ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๒๐) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

ข่าวทั่วไป Friday July 17, 2020 11:00 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

(ฉบับที่ ๒๐)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการนำส่งเงินภาษี

ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร

________________

อาศัยอำนาจตามความในตามมาตรา ๕๐ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑ และตามความในข้อ ๒ ข้อ ๕ และข้อ ๖ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖๔ (พ.ศ. ๒๕๖๓) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการนำส่งเงินภาษี อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ในการนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร และยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ ในประกาศนี้

"ธนาคาร" หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และสถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น

"ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี" หมายความว่า ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๒ ภาษีเงินได้ตามมาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๐ ทวิ และภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๓/๕ และมาตรา ๘๓/๖ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ ๒ ให้ธนาคารที่มีความประสงค์เป็นผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลและเงินภาษี ยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อทำหน้าที่รับเงินภาษีจากผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีแทนกรมสรรพากรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กำหนดไว้ในขั้นตอนการลงทะเบียน และต้องผ่านการประเมินระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งรายการและเงินภาษีจากกองเทคโนโลยีสารสนเทศของกรมสรรพากร ทั้งนี้ ธนาคารต้องไม่เคยถูกอธิบดีกรมสรรพากรเพิกถอนการเป็นผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลและเงินภาษี ตามประกาศนี้

ข้อ ๓ ธนาคารที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒ อาจกำหนดประเภทของบริการธุรกรรมทางการเงินของธนาคารทั้งหมดหรือบางส่วนที่ธนาคารให้บริการเพื่อรองรับระบบการนำส่งเงินภาษี โดยต้องจัดให้มีระบบการให้บริการที่สามารถรองรับรายการที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษีจากผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี ตามท้ายประกาศนี้

ธนาคารมีหน้าที่แจ้งประเภทของบริการธุรกรรมทางการเงินของธนาคารที่ให้บริการเพื่อรองรับระบบการนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร เพื่อการเผยแพร่บนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ

ข้อ ๔ ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีอาจเลือกวิธีการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๒ แห่งประมวลรัษฎากร ภาษีเงินได้ ตามมาตรา ๗๐ และมาตรา ๗๐ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร และภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๓/๕ และมาตรา ๘๓/๖ แห่งประมวลรัษฎากร โดยกระทำผ่านธนาคารที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒ พร้อมกับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน หรือการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไร หรือการจ่ายเงินค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยจะต้องแจ้งรายการที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษีต่อธนาคารอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๑) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี

(๒) ชื่อหรือเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับเงิน

(๓) ในกรณีภาษีเงินได้ ให้ระบุประเภทของเงินได้พึงประเมินและจำนวนเงินได้ที่ผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีได้นำส่ง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)

(๔) ในกรณีภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ระบุมูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ

(๕) จำนวนเงินภาษีที่หักหรือนำส่ง

ข้อ ๕ ให้ธนาคารซึ่งได้รับเงินภาษีและรายการตามข้อ ๔ ออกหลักฐานแสดงการรับชำระเงินภาษีให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์และสามารถระบุได้ว่าหลักฐานดังกล่าวนั้นธนาคารเป็นผู้ออก โดยต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

(๑) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี

(๒) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (สำหรับธุรกรรมในประเทศ)

(๓) ประเภทของเงินได้พึงประเมิน

(๔) จำนวนเงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย (ถ้ามี)

(๕) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ถ้ามี)

(๖) หมายเลขอ้างอิง (ธนาคารกำหนดเอง)

(๗) ชื่อผู้รับเงินภาษาอังกฤษ (สำหรับเฉพาะธุรกรรมระหว่างประเทศ)

(๘) นามสกุลผู้รับเงินภาษาอังกฤษ (สำหรับเฉพาะธุรกรรมระหว่างประเทศ)

เพื่อประโยชน์ในการส่งหลักฐานตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีแจ้งช่องทางการติดต่อของตนและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ธนาคาร

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ธนาคารส่งหลักฐานให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ผ่าน Short Message Service (SMS) แต่ธนาคารต้องระบุรายการอย่างน้อยตาม (๑) (๒) (๔) สำหรับธุรกรรมในประเทศ หรือ (๑) (๔) (๗) (๘) สำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อเป็นหลักฐานที่ส่งให้ผ่านช่องทางดังกล่าว

ให้หลักฐานแสดงการรับชำระเงินภาษีที่ธนาคารได้ออกให้แก่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามวรรคหนึ่ง เป็นหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย และให้ยกเว้นการออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย แก่ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา ๕๐ ทวิ วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ ๖ ธนาคารต้องนำส่งเงินภาษีพร้อมรายการตามข้อ ๔ และรายการเดินบัญชีในรูปแบบ MT๙๔๐ หรือตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ต่อกรมสรรพากรภายในสี่วันทำการนับถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงินภาษีและรายการจากผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี

รายการที่ธนาคารต้องนำส่งต่อกรมสรรพากรพร้อมเงินภาษีตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในท้ายประกาศนี้

ข้อ ๗ กรณีที่ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีพบว่าจำนวนเงินภาษีตามข้อ ๔ ผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนไป และทำให้การนำส่งเงินภาษีไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีดำเนินการนำส่งเงินภาษีเพิ่มเติมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรโดยเลือกรายการนำส่งเงินภาษีที่ประสงค์จะทำการนำส่งเงินภาษีเพิ่มเติม โดยระบุจำนวนเงินภาษีที่จะนำส่งเพิ่มเติมและทำการนำส่งเงินภาษีนั้นทั้งจำนวนผ่านระบบ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) หรือนำส่งโดยวิธีการพิมพ์ชุดชำระเงิน (Pay In Slip) จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรและนำส่งเงินภาษีทั้งจำนวนตามชุดชำระเงิน (Pay In Slip) ณ ธนาคารใดธนาคารหนึ่งซึ่งมีระบบการให้บริการที่รองรับการนำส่งเงินภาษีเพิ่มเติม

ธนาคารต้องนำส่งเงินภาษีพร้อมรายการนำส่งเงินภาษีเพิ่มเติมตามวรรคหนึ่ง และข้อมูล Bill Payment Output file BOT format (๒๕๖) หรือตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ต่อกรมสรรพากรภายในหนึ่งวันนับถัดจากวันที่ธนาคารได้รับเงินภาษีและรายการจาก ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษี

ข้อ ๘ ธนาคารที่ได้รับอนุมัติตามข้อ ๒ ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลา ที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ดังต่อไปนี้

(๑) ธนาคารต้องรักษามาตรฐานของระบบงานที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งรายการและเงินภาษีตลอดเวลาที่ให้บริการนำส่งเงินภาษี และต้องประเมินระบบงานของธนาคารทุก ๆ ๒ ปี

(๒) กรณีที่ธนาคารไม่นำส่งหรือนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรไม่ครบถ้วนตามข้อ ๖ และข้อ ๗ ธนาคารต้องรับผิดและนำส่งเงินภาษีดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรจนครบถ้วนพร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตรา ร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลานำส่งเงินภาษี จนกว่าจะนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรครบถ้วน ทั้งนี้ กรมสรรพากรมีสิทธิที่จะเรียกร้องบรรดาค่าเสียหายที่ได้เกิดขึ้นจากการที่ธนาคารไม่นำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนนั้น

(๓) กรณีที่ธนาคารไม่นำส่งรายการที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษี หรือรายการเดินบัญชี ในรูปแบบ MT๙๔๐ หรือรายการนำส่งเงินภาษีเพิ่มเติม หรือข้อมูล Bill Payment Output file BOT format (๒๕๖) ต่อกรมสรรพากร ตามข้อ ๖ และข้อ ๗ ถือว่าธนาคารไม่นำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากร ทั้งจำนวนตามข้อ ๖ และข้อ ๗ ด้วย ธนาคารต้องชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่พ้น กำหนดเวลานำส่งเงินภาษี โดยคำนวณจากจำนวนเงินภาษีที่ต้องนำส่งสำหรับรายการข้อมูลดังกล่าวนั้น ทั้งจำนวนเสมือนมิได้นำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากร จนกว่าจะนำส่งรายการและข้อมูลดังกล่าวให้แก่กรมสรรพากรครบถ้วน ทั้งนี้ กรมสรรพากรมีสิทธิที่จะเรียกร้องบรรดาค่าเสียหายที่ได้เกิดขึ้นจากการนั้น

(๔) กรณีที่ธนาคารไม่นำส่งหรือนำส่งเงินภาษีให้แก่กรมสรรพากรไม่ครบถ้วน หรือไม่นำส่งรายการที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษี หรือรายการนำส่งเงินภาษีเพิ่มเติม หรือรายการเดินบัญชีในรูปแบบ MT๙๔๐ หรือข้อมูล Bill Payment Output file BOT format (๒๕๖) หรือข้อมูลตามรูปแบบที่กำหนดไว้ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร ต่อกรมสรรพากรภายในกำหนดเวลาตามข้อ ๖ และข้อ ๗ แล้วแต่กรณี หรือดำเนินการอื่นใดอันไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษีตามประกาศนี้ กรมสรรพากรสามารถดำเนินการ ดังต่อไปนี้ เว้นแต่ธนาคารจะพิสูจน์ได้ว่ากรณีดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นซึ่งทำให้ธนาคารไม่สามารถดำเนินการได้

(ก) กรณีที่กรมสรรพากรได้แจ้งเตือนให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยมีกำหนดเวลาไม่น้อยกว่า ๓๐ วัน แต่ธนาคารไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ธนาคารต้องถูกระงับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการเป็นผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลและเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง และกรมสรรพากรจะประกาศรายชื่อของธนาคารที่ถูกระงับการให้บริการไว้บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรwww.rd.go.th

(ข) กรณีที่พ้นกำหนดเวลาที่กรมสรรพากรได้แจ้งให้ธนาคารปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติ ให้ถูกต้องตาม (ก) แล้ว และกรมสรรพากรได้แจ้งเตือนให้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขหรือให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ครั้งที่สอง โดยแจ้งกำหนดเวลาให้ดำเนินการไม่น้อยกว่า ๑๕ วันแล้ว แต่ธนาคารไม่ปรับปรุงแก้ไขหรือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง ธนาคารต้องถูกเพิกถอนการเป็น ผู้ให้บริการนำส่งข้อมูลและเงินภาษีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากรตามประกาศนี้ และกรมสรรพากรจะประกาศรายชื่อของธนาคารไว้บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากรwww.rd.go.th

ข้อ ๙ ให้รายการที่เกี่ยวข้องกับการนำส่งเงินภาษีตามข้อ ๔ เป็นส่วนหนึ่งของรายการเกี่ยวกับ เงินได้พึงประเมินหรือรายการจ่ายเงินได้พึงประเมินที่ได้ยื่นไว้แล้วตามมาตรา ๕๘ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ ๑๐ ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีและผู้รับเงินหรือผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย สามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการนำส่งเงินภาษี หรือจำนวนเงินภาษีซึ่งตนได้ถูกหักและนำส่งตามข้อ ๔ จากระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมสรรพากร โดยใช้ชื่อผู้ใช้งาน(Username)และรหัสผ่าน(Password)ที่ได้รับจากการลงทะเบียนสำหรับการยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร

ข้อ ๑๑ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ