน 'การจัดการทางด้านลอจิสติกส์' โดยจะขอเริ่มจากความหมายของคำว่า 'ลอจิสติกส์' (Logistics) เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องกันก่อนค่ะ สภาการจัดการลอจิสติกส์ (Council of Logistics Management : CLM) ของสหรัฐอเมริกา ได้ให้คำจำกัดความของลอจิสติกส์ (Logistics) ไว้ดังนี้ "ลอจิสติกส์ คือ กระบวนการ การวางแผน การนำไปใช้งาน พร้อมกับควบคุมการไหลอย่างมีประสิทธิภาพ และการเคลื่อนที่พร้อมด้วยการจัดเก็บของวัตถุดิบสินค้าคงคลังระหว่างกระบวนการ สินค้าสำเร็จรูป และข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากจุดเริ่มต้นของการจัดหาจนถึงจุดของการบริโภค โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า" ซึ่งเราสามารถอธิบายลักษณะของลอจิสติกส์ได้ง่ายๆ คือ กิจกรรมต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการไหลของวัตถุดิบและสินค้า ข้อมูล และการชำระเงิน ระหว่างผู้จัดส่งวัตถุดิบ ผู้ผลิต และผู้บริโภคจากจุดเริ่มต้นของวัตถุดิบจนไปถึงมือลูกค้า ยิ่งไปกว่านั้นลอจิสติกส์ยังขยายขอบเขตออกไปจนถึงการกำจัดทิ้งหรือการนำมาใช้ใหม่ด้วย มีหลายคนคงสงสัยว่ากิจกรรมใดบ้างเป็นลอจิสติกส์ กิจกรรมอะไรไม่ได้เป็นลอจิสติกส์ มีข้อสังเกตได้ง่าย คือ ลอจิสติกส์ เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนที่การไหลของทรัพยากรวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ (Flow of Material) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน การนำเอาไปใช้และควบคุมการเคลื่อนที่ของวัตถุดิบที่เข้าสู่กระบวนการเพิ่มคุณค่าในตัวสินค้า การเคลื่อนที่เหล่านี้ถือว่าเป็นกิจกรรมลอจิสติกส์ เพราะเป็นการเคลื่อนที่อย่างมีคุณค่าเพิ่ม Thomas Craig ได้กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อลอจิสติกส์ มีอยู่ 5 ประเด็น คือ 1.การเคลื่อนย้ายผลิตภัณฑ์หรือวัตถุดิบ ถือเป็นประเด็นหลักและหัวใจที่สำคัญที่สุดของลอจิสติกส์ กิจกรรมของการเคลื่อนย้าย เริ่มตั้งแต่การจัดการคำสั่งซื้อ การวางแผนวัตถุดิบ การวางแผนจัดเก็บ การวางแผนจัดส่งสินค้า จนผลิตภัณฑ์ถึงมือลูกค้า การเคลื่อนย้ายของวัตถุดิบเหล่านี้ต้องมีความสัมพันธ์กัน จะต้องมีความยืดหยุ่น การวางแผนเคลื่อนย้ายจะต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามปัจจัยอื่นๆ ที่เปลี่ยนไป ดังนั้นถ้าการบริหารจัดการเรื่องการเคลื่อนย้ายมีประสิทธิภาพก็จะไม่มีของขาด และไม่มีของเกินในคลังสินค้า 2.เวลา ปัจจุบันเป็นการแข่งขันเรื่องของเวลา การตอบสนองความต้องการของลูกค้า วัตถุดิบ และสินค้า จะต้องถูกส่งตามกำหนด ถูกต้องตามสถานที่และวันเวลาที่กำหนดด้วย การจัดการลอจิสติกส์ที่ดี คือ การบริหารเวลา สถานที่การเคลื่อนที่ของวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ที่ประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การเคลื่อนย้ายของข้อมูลสารสนเทศ กิจกรรมการเคลื่อนย้ายหรือการเคลื่อนที่ของวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ จะต้องเกิดจากการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลสารสนเทศ ความต้องการสินค้า การจัดการสินค้าคงคลังก็เกิดจากข้อมูลสารสนเทศ ดังนั้นข้อมูลที่ดีย่อมส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการวัตถุดิบ สินค้าคงคลัง การจัดการคลังสินค้า พื้นที่การผลิต และการเคลื่อนย้ายนั่นเอง 4.ต้นทุน ต้นทุนเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพของลอจิสติกส์ กิจกรรมทุกอย่างในองค์กรล้วนเป็นต้นทุนในการดำเนินงานทั้งสิ้น ในอดีตจะมุ่งการลดต้นทุนโดยใช้เทคโนโลยี การพัฒนาวัตถุดิบและเครื่องจักรให้มีประสิทธิภาพ แต่ปัจจุบันเมื่อความก้าวหน้าเรื่องเทคโนโลยีของแต่ละองค์กรไม่แตกต่างกัน จึงเน้นการลดต้นทุนในการบริหารจัดการเรื่องลอจิสติกส์ที่ดีแทน ฉะนั้นองค์กรไหนที่มีระดับลอจิสติกส์ที่ดีถือว่ามีต้นทุนต่ำ และเกิดความได้เปรียบคู่แข่งขันได้ 5.การบูรณาการ ลอจิสติกส์เป็นกระบวนการเชื่อมต่อกิจกรรมต่างๆ เพื่อเคลื่อนย้ายวัตถุดิบผ่านกระบวนการที่เพิ่มคุณค่าจนเป็นผลิตภัณฑ์ไปถึงมือลูกค้า เป็นความเชื่อมต่อระหว่างเวลา สถานที่ ฉะนั้นการบริหารจัดการให้ระบบมีการเชื่อมประสานอย่างลงตัวก็คือการสามารถบูรณาการกิจกรรมทั้งหมดในองค์กรได้นั่นเอง นอกจากนั้นการจัดการลอจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีหลักและข้อปฏิบัติที่ดีที่ต้องเข้าใจและต้องคำนึงถึงประเด็นต่างๆ หลายประการด้วยกัน เช่น ต้องมีความเข้าใจและตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ต้องเป็นพันธมิตรที่ดีกับผู้จัดส่งวัตถุดิบ ต้องนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องให้ความสำคัญของระบบการจัดการข้อมูล ต้องควบคุมวัตถุดิบและข้อมูลโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ มีการจัดการวัตถุดิบและช่องทางการขนส่งที่เหมาะสม ต้องสามารถจัดการความสูญเปล่าที่จะเกิดขึ้น รวมถึงการลดเวลาในการเคลื่อนย้ายและสร้างความคล่องตัวได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างหนึ่งของการนำเทคโนโลยีทางด้านแผนที่และจีพีเอสมาใช้ในระบบการวางแผนการจัดส่งสินค้า และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เห็นได้จากบริษัท 'มอริสัน แมแนจเมนต์ สเปเชียลตีส์' (Morrison Management Specialty) ในแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ที่เป็นผู้ให้บริการจัดส่งอาหารสำหรับศูนย์สุขภาพและผู้สูงอายุกว่า 600 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกา ด้วยวิธีการจัดส่งสินค้าแบบเดิม หัวหน้างานจะแสดงเครื่องหมายที่ตั้งของลูกค้าไว้ในแผนที่และกำหนดว่าพนักงานขับรถรายใดเป็นผู้รับผิดชอบกับการจัดส่งในแต่ละจุด และด้วยข้อบังคับทางกฎหมายทำให้มอริสันฯ ต้องจัดเก็บลายเซ็นผู้รับสินค้าเอาไว้เพื่อเป็นหลักฐานแสดงการรับอย่างถูกต้อง และในบางครั้งการอธิบายเส้นทางเดินรถแก่พนักงานขับรถในตำแหน่งจากลูกค้ารายหนึ่งไปยังลูกค้ารายต่อๆ ไป โดยเขียนใส่กระดาษก็สร้างความสับสนจนบางครั้งทำให้พนักงานขับรถหลงออกนอกเส้นทางก็มี มอริสันฯ จึงพยายามค้นหาวิธีการที่จะวางแผนเส้นทางการจัดส่งอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความสามารถในการบริการ แนวความคิดที่มอริสันฯ นำมาใช้ ก็คือ การตรวจสอบการจัดส่งแต่ละครั้งด้วยการสแกนบาร์โค้ดและบันทึกลายเซ็นรับสินค้า เพราะกว่าร้อยละ 80 ของลูกค้าอาศัยอยู่นอกเขตเมืองของรัฐอลาบามา ทำให้การกำหนดตำแหน่งที่ตั้งที่ชัดเจนทำได้ไม่ง่ายนัก เนื่องจากพื้นที่กว้างขวางและไม่สามารถแบ่งถนนเป็นบล็อกเหมือนอย่างในเมือง มอริสันฯ พยายามหาทางออกของปัญหา โดยต้องการซอฟต์แวร์ที่จะนำมาใช้จัดการงานด้านการวางแผนเส้นทางการจัดส่ง จนกระทั่งได้ติดตั้งซอฟต์แวร์จากบริษัท 'ยูพีเอส ลอจิสติกส์ เทคโนโลยี' (UPS Logistics Technology) ได้แก่ Territory Planner, Roadnet และ MobileCast Wireless เพียงไม่ถึงปี มอริสันฯ สามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตได้อย่างง่ายดาย และได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยพบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งที่ถูกต้องแม่นยำขึ้น จากเดิมร้อยละ 97.1 มาเป็นร้อยละ 99.2 และสามารถยุบรวมจำนวนเส้นทางการจัดส่งลงได้อีกร้อยละ 25 การใช้ซอฟท์แวร์ดังกล่าวช่วยให้มอริสันฯ สามารถค้นหาสถานที่ตั้งของลูกค้าตามเส้นทางการจัดส่งที่ออกแบบให้จัดส่งได้รวดเร็วที่สุดและประหยัดต้นทุนมากที่สุด และด้วย MobileCast ซึ่งเป็นการสื่อสารผ่านระบบจีพีเอส (Global Positioning System: GPS) ยังช่วยให้พนักงานขับรถสามารถเรียกใช้แผนที่เส้นทางการเดินรถอย่างละเอียด จากลูกค้ารายหนึ่งไปยังลูกค้ารายต่อไปว่าจะต้องวิ่งไปตามถนนใด เลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวาแยกใด และจอดรถหน้าบ้านหลังใด นอกจากนี้ การบันทึกลายเซ็นผู้รับสินค้าโดยการสแกนเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์มือถืออย่างอุปกรณ์ประเภทพกพา (Handheld) และส่งข้อมูลกลับไปแสดงให้หัวหน้างานที่ออฟฟิศทราบผลการจัดส่งแบบออนไลน์เรียลไทม์ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการรับสินค้าตามข้อกำหนดทางกฎหมายยังทำได้อย่างเป็นระบบ และสามารถตรวจสอบได้ว่าอาหารถูกจัดส่งถึงมือผู้รับแล้วหรือไม่ ในวันและเวลาใดแบบเรียลไทม์อีกด้วย จากตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการระบบลอจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ ย่อมช่วยลดต้นทุนในเรื่องของการเคลื่อนย้าย การขนส่ง การคลังสินค้า และการรักษาสินค้า รวมถึงการต่อสู้กับคู่แข่งขันให้ยืนหยัดอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงเช่นสภาวะการณ์ปัจจุบัน และทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในโลกปัจจุบันนี้เองค่ะ อ้างอิงจาก: ก้องเดชา บ้านมะหิงษ์ และพิเชษฐ์ ปานวิเชียร, "LEAN LOGISTICS : ก้าวสู่การปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจที่พอเพียง", Industrial Technology Review 109 พฤษภาคม 2546. นุชฤดี รุ่ยใหม่, "ลอจิสติกส์ หนทางสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจ", ประชาชาติธุรกิจ 8 กรกฎาคม 2547 ปีที่ 27 ฉบับ 3599. จรรยา ชื่นจิตต์, "ใช้เทคโนโลยีไร้สายช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดส่งสินค้า", eLEADER Vol.17 No.04 April 2005.
แท็ก logistic   จีพีเอส   GIS  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ