“สหพืชผลนางรอง” ตื่นตัวจากโรงสียุคเก่า เพิ่มทักษะการสีข้าว ใช้ iTAP เข้าพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต

ข่าวทั่วไป Thursday September 16, 2010 12:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--สวทช. ปัญหา“ข้าวหัก” หรือ เปอร์เซ็นต์ข้าวที่ลดลง ส่งผลต่อรายได้โดยตรงของโรงสี ซึ่งการแก้ไขปัญหาโรงสีข้าวก็เหมือนกับการแก้ไขเครื่องจักรทั่วๆไป หากไม่เข้าใจถึงจุดปัญหาที่แท้จริง หรือสันนิษฐานเอาเองจะทำให้เสียทั้งเงินและเวลากับการแก้ไขที่ไม่ถูกจุด โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงได้จัด “โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว”ขึ้น โดยจัดหาทีมผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ด้านโรงสีโดยตรงเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการโรงสี เพื่อวิเคราะห์หาสาเหตุหรือจุดที่ต้องแก้ไข และแนะนำวิธีการแก้ไขอย่างตรงจุด เช่นกรณี หจก.โรงสีไฟสหพืชผลนางรอง อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ดำเนินกิจการแปรรูปข้าวเปลือกเป็นข้าวสารส่ง “หยง”หรือพ่อค้าคนกลาง ภายใต้แบรนด์ “นกยูงคู่” ประสบปัญหาข้าวหักที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นนี้เช่นกัน นายสุรัตน์ วิกรเมศกุล กรรมการผู้จัดการ หจก.โรงสีไฟสหพืชผลนางรอง กล่าวถึงความเป็นมาของโรงสีไฟแห่งนี้ว่า ก่อตั้งขึ้นมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่สมัยก๋งหรือรุ่นคุณปู่โดยซื้อกิจการต่อมาอีกที เป็นโรงสีแบบเก่าที่มีโครงสร้างเป็นไม้ใช้ระบบไอน้ำในการผลิต ตั้งอยู่บนมีพื้นที่ 22 ไร่ใน ต.อีสานเขต อ.เฉลิมพระเกียรติ์ จ.บุรีรัมย์ จดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดเมื่อปี 2532 ผลิตและจำหน่ายข้าวหอมมะลิ ซึ่งโรงสีไฟสหพืชผลนางรอง เป็น 1 ใน 5 ของเครือโรงสีสหพืชผล ซึ่งประกอบด้วยโรงสีสหพืชผลทุ่งกุลา , สหพืชผลท่าตูม , สหพืชผลสุรินทร์ และสหพืชผลยโสธร “ตนเองในฐานะลูกเขยได้เข้ามาสานต่อกิจการโรงสีสหพืชผลนางรองแห่งนี้เมื่อปี 2546 ถือเป็นรุ่นที่ 4 หลังจากเข้ามารับช่วงกิจการต่อจึงค่อยๆ ทยอยปรับปรุง และเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าแทนระบบไอน้ำในการผลิตแทนเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้งจากญี่ปุ่นและไทยเข้ามาใช้โดยเป็นการต่อเติมใช้กับโครงสร้างโรงสีแบบเก่าที่เป็นไม้ มีพนักงานทั้งหมด 12 คน เป็นพนักงานในโรงสีเพียง 4 คน แม้จะมีกำลังการผลิตได้ถึง 160 ตันข้าวเปลือกต่อวัน แต่สามารถผลิตได้เพียง 80 ตันข้าวเปลือกต่อวันเท่านั้น” ด้วยสภาพโรงสีที่เก่ามีการใช้งานมานาน และที่ผ่านมาแป็นการทำงานแบบเดิมๆ เคยสีกันมาอย่างไรก็สีไปอย่างนั้น ไม่มีการจัดเก็บข้อมูลหรือแม้แต่การซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักรไม่บ่อยนักหากไม่เจอปัญหาก็จะเดินเครื่องไปเรื่อยๆ จนกระทั่งได้รู้จักโครงการ iTAP จึงมีแนวคิดที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และได้เข้าร่วมในโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงสีข้าว โดยได้รับการสนับสนุนจาก iTAP เครือข่ายมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดหาผู้เชี่ยวชาญจากสำนักพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาเป็นที่ปรึกษา โดยมีนายสุรศักดิ์ จันโทริ เป็นหัวหน้าโครงการฯ จากการเข้าวิเคราะห์ปัญหาเบื้องต้นของโรงสีไฟสหพืชผลนางรอง พบว่า ปัญหาหลักที่โรงสีแห่งนี้ประสบอยู่คือ ปัญหาข้าวหักจากระบวนการสีข้าว ได้ผลผลิตข้าวไม่เต็มเมล็ดหรือมีเปอร์เซ็นต์ข้าวต้นลดลง จากเดิมที่สีข้าวได้ปริมาณข้าวต้น 40% ต่อมาลดลงเหลือเพียง 35-36% ปริมาณข้าวหักที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้รายได้ที่ควรได้หายไป จึงต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาดูว่า เกิดปัญหาจากตรงไหนเพื่อหาทางแก้ไขต่อไป “ สมมติว่าจากข้าวเปลือก 1,000 กิโลกรัม คิดแบบง่ายๆ หลังผ่านกระบวนการสีข้าวแล้วควรจะได้ข้าวต้นประมาณ 400 กิโลกรัม แต่เพราะที่ผ่านมาไม่ได้มีการดูแลหรือใส่ใจเครื่องจักรมากนัก จึงอาจเกิดการสูญเสียไปในระหว่างกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้น ทำให้ปริมาณข้าวต้นเหลือเพียง 360-370 กิโลกรัม ส่วนที่หายไปนั่นคือรายได้ที่เพิ่มขึ้นแต่กลับไม่ได้ ทางผู้เชี่ยวชาญจึงต้องไล่ดูปัญหาในแต่ละจุดว่า การสูญเสียดังกล่าวเกิดจากจุดใด” นายสุรัตน์ กล่าว สิ่งที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการฯ ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำในเรื่องของการตรวจวัดเปอร์เซ็นต์ข้าวตั้งแต่ต้นน้ำคือข้าวเปลือกที่รับซื้อเข้ามาว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น เศษหญ้า ดอกหญ้า เศษหิน กรวด หรือ ดิน ปนเข้ามามากหรือไม่ จากนั้นให้ปรับกระบวนการทำความสะอาดจาก 1 ครั้งเป็น 2 ครั้ง เพื่อให้เศษที่ปนมากับข้าวเปลือกหลุดออกให้หมดก่อน เพราะเศษดังกล่าวจะทำให้เครื่องจักรมีปัญหาหากมีเศษหินปนเข้ามากับข้าวเปลือกจะทำให้หน้าหินหรือลูกยางเกิดเป็นร่องไม่เรียบเวลากระทบจะทำให้เปอร์เซ็นต์ข้าวได้ไม่สม่ำเสมอ เกิดการสูญเสียหรือข้าวแตกหักได้ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังได้แนะนำวิธีการตรวจสภาพของลูกยางเครื่องกระเทาะ และสาเหตุของสิ่งผิดปกตินำมาสู่การปรับกระบวนการทำงานของโรงสีตลอดจนการให้สูตรววิธีการพอกหินโคนพร้อมกับเพิ่มทักษะให้พนักงานสามารถแก้ไขปัญหาหน้างานได้ ไปจนถึงการวางแผนการซ่อมบำรุง ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาให้คำแนะนำและปรับปรุงกระบวนการผลิตเหล่านี้ ถือเป็นการทำให้โรงสีไฟสหพืชผลนางรองได้มาตรฐานในการผลิต กรรมการผู้จัดการโรงสีไฟสหพืชผลนางรอง ยอมรับว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญจาก iTAP เข้ามาช่วยปรับปรุงแนะนำวิธีการแก้ไขในแต่ละจุดนั้น ทำให้ได้ผลผลิตข้าวต้นหรือเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดเพิ่มขึ้น 40-41% ถือว่าน่าพอใจ เพราะนอกจากกระบวนการสีข้าวที่มีประสิทธิภาพ ยังมีปัจจัยเรื่องของฤดูกาลผลิตและระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งในปีนี้ โรงสีส่วนใหญ่ประสบปัญหาจากการเก็บเกี่ยวข้าวล่าช้า ทำให้ผลผลิตข้าวยังคงมีเปอร์เซ็นต์ข้าวแตกหักอยู่บ้าง “ อย่างไรก็ตาม การได้เข้าร่วมกับโครงการ iTAP ครั้งนี้ โดยภาพรวมแล้วยอมรับว่า ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของโรงสีดีขึ้น และหากสามารถคัดคุณภาพข้าวเปลือกที่รับซื้อได้ก็จะยิ่งดีต่อการเพิ่มเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดได้มากขึ้น ซึ่งโรงสีไม่สามารถควบคุมได้ แต่สิ่งที่ได้รับจากโครงการฯ ยังทำให้ได้รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน จากคำชี้แนะและประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ เพราะการสีข้าวในอดีตจะเป็นความลับไม่มีใครมาบอกกัน แต่ละแห่งจะมีสูตรหรือวิธีในการสีต่างกัน ขณะที่ตนเองเพิ่งเข้ามาลุยงานนี้อย่างจริงจังเพียง 5 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น บางอย่างจึงไม่รู้ แต่พอเข้าร่วมกับ iTAP ได้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาบอกให้คำชี้แนะ ทำให้เราได้ความรู้และเทคนิคในการสีข้าวเพิ่มขึ้น ได้รู้อะไรมากขึ้น จึงเห็นว่า iTAP เป็นโครงการที่ได้เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพ ช่วยประสานและเชื่อมโยงระหว่างผู้เชี่ยวชาญกับผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี” ปัจจุบัน โรงสีไฟสหพืชผลนางรอง เตรียมหันมาขยายช่องทางตลาดรายย่อยในประเทศเพิ่ม โดยจะเจาะกลุ่มร้านค้าทั่วไปภายใต้แบรนด์ “ นกยูงคู่” บรรจุถุงขนาดต่างๆ ที่มีจำหน่ายทั่วไป จากเดิมการผลิตและจำหน่ายจะบรรจุถุงขนาดจัมโบ้ที่มีน้ำหนักถึง 1,000 กิโลกรัมให้กับพ่อค้าคนกลาง หรือ หยง เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย โดยได้ลงทุนจัดซื้อเครื่องขัดมันและเครื่องยิงสีเข้ามาใช้ในโรงสี เพื่อเพิ่มคุณภาพของผลิตภัณฑ์ข้าวที่เป็นความต้องการของตลาดร้านค้ามากขึ้น โดยจะยังคงกำลังการผลิตไว้ที่ 160 ต้นข้าวเปลือกต่อวันต่อไป คาดว่า จะเริ่มออกสู่ตลาดร้านค้าย่อยได้ราวต้นปีหน้า หจก.โรงสีไฟสหพืชผลนางรอง เลขที่ 159 หมู่ 9 ถนนโชคชัย-เดชอุดม ตำบลอีสานเขต อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ 31110 โทร. 044-628-254 , 044-192-559 โทรสาร 044-192-589 สำหรับผู้สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP (สวทช.) สามารถติดต่อได้ที่ (ส่วนกลาง) โทร. 02-564-7000 ต่อ โครงการ iTAP หรือ iTAP เครือข่าย ม.อุบลราชธานี โทร. 045-433-456 โทรสาร 045-433-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ