ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๗๖) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน

ข่าวทั่วไป Thursday June 11, 2020 11:24 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๗๖)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้

สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม

ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓

_____________

อาศัยอำนาจตามความในวรรคสามของ (๑๐๒) ของข้อ ๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖๓ (พ.ศ. ๒๕๖๓) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ดังนี้

(๑) ผู้มีเงินได้ต้องซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๕ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ซึ่งมีจำนวนรวมกันไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับปีภาษีนั้น และได้ซื้อหน่วยลงทุนนั้นในระหว่างวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓

(๒) ผู้มีเงินได้ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตาม (๑) ต่อเนื่องกัน ไม่น้อยกว่า ๑๐ ปีนับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุน เว้นแต่กรณีที่ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมนั้น เพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย

กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะนำมาซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมได้อีกต่อไป

ข้อ ๒ กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๕ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เกินกว่าหนึ่งกองทุน เงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมในแต่ละกองทุนที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามข้อ ๑

ข้อ ๓ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนตามข้อ ๑ และข้อ ๒ ให้ยกเว้นเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท สำหรับปีภาษีนั้น โดยผู้มีเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง

ข้อ ๔ กรณีผู้มีเงินได้ได้ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม และได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๓ แล้ว ต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ ๑ หรือข้อ ๒ ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๓ แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผู้มีเงินได้ไถ่ถอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมเพราะเหตุทุพพลภาพหรือตาย ผู้มีเงินได้ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วที่อยู่ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน ๕ ปีนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้น ๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าว พร้อมเงินเพิ่มตามมาตรา ๒๗ แห่งประมวลรัษฎากร

ในกรณีที่มีการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการออมซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามข้อ ๑ หรือข้อ ๒ การคำนวณต้นทุนผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหน่วยลงทุน (capital gain) เพื่อเสียภาษีในกรณีดังกล่าวให้คำนวณโดยวิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO)

ข้อ ๕ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่แสดงได้ว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการออมดังกล่าว

ข้อ ๖ กรณีผู้มีเงินได้ได้โอนการลงทุนในหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามข้อ ๑ทั้งหมดหรือบางส่วนไปยังกองทุนรวมเพื่อการออมอีกกองทุนหนึ่ง ไม่ว่าจะโอนไปยังกองทุนรวมเพื่อการออมกองทุนเดียวหรือหลายกองทุน ผู้มีเงินได้จะต้องโอนการลงทุนไปยังกองทุนรวมเพื่อการออมที่มีนโยบายการลงทุนในหลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๖๕ ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ และจะต้องโอนการลงทุนภายใน ๕ วันทำการนับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ กองทุนรวมเพื่อการออมที่โอนได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จึงจะถือว่าระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุนในกรณีดังกล่าวมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน

การโอนการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามวรรคหนึ่ง กองทุนรวมเพื่อการออมที่ได้รับคำสั่งโอนจากผู้มีเงินได้ จะต้องจัดทำหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนส่งมอบให้แก่กองทุนรวมเพื่อการออมที่รับโอนเก็บไว้เป็นหลักฐานพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้

ข้อ ๗ หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามข้อ ๕ และหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามข้อ ๖ ต้องจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับด้วย ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรือเลขอารบิค โดยมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้

การลงลายมือชื่อของผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม และหนังสือรับรองการโอนหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออมตามวรรคหนึ่ง จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองดังกล่าวด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้

ข้อ ๘ ผู้มีเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ จะนำเงินได้ที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นไปใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ ๒ (๑๐๒) วรรคหนึ่ง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒๖ (พ.ศ. ๒๕๐๙) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรอีกไม่ได้

ข้อ ๙ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ ๑๐ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๓

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ