ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๙๐) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ

ข่าวทั่วไป Friday October 30, 2020 14:42 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๓๙๐)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้

สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ

_______________

อาศัยอำนาจตามความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๖๘ (พ.ศ. ๒๕๖๓) ออกตามความ ในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ สำหรับการซื้อสินค้าหรือรับบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) ผู้มีเงินได้ซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องมิใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล โดยให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท

(๒) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่สามีหรือภริยา ซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท

(๓) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้

(ก) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ หรือ แยกยื่นรายการและเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ (๑) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ของอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท

(ข) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตนเป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา ๕๗ ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท และให้ได้รับยกเว้น ภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท

ข้อ ๒ ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ต้องซื้อสินค้าหรือรับบริการ เพื่อใช้ในราชอาณาจักร และชำระราคาค่าสินค้าหรือค่าบริการ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการ นอกจากกรณีตาม (๒) (๓) และ (๔) ต้องเป็นการจ่ายให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร โดยเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ ต้องเป็นการซื้อสินค้าหรือรับบริการเฉพาะที่ต้องรวมคำนวณ เป็นมูลค่าฐานภาษีในอัตราร้อยละ ๗.๐ เท่านั้น

(๒) กรณีการจ่ายค่าซื้อหนังสือ แต่ไม่รวมถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารให้แก่ผู้ขาย ต้องได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร ในกรณีที่ผู้ขายเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา ๑๐๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อ และนามสกุลของผู้มีเงินได้ ในกรณีที่ผู้ขายมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

(๓) กรณีการจ่ายค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต แต่ไม่รวมถึงหนังสือพิมพ์และนิตยสารให้แก่ผู้ให้บริการ ต้องได้รับใบรับซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา ๑๐๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อ และนามสกุลของผู้มีเงินได้

(๔) กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ สินค้าดังกล่าวต้องเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว และได้รับใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ แห่งประมวลรัษฎากร จากผู้ขายในกรณีที่ผู้ขายเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับใบรับ ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา ๑๐๕ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร พร้อมระบุชื่อ และนามสกุล ของผู้มีเงินได้ในกรณีที่ผู้ขายมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยในการจัดทารายการชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าในใบกำกับภาษีตามมาตรา ๘๖/๔ (๕) แห่งประมวลรัษฎากร หรือในใบรับนั้น ผู้ขายจะต้องปฏิบัติ ดังนี้

(ก) ต้องระบุข้อความที่แสดงว่าสินค้านั้น เป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ในแต่ละรายการสินค้า หรือจัดทาเครื่องหมายแสดงในแต่ละรายการสินค้าที่เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ และมีข้อความที่แสดงว่าเครื่องหมายนั้น หมายถึงสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ไว้ ในใบกำกับภาษีหรือใบรับ เช่น "OTOP" "โอทอป" หรือ "One Tambon One Product" เป็นต้น

(ข) กรณีที่สินค้าทุกรายการในใบกำกับภาษีหรือใบรับนั้นเป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมด จะไม่ระบุข้อความหรือเครื่องหมายที่แสดงว่า สินค้าแต่ละรายการเป็นสินค้า หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ตาม (ก) ก็ได้ โดยให้ผู้ขายสินค้าซึ่งเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีหรือใบรับประทับตรายางที่มีชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ขายสินค้านั้น และให้ระบุข้อความว่า "สินค้าทุกรายการเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์" หรือข้อความอื่นในลักษณะทานองเดียวกันในใบกำกับภาษีหรือ ใบรับฉบับนั้นด้วย

การออกใบกำกับภาษีหรือใบรับตามวรรคหนึ่งที่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการออกด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ขายหรือผู้ให้บริการต้องปฏิบัติตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ ๑๕) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทา ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ ลงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ หรือระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการจัดทา ส่งมอบ และเก็บรักษาใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบ e - Tax Invoice by Email พ.ศ. ๒๕๖๐

ข้อ ๓ กรณีที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบกำกับภาษีไปหักจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ผู้มีเงินได้ไม่มีสิทธินาค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามใบกำกับภาษีนั้นมาใช้สิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้ตามประกาศนี้

ข้อ ๔ การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร หลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา ๔๒ ทวิ ถึงมาตรา ๔๖ แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว

ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓ เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๓

เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ

(นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ)

อธิบดีกรมสรรพากร

ที่มา: http://www.rd.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ