พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐

ข่าวทั่วไป Friday January 6, 2017 14:47 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

พระราชกฤษฎีกา

ออกตามความในประมวลรัษฎากร

ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๖๒๖)

พ.ศ. ๒๕๖๐

_____________

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร

ให้ไว้ ณ วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๐

เป็นปีที่ ๒ ในรัชกาลปัจจุบัน

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูรมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา๒๒ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช๒๕๕๗และมาตรา๓(๑)แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่๑๐)พ.ศ.๒๔๙๖จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรา พระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่าว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๖๒๖) พ.ศ. ๒๕๖๐"

มาตรา ๒ พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชกฤษฎีกานี้ "สถานประกอบกิจการ"หมายความว่าสถานที่ซึ่งผู้ประกอบกิจการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำหรือสถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตสินค้าเป็นประจำ

"เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ"หมายความว่าท้องที่จังหวัดนราธิวาสจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา

มาตรา ๔ ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน๓หมวด๓ในลักษณะ๒แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายเพื่อการลงทุนหรือการต่อเติม เปลี่ยนแปลง ขยายออก หรือทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการที่ประกอบกิจการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ แต่ไม่ใช่เป็นการซ่อมแซมให้คงสภาพเดิมตามมาตรา๖๕ตรี(๕)แห่งประมวลรัษฎากร เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายตามจำนวนที่จ่ายจริง และต้องเป็นทรัพย์สินดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ เครื่องตกแต่ง และเฟอร์นิเจอร์

(๒) โปรแกรมคอมพิวเตอร์

(๓) ยานพาหนะที่จดทะเบียนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตามกฎหมายว่าด้วยยานพาหนะนั้นๆ แต่ไม่รวมถึงรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน ๑๐ คน ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตรา ภาษีสรรพสามิตที่มิใช่ได้มาเพื่อนำออกให้เช่า

(๔) อาคารถาวร แต่ไม่รวมถึงที่ดินและอาคารถาวรที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย รายจ่ายที่ได้จ่ายไปตามวรรคหนึ่ง ต้องจ่ายไปตั้งแต่วันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๙ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๕ ทรัพย์สินตามมาตรา ๔ ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน

(๒) เป็นทรัพย์สินที่นำมาหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ตามมาตรา๖๕ทวิ(๒) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทรัพย์สินนั้นต้องได้มาและอยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายในวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เว้นแต่ทรัพย์สินเฉพาะเครื่องจักรตามมาตรา๔(๑)และอาคารถาวร ตามมาตรา๔(๔)ที่อาจได้มาหรืออยู่ในสภาพพร้อมใช้การตามประสงค์ภายหลังวันที่๓๑ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ก็ได้

(๓) ต้องอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ เว้นแต่ยานพาหนะตามมาตรา๔(๓)ที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการขนส่งหรือการเดินทางเข้าหรือออกจากเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจะไม่อยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจตลอดระยะเวลาก็ได้

(๔) ไม่เป็นทรัพย์สินที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากร ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๕) ไม่เป็นทรัพย์สินที่นำไปใช้ในกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เว้นแต่เป็นการนำไปใช้ในโครงการตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม การลงทุนที่ยังไม่มีการลงทุนจริงและเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิประโยชน์นั้น

มาตรา ๖ การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ตามมาตรา ๔ สำหรับทรัพย์สิน แต่ละประเภทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

มาตรา ๗ กรณีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตามพระราชกฤษฎีกานี้และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในมาตรา๔มาตรา๕และมาตรา๖ในรอบระยะเวลาบัญชีใดให้สิทธิที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามพระราชกฤษฎีกานี้สิ้นสุดลง และบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นจะต้องนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ไปแล้วไปรวมเป็นรายได้ ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้ในรอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ใช้สิทธินั้น เว้นแต่กรณีที่มีการขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพให้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่ รอบระยะเวลาบัญชีที่ได้ขายทรัพย์สินหรือทรัพย์สินนั้นถูกทำลายหรือสูญหายหรือสิ้นสภาพแล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องนำเงินได้ที่ได้รับจากการใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ที่ได้รับแล้วไปรวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิอีก

มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือโดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีสถานประกอบกิจการตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจสำหรับเงินได้เท่ากับรายจ่ายที่ได้จ่ายตามมาตรา ๖๕ ตรี(๕) แห่งประมวลรัษฎากรบางกรณีเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลงทุนของผู้ประกอบการในเขตดังกล่าวจึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ