พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๕

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday December 25, 2012 12:00 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘)

พ.ศ. ๒๕๕๕

------------------

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เป็นปีที่ ๖๗ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร

พระราชกำหนดนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๘๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกำหนดขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกำหนดนี้เรียกว่า “พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๘) พ.ศ. ๒๕๕๕”

มาตรา ๒ พระราชกำหนดนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป เว้นแต่บทบัญญัติมาตรา ๓ และมาตรา ๖ ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษีพ.ศ. ๒๕๕๕ ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา ๔๗ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๖) พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“(๒) ในกรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การหักลดหย่อนตาม (๑) (ก) และ (ข) ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ ๖๐,๐๐๐ บาท”

มาตรา ๔ ให้ยกเลิกมาตรา ๕๗ ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๔๘๙

มาตรา ๕ ให้ยกเลิกมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๔) พ.ศ. ๒๕๒๙

มาตรา ๖ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร

“มาตรา ๕๗ ฉ ในการเก็บภาษีเงินได้จากสามีและภริยานั้น ให้สามีและภริยาต่างฝ่ายต่างมีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับในระหว่างปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตามมาตรา ๕๖ ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินไม่อาจแยกได้อย่างชัดแจ้งว่าเป็นของสามีหรือภริยาแต่ละฝ่ายจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง เว้นแต่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๘) สามีและภริยาจะแบ่งเงินได้พึงประเมินเป็นของแต่ละฝ่ายตามส่วนที่ตกลงกันก็ได้ แต่รวมกันต้องไม่น้อยกว่าเงินได้พึงประเมินที่ได้รับ ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ถือเป็นเงินได้พึงประเมินของสามีและภริยา ฝ่ายละกึ่งหนึ่ง สามีและภริยาจะตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยให้ถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้ หรือจะแยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) โดยมิให้ถือเอาเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งก็ได้แต่ถ้ามีภาษีค้างชำระ

สามีและภริยาต้องร่วมรับผิดในการเสียภาษีที่ค้างชำระนั้น เมื่อได้เลือกยื่นรายการตามวรรคสองและวรรคสามในปีภาษีใดแล้ว ให้ถือว่าเป็นวิธีการยื่นรายการสำหรับปีภาษีนั้นตลอดไป เว้นแต่อธิบดีจะอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกยื่นรายการดังกล่าว”

มาตรา ๗ บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรที่ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ยังคงใช้บังคับต่อไปเฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีอากรที่ค้างอยู่หรือที่พึงชำระก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกำหนดนี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย ที่ ๑๗/๒๕๕๕ ว่า มาตรา ๕๗ ตรี และมาตรา ๕๗ เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ขัดหรือแย้งต่อมาตรา ๓๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งทำให้มีความจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีเงินได้และการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินของผู้มีเงินได้ที่เป็นสามีและภริยาขึ้นใหม่บางประการ สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรในเรื่องดังกล่าว เพื่อใช้บังคับสำหรับการยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษีพ.ศ. ๒๕๕๕ เป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้มีเงินได้มีหน้าที่ยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี พ.ศ. ๒๕๕๕ ใน พ.ศ. ๒๕๕๖ ซึ่งต้องเริ่มต้นยื่นตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ประกอบกับการจัดเก็บภาษีเงินได้และการบริหารจัดเก็บภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเป็นเครื่องมือทางการคลังที่สำคัญในอันที่จะทำให้รัฐสามารถจัดเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบได้และโดยที่เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้

(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม ๑๒๙ ตอนที่ ๑๒๔ ก วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๕)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ