คำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.๑๕๗/๒๕๖๑ เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐

ข่าวทั่วไป Monday August 20, 2018 10:34 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

คำสั่งกรมสรรพากร

ที่ ป.๑๕๗/๒๕๖๑

เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการ

ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐

______________

เพื่อให้เจ้าพนักงานสรรพากรถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการตรวจแนะนำผู้เสียภาษีเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการเข้าทำงาน หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร กรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของข้อ ๔ ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป. ๑๕๖/๒๕๖๑ เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรายจ่ายจากการดำเนินการตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

"(๓) การจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือการจ้างเหมาบริการโดยวิธีกรณีพิเศษคือ การจ้างคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการโดยตรง ในงานที่มุ่งผลสำเร็จของงาน หากนายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการได้จ่ายค่าใช้จ่ายไปเพื่อการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการที่เป็นไปเพื่อกิจการของตน หรือเป็นไปเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ โดยเป็นการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการไปยังสถานที่ดังต่อไปนี้ นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น มีสิทธินำค่าใช้จ่ายตามจำนวนที่ได้จ่ายไปนั้นมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ก. ส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

ข. สภากาชาดไทย

ค. วัดวาอาราม

ง. สถานพยาบาลของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล

จ. สถานศึกษาของทางราชการหรือองค์การของรัฐบาล สถานศึกษาที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันศึกษาเอกชนในราชกิจจานุเบกษา

ฉ. องค์การหรือสถานสาธารณกุศลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด

หากการจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือจ้างเหมาบริการนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบุคคลอื่น ซึ่งมิได้เป็นไปเพื่อการกุศลสาธารณะหรือเพื่อการสาธารณประโยชน์ไปยังสถานที่ตาม ก. ถึง ฉ. ข้างต้น นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการนั้น ไม่มีสิทธินำค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปเป็นค่าจัดจ้างเหมาช่วงงานหรือ จ้างเหมาบริการมาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ตัวอย่างที่ ๑

บริษัท ก. ได้ทำสัญญาจ้างเหมาคนพิการเพื่อให้จัดทำของที่ระลึกของบริษัทเพื่อแจกเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ โดยบริษัทจะเป็นผู้จัดหาวัสดุ อุปกรณ์ ให้คนพิการ โดยบริษัทจะจ่ายเงินค่าจ้างทำของที่ระลึกในราคา ๑๐๙,๕๐๐ บาทต่อคนพิการ ๑ คน บริษัท ก. มีสิทธินำเงินค่าจ้างเหมาคนพิการดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้

ตัวอย่างที่ ๒

บริษัท ก. ได้ทำสัญญาจ้างเหมาคนพิการเพื่อให้ไปทำงานในบริษัท ข. เป็นระยะเวลา ๑ ปี โดยมีมูลค่าสัญญาจ้างจำนวน ๑๐๙,๕๐๐ บาทต่อคนพิการ ๑ คน บริษัท ก. ไม่มีสิทธินำเงินค่าจ้างเหมาคนพิการดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

ตัวอย่างที่ ๓

บริษัท ก. ได้ทำสัญญาจ้างเหมาคนพิการเพื่อให้ไปทำงานในสภากาชาดไทยซึ่งเป็นไปเพื่อการสาธารณประโยชน์ เป็นระยะเวลา ๑ ปี โดยมีมูลค่าสัญญาจ้างจำนวน ๑๐๙,๕๐๐ บาทต่อคนพิการ ๑ คนบริษัท ก. มีสิทธินำเงินค่าจ้างเหมาคนพิการดังกล่าว มาลงเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล"

ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๖ มกราคมพ.ศ. ๒๕๖๑ เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๑

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ