Serial Attached SCSI (SAS): ปรับราคาต่อประสิทธิภาพให้สมดุล บทความโดย บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์

ข่าวเทคโนโลยี Monday September 20, 2010 17:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--คอร์แอนด์พีค ขณะนี้ตลาดกำลังให้ความสนใจอย่างมากเกี่ยวกับ Serial Attached SCSI (SAS) ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีใหม่ หรือแม้แต่เป็นแนวคิดใหม่ก็ไม่ใช่แต่อย่างใด คำว่า “อนุกรม” (serial) มาจากการใช้โปรโตคอลอนุกรมแบบจุดต่อจุด (Point-to-Point) ในการถ่ายโอนข้อมูล สิ่งนี้เข้ามาแทนที่เทคโนโลยีบัส SCSI แบบขนานที่มีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลช้ากว่า ซึ่งถือกำเนิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษ 1980 โดยขณะนี้แนวคิดเดียวกันนี้ได้ถูกนำปรับมาใช้กับไดรฟ์ ATA รุ่นใหม่ ที่เรียกว่า Serial ATA ทั้งนี้ ดิสก์สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีอินเตอร์เฟส SAS เริ่มวางจำหน่ายตั้งแต่ปี 2547 โดยเข้ามาแทนที่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ภายในเซิร์ฟเวอร์ ซึ่งสามารถแทนที่ไดรฟ์ SCSI ที่มีความเร็วในการถ่ายโอนข้อมูลช้ากว่าได้ในเวลาอันสั้น ด้วยความพร้อมใช้งานของ SAS ขนาด 3 กิกะบิตต่อวินาที และ 6 กิกะบิตต่อวินาที ทำให้ประสิทธิภาพของ SAS ในขณะนี้เทียบเท่ากับการออกแบบของ Fibre Channel (FC) และสิ่งนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามขึ้นว่า SAS กำลังจะเข้ามาแทนที่ FC ใช่หรือไม่ ยอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ประเด็นข้อโต้แย้งระหว่าง SAS และ FC ได้รับการกล่าวขานทั้งในแวดวงสื่อและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคมาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว โดย FC มีฐานที่มั่นในพื้นที่ของระบบจัดเก็บข้อมูลสำหรับองค์กรขนาดใหญ่และการเข้ามาแทนที่ของ SAS นั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่ขณะนี้ในด้านของ SAS เองก็กำลังให้ความสนใจพื้นที่ทั้งในตลาดองค์กรขนาดใหญ่และองค์กรขนาดกลางและเล็ก โดยเมื่อนักพัฒนาและบริษัทด้านเทคโนโลยี อย่าง บริษัท ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ได้นำเอา SAS เข้ามาใช้ในการออกแบบของตน ก็แสดงให้เห็นได้ว่าการนำ SAS มาใช้นั้นจะมีแนวโน้มที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นแน่นอน จากการคาดการณ์ในปี 2552 ของบริษัท ไอดีซี เกี่ยวกับการจำหน่ายฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์สำหรับการนำไปใช้งานขององค์กรทั่วโลกในช่วงปี 2551-2555 ระบุว่าจำนวนไดรฟ์ SAS ที่จำหน่ายในตลาดจะเพิ่มขึ้นในอีกสามปีถัดไป ขณะที่การจำหน่ายไดรฟ์ FC คาดว่าจะมีจำนวนที่ลดลง ไม่เพียงแต่นักวิเคราะห์เท่านั้นที่คาดการณ์ให้เห็นถึงการขยายตัวของ SAS เมื่อเทียบกับการใช้งาน FC โดยในขณะนี้ผู้จำหน่ายดิสก์กำลังวางแผนที่จะจำกัดการพัฒนาดิสก์ FC ใหม่ของตนในอีกสองสามปีต่อจากนี้ นั่นหมายความว่าการพัฒนาดิสก์ FC จะยุติอยู่ที่ 600 กิกะไบต์ และมีอินเตอร์เฟสที่ระดับ 4 กิกะบิตต่อวินาที ขณะที่ไดรฟ์ SAS คาดว่าจะไปได้ไกลกว่าโดยคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 6 กิกะบิตต่อวินาที (ดูตารางข้อดีของไดรฟ์ SAS ขนาด 6 กิกะบิตต่อวินาที) ค่าใช้จ่าย: ตัวแปรใหม่ที่มีผลต่อประสิทธิภาพ เหตุผลหลักหนึ่งประการที่นักวิเคราะห์มักใช้ในการคาดการณ์เกี่ยวกับ SAS คือปัจจัยง่ายๆ เพียงประการเดียว ได้แก่ การแสดงให้เห็นถึงอัตราประสิทธิภาพต่อราคาที่เหนือกว่าอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่ภาวะเศรษฐกิจจะทรุดตัว องค์กรขนาดใหญ่มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงานเท่านั้น แต่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใดก็กำลังประสบปัญหาด้านงบประมาณที่ถูกจำกัดอย่างมาก ส่งผลให้ประสิทธิภาพต่อราคากลายเป็นประเด็นที่ถูกซักถามนอกเหนือจากเกณฑ์มาตรฐานของระบบจัดเก็บข้อมูล นอกจากนี้ ยังเป็นคุณลักษณะที่ทำให้ SAS มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งอีกด้วย ความแตกต่างในด้านประสิทธิภาพต่อความคุ้มค่าได้รับการพิจารณาเรียบร้อยแล้วในการทดสอบล่าสุดภายใต้ SPC Benchmark-1 ของสถาบันวัดประสิทธิภาพระบบการจัดเก็บข้อมูล (Storage Performance Council: SPC) โดยในระหว่างการทดสอบขององค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้ Hitachi Adaptable Modular Storage 2500 ได้รับผลคะแนนของอัตราการทำงานที่เร็วที่สุดเมื่อเทียบกับคู่แข่งด้านระบบจัดเก็บข้อมูลขนาดกลางทั้งหมดด้วยคอนโทรลเลอร์แบบคู่ที่ให้ผลลัพธ์ของอัตราการทำงานที่น่าประทับใจในระดับ 89,491.81 SPC-1 IOPS และมีเวลาตอบสนองโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 8.98 มิลลิวินาที โดยอัตราประสิทธิภาพต่อราคาของผลลัพธ์ดังกล่าวมีระดับที่ต่ำมากโดยอยู่ที่ 6.71 ดอลลาร์สหรัฐฯ/SPC-1 IOPS เมื่อพิจารณาผลลัพธ์ดังกล่าว จะพบว่าค่าที่ปรากฎจะช่วยให้องค์กรธุรกิจโดยเฉพาะองค์กรขนาดกลางและเล็กที่มีความอ่อนไหวอย่างมากต่อราคานั้นสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้อย่างมาก โดยก่อนหน้านี้ การที่องค์กรธุรกิจจะได้รับประสิทธิภาพที่สูงขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเลือกซื้อระบบอันทรงประสิทธิภาพที่มีราคาแพงกว่า และ/หรือว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญในการปรับระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การออกแบบที่ใช้ SAS ช่วยให้องค์กรที่อยู่ในภาวะรัดเข็มขัดมีโซลูชั่นทางเลือกในราคาที่ไม่สูงมากนักโดยที่ประสิทธิภาพไม่ได้ลดน้อยถอยลง และที่สำคัญพวกเขาสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งในด้านการดำเนินงานและการลงทุน อีกทั้งยังช่วยให้บริษัทขนาดเล็กสามารถสัมผัสประสิทธิภาพของระบบจัดเก็บข้อมูลระดับบนในระดับราคาที่สามารถจ่ายได้ตามงบประมาณที่มีอยู่ได้ ความเข้ากันได้ย้อนหลังกับ SATA ข้อดีที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกประการของ SAS คือความเข้ากันได้ย้อนหลังกับดิสก์ Serial ATA (SATA) โดยเฉพาะอินเตอร์เฟสโปรโตคอลและการออกแบบแบ็คเพลน (Backplane) ของ SAS ช่วยให้สามารถใช้งานทั้งไดรฟ์ SAS และ SATA ภายในระบบเดียวกันได้ สำหรับผู้ติดตั้งระบบและลูกค้า สิ่งนี้ถือเป็นข่าวดีอย่างแน่นอน เนื่องจากในขั้นต้น SAS จะให้ความยืดหยุ่นและอิสระในการใช้ SATA, SAS หรือใช้ทั้งสองร่วมกัน สำหรับองค์กรขนาดกลางและเล็กที่อ่อนไหวต่อราคา เทคโนโลยีนี้จะช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถอัปเกรดไดรฟ์ SATA เป็นไดรฟ์ SAS ได้เมื่อมีความต้องการโดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับขนาดของช่องใส่ไดรฟ์หรือการเดินสายเชื่อมต่อแต่อย่างใด แต่ข้อดีที่สำคัญในการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็คือความสามารถในการผสมและจับคู่ชนิดไดรฟ์ที่แตกต่างกันให้สามารถทำงานร่วมกันได้เอง กล่าวคือ ในการใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบเนียร์ไลน์ (nearline) ที่กังวลในด้านค่าใช่จ่ายนั้น ไดรฟ์ SATA แบบฮาร์ฟดูเพล็กซ์ที่มีการรับส่งข้อมูลได้ช้ากว่า (Half Duplex: การรับส่งข้อมูลแบบสองทางผลัดกัน) อาจถูกนำเข้ามาใช้งานหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ โดยไดรฟ์ที่มีราคาแพงกว่าแต่ประสิทธิภาพเหนือกว่าและเป็นแบบฟูลดูเพล็กซ์ (Full Duplex: การรับส่งข้อมูลพร้อมกันทั้งสองด้าน) จะได้รับการจัดสรรให้เฉพาะการดำเนินงานในภารกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ ความเข้ากันได้ย้อนหลังของ SAS กับมิดเดิลแวร์และซอฟต์แวร์ SCSI รุ่นก่อนหน้า ร่วมกับการใช้ฮาร์ดแวร์ส่วนขยายเป็นสวิตช์ของ SAS ยังทำให้การผสานรวมส่วนประกอบ โฮสต์ และไดรฟ์ดั้งเดิมไว้ในการออกแบบ SAS ที่พัฒนาขึ้นใหม่เป็นเรื่องง่าย สิ่งนี้ช่วยลดหรือแม้แต่ไม่จำเป็นต้องมีการฝึกอบรมเพิ่มเติมหรือไม่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการผสานรวมและไม่จำเป็นต้องปรับแก้ซอฟต์แวร์เดิมให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด บทสรุป ด้วยการผสานรวมความเชื่อถือได้และฟังก์ชันการทำงานที่ได้รับการยอมรับของ SCSI แบบขนานเข้ากับข้อดีในด้านประสิทธิภาพและการออกแบบของเทคโนโลยีระบบจัดเก็บข้อมูลแบบอนุกรม จึงไม่แปลกที่ระบบจัดเก็บข้อมูลแบบ SAS จะได้รับความสนใจอย่างมากในขณะนี้ ในท้ายที่สุดแล้ว เทคโนโลยีนี้จะเป็นทางออกสำหรับความคุ้มค่า เนื่องจากองค์กรไม่ว่าขนาดใดก็ตามกำลังถูกบีบให้พิจารณาอัตราประสิทธิภาพต่อราคาที่ดีกว่าเมื่อต้องเลือกสถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลเข้ามาใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อกฎระเบียบใหม่ๆ ที่ออกมาได้ระบุให้องค์กรต้องสามารถยืดอายุการใช้งานของข้อมูลให้ยาวนานขึ้น แม้ว่า FC จะยังคงมีบทบาทหลักในระบบจัดเก็บข้อมูลองค์กรอยู่ แต่ด้วยอัตราประสิทธิภาพต่อราคาที่เหนือกว่าของ SAS ตลอดจนความเข้ากันได้ย้อนหลังกับ SATA และส่วนประกอบดั้งเดิมต่างๆ ก็จะทำให้ผู้ดูแลระบไอทีหันมาสร้างสถาปัตยกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลแบบ SAS ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดเพิ่มขึ้นโดยที่ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนขององค์กร ในระยะเวลาอันสั้นนี้ องค์กรขนาดกลางและเล็กจะได้ประโยชน์จาก SAS เนื่องจาก SAS จะช่วยให้องค์กรธุรกิจที่มีความอ่อนไหวต่อราคาเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบจัดเก็บข้อมูลระดับองค์กรขนาดใหญ่ได้มากขึ้นภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดขององค์กรได้ สอบถามรายละเอียด กรุณาติดต่อ: คุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์แอนด์พีค จำกัด โทร. 02 439 4600 ต่อ 8300 อีเมล์ srisuput@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ