พระราชบัญญัติ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒

ข่าวทั่วไป Monday May 27, 2019 18:09 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๖ ประกอบกับมาตรา ๒๘ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

เหตุผลและความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์มีประสิทธิภาพและเพื่อให้มีมาตรการป้องกัน รับมือ และ ลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยภายใน ประเทศ ซึ่งการตราพระราชบัญญัตินี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติทำหน้าที่รัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ๒๕๖๒"

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ "การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" หมายความว่า มาตรการหรือการดำเนินการที่กำหนดขึ้นเพื่อป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ อันกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงทางทหาร และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ

"ภัยคุกคามทางไซเบอร์" หมายความว่า การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ โดยมิชอบ โดยใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมไม่พึงประสงค์โดยมุ่งหมายให้เกิดการประทุษร้ายต่อระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบต่อการทำงานของคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้อง

"ไซเบอร์" หมายความรวมถึง ข้อมูลและการสื่อสารที่เกิดจากการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเทอร์เน็ต หรือโครงข่ายโทรคมนาคม รวมทั้งการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมและระบบเครือข่ายที่คล้ายคลึงกัน ที่เชื่อมต่อกันเป็นการทั่วไป

"หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

"ประมวลแนวทางปฏิบัติ" หมายความว่า ระเบียบหรือหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กำหนด

"เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" หมายความว่า เหตุการณ์ที่เกิดจาก การกระทำหรือการดำเนินการใด ๆ ที่มิชอบซึ่งกระทำการผ่านทางคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอาจเกิดความเสียหายหรือผลกระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์

"มาตรการที่ใช้แก้ปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์" หมายความว่า การแก้ไขปัญหาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยใช้บุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี โดยผ่านคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือบริการที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ใด ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของคอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์

"โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ" หมายความว่า คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชนใช้ในกิจการของตนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ

"หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ" หมายความว่า หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานเอกชน ซึ่งมีภารกิจหรือให้บริการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

"หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล" หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชน หรือบุคคลซึ่งมีกฎหมายกำหนดให้มีหน้าที่และอำนาจในการควบคุมหรือกำกับดูแลการดำเนินกิจการของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

"สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศ และแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้

ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

ส่วนที่ ๑

คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

มาตรา ๕ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ" เรียกโดยย่อว่า "กมช." และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "National Cyber Security Committee" เรียกโดยย่อว่า "NCSC" ประกอบด้วย

(๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ (๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ด้านวิทยาศาสตร์ ด้านวิศวกรรมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านการเงิน หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งแทนผู้ที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระตามมาตรา ๗ วรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยการเสนอแนะของคณะกรรมการ

มาตรา ๖ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการต้องมีสัญชาติไทยและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๓) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๔) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือออกจากงานจากหน่วยงานที่เคยปฏิบัติหน้าที่ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

(๕) เคยถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งตามกฎหมาย (๖) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น กรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งซึ่งรับผิดชอบการบริหารพรรคการเมือง ที่ปรึกษาพรรคการเมือง หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง

มาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งเกินสองวาระไม่ได้

ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมหรือแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมหรือแทนตำแหน่งที่ว่างนั้น ดำรงตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว เว้นแต่วาระที่เหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวันจะไม่แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแทนก็ได้

เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่

มาตรา ๘ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๗ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ

(๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) คณะรัฐมนตรีให้ออก (๔) ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๖ มาตรา ๙ คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (๑) เสนอนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรา ๔๒ และมาตรา ๔๓ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องเป็นไปตามแนวทางที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๒

(๒) กำหนดนโยบายการบริหารจัดการที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์สำหรับหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

(๓) จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์เสนอต่อคณะรัฐมนตรี สำหรับเป็นแผนแม่บทในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดหรือเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแผนดังกล่าวจะต้องสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนระดับชาติ และกรอบนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

(๔) กำหนดมาตรฐานและแนวทางส่งเสริมพัฒนาระบบการให้บริการเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สร้างมาตรฐานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมถึงส่งเสริมการรับรองมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานเอกชน

(๕) กำหนดมาตรการและแนวทางในการยกระดับทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญใน ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๖) กำหนดกรอบการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๗) แต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ (๘) มอบหมายการควบคุมและกำกับดูแล รวมถึงการออกข้อกำหนด วัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจ และกรอบการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

(๙) ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

(๑๐) เสนอแนะและให้ความเห็นต่อคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือคณะรัฐมนตรี เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๑๑) เสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในการจัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๑๒) จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินงานของการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหรือแนวทางการพัฒนามาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้คณะรัฐมนตรีทราบ

(๑๓) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

มาตรา ๑๐ การประชุมของคณะกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด โดยอาจประชุมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นก็ได้

มาตรา ๑๑ ให้ประธานกรรมการ และกรรมการได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่น ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ส่วนที่ ๒

คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

มาตรา ๑๒ ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการตามมาตรา ๙ ให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกโดยย่อว่า "กกม." ประกอบด้วย

(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ (๒) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

(๓) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินสี่คน ซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์และเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาบุคคลที่เห็นสมควรเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๑๓ กกม. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (๑) ติดตามการดำเนินการตามนโยบายและแผนตามมาตรา ๙ (๑) และมาตรา ๔๒ (๒) ดูแลและดำเนินการเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ตามมาตรา ๖๑ มาตรา ๖๒ มาตรา ๖๓ มาตรา ๖๔ มาตรา ๖๕ และมาตรา ๖๖

(๓) กำกับดูแลการดำเนินงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ และการเผชิญเหตุและนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์

(๔) กำหนดประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์อันเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำในการดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ สำหรับหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รวมทั้งกำหนดมาตรการใน การประเมินความเสี่ยง การตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เมื่อมีภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบหรือความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญหรือ อย่างร้ายแรงต่อระบบสารสนเทศของประเทศ เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ปฏิบัติ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

(๕) กำหนดหน้าที่ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน้าที่ของหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล โดยอย่างน้อยต้องกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลต้องกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ และหน่วยงานของรัฐ

(๖) กำหนดระดับของภัยคุกคามทางไซเบอร์ พร้อมทั้งรายละเอียดของมาตรการป้องกัน รับมือ ประเมิน ปราบปราม และระงับภัยคุกคามทางไซเบอร์ในแต่ละระดับเสนอต่อคณะกรรมการ

(๗) วิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณาสั่งการ เมื่อมีหรือคาดว่าจะมีภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงขึ้น

ในการกำหนดกรอบมาตรฐานตามวรรคหนึ่ง (๔) ให้คำนึงถึงหลักการบริหารความเสี่ยง โดยอย่างน้อยต้องประกอบด้วยวิธีการและมาตรการ ดังต่อไปนี้

(๑) การระบุความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นแก่คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ทรัพย์สินและชีวิตร่างกายของบุคคล

(๒) มาตรการป้องกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น (๓) มาตรการตรวจสอบและเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์ (๔) มาตรการเผชิญเหตุเมื่อมีการตรวจพบภัยคุกคามทางไซเบอร์ (๕) มาตรการรักษาและฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มาตรา ๑๔ ในการดำเนินการตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง (๒) เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ทันท่วงที กกม. อาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และกรรมการอื่นซึ่ง กกม. กำหนด ร่วมกันปฏิบัติการในเรื่องดังกล่าวได้ และจะกำหนดให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ที่ถูกคุกคามเข้าร่วมดำเนินการ ประสานงาน และให้การสนับสนุนด้วยก็ได้

การปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกม. กำหนด มาตรา ๑๕ ให้นำความในมาตรา ๖ มาตรา ๗ และมาตรา ๘ มาใช้บังคับกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กกม. โดยอนุโลม

มาตรา ๑๖ ให้ กกม. มีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ กกม. มอบหมาย

มาตรา ๑๗ การประชุมของ กกม. และคณะอนุกรรมการ ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกม. กำหนด โดยอาจประชุมด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นก็ได้

มาตรา ๑๘ ให้ประธานกรรมการและกรรมการ ประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการที่ กกม. แต่งตั้ง ได้รับเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๑๙ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดง บัตรประจำตัวต่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง

ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้รัฐมนตรีพิจารณาแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ความชำนาญ ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใด ตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ระดับความรู้ความชำนาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

บัตรประจำตัวพนักงานเจ้าหน้าที่ให้เป็นไปตามแบบที่ กกม. ประกาศกำหนด

หมวด ๒

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ

มาตรา ๒๐ ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล และไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบ บริหารราชการแผ่นดิน หรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น

มาตรา ๒๑ กิจการของสำนักงานไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน

มาตรา ๒๒ ให้สำนักงานรับผิดชอบงานธุรการ งานวิชาการ งานการประชุม และ งานเลขานุการของคณะกรรมการ และ กกม. และให้มีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) เสนอแนะและสนับสนุนในการจัดทำนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และแผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรา ๙ ต่อคณะกรรมการ

(๒) จัดทำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัย ไซเบอร์ตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง (๔) เสนอต่อ กกม. เพื่อให้ความเห็นชอบ

(๓) ประสานงานการดำเนินการเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศตามมาตรา ๕๓ และมาตรา ๕๔

(๔) ประสานงานและให้ความร่วมมือในการตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ในประเทศและต่างประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และกำหนดมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๕) ดำเนินการและประสานงานกับหน่วยงานของรัฐและเอกชนในการตอบสนองและรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ

(๖) เฝ้าระวังความเสี่ยงในการเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ติดตาม วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ และการแจ้งเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๗) ปฏิบัติการ ประสานงาน สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน การปฏิบัติตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และมาตรการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือตามคำสั่งของคณะกรรมการ

(๘) ดำเนินการและให้ความร่วมมือหรือช่วยเหลือในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบหรือเกิดแก่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

(๙) เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกันเพื่อให้มีการดำเนินการเชิงปฏิบัติการ ที่มีลักษณะบูรณาการและเป็นปัจจุบัน

(๑๐) เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงและเหตุการณ์ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่หน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน

(๑๑) เป็นศูนย์กลางในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

(๑๒) ทำความตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ

(๑๓) ศึกษาและวิจัยข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับมาตรการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมทั้งดำเนินการอบรมและฝึกซ้อมการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ

(๑๔) ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการในการเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนดำเนินการฝึกอบรมเพื่อยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญในการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๑๕) รายงานความคืบหน้าและสถานการณ์เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ รวมทั้งปัญหาและอุปสรรค เสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด

(๑๖) ปฏิบัติงานอื่นใดอันเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศตามที่คณะกรรมการหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตาม (๖) ให้สำนักงานจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติขึ้นเป็นหน่วยงานภายในสำนักงาน และ ให้มีหน้าที่และอำนาจตามที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๓ ในการดำเนินการของสำนักงาน นอกจากหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติ ในมาตรา ๒๒ แล้ว ให้สำนักงานมีหน้าที่และอำนาจทั่วไปดังต่อไปนี้ด้วย

(๑) ถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง และมีทรัพยสิทธิต่าง ๆ (๒) ก่อตั้งสิทธิ หรือทำนิติกรรมทุกประเภทผูกพันทรัพย์สิน ตลอดจนทำนิติกรรมอื่นใด เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของสำนักงาน

(๓) จัดให้มีและให้ทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการของสำนักงาน (๔) เรียกเก็บค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน หรือค่าบริการในการดำเนินงาน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และอัตราที่สำนักงานกำหนดโดยความเห็นชอบของ กบส.

(๕) ปฏิบัติการอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน หรือตามที่คณะกรรมการ หรือ กบส. มอบหมาย

มาตรา ๒๔ ทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงาน ประกอบด้วย

(๑) ทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามมาตรา ๘๑ วรรคหนึ่ง และเงินและทรัพย์สินที่ได้ รับโอนมาตามมาตรา ๘๒

(๒) เงินอุดหนุนทั่วไปที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความเหมาะสมเป็นรายปี (๓) เงินอุดหนุนจากหน่วยงานของรัฐทั้งในประเทศและต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศระดับรัฐบาล

(๔) ค่าธรรมเนียม ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้อันเกิดจากการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน

(๕) ดอกผลของเงินหรือรายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน เงินและทรัพย์สินของสำนักงานตามวรรคหนึ่ง ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน มาตรา ๒๕ ให้มีคณะกรรมการบริหารสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เรียกโดยย่อว่า "กบส." เพื่อดูแลงานด้านกิจการบริหารงานทั่วไปของสำนักงาน ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อธิบดีกรมบัญชีกลาง เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการ ก.พ.ร. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินหกคน เป็นกรรมการ

ให้เลขาธิการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการแต่งตั้งพนักงานของสำนักงาน เป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ด้านเศรษฐศาสตร์ ด้านสังคมศาสตร์ ด้านกฎหมาย ด้านบริหารธุรกิจ หรือด้านอื่น ที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของ กบส. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

ให้นำความในมาตรา ๖ และมาตรา ๘ มาใช้บังคับกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิโดยอนุโลม มาตรา ๒๖ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใน กบส. มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมหรือแทนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ รัฐมนตรีอาจแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมหรือแทนตำแหน่งที่ว่างได้ และ ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมหรือแทนตำแหน่งที่ว่างนั้นดำรงตำแหน่งได้เท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้ว

เมื่อครบกำหนดวาระตามวรรคหนึ่ง หากยังมิได้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่ ให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยู่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไปจนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นใหม่

มาตรา ๒๗ ให้ กบส. มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้ (๑) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน (๒) ออกข้อบังคับว่าด้วยการจัดองค์กร การเงิน การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป การพัสดุ การตรวจสอบภายใน รวมตลอดทั้งการสงเคราะห์และสวัสดิการต่าง ๆ ของสำนักงาน

(๓) อนุมัติแผนการใช้จ่ายเงินและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน (๔) ควบคุมการบริหารงานและการดำเนินการของสำนักงานและเลขาธิการ ให้เป็นไป ตามพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๕) วินิจฉัยคำสั่งทางปกครองของเลขาธิการในส่วนที่เกี่ยวกับการบริหารงานของสำนักงาน (๖) ประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานและการปฏิบัติงานของเลขาธิการ (๗) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่พระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นกำหนดให้เป็นหน้าที่และอำนาจของ กบส. หรือตามที่คณะกรรมการหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ในการปฏิบัติงานตามวรรคหนึ่ง กบส. อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณา เสนอแนะ หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ กบส. มอบหมายได้ ทั้งนี้ การปฏิบัติงานและการประชุม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กบส. กำหนด

กบส. อาจแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของสำนักงานเป็นที่ปรึกษา กบส. ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๘ ให้ประธานกรรมการและกรรมการ ประธานอนุกรรมการและอนุกรรมการ ที่ กบส. แต่งตั้ง ได้รับเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนอื่นตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๒๙ ให้สำนักงานมีเลขาธิการคนหนึ่ง รับผิดชอบการปฏิบัติงานของสำนักงาน และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน

มาตรา ๓๐ เลขาธิการต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ (๑) มีสัญชาติไทย (๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี แต่ไม่เกินหกสิบปี (๓) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวกับภารกิจของสำนักงานและการบริหารจัดการ

มาตรา ๓๑ ผู้มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ต้องห้ามมิให้เป็นเลขาธิการ (๑) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต (๒) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (๓) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกไม่ว่าจะได้รับโทษจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

(๔) เป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของราชการส่วนท้องถิ่น

(๕) เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๖) เป็นหรือเคยเป็นกรรมการหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นในพรรคการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง เว้นแต่จะได้พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งปี

(๗) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หรือออกจากงานจากหน่วยงานที่เคยปฏิบัติหน้าที่ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง หรือเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง

(๘) เคยถูกให้ออกเพราะไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรา ๓๕ (๕) มาตรา ๓๒ ให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นของเลขาธิการ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๓๓ เลขาธิการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี เลขาธิการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่ต้องไม่เกินสองวาระ มาตรา ๓๔ ในแต่ละปี ให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของเลขาธิการ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระยะเวลาและวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด

มาตรา ๓๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ เลขาธิการพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (๑) ตาย (๒) ลาออก (๓) ขาดคุณสมบัติตามมาตรา ๓๐ หรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา ๓๑ (๔) คณะกรรมการมีมติให้ออก เพราะบกพร่องหรือทุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือหย่อนความสามารถ

(๕) คณะกรรมการให้ออก เพราะไม่ผ่านการประเมินผลการปฏิบัติงาน (๖) ออกตามกรณีที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้างหรือข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการกับเลขาธิการ

มาตรา ๓๖ ให้เลขาธิการภายใต้การควบคุมดูแลของคณะกรรมการ กกม. และ กบส. ต้องดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการ กกม. และ กบส. ภายใต้หน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้

(๑) บริหารงานของสำนักงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามภารกิจของสำนักงาน และตามนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ แผนปฏิบัติการเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ นโยบายของคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการ และข้อบังคับ นโยบาย มติ และประกาศของ กบส.

(๒) วางระเบียบภายใต้นโยบายของคณะกรรมการและ กกม. โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย มติของคณะรัฐมนตรี และข้อบังคับ นโยบาย มติ และประกาศที่คณะกรรมการและ กกม. กำหนด

(๓) เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน และประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานตามข้อบังคับของ กบส. และระเบียบของสำนักงาน

(๔) แต่งตั้งรองเลขาธิการหรือผู้ช่วยเลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ เพื่อเป็นผู้ช่วยปฏิบัติงานของเลขาธิการตามที่เลขาธิการมอบหมาย

(๕) บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับของ กบส. และระเบียบของสำนักงาน

(๖) ปฏิบัติการอื่นใดตามข้อบังคับ นโยบาย มติ หรือประกาศของ กบส. หรือ กกม. ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนของสำนักงาน ภายใต้ขอบเขตที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการ

เลขาธิการอาจมอบอำนาจให้บุคคลใดในสังกัดของสำนักงาน ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่ กบส. กำหนด

ในกรณีที่ไม่มีเลขาธิการหรือเลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้รองเลขาธิการที่มีอาวุโสตามลำดับรักษาการแทน ถ้าไม่มีรองเลขาธิการหรือรองเลขาธิการไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้คณะกรรมการแต่งตั้งบุคคลที่เหมาะสมมารักษาการแทน

มาตรา ๓๗ การบัญชีของสำนักงานให้จัดทำตามแบบและหลักเกณฑ์ที่ กบส. กำหนด โดยให้คำนึงถึงหลักสากลและมาตรฐานการบัญชี

มาตรา ๓๘ ให้สำนักงานจัดทำงบการเงินและบัญชี แล้วส่งผู้สอบบัญชีภายในเก้าสิบวัน นับแต่วันสิ้นปีบัญชี

ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้สอบบัญชีรับอนุญาตที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ให้ความเห็นชอบเป็นผู้สอบบัญชีของสำนักงาน และประเมินผลการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินของสำนักงานทุกรอบปีแล้วทำรายงานผลการสอบบัญชีเสนอต่อ กบส. เพื่อรับรอง

มาตรา ๓๙ ให้สำนักงานจัดทำรายงานผลการดำเนินงานประจำปีเสนอคณะกรรมการและรัฐมนตรีภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี และเผยแพร่รายงานนี้ต่อสาธารณชน

รายงานผลการดำเนินงานประจำปีตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงรายละเอียดของงบการเงินที่ผู้สอบบัญชีให้ความเห็นแล้ว พร้อมทั้งผลงานของสำนักงานและรายงานการประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานในปีที่ล่วงมาแล้ว

การประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานตามวรรคสอง จะต้องดำเนินการโดยบุคคลภายนอกที่ กบส. ให้ความเห็นชอบ

มาตรา ๔๐ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงานให้เป็นไป ตามหน้าที่และอำนาจของสำนักงาน กฎหมาย แผนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนของรัฐบาล และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการนี้ให้รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้เลขาธิการชี้แจงข้อเท็จจริง แสดงความคิดเห็น หรือทำรายงานเสนอ และมีอำนาจสั่งยับยั้งการกระทำของสำนักงานที่ขัดต่อหน้าที่ และอำนาจของสำนักงาน กฎหมาย แผนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายและแผนของรัฐบาล หรือ มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินการของสำนักงานได้

หมวด ๓

การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

ส่วนที่ ๑

นโยบายและแผน

มาตรา ๔๑ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต้องคำนึงถึงความเป็นเอกภาพและการบูรณาการในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานเอกชน และต้องสอดคล้องกับ นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามกฎหมายว่าด้วย การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และนโยบายและแผนแม่บทที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงของสภาความมั่นคงแห่งชาติ

การดำเนินการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ต้องมุ่งหมายเพื่อสร้างศักยภาพในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ

มาตรา ๔๒ นโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ต้องมีเป้าหมายและแนวทางอย่างน้อย ดังต่อไปนี้

(๑) การบูรณาการการจัดการในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ (๒) การสร้างมาตรการและกลไกเพื่อพัฒนาศักยภาพในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๓) การสร้างมาตรการในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศ (๔) การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๕) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (๖) การพัฒนาบุคลากรและผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งภาครัฐและเอกชน

(๗) การสร้างความตระหนักและความรู้ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (๘) การพัฒนาระเบียบและกฎหมายเพื่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาตรา ๔๓ ให้คณะกรรมการจัดทำนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ขึ้นตามแนวทางในมาตรา ๔๒ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยให้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษา และเมื่อได้ประกาศแล้ว ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศตามที่กำหนดไว้ในแผนว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายและแผนดังกล่าว

ในการจัดทำนโยบายและแผนตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานจัดให้มีการรับฟังความเห็นหรือประชุมร่วมกับหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ทางสารสนเทศ

มาตรา ๔๔ ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศจัดทำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนว่าด้วยการรักษา ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยเร็ว

ประมวลแนวทางปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องประกอบด้วยเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) แผนการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยผู้ตรวจประเมิน ผู้ตรวจสอบภายใน หรือผู้ตรวจสอบอิสระจากภายนอก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

(๒) แผนการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อประโยชน์ในการจัดทำประมวลแนวทางปฏิบัติด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการจัดทำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานสำหรับให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดทำหรือนำไปใช้เป็นประมวลแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของตน และในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวยังไม่มีหรือมีแต่ไม่ครบถ้วนหรือไม่สอดคล้องกับประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐาน ให้นำประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานดังกล่าวไปใช้บังคับ

ส่วนที่ ๒

การบริหารจัดการ

มาตรา ๔๕ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ มีหน้าที่ป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงาน และจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง (๔) ด้วย

ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศไม่อาจดำเนินการหรือปฏิบัติตามวรรคหนึ่งได้ สำนักงานอาจให้ความช่วยเหลือ ด้านบุคลากรหรือเทคโนโลยีแก่หน่วยงานนั้นตามที่ร้องขอได้

มาตรา ๔๖ เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ แจ้งรายชื่อเจ้าหน้าที่ระดับบริหารและระดับปฏิบัติการ เพื่อประสานงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ไปยังสำนักงาน

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ แจ้งให้สำนักงานทราบโดยเร็ว

มาตรา ๔๗ ในกรณีที่การปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ต้องอาศัยความรู้ ความเชี่ยวชาญ คณะกรรมการหรือ กกม. อาจมอบหมายให้เลขาธิการว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสมเฉพาะงานได้

ผู้เชี่ยวชาญตามวรรคหนึ่งต้องมีคุณสมบัติหรือประสบการณ์ที่เหมาะสมตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

เลขาธิการต้องออกบัตรประจำตัวผู้เชี่ยวชาญให้แก่บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้ง และในการปฏิบัติหน้าที่ บุคคลดังกล่าวต้องแสดงบัตรประจำตัวในฐานะผู้เชี่ยวชาญ และเมื่อพ้นจากหน้าที่แล้วจะต้องคืน บัตรประจำตัวแก่สำนักงานโดยเร็ว

ส่วนที่ ๓

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

มาตรา ๔๘ โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศเป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของรัฐ ความมั่นคงทางทหาร ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และเป็นหน้าที่ของสำนักงานในการสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่กระทบหรือเกิดแก่โครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

มาตรา ๔๙ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะหน่วยงานที่มีภารกิจหรือให้บริการในด้านดังต่อไปนี้ เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ

(๑) ด้านความมั่นคงของรัฐ (๒) ด้านบริการภาครัฐที่สำคัญ (๓) ด้านการเงินการธนาคาร (๔) ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม (๕) ด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ (๖) ด้านพลังงานและสาธารณูปโภค (๗) ด้านสาธารณสุข (๘) ด้านอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนดเพิ่มเติม

การพิจารณาประกาศกำหนดภารกิจหรือบริการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ คณะกรรมการจะต้องพิจารณาทบทวนการประกาศกำหนดภารกิจหรือบริการดังกล่าวเป็นคราว ๆ ไปตามความเหมาะสม

มาตรา ๕๐ ให้คณะกรรมการมีอำนาจประกาศกำหนดลักษณะ หน้าที่และความรับผิดชอบของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศตามมาตรา ๔๙ เพื่อประสานงาน เฝ้าระวัง รับมือ และแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยจะกำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มีความพร้อมหรือหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น ๆ ทำหน้าที่ดังกล่าวให้แก่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศตามมาตรา ๔๙ ทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้

การพิจารณาประกาศกำหนดภารกิจหรือบริการของหน่วยงานตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ คณะกรรมการจะต้องพิจารณาทบทวนการประกาศกำหนดภารกิจหรือบริการดังกล่าวเป็นคราว ๆ ไปตามความเหมาะสม

มาตรา ๕๑ กรณีมีข้อสงสัยหรือข้อโต้แย้งเกี่ยวกับลักษณะหน่วยงานที่มีภารกิจหรือให้บริการในด้านที่มีการประกาศกำหนดตามมาตรา ๔๙ หรือมาตรา ๕๐ ให้คณะกรรมการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด

มาตรา ๕๒ เพื่อประโยชน์ในการติดต่อประสานงาน ให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศแจ้งรายชื่อและข้อมูลการติดต่อของเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ไปยังสำนักงาน หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลของตน และหน่วยงานตามมาตรา ๕๐ ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการประกาศตามมาตรา ๔๙ วรรคสอง และมาตรา ๕๐ วรรคสอง หรือนับแต่วันที่คณะกรรมการมีคำวินิจฉัยตามมาตรา ๕๑ แล้วแต่กรณี โดยอย่างน้อยเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ต้องเป็นบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการบริหารงานของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น

ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่ง ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามวรรคหนึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ให้แจ้งโดยเร็ว

มาตรา ๕๓ ในการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลตรวจสอบมาตรฐานขั้นต่ำเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศที่อยู่ภายใต้การกำกับควบคุมดูแลของตน หากพบว่าหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศใดไม่ได้มาตรฐาน ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลนั้นรีบแจ้งให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศที่ต่ำกว่ามาตรฐานแก้ไข ให้ได้มาตรฐานโดยเร็ว หากหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้นยังคงเพิกเฉยไม่ดำเนินการ หรือไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลกำหนด ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลส่งเรื่องให้ กกม. พิจารณาโดยไม่ชักช้า

เมื่อได้รับคำร้องเรียนตามวรรคหนึ่ง หาก กกม. พิจารณาแล้วเห็นว่า มีเหตุดังกล่าวและ อาจทำให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้ กกม. ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้แจ้งต่อผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานเพื่อใช้อำนาจในทางบริหาร สั่งการไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขจนได้มาตรฐานโดยเร็ว

(๒) กรณีเป็นหน่วยงานเอกชน ให้แจ้งไปยังผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงาน ผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขจนได้มาตรฐานโดยเร็ว

ให้เลขาธิการดำเนินการติดตามเพื่อให้เป็นไปตามความในวรรคสองด้วย มาตรา ๕๔ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ต้องจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยมีผู้ตรวจประเมิน รวมทั้งต้องจัดให้มีการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์โดยผู้ตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ ทั้งโดยผู้ตรวจสอบภายในหรือโดยผู้ตรวจสอบอิสระภายนอก อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศจัดส่งผลสรุปรายงานการดำเนินการต่อสำนักงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ดำเนินการแล้วเสร็จ

มาตรา ๕๕ ในกรณีที่ กกม. เห็นว่า การประเมินความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ หรือการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตามมาตรา ๕๔ ไม่เป็นไป ตามมาตรฐานตามรายงานของหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล ให้ กกม. มีคำสั่งให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้นดำเนินการประเมินความเสี่ยงใหม่เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานหรือดำเนินการตรวจสอบในด้านอื่น ๆ ที่มีผลต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศได้

ในกรณีที่หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น ได้จัดให้มีการประเมิน ความเสี่ยงด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์หรือการตรวจสอบด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามวรรคหนึ่งแล้ว แต่ กกม. เห็นว่ายังไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ให้ กกม. ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) กรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ ให้แจ้งต่อผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงานเพื่อใช้อำนาจในทางบริหาร สั่งการไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขจนได้มาตรฐานโดยเร็ว

(๒) กรณีเป็นหน่วยงานเอกชน ให้แจ้งไปยังผู้บริหารระดับสูงสุดของหน่วยงาน ผู้ครอบครองคอมพิวเตอร์ และผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศนั้น เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขจนได้มาตรฐานโดยเร็ว

ให้เลขาธิการดำเนินการติดตามเพื่อให้เป็นไปตามความในวรรคสองด้วย มาตรา ๕๖ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ต้องกำหนดให้มีกลไกหรือขั้นตอนเพื่อการเฝ้าระวังภัยคุกคามทางไซเบอร์หรือเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของตน ตามมาตรฐานซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และตามประมวลแนวทางปฏิบัติ รวมถึงระบบมาตรการที่ใช้แก้ปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่คณะกรรมการหรือ กกม. กำหนด และต้องเข้าร่วมการทดสอบสถานะความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สำนักงานจัดขึ้น

มาตรา ๕๗ เมื่อมีเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ให้หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ รายงานต่อสำนักงานและหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล และปฏิบัติการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามที่กำหนดในส่วนที่ ๔ ทั้งนี้ กกม. อาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการรายงานด้วยก็ได้

ส่วนที่ ๔

การรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

มาตรา ๕๘ ในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อระบบสารสนเทศ ซึ่งอยู่ในความดูแลรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศใด ให้หน่วยงานนั้นดำเนินการตรวจสอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ และระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้น รวมถึงพฤติการณ์แวดล้อมของตน เพื่อประเมินว่ามีภัยคุกคามทางไซเบอร์เกิดขึ้นหรือไม่ หากผลการตรวจสอบปรากฏว่าเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ขึ้น ให้ดำเนินการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามประมวลแนวทางปฏิบัติและกรอบมาตรฐาน ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานนั้น และแจ้งไปยังสำนักงานและหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลของตนโดยเร็ว

ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลใดพบอุปสรรคหรือปัญหาในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ของตน หน่วยงานหรือบุคคลนั้นอาจร้องขอความช่วยเหลือไปยังสำนักงาน

มาตรา ๕๙ เมื่อปรากฏแก่หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล หรือเมื่อหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลได้รับแจ้งเหตุตามมาตรา ๕๘ ให้หน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล ร่วมกับหน่วยงาน ตามมาตรา ๕๐ รวบรวมข้อมูล ตรวจสอบ วิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบเกี่ยวกับ ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือแก่หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศที่อยู่ในการควบคุมหรือกำกับดูแลของตน และให้ความร่วมมือและประสานงานกับสำนักงาน ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๒) แจ้งเตือนหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศที่อยู่ในการควบคุมหรือกำกับดูแลของตน รวมทั้งหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศอื่นที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว

มาตรา ๖๐ การพิจารณาเพื่อใช้อำนาจในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ คณะกรรมการจะกำหนดลักษณะของภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยแบ่งออกเป็นสามระดับ ดังต่อไปนี้

(๑) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับไม่ร้ายแรง หมายถึง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญถึงระดับที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศหรือการให้บริการของรัฐด้อยประสิทธิภาพลง

(๒) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง หมายถึง ภัยคุกคามที่มีลักษณะการเพิ่มขึ้น อย่างมีนัยสำคัญของการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยมุ่งหมายเพื่อโจมตีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศและการโจมตีดังกล่าวมีผลทำให้ระบบคอมพิวเตอร์หรือโครงสร้างสำคัญทางสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ ความมั่นคงของรัฐ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ การป้องกันประเทศ เศรษฐกิจ การสาธารณสุข ความปลอดภัยสาธารณะ หรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเสียหาย จนไม่สามารถทำงานหรือให้บริการได้

(๓) ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ หมายถึง ภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ ที่มีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(ก) เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดจากการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในระดับที่สูงขึ้นกว่าภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง โดยส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศของประเทศในลักษณะที่เป็นวงกว้าง จนทำให้การทำงานของหน่วยงานรัฐหรือการให้บริการของโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศที่ให้กับประชาชนล้มเหลวทั้งระบบ จนรัฐไม่สามารถควบคุมการทำงานส่วนกลางของระบบคอมพิวเตอร์ของรัฐได้ หรือการใช้มาตรการเยียวยาตามปกติในการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้และมีความเสี่ยงที่จะลุกลามไปยังโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่น ๆ ของประเทศ ซึ่งอาจมีผลทำให้บุคคลจำนวนมากเสียชีวิตหรือระบบคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ ข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวนมากถูกทำลายเป็นวงกว้างในระดับประเทศ

(ข) เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์อันกระทบหรืออาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรืออาจทำให้ประเทศหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของประเทศตกอยู่ในภาวะคับขันหรือมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา การรบหรือการสงคราม ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อรักษาไว้ซึ่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เอกราชและบูรณภาพแห่งอาณาเขต ผลประโยชน์ของชาติ การปฏิบัติตามกฎหมาย ความปลอดภัยของประชาชน การดำรงชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ความสงบเรียบร้อยหรือประโยชน์ส่วนรวม หรือการป้องปัดหรือแก้ไขเยียวยาความเสียหายจากภัยพิบัติสาธารณะอันมีมาอย่างฉุกเฉินและร้ายแรง

ทั้งนี้ รายละเอียดของลักษณะภัยคุกคามทางไซเบอร์ มาตรการป้องกัน รับมือ ประเมิน ปราบปราม และระงับภัยคุกคามทางไซเบอร์แต่ละระดับ ให้คณะกรรมการเป็นผู้ประกาศกำหนด

มาตรา ๖๑ เมื่อปรากฏแก่ กกม. ว่าเกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรงให้ กกม. ออกคำสั่งให้สำนักงานดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) รวบรวมข้อมูล หรือพยานเอกสาร พยานบุคคล พยานวัตถุที่เกี่ยวข้องเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๒) สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ และเข้าร่วมในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น

(๓) ดำเนินการป้องกันเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ที่เกิดจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ เสนอแนะหรือสั่งการให้ใช้ระบบที่ใช้แก้ปัญหาเพื่อรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ รวมถึงการหาแนวทางตอบโต้หรือการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

(๔) สนับสนุน ให้สำนักงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความช่วยเหลือ และเข้าร่วมในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้น

(๕) แจ้งเตือนภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้ทราบโดยทั่วกัน ทั้งนี้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยคำนึงถึงสถานการณ์ ความร้ายแรงและผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้น

(๖) ให้ความสะดวกในการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานเอกชนเพื่อจัดการความเสี่ยงและเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

มาตรา ๖๒ ในการดำเนินการตามมาตรา ๖๑ เพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้เลขาธิการสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) มีหนังสือขอความร่วมมือจากบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อมาให้ข้อมูลภายในระยะเวลาที่เหมาะสมและตามสถานที่ที่กำหนด หรือให้ข้อมูลเป็นหนังสือเกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๒) มีหนังสือขอข้อมูล เอกสาร หรือสำเนาข้อมูลหรือเอกสารซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นอันเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการ

(๓) สอบถามบุคคลผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ที่มีความเกี่ยวพันกับภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๔) เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์หรือสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องหรือคาดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ของบุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองสถานที่นั้น

ผู้ให้ข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ซึ่งกระทำโดยสุจริตย่อมได้รับการคุ้มครองและไม่ถือว่าเป็นการละเมิดหรือผิดสัญญา

มาตรา ๖๓ ในกรณีที่มีความจำเป็นเพื่อการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้ กกม. มีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐให้ข้อมูล สนับสนุนบุคลากรในสังกัด หรือใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อยู่ในความครอบครองที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

กกม. ต้องดูแลมิให้มีการใช้ข้อมูลที่ได้มาตามวรรคหนึ่งในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย และให้ กกม. รับผิดชอบในค่าตอบแทนบุคลากร ค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว

ให้นำความในวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับในการร้องขอต่อเอกชนโดยความยินยอมของเอกชนนั้นด้วย

มาตรา ๖๔ ในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ซึ่งอยู่ในระดับร้ายแรง ให้ กกม. ดำเนินการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์และดำเนินมาตรการที่จำเป็น

ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้ กกม. มีหนังสือถึงหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กระทำการหรือระงับการดำเนินการใด ๆ เพื่อป้องกัน รับมือ และ ลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพตามแนวทางที่ กกม. กำหนด รวมทั้งร่วมกันบูรณาการในการดำเนินการเพื่อควบคุม ระงับ หรือบรรเทาผลที่เกิดจากภัยคุกคามทาง ไซเบอร์นั้นได้อย่างทันท่วงที

ให้เลขาธิการรายงานการดำเนินการตามมาตรานี้ต่อ กกม. อย่างต่อเนื่อง และเมื่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ดังกล่าวสิ้นสุดลง ให้รายงานผลการดำเนินการต่อ กกม. โดยเร็ว

มาตรา ๖๕ ในการรับมือและบรรเทาความเสียหายจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กกม. มีอำนาจออกคำสั่งเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเหตุอันเชื่อได้ว่าเป็นผู้เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทาง ไซเบอร์ดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) เฝ้าระวังคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาใดระยะเวลาหนึ่ง (๒) ตรวจสอบคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์เพื่อหาข้อบกพร่องที่กระทบต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ วิเคราะห์สถานการณ์ และประเมินผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๓) ดำเนินมาตรการแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์เพื่อจัดการข้อบกพร่องหรือกำจัดชุดคำสั่ง ไม่พึงประสงค์ หรือระงับบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ดำเนินการอยู่

(๔) รักษาสถานะของข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ด้วยวิธีการใด ๆ เพื่อดำเนินการทางนิติวิทยาศาสตร์ทางคอมพิวเตอร์

(๕) เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องเฉพาะเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์

ในกรณีมีเหตุจำเป็นที่ต้องเข้าถึงข้อมูลตาม (๕) ให้ กกม. มอบหมายให้เลขาธิการยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ครอบครอง ผู้ใช้คอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ หรือผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ตามวรรคหนึ่งดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องที่ยื่นต่อศาลต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งกำลังกระทำหรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ในการพิจารณาคำร้องให้ยื่นเป็นคำร้องไต่สวนคำร้องฉุกเฉินและให้ศาลพิจารณาไต่สวนโดยเร็ว

มาตรา ๖๖ ในการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง กกม. มีอำนาจปฏิบัติการหรือสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเฉพาะเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ในเรื่อง ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าตรวจสอบสถานที่ โดยมีหนังสือแจ้งถึงเหตุอันสมควรไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เพื่อเข้าตรวจสอบสถานที่นั้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๒) เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ทำสำเนา หรือสกัดคัดกรองข้อมูลสารสนเทศหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์

(๓) ทดสอบการทำงานของคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์ที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องหรือได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ หรือถูกใช้เพื่อค้นหาข้อมูลใด ๆ ที่อยู่ภายในหรือใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์หรือระบบคอมพิวเตอร์นั้น

(๔) ยึดหรืออายัดคอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ใด ๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็น ซึ่งมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ ทั้งนี้ ไม่เกินสามสิบวัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวให้ส่งคืนคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ใด ๆ แก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ หรือผู้ครอบครองโดยทันทีหลังจากเสร็จสิ้นการตรวจสอบหรือวิเคราะห์

ในการดำเนินการตาม (๒) (๓) และ (๔) ให้ กกม. ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อมีคำสั่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามคำร้อง ทั้งนี้ คำร้องต้องระบุเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งกำลังกระทำหรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับร้ายแรง ในการพิจารณาคำร้องให้ยื่นเป็นคำร้องไต่สวนคำร้องฉุกเฉินและให้ศาลพิจารณาไต่สวนโดยเร็ว

มาตรา ๖๗ ในกรณีที่เกิดภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ ให้เป็นหน้าที่และอำนาจ ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในการดำเนินการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ตามกฎหมายว่าด้วยสภาความมั่นคงแห่งชาติและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

มาตรา ๖๘ ในกรณีที่เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วน และเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับวิกฤติ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้เลขาธิการมีอำนาจดำเนินการได้ทันทีเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันและเยียวยาความเสียหายก่อนล่วงหน้าได้โดยไม่ต้องยื่นคำร้องต่อศาล แต่หลังจากการดำเนินการดังกล่าว ให้แจ้งรายละเอียดการดำเนินการดังกล่าวต่อศาลที่มีเขตอำนาจทราบโดยเร็ว

ในกรณีร้ายแรงหรือวิกฤติเพื่อประโยชน์ในการป้องกัน ประเมินผล รับมือ ปราบปราม ระงับ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้เลขาธิการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการหรือ กกม. มีอำนาจขอข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและต่อเนื่องจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยผู้นั้นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสะดวกแก่คณะกรรมการหรือ กกม. โดยเร็ว

มาตรา ๖๙ ผู้ที่ได้รับคำสั่งอันเกี่ยวกับการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์อาจอุทธรณ์คำสั่งได้เฉพาะที่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับไม่ร้ายแรงเท่านั้น

หมวด ๔

บทกำหนดโทษ

มาตรา ๗๐ ห้ามมิให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้เปิดเผยหรือส่งมอบข้อมูล คอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูล ของผู้ใช้บริการ ที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ให้แก่บุคคลใด ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับการกระทำเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้หรือผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอื่นหรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดีกับพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ

มาตรา ๗๑ พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ผู้ใดกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลของผู้ใช้บริการหรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน สองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๒ ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ข้อมูลของผู้ใช้บริการ หรือข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องกับระบบคอมพิวเตอร์ ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ และเปิดเผยข้อมูลนั้นต่อผู้หนึ่งผู้ใดโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๓ หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศใดไม่รายงานเหตุภัยคุกคามทางไซเบอร์ตามมาตรา ๕๗ โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาท

มาตรา ๗๔ ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามหนังสือเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ส่งข้อมูลให้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๖๒ (๑) หรือ (๒) โดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้วแต่กรณี ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท

มาตรา ๗๕ ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกม. ตามมาตรา ๖๕ (๑) และ (๒) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท และปรับอีกไม่เกินวันละหนึ่งหมื่นบาทนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลาที่ กกม. ออกคำสั่งให้ปฏิบัติจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกม. ตามมาตรา ๖๕ (๓) และ (๔) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามมาตรา ๖๕ (๕) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๖ ผู้ใดขัดขวาง หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ กกม. หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติการตามคำสั่งของ กกม. ตามมาตรา ๖๖ (๑) หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามมาตรา ๖๖ (๒) (๓) หรือ (๔) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๗๗ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ หรือบุคคลใด ซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย

บทเฉพาะกาล

มาตรา ๗๘ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการและกรรมการตามมาตรา ๕ (๑) (๒) และให้เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ เพื่อปฏิบัติหน้าที่เท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน และให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการตามมาตรา ๕ (๓) ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมอาจเสนอรายชื่อบุคคลต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ดังกล่าวด้วยได้

มาตรา ๗๙ ให้ดำเนินการเพื่อให้มี กกม. และ กบส. ภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้มี การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการตามมาตรา ๗๘

ให้ดำเนินการแต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติตามพระราชบัญญัตินี้ให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่จัดตั้งสำนักงานแล้วเสร็จตามมาตรา ๘๐

มาตรา ๘๐ ให้ดำเนินการจัดตั้งสำนักงานให้แล้วเสร็จเพื่อปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัตินี้ภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

ในระหว่างที่การดำเนินการจัดตั้งสำนักงานยังไม่แล้วเสร็จ ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่สำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่เลขาธิการจนกว่าจะมีการแต่งตั้งเลขาธิการตามมาตรา ๗๙ วรรคสอง

มาตรา ๘๑ ในวาระเริ่มแรก ให้คณะรัฐมนตรีจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สำนักงาน ตามความจำเป็น

ให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐ มาปฏิบัติงานที่สำนักงานเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ให้ถือว่าข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่มาปฏิบัติงานในสำนักงานเป็นการชั่วคราวตามวรรคสองไม่ขาดจากสถานภาพเดิมและคงได้รับเงินเดือนหรือค่าจ้าง แล้วแต่กรณี จากสังกัดเดิม ทั้งนี้ คณะกรรมการอาจกำหนดค่าตอบแทนพิเศษให้แก่ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐตามวรรคสอง ในระหว่างปฏิบัติงานในสำนักงานด้วยก็ได้

ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่จัดตั้งสำนักงานแล้วเสร็จ ให้สำนักงานดำเนินการคัดเลือกข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐตามวรรคสองเพื่อบรรจุ เป็นพนักงานของสำนักงานต่อไป

ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐผู้ใดได้รับการคัดเลือกและบรรจุตามวรรคสี่ ให้มีสิทธินับระยะเวลาทำงานที่เคยทำงานอยู่ในสังกัดเดิมต่อเนื่องรวมกับระยะเวลาทำงานในสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๘๒ เมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้รัฐมนตรีเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการ เพื่ออนุมัติให้มีการโอนบรรดาอำนาจหน้าที่ กิจการ ทรัพย์สิน สิทธิ หนี้ และงบประมาณของ บรรดาภารกิจที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ไปเป็นของสำนักงานตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๘๓ การดำเนินการออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศ ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้รัฐมนตรีรายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการได้ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ"":-""เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ในปัจจุบันการให้บริการหรือการประยุกต์ใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โครงข่ายโทรคมนาคม หรือการให้บริการโดยปกติของดาวเทียมมีความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์อันอาจกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ ดังนั้น เพื่อให้สามารถป้องกัน หรือรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้อย่างทันท่วงที สมควรกำหนดลักษณะของภารกิจหรือบริการที่มีความสำคัญเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศทั้งหน่วยงานของรัฐและ หน่วยงานเอกชน ที่จะต้องมีการป้องกัน รับมือ และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ มิให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ รวมทั้งให้มีหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบในการดำเนินการประสานการปฏิบัติงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ไม่ว่าในสถานการณ์ทั่วไปหรือสถานการณ์อันเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง ตลอดจนกำหนดให้มีแผนปฏิบัติการและมาตรการด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อย่างมีเอกภาพและต่อเนื่อง อันจะทำให้การป้องกันและการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๖ ตอนที่ ๖๙ ก หน้า ๒๐, ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ