พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๑) พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Thursday August 25, 2016 14:48 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๑)

พ.ศ. ๒๕๕๙

____________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลบางกรณี

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๑) พ.ศ.๒๕๕๙"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้

"วิสาหกิจเพื่อสังคม"หมายความว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือการให้บริการโดยมุ่งส่งเสริมการจ้างงานในท้องถิ่น ที่วิสาหกิจเพื่อสังคมตั้งอยู่หรือมีเป้าหมายในการจัดตั้งตั้งแต่แรกเริ่มในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคมหรือสิ่งแวดล้อมโดยมิได้มุ่งสร้างกำไรสูงสุดต่อผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนและนำผลกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละเจ็ดสิบไปลงทุนในกิจการของตนเองหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรผู้ยากจนคนพิการผู้ด้อยโอกาสหรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นๆตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน๓หมวด๓ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมสำหรับกำไรสุทธิของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่นำผลกำไรทั้งหมดในแต่ละรอบ ระยะเวลาบัญชีไปลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรผู้ยากจนคนพิการผู้ด้อยโอกาสหรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นๆโดยไม่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) และ(ง) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน การลงทุนในกิจการหรือใช้เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรผู้ยากจนคนพิการผู้ด้อยโอกาสหรือใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่นๆตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๕ ในกรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ โดยไม่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ให้การสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมตามมาตรา ๖ และมาตรา ๗ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้

มาตรา ๖ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน๓หมวด๓ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘)

ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าร้อยละสามสิบของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามวรรคหนึ่งได้โอนหุ้นก่อนวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกัน ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นหมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรานี้และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้นำจำนวนเงินลงทุนไปยกเว้นภาษีเงินได้นั้น

มาตรา ๗ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน๓หมวด๓ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับเงินได้เท่าจำนวนเงินหรือราคาทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมซึ่งปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามมาตรา ๘ (๑) (๒) (๓) (๕) (๖) (๗) และ (๘) โดยไม่มีค่าตอบแทนแต่เมื่อรวมกับรายจ่ายเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ ตามมาตรา ๖๕ ตรี (๓) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วต้องไม่เกินร้อยละสองของกำไรสุทธิ

ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมมีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเกินกว่าร้อยละสามสิบของกำไรสุทธิในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นไม่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง

มาตรา ๘ วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขดังต่อไปนี้

(๑) มีคำว่า"วิสาหกิจเพื่อสังคม"อยู่ในชื่อบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น

(๒) ได้รับการรับรองเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจากหน่วยงานที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๓) ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมจากอธิบดีตามแบบที่อธิบดี ประกาศกำหนด

(๔) ไม่มีการจ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๔) (ข) และ (ง) แห่งประมวลรัษฎากรให้แก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วน

(๕) ไม่มีการจำหน่ายจ่ายโอนทรัพย์สินที่ใช้ในกิจการ เว้นแต่การโอนทรัพย์สินตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๖) ไม่เป็นคู่สัญญากับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนและไม่มีการจ่ายค่าตอบแทนใดๆให้แก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วน รวมถึงบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับผู้ถือหุ้นหรือผู้เป็นหุ้นส่วนเว้นแต่ที่อธิบดีประกาศกำหนด

(๗) ไม่เปลี่ยนแปลงประเภทการประกอบกิจการจากกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นการประกอบกิจการอื่นก่อนครบสิบรอบระยะเวลาบัญชีนับตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับอนุมัติให้เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม

(๘) ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนด ในกรณีที่วิสาหกิจเพื่อสังคมไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งข้อหนึ่งข้อใดในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

มาตรา ๙ กรณีวิสาหกิจเพื่อสังคมเลิกกันให้วิสาหกิจเพื่อสังคมแจ้งการเลิกกิจการต่อ เจ้าพนักงานประเมินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในประมวลรัษฎากรและให้การยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลงตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีที่เลิกกัน

มาตรา ๑๐ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มี การประกอบกิจการเพื่อสังคมในประเทศเพิ่มมากขึ้นอันจะส่งผลให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนทำให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการดูแลช่วยเหลือชุมชนและสังคมสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการวิสาหกิจเพื่อสังคมและบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่สนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมสำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเงินลงทุนในหุ้นสามัญของวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือเงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่มอบให้หรือมูลค่าของทรัพย์สินที่โอนให้วิสาหกิจเพื่อสังคมโดยไม่มีค่าตอบแทนจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ