พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๒) พ.ศ. ๒๕๕๙

ข่าวทั่วไป Wednesday August 24, 2016 14:55 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๒)

พ.ศ. ๒๕๕๙

_____________

ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

เป็นปีที่ ๗๑ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๒๒ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และมาตรา ๓(๑) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า"พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๒) พ.ศ.๒๕๕๙"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความใน (๒) ของมาตรา๔แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความ ในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๐๔) พ.ศ.๒๕๕๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๒) เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา ๖๕ ทวิ(๒) แห่งประมวลรัษฎากรโดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ เว้นแต่ทรัพย์สินเฉพาะเครื่องจักรตามมาตรา ๓(๑) และอาคารถาวร ตามมาตรา ๓(๔) ที่อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ ก็ได้"

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินบางประเภทตามมาตรา ๖๕ ตรี (๕) แห่งประมวลรัษฎากร ได้มีการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องได้รับทรัพย์สินและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๙ แต่เนื่องจากทรัพย์สินบางประเภทเช่นเครื่องจักรและอาคารถาวรเป็นทรัพย์สินที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการติดตั้งหรือก่อสร้างเงื่อนไขในการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ที่กำหนดไว้ในปัจจุบันจึงไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ในการยกเว้นภาษีเงินได้สมควรปรับปรุงเงื่อนไขในการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีโดยยกเว้นภาษีเงินได้ในเรื่องดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ