คำวินิจฉัย: คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา (ปตท.)

ข่าวการเมือง Friday December 14, 2007 14:19 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

คำพิพากษา  (ต.18)
คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549
คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลปกครองสูงสุด
วันที่ 14 เดือนธันวาคม พุทธศักราช 2550
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่1 ผู้ฟ้องคดี
นางสาวรสนา โตสิตระกูล ที่ 2
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ที่ 3
นางภินันท์ โชติรสเศรณี ที่ 4
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ที่ 5
ระหว่าง
คณะรัฐมนตรี ที่ 1
นายกรัฐมนตรี ที่ 2
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ 3
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ 4 ผู้ถูกฟ้องคดี
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกา
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค รวมถึงดำเนินการ
เพื่อสาธารณประโยชน์ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึง ที่ 5 เป็นประชาชนผู้ใช้น้ำมันและก๊าซของการปิโตรเลียงแห่ง
ประเทศไทย
(ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า ปตท.) ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายหรืออาจจะเดือดร้อนหรืออาจจะเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนสภาพ (แปลงสภาพ) ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพลังงาน ไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในฐานะคณะรัฐมนตรี ตราพระราชกฤษฎีกาจำนวนสองฉบับ คือ พระราชกฤษฎีกา
กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเห็นว่า การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เนื่องจากตราไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และใช้ดุลพินิจไม่ถูกต้อง กระบวนการแปรรูป ปตท. เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) ขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ตั้งแต่เริ่มต้น โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดกระบวนการแปลงสภาพของรัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐตามที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นให้เป็นรูปแบบของบริษัทโดยบัญญัติขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญไว้ตามมาตรา 4 มาตรา 13 และมาตรา 16 แต่ปรากฏว่ามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทและดำเนินการประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ และดำเนินการอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ให้แปลงสภาพ ปตท. เป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามมติคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจและการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทก้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากตามมาตรา 16 ประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 3 คน โดยแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการเงินและการบัญชี และในกิจการหรือการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างน้อยด้านละ 1 คน แต่ปรากฏว่ามีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพียง 1 คนเท่านั้น คือ นายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย อีกทั้งกรรมการในคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท คือ นายวิเศษ จูภิบาล และนายมนู เลียวไพโรจน์ กระทำผิดมาตรา 12 และมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 โดยเข้าเป็นผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงขาดคุณสมบัติเป็นกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย การดำเนินการใดๆ ของคณะกรรมการดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลให้พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเสียไปด้วย
การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามมาตรา 13 และมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ซึ่งกำหนดขั้นตอนต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ถูกต้อง ไม่เปิดเผย และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543 โดยจัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพียงหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2544 และจัดเพียงแห่งเดียวที่กรุงเทพมหานคร ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 7 กันยายน 2544 ประกาศรายชื่อผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 1,173 คน และมีการตั้งข้อจำกัดจำนวนคนเข้าร่วมรับฟังตั้งแต่แรก โดยประกาศในหนังสือพิมพ์เชิญประชาชนเข้าร่วมมีข้อความว่า "สถานที่ประชุมมีที่นั่งเพียง 2,500 ที่นั่ง" และการประกาศมิได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวที่กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำประกาศโดยสรุปเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ และประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยที่มีการจำหน่ายเผยแพร่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน ในฉบับเดียวกัน แต่ปรากฏว่า ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันเพียงฉบับละ 1 วัน โดยประกาศในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2544 และหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2544 ทั้งมิได้สรุปเรื่องที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประกาศเพียงเฉพาะหัวข้อที่จะรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น
นอกจากนั้น การตราพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับขัดหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมีผลให้มีการโอนทรัพย์สินและสิทธิซึ่งเดิมเป็นของ ปตท. ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ได้แก่ ที่ดินที่ ปตท. ได้มาจากการเวนคืนก่อนการแปลงสภาพที่ดินคลังน้ำมันซึ่งเดิมเป็นขององค์การเชื้อเพลิงที่ได้มาจากการเวนคืน และที่ดินตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติสายประธานจากจังหวัดระยอง มายังจังหวัดสมุทรปราการ รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์อันเป็นส่วนควบของที่ดินดังกล่าว ได้แก่ โรงงานแยกก๊าซ สถานีควบคุมระบบก๊าซ และท่อก๊าซฝังใต้ดิน ซึ่งล้วนเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 และมีการโอนสิทธิการใช้ที่ดินรวมทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นทรัพย์สิทธิติดอยู่กับที่ดิน 3 โครงการ คือ โครงการท่อบางปะกง - วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า - ราชบุรี และโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่มีฐานะเป็นบริษัทเอกชน ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับเอกสิทธิ์เหนือสาธารณชนทั่วไปโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุด การได้รับเอกสิทธิ์ดังกล่าวมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินความจำเป็นที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ จึงขัดต่อมาตรา 30 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกอบกับมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และไม่สอดคล้องมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว
การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ยังขัดต่อสาระสำคัญของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เนื่องจากมาตรา 4 กำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจ ได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษ หรือได้รับความคุ้มครองทั้งหมดตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกชน แต่กลับมีอำนาจมหาชนของรัฐ ได้แก่ อำนาจเวนคืนที่ดิน อำนาจประกาศเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อและรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน ตามมาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 32 ถึงมาตรา 36 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 รวมทั้งได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่ ปตท. ได้รับอยู่เดิม ทำให้มีสิทธิเหนือบริษัทเอกชนอื่น เช่น สิทธิประโยชน์เสมือนเป็นผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม สิทธิรับซื้อปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรกจากผู้รับสัมปทาน สิทธิผูกขาดก๊าซธรรมชาติ สิทธิผูกขาดน้ำมันราชการ สิทธิได้รับยกเว้นภาษีป้าย ฯลฯ อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน และไม่เป็นการรักษาประโยชน์ของสาธารณชน
นอกจากนี้ การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน ในขณะที่เป็นการขอให้ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 และพระราชกฤษฎีกากำหหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544
ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่กรณีร่วม ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า คำร้องสอดมีข้อโต้แย้งทำนองเดียวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 และผลของคำพิพากษาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว ตามคำฟ้องทีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ เนื่องจากข้อกล่าวหาในคำฟ้องทุกประเด็นที่กล่าวหาว่าพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ไม่มีมูล เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกยกเลิกและสิ้นสุดลงแล้ว โดยประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 จึงไม่มีการกระทำใดๆ ตามฟ้องที่ขัดหรือแย้งหรือฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวอีก คำฟ้องจึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่ศาลปกครองสูงสุดจะวินิจฉัยอีกต่อไป ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นมูลนิธิ มีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ ไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องคดีนี้แทนประชาชนผู้บริโภคหรือเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ รวมทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 5 มิได้มีอาชีพประกอบธุรกิจการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงหรือก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซหุงต้ม ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามิได้รับผลกระทบใดๆ จากการตราพระราชกฤษฎีทั้งสองฉบับ จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลกระทบใดๆ ที่จะมีสิทธิกล่าวหาว่าการแปรรูป ปตท. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับทำให้เกิดการผูกขาดโดยองค์กรเอกชนในรูปแบบมหาชน แต่การแปรรูป ปตท. เป็นอำนาจของรัฐบาลที่จะมีนโยบายให้แปลงสภาพและแปรรูปรัฐวิสาหกิจใดก็ได้ ส่วนการกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นอำนาจบริหารจัดการของผู้บริหารผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าผ่านท่อ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้เป็นผู้กำหนด แต่อยู่ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการปิโตรเลียมและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ การตราพระราชกฤษฎีทั้งสองฉบับจึงมิได้มีผลกระทบต่อการกำหนดราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับก็ไม่มีผลเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่าประชาชนต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงรวมทั้งก๊าซในราคาแพงมาก คำขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีทั้งสองฉบับ จึงมิใช่คำขอที่ศาลจะพิพากษาบังคับให้ได้ ตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจะอ้างว่าไม่ทราบเนื้อความในพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับในวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แด่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ย่อมจะต้องสนใจติดตามการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับและทราบเนื้อความในพระราชกฤษฎีกาและทราบตามความคิดเห็นของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ว่าพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างช้าที่สุดภายในสิ้นปี พ.ศ. 2544 และการฟ้องคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือสถานะของบุคคล และไม่เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือมีเหตุจำเป็นอื่น
แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ ประโยชน์ของรัฐ และประชาชน ทั้งส่งผลกระทบทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่อาจเข้าไปใช้ ตรวจซ่อม แก้ไขและบำรุงรักษาระบบขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซทางท่อที่มีอยู่เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาล และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่จะกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเพิ่มเติมมากขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อให้ทันต่อความต้องการของภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และประชาชน และส่งผลกระทบทำให้มูลค่าหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องลดน้อยถอยลง ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์
จำนวนนับสิบล้านคนที่มีส่วนลงทุนซื้อหุ้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 อันเป็นการทำลายประโยชน์มหาชนส่วนรวมโดยชัดแจ้ง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจกำหนดนโยบายนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจใดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบบริษัทได้ โดยไม่ผูกพันต้องรับฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจก่อน แผนแม่บทการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2541 และผ่านการอนุมัติจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2541 ข้อ 5 กำหนดว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในฐานะเลขานุการ กพช. รับผิดชอบโดยตรงในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สาขาพลังงาน และจะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การที่รัฐบาลมีนโยบายแปลงสภาพและแปรรูป ปตท. มาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 มอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ สามารถพิจารณามีมติและสั่งการในเรื่องนโยบายพลังงานแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อไป คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 3/2544 (ครั้งที่ 84) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 มีมติเรื่องแนวทางการแปรรูป ปตท. โดยกำหนดเป็นหลักการว่า การจัดโครงสร้างเพื่อแปรรูป ปตท. จะอาศัยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ให้มีการแปรรูปเป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่กำหนดให้นำ ปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี พ.ศ. 2544 โดยให้นำ ปตท. ทั้งองค์กรเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทจำกัด มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดก่อนที่จะเปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงมติ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติดังกล่าว และมีมติอนุมัติด้วยว่า เมื่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจรับทราบมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ที่เห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท. โดยการแปลงทุนของ ปตท. เป็นหุ้นทั้งหมดในคราวเดียวกันแล้ว ให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เร่งดำเนินการได้ก่อนการนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต่อไป ซึ่งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจในการประชุมครั้งที่ 1/2544 วันที่ 11 กรกฎาคม 2544 มีมติเห็นชอบตามแนวทางการแปรรูป ปตท.ภายใต้โครงสร้างที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ อันเป็นแนวทางที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางก่อนแล้วจึงให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจมีมติเห็นชอบ ทำให้มติของผู้ถูกฟ้องร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 มีผลสมบูรณ์ตามข้อยกเว้นในมาตรา 41 วรรคหนึ่ง(4)แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ส่วนกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เห็นชอบแนวทางการเปลี่ยนสภาพ ปตท.ตามมติของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ เป็นเพียงการยืนยันมติเดิมที่อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 25544 มิใช่เพิ่งมีมติอนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 การแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นการแต่งตั้งภายหลังจากที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของ ปตท.เป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 และภายหลังจากที่คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจมีมติเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 เสนอความเห็นตามหลักการและแนวทางที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงมติไว้แล้ว จึงเป็นการแต่งตั้งที่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน สอดคล้องกับมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.มีคำสั่งที่ 1/2544 เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนพนักงาน ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงวุฒิ ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นายเชิดพงษ์ สิริวิชว์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี และนายสืบตระกูล สุนทรธรรม รองกรรมการผู้จัดการบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด(มหาชน) รวมทั้งแต่งตั้งนายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท.เป็นกรรมการผู้แทนพนักงาน ต่อมามีคำสั่งที่ 2/2544 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2544 แต่งตั้งนายธีระ รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและบัญชี แทนนายสืบตระกูล เพื่อให้เกิดความถูกต้องเหมาะสม ทุกคนเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญทั้งในกิจการและการดำเนินการของ ปตท.และมีความรู้ความเชี่ยวชาญทางการเงินและบัญชีด้วย การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
ในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจึงครบทุกด้านและครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด
นายมนู เลียวไพโรจน์ และนายวิเศษ จูภิบาล เข้าถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ภายหลังการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จึงชอบด้วยกฎหมาย ทั้งมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า "ข้อห้ามมิให้เป็นผู้ถือหุ้นหรือเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทตามมาตรา 12 มิให้ใช้บังคับกับกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือผู้แทนพนักงานของรัฐวิสาหกิจ" นายวิเศษ จูภิบาล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปตท.อยู่ในขณะเข้าถือหุ้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และได้รับจัดสรรหุ้นให้ตามโครงการจัดสรรหุ้นพนักงานซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นของบริษัทจดทะเบียนให้พนักงานทุกประการ จึงไม่มีผลกระทบที่จะทำให้การแปรรูป ปตท.มาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับกลายเป็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จัดตั้งขึ้นตามมาตรา 19 ประกอบกับมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ไม่ได้จัดตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ การเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่มีผลกระทบให้ต้องเลิกบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าการเปลี่ยนสภาพปตท. และจดทะเบียนเป็นบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเป็นเหตุขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการเปลี่ยนสภาพ ปตท. เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543 ซึ่งมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนภายหลังที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางการแปรรูป ปตท. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 และกรรมการในคณะกรรมการดังกล่าวมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย มีกระบวนการเปิดกว้างให้ประชาชชนทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ โดยก่อนวันจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีการจัดประชุมกลุ่มย่อย 2 ครั้ง จัดประชุมโต๊ะกลมในมหาวิทยาลัย และตลาดหลักทรัพย์ เผยแพร่ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ ปตท. และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นในวันที่ 8 กันยายน 2544 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร จากประชาชนหลากหลายสาขาวิชาชีพและอาชีพสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมาก แจกเอกสารประกอบและระเบียบรวมทั้งร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับตามฟ้องด้วย จัดให้มีการถ่ายทอดการรับฟังความคิดเห็นผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 การประกาศในหนังสือพิมพ์ว่า "สถานที่ประชุมมีที่นั่งเพียง 2,500 ที่นั่ง" เป็นการแจ้งจำนวนที่นั่งเบื้องต้นเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีความสนใจและเร่งรีบมาลงทะเบียนเข้าร่วมประชุม และเพื่อความสะดวกในการเตรียมสถานที่และเอกสาร และได้จัดเตรียมขยายสถานที่ให้เพียงพอต่อประชาชนที่จะมาลงทะเบียนและเข้าร่วมประชุมไว้แล้วทั้งได้จัดทำประกาศสรุปเรื่องที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และโดยการประกาศทางหนังสือพิมพ์ กรณีที่ระเบียบกำหนดว่า ให้ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการจำหน่ายแพร่หลายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันไม่ได้ระบุว่าต้องประกาศหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวติดต่อกัน 3 วัน ปตท. คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงประกาศในหนังสือพิมพ์ให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของระเบียบ โดยประกาศในหนังสือพิมพ์ของสำนักพิมพ์ต่างๆ กัน รวม 6 ฉบับและภาษาอังกฤษติดต่อกันเป็นเวลา 6 วัน อีกทั้งการจัดทำประกาศล่วงหน้าและการจัดทำเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีรายละเอียดในสาระสำคัญเพียงพอให้ผู้เข้าร่วมฟังได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพของ ปตท.โดยถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีวัตถุประสงค์สำคัญในการดำเนินกิจการเช่นเดียวกับวัตถุประสงค์ของ ปตท.ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงเป็นรัฐวิสาหกิจและเป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งเป็นบริการสาธารณะประเภทพาณิชยกรรมตามอำนาจหน้าที่เดิมของ ปตท. และหลังจากเปลี่ยนสภาพโดยการกระจายหุ้นให้ภาคเอกชนแล้ว กระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นอยู่ร้อยละ 52.33 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในรูปบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และคงสภาพรัฐวิสาหกิจต่อไปตามวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ทั้งผูกพันตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 ที่ให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไว้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 จึงไม่อาจกลับมติให้เอกชนถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 49 ได้ เพราะเป็นการฝ่าฝืนวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสากิจ พ.ศ.2542
พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่มีเนื้อความใดที่มีผลเป็นการโอนทรัพย์สินและสิทธิ ซึ่งเดิมเป็นของ ปตท.ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 การโอนทรัพย์สินและสิทธิซึ่งเดิมเป็นของ ปตท.ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นไปโดยผลของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 การโอนที่ดินเวนคืนตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติสายประธานจากจังหวัดระยองมายังจังหวัดสมุทรปราการ จำนวนประมาณ 32 ไร่ ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ก็เป็นการโอนโดยผลของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยชอบจึงไม่ขัดมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และไม่ขัดมาตรา 30 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ดินเวนคืนดังกล่าวยังคงใช้เป็นที่ตั้งระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อบนบก คือ แนวท่อก๊าซธรรมชาติเช่นเดิม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ในที่ดินเวนคืนนั้น มิได้ใช้เป็นที่ตั้งโรงงานแยกก๊าซตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวหา ที่ดินเวนคืนตามแนวท่อก๊าซจึงตกเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งยังคงเป็นหน่วยงานของรัฐดังเดิม เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทางปกครองตามที่ได้รับมอบหมายให้บรรลุผล ไม่ใช่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทใดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งไม่ใช่ที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ซึ่งบัญญัติยกเว้นไว้ว่า "อสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ว่าเป็นที่ราชพัสดุ" โดยมิได้บัญญัติมีข้อจำกัดว่า "เว้นแต่อสังหาริมทรัพย์ที่มาโดยการเวนคืน" ดังนั้น อสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจไม่ว่าจะได้มาโดยนิติกรรมสัญญาหรือโดยการเวนคืนก็ต้องด้วยข้อยกเว้นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุทั้งสิ้น อีกทั้งมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 บัญญัติให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเวนคืนตกเป็นของเจ้าหน้าที่ ซึ่งหมายความรวมถึงรัฐวิสาหกิจด้วยนับแต่วันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วย การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 บัญญัติให้ทรัพย์สินของ ปตท. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ดังนั้น ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นที่ ปตท. ได้มาโดยการเวนคืนจากการที่รัฐบาลตราพระราชกฤษฎีกาและพระราชบัญญัติเวนคืนเพื่อใช้ในการดำเนินกิจการทางปกครอง เช่น วางท่อก๊าซ จึงเป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอันมีลักษณะเฉพาะเพื่อใช้ในการกดำเนินกิจการทางปกครองโดยรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น คำว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หมายถึง ทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ หมายถึง สาธารณชนสามารถเข้าใช้ประโยชน์หรือรับประโยชน์จากตัวทรัพย์นั้นได้โดยตรง หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันปราศจากการหวงกัน ส่วนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจที่ได้มาโดยรัฐบาลดำเนินการเวนคืนให้มีวัตถุประสงค์ใช้ในการดำเนินกิจการทางพาณิชยกรรมและอุตสหากรรมตามอำนาจหน้าที่เฉพาะของรัฐวิสหากิจนั้นๆ จึงมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของรัฐโดยตรง และการใช้ทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ของรัฐวิสาหกิจไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นกลายสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะผู้มีสิทธิใช้และเข้าถึงทรัพย์สินนั้นกลายสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เพราะผู้มีสิทธิใช้และเข้าถึงทรัพย์สินดังกล่าวคือรัฐวิสาหกิจเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น สาธารณชนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงและเข้าใจประโยชน์ได้ และเป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นนิติบุคคล ไม่ใช่ทรัพย์สินของแผ่นดิน และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่รัฐวิสาหกิจก็ใช้เงินของรัฐวิสาหกิจนั้นเองมิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน
ส่วนท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่ส่วนควบของที่ดิน สำหรับที่ดินคลังน้ำมันขององค์การเชื้อเพลิง ปตท. มิได้รับโอนที่ดินจากองค์การเชื้อเพลิง (อชพ.) ส่วนการโอนสิทธิการใช้ที่ดินรวมทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นทรัพยสิทธิติดที่ดิน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการท่อบางปะกง - วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า - ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี - วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า - ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี - วังน้อย ซึ่งเดิมเป็นสิทธิการใช้ของ ปตท.ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นไปโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2524 ของกฎหมาย ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มิใช่เป็นการโอนสิทธิให้นิติบุคคลเอกชน เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังเป็นหน่วยงานของรัฐที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครอง นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และมีภาระหน้าที่ประกอบธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม ดังนั้น เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีความจำเป็นต้องดำเนินการก่อสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อและเครื่องหมายแสดงเขต เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาพัฒนาและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมอันเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ กระทรวงพลังงานจึงออกประกาศกำหนดเขตระบบเพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการก่อสร้างวางท่อส่งก๊าซตามโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้
สำหรับอำนาจการรอนสิทธิตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 มาตรา 32 ถึงมาตรา 36 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ล้วนเป็นอำนาจที่จำเป็นแก่การดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์แก่การประกอบธุรกิจปิโตรเลียมของรัฐไม่กระทบความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่กลับเป็นการรักษาประโยชน์รัฐซึ่งสอดคล้องกับมาตร 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และเป็นอำนาจที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จำเป็นต้องได้รับเพื่อให้การดำเนินกิจการต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ ส่วนอำนาจตามมาตรา 29 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 อาจใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใดๆ เป็นการชั่วคราวเพื่อการสำรวจ สร้าง หรือบำรุงรักษาระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ก็ไม่ใช่อำนาจส่วนหนึ่งของการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ แต่มีลักษณะเท่าเทียมกับแดนกรรมสิทธิ์ของบุคคลตามมาตรา 1351 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และอำนาจตามมาตรา 30 เป็นอำนาจของรัฐมนตรีที่จะประกาศเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อและเครื่องหมายแสดงเขตในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ขยายธุรกิจปิโตรเลียม การวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อในเขตประกาศจึงเป็นการกระทำโดยได้รับมอบหมายและอาศัยอำนาจของรัฐมนตรีเท่านั้น มิใช่ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจและใช้อำนาจโดยลำพัง การตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจำกัด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ ที่ ปตท. มีอยู่เดิมตามกฎหมายจัดตั้งตามที่มาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ให้คงอำนาจสิทธิ และประโยชน์บางประการไว้ เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สามารถดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมตามอำนาจหน้าที่ของ ปตท. เดิมได้อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ยังคงกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีสิทธิประโยชน์ และหน้าที่เสมือนเป็นผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เนื่องจากรับโอนกิจการ ปตท.มาเพื่อดำเนินกิจการปิโตรเลียมต่อไปตามอำนาจที่ ปตท.มีอยู่เดิม และเป็นผลจากมาตรา24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่ให้บรรดากิจการ สิทธิ และสินทรัพย์ฯของ ปตท.โอนมาเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สิทธิที่ผู้ถูกฟ้องดคีที่ 4 ได้รับดังกล่าวนี้เป็นสิทธิที่เท่าเทียมกับสิทธิของบริษัทเอกชนอื่นๆ เพราะบริษัทเอกชนสามารถขอเป็นผู้รับสัมปทานเพื่อการสำรวจ ผลิต เก็บ รักษา ขนส่ง ขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมได้โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขของพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514
พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และกฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัตินี้ มิได้บัญญัติกำหนดสิทธิพิเศษที่จะรับซื้อปิโลรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรกจากผู้รับสัมปทานให้แก่ ปตท.หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นเพียงสิทธิพิเศษที่ผู้ขอรับสัมปทานเสนอให้เป็นผลประโยชน์แก่รัฐบาลไทยหรือองค์กรที่รัฐบาลไทยกำหนดปัจจุบันได้ยกเลิกสิทธิพิเศษดังกล่าว กรณีธุรกิจก๊าซธรรมชาติของประเทศไทยมิได้ถูกผูดขาดโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แต่เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันโดยเสรี มีองค์กรภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแลและกำหนดโครงสร้างราคา เอกชนอื่นมีสิทธิประกอบธุรกิจแข่งขันได้เท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรม ส่วนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม กระทรวงพลังงานเป็นผู้ให้สัมปทาน บริษัทเอกชนต้องยื่นประมูลแข่งขันกัน สำหรับราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติจากผู้ผลิตอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการปิโตรเลียมและคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้ทำธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่ดำเนินการโดยบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) และมิได้รับสิทธิพิเศษเหนือเอกชนรายอื่น กรณีธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติและจัดจำหน่าย ก็เป็นธุรกิจที่ไม่มีการผูกขาดและมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลโครงการสร้างราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและค่าผ่านท่อ บริษัทผู้สำรวจและผลิตทุกรายสามารถขายก๊าซธรรมชาติโดยตรงให้ผู้ใช้บริการและสามารถวางท่อ บริษัทผู้สำรวจและผลิตทุกรายสามารถขายก๊าซธรรมชาติโดยตรงให้ผู้ใช้บริการและสามารถว่างท่อส่งก๊าซได้ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ส่วนธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ได้รับสิทธิผูกขาดขายน้ำมันให้หน่วยราชการ แต่กลับต้องรับภาระสนับสนุนจัดหาและจำหน่ายน้ำมันให้แก่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป ตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงพลังงานที่มอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นแหล่งจัดหาพลังงานให้หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง รวมทั้งต้องรับภาระหนี้ค่าน้ำมันค้างจ่ายด้วย สำหรับภาษีป้ายผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับยกเว้นเฉพาะป้ายที่ ปตท. ได้รับหรือเคยได้รับยกเว้นก่อนการเปลี่ยนสภาพเท่านั้น ไม่รวมถึงป้ายที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนสภาพแล้ว และกระทรวงการคลังมีภาระต้องค้ำประกันหนี้เดิมของ ปตท.ที่โอนมาให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยผลของมาตรา 24 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2542 มิได้เป็นผลจากการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 แต่เป็นหนี้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกันอยู่แล้วและถือได้ว่าเป็นหนี้รัฐ ไม่ใช่หนี้เอกชน
สำหรับการเสนอขายหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นกระบวนการภายหลังการเปลี่ยนสภาพ ปตท.และจดทะเบียนตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และภายหลังพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับไปแล้ว โดยดำเนินการอย่างครบถ้วนถูกต้องตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์พ.ศ.2535 เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมีสิทธิในการเข้าถึงและเป็นเจ้าของอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งประธานกรรมการมูลนิธิผู้ฟ้องคดีที่ 1 ตลอดจนเครือญาติของกรรมการมูลนิธิผู้ฟ้องคดีที่ 1 รวมทั้งผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้แทนผู้ฟ้องคดีที่ 1 ได้จองและซื้อหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป (IPO) ตั้งแต่ปี 2544 และถือหุ้นไว้เป็นจำนวนมาก ข้อกล่าวหาว่ากระจายหุ้นไม่เป็นธรรมจึงไม่มีมูลความจริง อีกทั้งการประเมินทรัพย์สินของ ปตท.ได้ดำเนินการตามหลังเกณฑ์วิธีการที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปและได้ผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบจากคณะกรรมการระดมทุนและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย การกำหนดเสนอขายหุ้นที่ราคา 35 บาทต่อหุ้นเป็นราคาที่เหมาะสมกับสถานะของบริษัท การประเมินทรัพย์สินและการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นได้กระทำโดยกระบวนการที่ละเอียดรอบคอบมีการตรวจสอบถ่วงดุลโดยชอบแล้ว ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งรับฟ้องและมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ หรือพิพากษายกฟ้อง
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 สรุปได้ว่า กิจการ ปตท. เกี่ยวข้องกับการบริการประโยชน์สาธารณะ เมื่อกระบวนการแปรรูป ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนในพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 การแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
และนายเชิดพงษ์ ซึ่งไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเป็นคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท มีผลทำให้พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกยกเลิกตามประกาศคณะปฏิรูปฯ แต่การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับกระทำตั้งแต่ พ.ศ.2544 ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนับแต่วันที่ตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับและมีผลอยู่จนกว่าจะเพิกถอนการนำกิจการ ปตท. มาแปรรูปเป็นบริษัทเอกชน ต้องสงวนสิทธิที่เป็นอำนาจมหาชนไว้ ไม่สามารถถ่ายโอนไปให้เอกชนได้ เช่น การเวนคืนทรัพย์สินประเภทสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงถือได้ว่าการฟ้องคดีนี้เพื่อประโยชน์สาธารณะ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นนิติบุคคล จดทะเบียนเป็นมูลนิธิ ข้อบังคับมูลนิธิระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าเพื่อดำเนินการเพื่อสาธารณะประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีที่ 1 จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนประชาชนและเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นประชาชนผู้บริโภคน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติ ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจากการดำเนินงานของ ปตท. มิอาจหลีกเลี่ยงความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการที่ต้องใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้าที่แพงเกินควร อันเกิดจากการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงไม่สามารถอ้างการขาดอายุความได้ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเป็นผู้เสนอความเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติอนุมัติแล้วในวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 และคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจประชุมพิจารณาในวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ย่อมไม่ถูกต้อง ไม่สามารถสลับขั้นตอนได้ การประชุมผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 เป็นเพียงการรับทราบมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติอันเป็นการดำเนินการทางด้านนโยบายภายใต้พระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ไม่ใช่ขั้นตอนการเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 นอกจากนั้น ในเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ภาคผนวก หน้า 77 ถึงหน้า 88 ระบุว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีเพียง 1 คน คือ นายธีระ ไม่มีชื่อของนายปิยสวัสดิ์ หรือนายเชิดพงษ์ และทั้งสองคนมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยนายปิยสวัสดิ์เป็นกรรมการในนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ปตท. จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด และ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด และนายเชิดพงษ์ เป็นประธานกรรมการของบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการ ปตท. การที่นายปิยสวัสดิ์ และนายเชิดพงษ์ มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมายมีผลทำให้การกระทำใดๆ ของคณะกรการเตรียมการจัดจั้งบริษัทเสียไปทั้งหมดหรือไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนกรณีนายวิเศษ และนายมนู ทางราชการมองหลายให้ไปเป็นกรรมการ ไม่ได้มอบหมายให้เข้าถือหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้น การเข้าถือหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นจึงไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นตามกฎหมาย
ในการรายงานการรับฟังความคิดเห็นประชาชน วันที่ 8 กันยายน 2544 มีผู้ลงทะเบียนทั้งหมด (ล่วงหน้าและหน้างาน) จำนวน 1,877 คน ผู้ลงทะเบียนเป็นพนักงาน ปตท. และบริษัทร่วมทุน ปตท. จำนวน 1,143 คน (ร้อยละ 61) ผู้ลงทะเบียนเป็นประชาชนทั่วไป 734 คน (ร้อยละ 39) จำนวนผู้เข้าร่วมประชุมมีเพียง 733 คน ในรายงานไม่ได้แจกแจงข้อมูลว่าในจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเป็นพนักงาน ปตท. กี่คน เป็นประชาชนทั่วไปกี่คน อาจประมาณการได้ว่าในจำนวน 733 คน ประกอบด้วยประชาชนทั่วไปจำนวนต่ำกว่าร้อยละ 39 หรือน้อยกว่า 285 คน รัฐบาลดำเนินการแปรรูป ปตท. อย่างเร่งรีบ กำหนดระยะเวลาดำเนินการสั้นมาก โดยเริ่มขั้นตอนแรกตามพระราชยัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ในวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 และให้เวลาดำเนินการกระบวนการทั้งหมดเพียงสองเดือนเศษ ทำให้ไม่สามารถจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างทั่วถึงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และมิได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่จัดทำขึ้นต่อสาธารณะชนตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง (10) แห่งประราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ส่วนการเปิดเผยข้อมูลของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นเพียงข่าวคืบหน้าและข่าวสารทั่วไป ไม่มีเนื้อหาสาระสำคัญแท้จริง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีฐานะเป็นองค์กรเอกชน แม้ว่ารัฐบาลจะเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ก็จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเอกชนและมีวัตถุประสงค์หลักคือการแสดวงหากำไร จึงไม่ใช่องค์การของรัฐ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เคยมีมติว่าจะนำหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ออกขายไม่เกินร้อยละ 50 ของหุ้นทั้งหมด แต่ในบทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่มีหลักประกันทางกฎหมายที่รับรองว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะถูกถือหุ้นโดยรัฐบาลตลอดไป ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงสามารถมีมติขายหุ้นเพิ่มขึ้นให้เอกชนรายใดก็ได้ ซึ่งจะมีผลทำให้เอกชนผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของเกี่ยวกับกิจการพลังงาน (น้ำมันและก๊าซ) ของประเทศ รวมทั้งมีอำนาจเบ็ดเสร็จและผูกขาดในกิจการสาธารณูปโภคที่มีความจำเป็นต่อประเทศชาติและสาธารณะทันที เดิม ปตท. มีอำนาจสิทธิและความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เมื่อเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยหุ้นและกิจการยังคงเป็นของรัฐทั้งหมดและได้รับโอนกิจการสิทธิ หนี้ ความรับผิดและทรัพย์สินตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิประโยชน์เหนือเอกชนอื่น จึงไม่อาจนำหุ้นออกขายให้เอกชนหรือขายในตลาดหลักทรัพย์โดยใช้กฎหมายเช่นเดียวกับเอกชนทั่วไป เนื่องจากเป็นการดำเนินกิจการเกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะ ทรัพย์สินของ ปตท. บางอย่างเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และสิทธิบางอย่างเป็นการใช้อำนาจมหาชน ไม่สามารถโอนไปให้ครอบครองหรือยึดถือโดยองค์กรที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเอกชน ที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นนำไปแบ่งปัน ท่อส่งก๊าซต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยสูงมาก การเดินท่อส่งก๊าซจะต้องฝังอยู่ลึกจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า 2 เมตร การติดตั้งต้องยึดติดให้มั่นคงแข็งแรง ไม่เคลื่อนจากแนวเดิม มีลักษณะติดอยู่กับที่ดินอย่างชัดเจน ทั้งโดยกายภาพและโดยความมุ่งหมายในการใช้งาน จึงเป็นอสังหาริมพรัพย์ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกิจการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นกิจการที่อาศัยทรัพย์สินที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยการเวนคืนและอาศัยสิทธิเหนือพื้นดินในการวางท่าก๊าซ รวมทั้งท่อก๊าซ ซึ่งเป็นทรัพยสิทธิอันติดอยู่กับที่ดิน เป็นสิทธิที่ก่อตั้งโดยพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 โดยการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ระบบท่อส่งก๊าซจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ สิทธิเหนือพื้นดินเกี่ยวกับการวางท่อก๊าซและท่อก๊าซจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 การตราพระราชกฤษฎีกามีผลให้โอนอำนาจมหาชนของรัฐให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกชน จึงขัดมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เพราะไม่ได้จำกัดอำนาจหรือสิทธิใดๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2549 ยอมรับ การเปลี่ยนสภาพ ปตท. โดยการตราพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับมีผลทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 รับโอนอำนาจมหาชนของรัฐ ได้แก่ อำนาจการประกาศเขต อำนาจรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน และอำนาจเวนคืนที่ดิน ตามมาตรา 29 ถึงมาตรา 30 มาตรา 32 ถึงมาตรา 36 และมาตร 38 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 เป็นสิ่งที่ผิดพลาด จึงเห็นควรปรับปรุงแก้ไขพระราชกฤษฏีกากำหนด อำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการก๊าซธรรมชาติ เพื่อรับโอนอำนาจมหาชนของรัฐดังกล่าวจากผู้ถูกกฟ้องคดีที่ 4 ตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 ทั้งนี้ ก่อนหน้านั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เคยมีแนวนโยบายชัดเจนถึงอำนาจมหาชนของ ปตท. โดยมีการตราร่างพระราชบัญญัติประกอบกิจการการพลังงาน พ.ศ.... โอนอำนาจมหาชนไปอยู่องค์กรกำกับดูแลด้านพลังงานตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2543 หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 โดยพันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยแรก กลับเร่งดำเนินการแปรรูป ปตท. โดยให้เปลี่ยนลักษณะและแปรรูป ปตท. ก่อน แล้วจึงดำเนินการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังานเพื่ออำนาจมหาชนออกจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มายังองค์กรกำกับในภายหลัง ตามติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือเอกชน
ระหว่างการแสวงหาข้อเท็จจริงของศาล บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่กรณีในคดีนี้ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงตามกฎหมายในผลแห่งคดี ข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับคดีเป็นข้อเท็จจริงที่เป็นข้อมูลภายในองค์กรผู้ร้อง หากผู้ร้องได้เข้าเป็นคู่กรณีด้วยการร้องสอดแล้วจะทำให้ศาลได้รับข้อเท็จจริงและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับคดีอย่างครบถ้วนยิ่งขึ้นเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาและความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงอนุญาตให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าเป็นคู่กรณีด้วยการร้องสอด โดยกำหนดให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ให้การสรุปว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 รับโอนบรรดากิจการ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิด รวมถึงทรัพย์สินและหนี้สินจาก ปตท.
ตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 กระทำโดยเปิดเผย ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ารับทราบการดำเนินการต่างๆ มาโดยตลอดแต่มิได้ใช้สิทธิฟ้องคดีตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา การนำคดีมาห้องเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 จึงพ้นกำหนดเวลาเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 การฟ้องคดีนี้ไม่ได้เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะไม่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลต้องรับคำฟ้องไว้พิจารณาผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องกลับไปเป็น ปตท.รัฐบาลอาจต้องรับภาระซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งมีมูลค่าสูง เศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบจากตลาดทุนไทยที่มีขนาดเล็กลง ความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนจะถอนการลงทุนในตลาดทุนไทย ส่งผลต่อเนื่องถึงตลาดเงิน ผู้ถือหุ้นจะได้รับความเสียหายเป็นอย่างมากหากหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างความเป็นธรรมด้านราคาพลังงานในอนาคต ธุรกิจปิโตรเลียมมิใช่ธุรกิจผูกขาดที่ดำเนินการโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แต่เพียงผุ้เดียว เอกชนหลายรายดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม โดยขอรับสัมปทานภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 รวมถึงธุรกิจการจัดหาและจัดจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลงภายใต้พระราบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 และธุรกิจการกลั่นน้ำมันและโรงแยกก๊าซฯ การตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อเปลี่ยนสภาพ ปตท.เป็นการกระทำเพื่อเปลี่ยนสภาพของผู้ประกอบการรายหนึ่งในธุรกิจปิโตรเลียม ไม่มีผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวม
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่มีอำนาจฟ้อง ข้อบังคับของผู้ฟ้องคดีที่ 1 มิได้มีวัตถุประสงค์ให้ดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องคดีแทนประชาชน ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 5 มิใช่คู่ค้าหรือมีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 หรือ ปตท. จึงมิได้รับผลกระทบใดๆ จากการตราพระราชกฤษฎกาทั้งสองฉบับ และมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียหรือเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยตรงจากการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ธุรกิจน้ำมันและก๊าซหุงต้มมิได้ผูกขาดโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ราคาขายปลีกน้ำมันภายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นมิได้เกิดจากการเปลี่ยนสภา ปตท.แต่เคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดและสภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนราคาก๊าซหุงต้ม
รัฐบาลเป็นผู้ควบคุมราคาขายส่งหน้าโรงกลั่นเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกโดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจ่ายชดเชยราคาก๊าซหุงต้มที่ต่ำกว่าต้นทุน การที่ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องการเปลี่ยนสภาพ ปตท. มิได้มีส่วนทำให้ราคาขายปลีกก๊าซหุงต้มปรับสูงขึ้น ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิใช่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการเพียงรายเดียว โครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติรวมถึงอัตราค่าผ่านท่อถูกกำกับและดูแลโดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ การเปลี่ยนสภาพ ปตท.จึงไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงที่ 5
กระบวนและขั้นตอนการเปลี่ยนสภาพ ปตท.เป็นไปโดยถูกต้องและครบถ้วนในสาระสำคัญตามที่พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2552 กำหนดไว้ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบในหลักการและแนวทางในการแปรรูป ปตท.เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 หลังจากนั้นมีการจัดตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.และคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้ดำเนินการต่างๆ ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จนครบถ้วน และเสนอรายงานรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2544 มีมติเห็นชอบและนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบในรายละเอียดการเปลี่ยนสภาพ ปตท.เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทอาศัยอำนาจตามมาตรา 19 ประกอบมาตรา 26 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาและขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับรวมกับรายละเอียดการจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณาตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีการตราพระราชกฤษฎีกาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงการคลังได้รายงานการตราพระราชกฤษฎีกาดัลกล่าวต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาตามาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันแล้ว
องค์ประกอบคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทถูกต้องและครบถ้วนตามที่พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 กำหนด ตามคำสั่งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท เรื่อง แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ 1/2544 และที่ 2/2544 นายมนู กรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท มิได้กระทำความผิดตามาตร 18 ประกอบมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยนายมนูเป็นข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการแตรียมการจัดตั้งบริษัท ในฐานะปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (กระทรวงเจ้าสังกัดในขณะนั้น) จึงได้รับยกเว้นตามมาตรา 12 ตอนท้าย ประกอบกับมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และเข้าถือหุ้นหลังการตราพระราชกฤษฎีกา จึงเป็นคนละส่วนกับกระบวนการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสอง แบบ สำหรับนายวิเศษก็มิได้กระทำความผิดตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เพราะไม่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนการเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจเช่นกรณีของนายมนูและต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 18 ตอนท้าย แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่มิให้นำข้อห้ามการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนสภาพมาใช้บังคับแก่กรณีของนายวิเศษ ซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ ปตท. ในขณะนั้น
การจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดำเนินการถูกต้องตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2543 โดยคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประกอบด้วยกรรมการจำนวน 5 คน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นการประชุมย่อยเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการประชุมจริง จำนวน 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2544 จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น ที่สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพมหานคร สำหรับกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย โดยตรง และผู้แทนสถาบันต่างๆ มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 170 คน และเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2544 เป็นการซ้อมความเข้าใจก่อนมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 99 คน นอกจากนี้ ยังจัดการสัมมนาและประชาสัมพันธ์อีกหลายครั้งเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียทราบ และเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและนักวิชาการ เช่นการสัมมนาเรื่องการแรงงานสัมพันธ์กับการแปรรูป ปตท. สำหรับสมาคมพนักงานรัฐวิสาหกิจ ปตท.ในคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์ ระหว่างวันที่ 14 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2542 การสัมนาเรื่องนโยบายการแปรรูป ปตท. เพื่อชี้แจงพนักงาน ปตท. ให้ทราบถึงนโยบายการแปรรูปองค์กรซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543
คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2544 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคกรุงเทพมหานคร มีการแจกเอกสารรวมถึงระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และร่างพระราชกฤษฎีกา
ทั้งสองฉบับ ให้ผู้เข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็น จัดให้มีการถ่ายทอดเสียงการรับฟังความคิดเห็นผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 9.00 ถึง 12.00 นาฬิกา และถ่ายทอดสดผ่านทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 และสถานีโทรทัศน์ ไอทีวี อย่างต่อเนื่อง ส่วนการลงประกาศในหนังสือพิมพ์ว่า "สถานที่ประชุมมีที่นั่งเพียง 2,500 ที่นั่ง" มิได้มีเจตนาจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น แต่เป็นการแจ้งจำนวนที่นั่งในเบื้องต้นและกระตุ้นให้ผู้สนใจเร่งลงทะเบียนล่วงหน้าเพื่อประโยชน์ในการจัดเตรียมสถานที่และเอกสารให้พร้อมและเพียงพอ อีกทั้งศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค มีศักยภาพรองรับจำนวนผู้ร่วมประชุมได้มากกว่าจำนวนที่กำหนดไว้
การจัดทำประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันได้ดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งกำหนดให้มีประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน คณะกรรมการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเข้าใจโดยสุจริตว่าระเบียบดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้มีการประกาศ เพราะหากระเบียบฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้ประกาศหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วันแล้ว น่าจะต้องมีข้อความกำหนดเฉพาะลงไปอย่างชัดเจนด้วยเหตุผลและความเข้าใจดังกล่าว คณะกรรมการฯ จึงสรุปเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยประกาศการเปลี่ยนสภาพ ปตท. ในหนังสือพิมพ์รายวันติดต่อกัน 6 วัน จำนวน 6 ฉบับ ฉบับละ 1 วัน ได้แก่ กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 สิงหาคม 2544 มติชน ฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2544 บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ 24 สิงหาคม 2544 เดอะ เนชั่น ฉบับวันที่ 25 สิงหาคม 2544 และไทยรัฐ ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2544 การประกาศในหนังสือพิมพ์หลายฉบับทำให้การประชาสัมพันธ์แพร่หลายและทั่วถึงมากกว่าการประกาศลงในหนังสือพิมพ์ฉบับเดียว เนื่องจากหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะมีกลุ่มผู้อ่านที่แตกต่างกันออกไป อาจจำแนกได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลู่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย กลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจและกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ ซึ่งหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับนั้นมีการจัดพิมพ์และจำหน่ายในช่วงเวลาที่มีการลงประกาศอย่างแพร่หลาย โดยมีจำนวนยอดตีพิมพ์ของแต่ละฉบับในแต่ละวัน ดังนี้ ไทยรัฐ 876,544 ฉบับ เดลินิวส์ 600,000 ฉบับ มติชน 450,000 ฉบับ กรุงเทพธุรกิจ 105,000 ฉบับ บางกอกโพสต์ 70,000 ฉบับ เดอะเนชั่น58,000 ฉบับ อันเป็นการเลือกสื่อหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลายต่อประชาชนจำนวนมากทั้งการประกาศในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้จัดทำสรุปประเด็นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยมีรายละเอียดของแต่ละประเด็นที่จะรับฟังความคิดเห็นในสาระสำคัญเพียงพอให้ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพของ ปตท.อันเป็นการดำเนินการโดยถูกต้องครบถ้วนตามระเบียบดังกล่าวในสาระสำคัญแล้ว ทั้งมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ได้จัดทำขึ้นและมีข้อยุติแล้วต่อสาธารณชนตามมาตรา 19 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับมิได้มีผลเป็นการโอนทรัพย์สินและสิทธิของ ปตท.ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และมิได้ขัดกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพ หลักความเสมอภาคและหลักความเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ โดยการโอนกิจการ สิทธิหนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของ ปตท.ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เกิดขึ้นจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาศัยอำนาจตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มีมติอนุมัติให้เปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้น และจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แล้ว บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของ ปตท. ตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อนุมัติย่อมโอนไปเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในทันทีโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว สำหรับการตราพระราชกฤษฎีกาโดยอาศัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นไปเพื่อการจำกัดหรืองดอำนาจ สิทธิพิเศษ และประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ส่วนการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน เพียงกำหนดเงื่อนเวลาการยุบเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เนื่องจากมีการโอนกิจการของ ปตท.ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งหมด ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 19 วรรคหนึ่ง (8) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว การโอนทรัพย์สินและสิทธิซึ่งเดิมเป็นของ ปตท.ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้ขัดต่อหลักความเสมอภาค ตามมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ได้รับสิทธิเหนือเอกชนผู้รับสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 โดยเอกชนผู้รับสัมปทานก็มีสิทธิใช้ทรัพย์สินของเอกชนได้ อีกทั้งไม่ขัดหลักความเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจตามมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการโอนหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิ หน้าที่ รวมถึงทรัพย์สินต่างๆ ที่เคยเป็นของ ปตท.ไปเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นไปโดยผลของกฎหมายตามมาตรา 19 ประกอบกับมาตรา 21 มาตรา 22 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ในส่วนของ อำนาจและสิทธิพิเศษของ ปตท. ที่โอนมายังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นไปโดยผลของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และเป็นอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่จำเป็นต้องได้รับตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เพื่อให้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้โดยไม่ต้องหยุดชะงัก เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังมีภารกิจในการจัดหาพลังงานให้เพียงพอตอบสนองความต้องการใช้ของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความต้องการเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติตามแผนแม่บทระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ.2544 ถึง พ.ศ. 2554 จะต้องวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติรวมประมาณ 1,700 กิโลเมตร จากอ่าวไทยมีกำลังส่งก๊าซธรรมชาติสูงสุด 1,900 ล้านลูกบาศก์ฟุต ต่อวันใช้เงินลงทุนรวม 157,102 ล้านบาท ตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 วันที่ 9 ธันวาคม 2546 และวันที่ 17 พฤษภาคม 2548 รวมทั้งยังต้องดูแลบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้สามารถดำเนินการส่งก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ การเปลี่ยนแปลงโดยจำกัดหรืองดอำนาจหรือสิทธิพิเศษในทันทีจะมีผลกระทบต่อการดำเนินภารกิจดังกล่าวและจะเป็นอุปสรรคคต่อการประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 การคงอำนาจหรือสิทธิพิเศษบางอย่างไว้เป็นการชั่วคราวจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในด้านความมั่นคงทางพลังงานของประเทศจนกว่าจะมีกฎหมายจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลอิสระเป็นผู้รับมอบอำนาจและสิทธิพิเศษเหล่านี้ต่อไป การตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวอาศัยอำนาจตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นไปตามข้อยกเว้นมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และไม่ขัดต่อมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศและออกประกาศฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 สิ้นสุดลง การกล่าวอ้างใดๆ ในคำฟ้องว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวย่อมไม่อาจกล่าวอ้างได้อีกต่อไป
ส่วนการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติสายประธานจากจังหวัดระยองมายังสมุทรปราการ จำนวน 32 ไร่ เป็นการโอนทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจเดิมมายังบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดยผลของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 และไม่ขัดต่อเจตนารมณ์แห่งการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากภายหลังการเปลี่ยนสภาพ ผู้ถูกฟ้องร้องคดีที่ 4 ยังคงมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2502 และใช้ประโยชน์ในที่ดินเวนคืนดังกล่าวเพื่อประกอบกิจการปิโตรเลียมตามวัตถุประสงค์เดิม ที่ดินที่เวนคืนยังคงใช้เป็นที่ตั้งของระบบขนส่งปิโตรเลียาทางท่ออยู่เช่นเดิม ทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ได้มาจากการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินในระบบท่อส่งปิโตรเลียม ไม่ว่าก่อนหรือหลังการจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังคงเป็นทรัพย์สินที่ได้รับความคุ้มครองไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีทำนองเดียวกันกับทรัพย์สินของแผ่นดินตามาตรา 1307 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ดินคลังน้ำมันซึ่งเวนคืนโดยกระทรวงกลาโหมเพื่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน มิได้โอนจากองค์การเชื้อพเพลิงมายังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 สำหรับทรัพย์สินที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 รับโอนมาจาก ปตท. ไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนมีเนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ เพื่อใช้ในระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ไม่มีลักษณะตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 1304 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะผู้ที่มีสิทธิใช้ทรัพย์สินดังกล่าวคือ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเจ้าของทรัพย์สินเท่านั้น สาธารณชนทั่วไปไม่อาจเข้าถึงและเข้าใช้ประโยชน์ได้และการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใช้เงินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินอสังหาริทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขหรือข้อจำกัดว่าอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องได้มาโดยวิธีการเช่นไร ดังนั้น บรรดาอสังหาริมทรัพย์ของ ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่าจะได้มาโดยวิธีการใดจึงเป็นทรัพย์สินของ ปตท. นับตั้งแต่เวลาที่ได้มา และไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518
สำหรับระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เป็นทรัพย์สินที่ ปตท.ก่อสร้างโดยใช้อำนาจรอนสิทธิตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 กรรมสิทธิ์ในที่ดินยังคงเป็นของเอกชน ถือไม่ได้ว่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติเข้าข่ายการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่เป็นสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 140 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงไม่อาจเป็นที่ราชพัสดุได้ตามกฎหมาย การโอนสิทธิการใช้ที่ดินรวมทั้งระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย จาก ปตท. ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นไปโดยผลของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ยังคงถือเป็นกิจการของรัฐที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษาระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อต่อไป ไม่อาจถือว่าเป็นการโอนสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่เอกชน
การเปลี่ยนแปลงสภาพ ปตท. ไม่ได้ส่งผลให้ความเป็นเจ้าของรัฐบาลในผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เปลี่ยนไป เนื่องจากมติผู้ถูกฟ้องที่ 1 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 ที่ลงมติเห็นชอบในรายละเอียดการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และให้จัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กำหนดให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นในผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 การเปลี่ยนสภาพ ปตท. ตกเป็นของคนบางกลุ่มดังที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้าง รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ปัจจุบันกระทรวงกาคลังถือหุ้นในสัดส่วนประมาณร้อยละ 52.33 และมีกองทุนรวมวายุภักษ์ ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถือหุ้นใหญ่อันดับสองประมาณร้อยละ 15.54 ยังมีผู้ถือไทยรายย่อยอีกประมาณ 28,000 ราย และมีผู้ถือหุ้นต่างชาติประมาณร้อยละ 19.9 แม้จะมีประชาชนถือหุ้นประมาณร้อยละ 30 ก็ไม่ได้ทำให้รัฐโดยกระทรวงการคลังสิ้นไปซึ่งอำนาจการควบคุมหรือการบริหารงาน เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ และประชาชนผู้ลงทุนรายย่อยร้อยละ 30 มิได้เข้าแทรกแซงควบคุมการบริหารจัดการ คงได้ประโยชน์จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในรูปของเงินปันผลเท่านั้น
การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ฯ มิได้จำกัด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไว้ ไม่ขัดต่อสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพ และไม่ได้เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบตามมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสหากิจ พ.ศ.2542 อำนาจหรือสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 รับโอนมา เป็นไปโดยผลของมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยไม่มีข้อจำกัด การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ฯ มิได้มีผลให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจหรือสิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังคงมีอำนาจมหาชนของรัฐบางประการตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 จึงเป็นไปโดยชอบด้วยพระราชบัญญัติ
ทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ และเป็นอำนาจที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่สามารถบังคับใช้อำนาจเช่นว่านั้นได้โดยลำพังหรือตามอำเภอใจ แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากภาครัฐ และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์รวมทั้งเงื่อนไขที่พระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ กำหนดไว้ โดยอำนาจเวนคืนที่ดินตามมาตรา ๓๘ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะต้องดำเนินการเวนคืนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และต้องเป็นการเวนคืนเพื่อวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียมเพื่อจัดสร้างคลังปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าวเท่านั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่สามารถเวนคืนได้โดยอำนาจเด็ดขาดของตนเอง หากแต่เป็นอำนาจของกระทรวงเจ้าสังกัดที่จะดำเนินการเวนคืน อำนาจเวนคืนที่ดินเป็นสิทธิอำนาจที่จำเป็นแก่กิจการปิโตรเลียม ตั้งแต่มีการเปลี่ยนสภาพ ปตท. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่เคยได้ที่ดินมาโดยการใช้อำนาจเวนคืน
สำหรับอำนาจการประกาศเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามมาตรา ๓๐ มิใช่อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ แต่เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และต้องกำหนดเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามความจำเป็นเท่านั้น ซึ่งเอกชนผู้รับสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.๒๕๑๔ ก็มีอำนาจวางท่อเพื่อการขนส่งปิโตรเลียมได้ตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดสัมปทานที่ได้รับอนุญาตจากรัฐ หรือหากเป็นการวางท่อนอกเขตพื้นที่สัมปทาน ก็สามารถเสนอโครงการและแผนผังการวางท่อต่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐมนตรีได้ มาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รับสิทธิในการรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน จึงมีผลกระทบต่อกรรมสิทธิ์ของเอกชนน้อยกว่าการใช้อำนาจเวนคืน อำนาจรอนสิทธิตามมาตรา ๓๒ ถึงมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ถือเป็นอำนาจที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีความจำเป็นต้องได้รับโอนมาเพื่อให้สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่หยุดชะงัก ซึ่ง ปตท. หรือผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้จ่ายค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมให้แก่ผู้ถูกรอนสิทธิโดยถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ใช้อำนาจรอนสิทธิเพียงโครงการเดียวคือ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ ๓ มีการรอนสิทธิผ่านพื้นที่เอกชนเพียงร้อยละ ๙.๒๔ ส่วนใหญ่วางแนวระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อไปตามแนวใต้สายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยซึ่งคิดเป็นร้อยละ ๕๙.๒๔ โดยพื้นที่ตามแนวใต้สายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้จ่ายค่าทดแทนให้แก่เอกชนผู้เป็นเจ้าของที่ดินแล้ว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ก็จ่ายค่าทดแทนในการรอนสิทธิเพื่อระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามแนวใต้สายขนส่งไฟฟ้าดังกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งด้วย อำนาจรอนสิทธิเหนือที่ดินของเอกชนตามมาตรา ๒๙ และมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลในทรัพย์สินเท่าที่จำเป็นมิได้กระทบกระเทือนต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน เนื่องจากสิทธิความเป็นเจ้าของไม่ได้เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ถูกจำกัดสิทธิการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินไปบางส่วน โดยได้รับค่าทดแทนอย่างเป็นธรรม อำนาจในการรอนสิทธิมิใช่สิทธิเหนือพื้นดินตามมาตรา ๑๔๑๐ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ ส่วนกรณีผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ได้รับการสืบสิทธิพิเศษจาก ปตท.ได้แก่ สิทธิในการยกเว้นภาษีป้าย ได้รับยกเว้นเฉพาะป้ายที่ได้รับหรือเคยได้รับก่อนการเปลี่ยนสภาพเท่านั้น ในส่วนหนี้สินหรือพันธะผูกพันใดๆ ที่โอนไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันต่อไป โดยไม่มีค่าธรรมเนียมค้ำประกันนั้น ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ ๕๐/๒๕๔๒ ว่า เป็นภาระค้ำประกันหนี้ที่มีอยู่เดิม และเป็นการค้ำประกันหนี้ของรัฐมิใช่หนี้สินบริษัทเอกชน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์เหนือเอกชนผู้รับสัมปทานอื่นไม่มีสิทธิรับซื้อปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรกจากผู้รับสัมปทาน ไม่ได้รับสิทธิผูกขาดก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันโดยเสรี โดยมีหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้กำกับดูแล และกำหนดโครงสร้างราคา ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และเอกชนอื่นต่างมีสิทธิแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ธุรกิจดังกล่าวต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และต้องอาศัยเทคโนโลยีขั้นสูง ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์เฉพาะทางของผู้ประกอบการจึงทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจก๊าซธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นบริษัทเอกชนต่างชาติธุรกิจสำรวจและปิโตรเลียม ธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติและจัดจำหน่าย เป็นธุรกิจที่ไม่มีการผูกขาดโดยมีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลโครงสร้าง ราคาจำหน่ายก๊าซธรรมชาติและค่าผ่านท่อ บริษัทผู้สำรวจและผลิตทุกรายสามารถขายก๊าซธรรมชาติโดยตรงให้ผู้ใช้บริการและสามารถวางท่อสงก๊าซธรรมชาติได้ภายใต้พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติก็มิได้เป็นธุรกิจผูกขาด เนื่องจากบริษัทเอกชนอื่นสามารถลงทุนในธุรกิจโรงแยกก๊าซธรรมชาติได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้รับสิทธิผูกขาดขายน้ำมันให้หน่วยราชการ แต่เป็นภาระหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องขายน้ำมันให้ส่วนราชการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจที่มีการจัดซื้อน้ำมันตั้งแต่ 10,000 ลิตรขึ้นไป สามารถจัดซื้อได้จากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดยตรงด้วยวิธีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2542 และวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มิได้รับสิทธิยกเว้นการวางหนังสือค้ำประกันธนาคารต่อกรมศุลกากรในการดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน ส่วนสิทธิการเช่าหรือใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุคงเงื่อนไข สัญญา ค่าเช่า ค่าตอบแทนการใช้ที่ดินตามเงื่อนไขเดิม และมิได้สิทธิรับการยกเว้นค่าธรรมเนียมค่าตอบแทนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ
การกำหนดราคาหุ้น การจัดสรรหุ้น การกระจายหุ้น ตลอดจนการเสนอขายหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำเนินการตามหลักเกณฑ์อย่างเป็นธรรมและถูกต้องตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปซึ่งเป็นคนละกระบวนการกับการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ การเสนอขายหุ้นเกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนสภาพแล้วเสร็จ ทั้งวิธีการกระจายหุ้น และการเสนอขายหุ้นเปิดโอกาสให้ประชาชนผู้สนใจมีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นในผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันตามกฎหมาย ซึ่งการเสนอขายหุ้นแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ (1) เสนอขายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อยในประเทศผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง รวมกว่า 2,500 สาขาทั่วประเทศ ใช้วิธีการจองซื้อแบบ online ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารทั้งหมดกว่า 10,000 หน้าจอ โดยวิธีการจองซื้อก่อน จ่ายเงินก่อน จัดสรรก่อน ตามที่เปิดเผยต่อประชาชนไว้ในหนังสือชี้ชวน มีประชาชนทั่วไปที่ได้รับการจัดสรรหุ้นในส่วนนี้ 11,109 คน หรือร้อยละ 35.9 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย ได้รับจัดสรรเฉลี่ยรายละ 28,717 หุ้น (2) เสนอขายหุ้นให้นักลงทุนรายย่อย ในประเทศผ่านบริษัทหลักทรัพย์รวมทั้งสิ้น 23 ราย และการจัดสรรหุ้นให้ผู้มีอุปการคุณของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีผู้ได้รับการจัดสรรหุ้นในส่วนนี้ 13,780 คน หรือร้อยละ 18.4 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย โดยนักลงทุนรายย่อยได้รับจัดสรรหุ้นเฉลี่ยรายละ 12,537 หุ้น และในฐานะผู้มีอุปการคุณเฉลี่ยรายละ 10,898 หุ้น (3) การเสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุนสถาบันในประเทศ และ(4) การเสนอขายหุ้นให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศซึ่งการเสนอขายหุ้นใน (3) และ (4) ดำเนินการผ่านการแข่งขันแจ้งความต้องการซื้อหุ้นซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติสากล ส่วนใหญ่เป็นบริษัที่รับบริหารเงินลงทุนของนิติบุคคลหรือบุคคลทั่วไป ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนประกันสังคม ได้รับการจัดสรรหุ้น 415 ราย และ 133 ราย ตามลำดับ คิดเป็นร้อยละ 10 และร้อยละ 35.7 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่เสนอขาย ทั้งนี้ อัตราส่วนการจัดสรรหุ้นให้ประชาชนและนักลงทุนดังกล่าวเป็นเพียงประมาณร้อยละ 32.9 ของหุ้นทั้งหมดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ได้จดทะเบียนไว้ และจัดสรรหุ้นให้ประชาชนและนักลงทุนในประเทศคิดเป็นร้อยละ 64.3 และนักลงทุนต่างประเทศคิดเป็นร้อยละ 35.7 ซึ่งเป็นการจัดสรรหุ้น ณ วันที่หุ้นทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย วันแรกในวันที่ 6 ธันวาคม 2544 สัดส่วนการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติภายหลังการเสนอขายหุ้นมีเพียงร้อยละ 11.9 ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งขอบังคับข้อบังคับของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กำหนดเพดานการถือหุ้นของนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งหมดไม่เกินร้อยละ 30 และนักลงทุนต่างชาติแต่ละรายไม่เกินร้อยละ 5 ของหุ้นทั้งหมด สำหรับการเสนอขายหุ้นให้พนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นไปตามแนวปฏิบัติตามประกาศของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กจ. 36/2544 เรื่อง การเสนอขายหลักทรัพย์ที่ออกใหม่ต่อกรรมการหรือพนักงาน การเสนอขายหุ้นให้พนักงานและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และบริษัทร่วมทุน มีเพียงประมาณ 47.2 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 1.69 ซึ่งเป็นไปตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2544 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเพิ่มทุนจดทะเบียนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ในส่วนการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นที่ราคา 35 บาท ต่อหุ้น เป็นราคาที่เหมาะสมกับสถานะของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งมีกำไรสุทธิในปี พ.ศ. 2543 เพียง 12,698 ล้านบาท และสภาวะเศรษฐกิจและตลาดทุนในขณะนั้น
การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับได้คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชนภายใต้หลักการให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนนสภาพปตท. ยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง มิได้เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนและนายทุนในตลาดหลักทรัพย์รวมถึงนายทุนต่างชาติ ส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ขยายตัวและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ประโชน์ประเทศและประชาชนอย่างทวีคูณ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ขยายตัวและมีประสทิธิภาพเพิ่มขึ้นและนำไปสู่ประโยชน์ประเทศและประชาชนอย่างทวีคูณ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ สามารถระดมเงินทุนรวมประมาณ ๓๐,๔๕๐ ล้านบาท ในปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๔ การเป็นบริษัทมหาชนทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เพิ่มขีดความสามารถและทางเลือกในการระดมทุน ทั้งจากตลาดทุนและตลาดเงิน ส่งผลให้การบริหารการเงินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นโดยในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ มีการลงทุนขยายโครงข่ายทางพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มรวมประมาณ ๒๑๑,๐๐๐ ล้านบาท และมีแผนการลงทุนในปี พ.ศ. ๒๔๓๙ มีการลงทุนขยายโครงข่ายทางพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มรวมประมาณ ๒๑๑,๐๐๐ ล้านบาท และมีแผนการลงทุนในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ถึง พ.ศ. ๒๕๔๙ มีการลงทุนขยายโครงข่ายทางพลังงานทั้งก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน รวมทั้งการลงทุนในธุรกิจต่อเนื่องเพื่อสร้างมูล่าเพิ่มรวมประมาณ ๒๑๑,๐๐๐ ล้านบาท สามารถลงทุนและปรับโครงสร้างหนี้บริษัทในเครือโรงกลั่นและปิโตรเคมีที่เคยประสบภาวะขาดทุนกลับฟื้นตัวและมีผลดำเนินงานดีขึ้น ภายหลังการเปลี่ยนสภาพและแปรรูป ผลประกอบการดีขึ้น กำไรสุทธิในส่วนที่ได้รับจากการลงทุน บริษัทในเครือเพิ่มขึ้นมาจาก ๔,๐๑๑ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็น ๕๒,๙๖๔ ล้านบาท ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ การเปลี่ยนสภาพของ ปตท. มิได้ทำให้ราคาน้ำมันและก๊าซแพงเกินควรทั้งมิได้มีผลทำให้เปลี่ยนแปลงผู้ผูกขาดจากรัฐเป็นเอกชน
การเปลี่ยนสภาพ ปตท. ได้ดำเนินการไปแล้วเวลากว่า ๕ ปี หากมีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา หรือมีผลกระทบต่อการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะเกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนี้ (๑) ผลกระทบต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ จะกระทบต่อแผนการลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและพัฒนาพลังงานทางเลือกที่จะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล โดยแหล่งที่มาของเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากการระดมทุนในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ (๒) ผลกระทบต่อฐานะการเงินของภาครัฐและภาษีของประชาชน หากเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับจะทำให้หุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีมูลค่าเป็นศูนย์ ผู้ถือหุ้นทั้งในและต่างประเทศย่อมต้องมีการฟ้องร้องรัฐบาลเรียกร้องค่าเสียหาย ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระบบของ หน่วยงานราชการ ตลาดหลักทรัพย์ฯ และรัฐบาลไทย หากรัฐบาลต้องซื้อหุ้นคืนกระทรวงกรคลังต้องมีภาระจัดหางบประมาณสูงถึงประมาณ 318,000 ล้านบาทหรือกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณแผ่นดินซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน และหากรัฐต้องจัดหาเงินเพิ่มเติมก็จะส่งผลให้หนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มขึ้น (3) ผลกระทบต่อตลาดทุนและความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ฯ มูลค่าตลาดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ประมาณ 667,495 ล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 12 ของมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ฯ ตามราคาตลาดทั้งหมด (4) ผลกระทบต่อประชาชนและข้าราชการจากการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันหุ้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นถึงร้อยละ 52.33 กองทุนรวมวายุภักษ์ร้อยละ 15.54 ผู้ถือหุ้นไทยรายย่อย 28,000 กว่ารายและผู้ถือหน่วยลงทุนได้แก่ สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการสมาชิกกองทุนประกันสังคม สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกว่า 400 กองทุนรวมทั้งสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งมีสมาชิกกองทุนที่อาจได้รับความเสียหายรวมกันไม่น้อยกว่า 11 ล้านราย บุคคลเหล่านี้เข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสุจริตและเปิดเผยนับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในเดือนธันวาคม 2544 เป็นต้นมาเป็นเวลา 5 ปีแล้วจึงไม่เป็นธรรมต่อประชาชนผู้สุจริต
นอกจากนั้น ในการออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เงินกู้อื่นทั้งหลายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีข้อกำหนดเงื่อนไขของเหตุการณ์ที่จะทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ผิดนัดประการหนึ่งว่า การจำหน่ายจ่ายโอนระบบท่อส่องและระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติจะไม่ถือเป็นเหตุผิดนัด หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังคงถือหุ้นอยู่ในบริษัทซึ่งเป็นเจ้าของระบบท่อส่งและระบบจำหน่ายก๊าซธรรมชาติไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ถูกถือว่าผิดนัดตามเงื่อนไขตราสารหนี้และเงินกู้ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสภาพแล้ว จะถือเป็นเหตุผิดนัดกับหนี้อื่นๆ ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไปด้วยและเป็นเหตุให้เจ้าหนี้สามารถเรียกให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ชำระหนี้โดยพลันได้ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้องผู้ฟ้องคดีทั้งห้า
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยมีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 โดยมีข้อคัดค้านเพิ่มเติมสรุปได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับการสืบสิทธิพิเศษจาก ปตท. เช่นสิทธิได้รับการค้ำประกันเงินกู้จากกระทรวงการคลัง สิทธิเหนือเอกชนผู้รับสัมปทานอื่น สิทธิทรัพย์สินของบริษัทไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุในราคาถูกล้วนเป็นสิทธิพิเศษสำหรับองค์กรของรัฐที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะโอนไปให้องค์กรเอกชนที่มุ่งแสวงหากำไรสูงสุดนำไปแบ่งปันกัน การเปลี่ยนสภาพ ปตท.และแปรรูปเป็นบริษัทในตลาดหุ้นก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อประชาชนและประเทศทั้งจากการขายสมบัติของชาติไปราคาต่ำมาก การกระจายหุ้นที่ไม่เป็นธรรม ผลเสียหายที่เกิดขึ้นมี 3 ส่วนคือ การผูกขาดธุรกิจโดยเอกชน การกำกับดูแลที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและไร้ประสิทธิภาพ และการขูดรีดเอากำไรจากประชาชนผู้บริโภคเกินควรที่รัฐบาลขายหุ้นได้เงินมาเพียงหุ้นละ 35 บาทเท่านั้นความเสี่ยงเรื่องราคาหุ้นเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนรับรู้อยู่ตลอดเวลาอยู่แล้วนับตั้งแต่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด การที่ราคาหุ้นในตลาดจะลดต่ำลงมากกว่า 10 เท่า ก็เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ โดยนักลงทุนไม่สามารถเรียกร้องใดๆ กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องกลับไปเป็น ปตท. จะเกิดผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ในช่วงระยะสั้นๆ เวลาหนึ่งแต่จะไม่กระทบหรือกระทบน้อยมากต่อเศรษฐกิจโดยรวมหรือต่อตลาดเงิน เนื่องจากเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทยจะคงอยู่ได้ดีหรือไม่ดีไม่ใช่มาจากปัจจัยเรื่องราคาหุ้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เพราะเป็นเพียงการเปลี่ยนสภาพจากบริษัทกลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจ และไม่ส่งผลกระทบต่อแผนลงทุนในปัจจุบัน หากปล่อยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ดำรงอยู่บนความไม่ถูกต้อง สร้างความเสี่ยงให้แก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมจึงต้องแก้ไขการกระทำที่ไม่ชอบและการใช้ดุลพินิจที่ไม่ถูกต้องในอดีต ด้วยการเปลี่ยนสภาพผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กลับไปเป็นรัฐวิสาหกิจและหากมีความจำเป็นที่จะให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยวิธีที่ถูกต้อง ก็ต้องจัดตั้งองค์กรกำกับอิสระดูแลและพิจารณาแยกแยะการบริหารจัดการให้ชัดเจนระหว่างธุรกิจที่มีการแข่งขันและธุรกิจที่ผูกขาดก่อน โดยที่ไม่นำธุรกิจขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมมารวมด้วย นอกจากนั้นการแปลงสภาพและแปรรูป ปตท. ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในแวดวงระบบราชการเป็นการสร้างระบบตอบแทนข้าราชการที่รับใช้ฝ่ายการเมือง ทำให้เกิดถ่ายโอนอำนาจสิทธิประโยชน์ของรัฐให้แก่เอกชน การกระจายหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ปรากฏชื่อกลุ่มทุนการเมืองเป็นรายชื่อผู้ถูกหุ้นรายใหญ่ ทั้งอาจมีกลุ่มทุนการเมืองอื่นๆ สามารถซื้อหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้อย่างถูกกฎหมายโดยอาศัยช่องทางกองทุนตัวแทน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การเพิ่มเติมโดยมีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับคำให้การและมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมสรุปได้ว่าการเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกคือผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ต้องอนุมัติให้หลักการก่อน แล้วจึงมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำเนินการต่อไป ไม่จำเป็นว่าการอนุมัติของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจต้องเกิดขึ้นก่อนการอนุมัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสมอไป มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 จึงเป็นการวางนโยบายการเปลี่ยนสภาพผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และแม้ว่าเอกสารรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จะมิได้ระบุองค์ประกอบของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ไว้ครบถ้วนเนื่องมาจากความพลั้งเผลอตกหล่นในการจัดทำเอกสาร แต่องค์ประกอบของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และไม่ใช่เรื่องที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ส่วนคุณสมบัติกรรมการผู้ทรงคุณวุฒินั้น นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เป็นข้าราชการประจำ ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย พลังงานแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้ไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนั้นมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยภาครัฐถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมดของบริษัท บริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด อันมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำในการจัดตั้งขึ้น ขณะนั้นประกอบด้วยผู้ถือหุ้นภาครัฐ ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (มหาชน) และ ปตท. ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 49 ของทุนทั้งหมดของบริษัท มีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ถือหุ้นอีกร้อยละ 11 ของทุนทั้งหมดของบริษัท และให้นายเชิดพงษ์ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพย์ยากรธรณี ในขณะนั้นได้รับมอบหมายไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัท ปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับมอบหมายจากทางราชการ หรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องหรือที่เป็นผู้ถือหุ้นแล้ว ย่อมไม่อาจถือว่านายปิยสวัสดิ์ และนายเชิดพงษ์ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ปตท. ที่ได้เปลี่ยนสภาพมาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นายปิยสวัสดิ์ และนายเชิดพงษ์ จึงมิได้มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย อันมีผลทำให้การกระทำใดๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสียไปทั้งหมด หรือไม่มีผลทางกฎหมายดังที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง นอกจากนี้ ในการประชุมครั้งที่ 5/2544 นายปิยสวัสดิ์ ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดปัญหาเรื่องคุณสมบัติ เพราะเหตุที่เป็นกรรมการในบริษัทร่วมทุนของ ปตท. แม้จะเป็นการเสนอชื่อจากหน่วยงานรัฐ นโยบายการแปรรูป ปตท. มีมานานตั้งแต่ก่อนตราพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ และมีการเตรียมความพร้อมมาโดยตลอดอย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่องตั้งแต่การปรับโครงสร้างองค์กรของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๔ จนสามารถดำเนินการเปลี่ยนสภาพได้ตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๕๔๔ ในการเปลี่ยนสภาพผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจัดทำขึ้นต่อสาธารณชนตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๙ วรรคสาม กำหนดไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนในสาระสำคัญแล้ว
ภายหลังการเปลี่ยนสภาพผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จะยังคงได้รับอำนาจ สิทธิ และประโยชน์บางประการเท่าที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจและตราบเท่าที่ยังคงความเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ตามมาตรา ๒๖ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ หากรัฐถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนสภาพดังกล่าวลดน้อยลงกว่าร้อยละ ๕๐ อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่เคยมีอยู่เดิมย่อมสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมายทันที ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีสภาพเป็นบริษัทเอกชนซึ่งไม่มีความเป็นรัฐวิสาหกิจและไม่มีอำนาจรัฐอีกต่อไป สำหรับท่อส่งก๊าซ และการฝังท่อส่งก๊าซธรรมชาติเป็นเพียงการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติในร่องดินที่มิได้มีการก่อสร้างโครงสร้างหรือฐานราก หรือใช้เสาเข็มรองรับเพื่อให้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติยึดติดแน่นกับดิน เพื่อเป็นสิ่งปลูกสร้างถาวรแต่ประการใด ท่อส่งก๊าซธรรมชาติสามารถถอดประกอบและทำการเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และแม้ว่าท่อส่งก๊าซธรรมชาติจะต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยที่สูงมาก หรือจะต้องฝังลึกจากพื้นดินไม่ต่ำกว่า ๒ เมตร การติดตั้งจะต้องมีการยึดติดให้มั่นคงแข็งแรง ก็มิใช่ข้อเท็จจริงที่จะทำให้ลักษณะความเป็นสังหาริมทรัพย์ของท่อส่งก๊าซเปลี่ยนแปลงไป
สมาคมบริษัทจัดการลงทุนได้ส่งข้อมูลต่อกระทรวงการคลังว่า ธุรกิจการลงุทนทั้งกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลมีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้ลงทุนในหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นจำนวนมากถึง ๕๓๖,๑๖๔,๐๑๖ หุ้น มีประชาชนทั่วไปเป็นผู้ลงทุนในกองทุนถึง ๑,๙๔๓,๓๘๕ คน หากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ต้องถูกยุบเลิกไปจะส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อบริษัท รัฐบาล กองทุนต่างๆ ตลาดทุนของประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนจำนวนมากดังกล่าว กับมีผลกระทบเสียหายต่อไปถึงเศรษฐกิจ ภาคสังคม และความน่าเชื่อถือของประเทศ หนี้สาธารณะจะพอกพูนเพิ่มขึ้น รัฐต้องสูญเงินตราต่างประเทศ เพราะต้องพึ่งพาพลังงานจากต่างชาติ รวมทั้งมีผลกระทบต่อข้าราชการสมาชิก กบข.
จำนวน 1.2 ล้านคน และสมาชิกกองทุนประกันสังคมจำนวน 8.5 ล้านคน ที่กองทุนดังกล่าวถือครองหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
สำหรับประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องกล่าวหาว่า กระบวนการเปลี่ยนสภาพและจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฟ้องว่าการกระทำทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นศาลปกครองชั้นต้น ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิฟ้องกล่าวหาในประเด็นนีต่อศาลปกครองสูงสุด
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 เพิ่มเติมคำให้การเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยให้ยกเลิกมาตรตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 4 ในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม บริษัทไม่มีอำนาจ สิทธิและประโยชน์ตามมาตรา 8 มาตรา 11 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่กำหนดให้เป็นของ ปตท. ตามพระราชบัญญัติการปิโตเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ให้เป็นของคณะกรรมการตามมาตรา 5...มาตรา 5 ให้มีคณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของบริษัทประกอบด้วยปลัดกระทรงพลังงานเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยผู้แทนสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสามคน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ.." นอกจากนั้นยังบัญญัติให้บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 โดยผลของพระราชบัญยัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ให้สิ้นสุดลงเมื่อพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ มีผลบังคับ ดังนั้น เหตุฟ้องคดีตามคำฟ้องจึงจะระงับสิ้นไป และเป็นคำฟ้องที่ไม่มีมูล
ผู้ฟ้องคดียื่นคำชี้แจงคัดค้านคำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 สรุปได้ว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้รับมอบหมายจากบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด ให้เป็นกรรมการในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ ซึ่งเป็นบริษัทที่มีส่วนได้ส่วนเสียเกี่ยวข้องกับกิจการของ ปตท.มิได้รับมอบหมายจากหน่วยราชการหรือจากรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง (ปตท.) บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด เป็นบริษัทเอกชนมีโครงสร้างผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นบริษัทน้ำมันเอกชน การเป็นกรรมการในบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ของนายปิยสวัสดิ์ จึงเป็นโดยการมอบหมายของเอกชนอย่างชัดเจน อันทำให้นายปิยสวัสดิ์มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย การแก้ไขพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 กระบวนการตราไม่ถูกต้อง ทั้งข้อกำหนดที่แก้ไขก็ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการนำอำนาจและสิทธิที่โอนไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตั้งแต่ พ.ศ.2544 กลับออกมาในปี พ.ศ.2550 แสดงว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยอมรับว่าเนื้อหาของพระราชกฤษฎีกาฉบับเดิมไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จำเป็นต้องแก้ไข โดยให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่ง การโอนอำนาจมหาชนของรัฐและสิทธิพิเศษเพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะไปไว้กับกรรมการดังกล่าวจำนวน 7 คน ซึ่งไม่มีสถานะนิติบุคคลรองรับ ย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นบุคคลไม่ใช่หน่วยงานของรัฐ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ให้การเพิ่มเติมโดยมีข้อเท็จจริงทำนองเดียวกับคำให้การและมีข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญเพิ่มเติมสรุปได้ว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้ดำเนินการทั้งหมดภายหลังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติอนุมัติหลักการแนวทางแปรรูป ปตท.ตั้งแต่วันที่ 10 กรกฎาคม 2544 มิใช่วันที่ 21 สิงหาคม 2544 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง มติในวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เป็นการลงมติยืนยันมติเดิมที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติไว้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 มติถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 มิใช่เป็นการกำหนดนโยบายของรัฐบาลตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 แต่เป็นมติอนุมัติหลักการและแนวทางการเปลี่ยนสภาพของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4
การที่นายปิยสวัสดิ์ลาออกในการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บริษัท ครั้งที่ 5/2544 ไม่กระทบกระเทือนถึงการใดทีนายปิยสวัสดิ์ได้ปฏิบัติไปตามอำนาจหน้าที่ก่อนหน้านั้น ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 การถือครองหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นสิทธิโดยชอบธรรมเพราะถือครองมาก่อนที่จะถูกฟ้องคดีที่ 3 จะได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเมื่อผู้ถูกฟ้องร้องคดีที่ 3 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หุ้นดังกล่าวก็ได้ถูกจำหน่ายออกไปตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2549 เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 100 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากลับนำข้อมูลในวันที่ 9 ตุลาคม 2549 มาแสดงต่อศาล ส่วนที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้เข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นมีจำนวนเพียง 285 คนนั้น ไม่เป็นความจริงจำนวนผู้เข้าร่วมรับฟังจริงมีถึง 733 คน
ที่ดินเวนคืนตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติจำนวน 32 ไร่ เป็นของ ปตท.ได้มาโดยชอบตั้งแต่ปี พ.ศ.2529 ที่ดินที่ ปตท.ได้มาโดยใช้อำนาจเวนคืนตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 มีเพียงที่ดินจำนวน 32 ไร่ดังกล่าว หลังจากมีการเปลี่ยนสภาพแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่เคยใช้อำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ปัจจุบันอำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวได้สิ้นสุดลงโดยผลของพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2550 ส่วนการใช้อำนาจรอนสิทธิบนที่ดินของประชาชนเป็นไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ประกอบมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ไม่เกี่ยวข้องกับพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ท่อส่งก๊าซธรรมชาติมีลักษณะเป็นสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีสภาพเป็นท่อแต่ละเส้นที่นำมาประกอบต่อกันเป็นแนวยาวสามารถเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนแปลงขนาดและแนวทางได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม ส่วนการวางท่อก๊าซกระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เมื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2550 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4ไม่มีอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ตามมาตรา 8 คือ สิทธิประโยชน์เสมือนเป็นผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมมาตรา 11 ความคุ้มครองทรัพย์สินจากการถูกบังคับคดี และมาตรา 38 อำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ อีกต่อไป โดยบรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์อื่นที่กำหนดให้เป็นของ ปตท.ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 กำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งกระบวนการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ฉบับที่ 2 ดำเนินการโดยภาครัฐตามมาตรา 26 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เพื่อปรับปรุงการจำกัดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ให้เหมาะสมตามสถานการณ์ การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 2 ไม่มีความเกี่ยวกับกระบวนการเปลี่ยนสภาพตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยื่นคำชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมสรุปได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนจำนวน 32 ไร่ให้กระทรวงการคลังแล้ว ตามหนังสือ ที่ 530/20/63 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึง 3 ยื่นคำแถลง ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยื่นคำแถลงปิดคดี ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2550 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ....แล้ว อยู่ระหว่างนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 3 ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมลงวันที่ 11 ธันวาคม 2550 มีสาระสำคัญสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 เมื่อพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานมีผลบังคับแล้ว อำนาจในการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์และการประกาศเขตระบบโครงข่ายพลังงานซึ่งรวมถึงระบบโครงการก๊าซธรรมชาติจะเป็นของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน โดยเมื่อมีประกาศกำหนดเขตระบบแล้ว ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจวางระบบโครงข่ายไปใต้ เหนือ ตามหรือข้ามระบบโครงข่ายพลังงานของผู้รับใบอนุญาตอื่นได้ โดยผู้รับใบอนุญาติอื่นอาจเรียกค่าใช้ประโยชน์ได้ตามสมควรและเป็นธรรม และในบทเฉพาะกาลมาตรา 142 ถึงมาตรา 155 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมี่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในสาระสำคัญดังนี้(1) นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ประกอบกิจการพลังงานต่อไปได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) (2) เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สามารถดำเนินงานได้ต่อไป มิให้นำมาตรา 26 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มาใช้บังคับกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จนกว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวให้พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 ซึ่งแห้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับต่อไป นอกจากนี้พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานกำหนดให้มีองค์การกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานโดยส่งเสริมการแข่งขันและป้องกันการใช้อำนาจผูกขาด ตลอดจนกำหนดอัตราค่าบริการการใช้พลังงาน และคุ้มครองผู้ใช้พลังงาน โดยผลของพระราชบัญญัติดังกล่าวย่อมทำให้กิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีองค์กรกำกับดูแลที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้นและยังเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน ชุมชน และประชาชนมีส่วนร่วม และมีบทบาทมากขึ้นย่อมทำให้การประกอบกิจการพลังงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมีความมั่นคง มีปริมาณเพียงพอและทั่วถึง ในราคาที่เป็นธรรม และมีคุณภาพได้มาตรฐานตอบสนองต่อความต้องการภายในประเทศ และต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อันสอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ศาลปกครองสูงสุดออกนั่งพิจารณาคดี โดยได้รับฟังสรุปข้อเท็จจริงของตุลาการเจ้าของสำนวน และคำชี้แจงด้วยวาจาประกอบคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดี
ศาลปกครองสูงสุดได้ตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดี กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทย พ.ศง 2521 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2537 เรียกโดยย่อว่า ปตท.เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ในการประกอบและส่งเสริมธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงการดำเนินธุรกิจอื่นที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจปิโตเลียม เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดแก่เศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐและประชาชน เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2538 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติมอบอำนาจให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเป็นผู้พิจารณามีมติและสั่งการในเรื่องนโยบายพลังงานแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แล้วแจ้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ทราบภายหลังและถือเป็นมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร 0216/8137 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2538 ต่อมา คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในการประชุมครั้งที่ 3/2544 (ครั้งที่ 84) เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2544 มีมติเห็นชอบนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดแนวทางการแปรรูป ปตท. โดยมีสาระสำคัญว่า มอบให้ ปตท.รับไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหาและจำหน่าย โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการดังกล่าวร้อยละ 100 และเห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท. โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเร่งดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เพื่อให้สามารถนำ ปตท. เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้อย่างช้าภายในเดือนพฤศจิกายน 2544 ตามนโยบายของรัฐบาล เมื่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจรับทราบมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท. โดยการแปลงทุนของ ปตท. เป็นหุ้นทั้งหมดในคราวเดียวกัน ให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเร่งดำเนินการก่อนนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และให้ ปตท. หรือบริษัทที่ ปตท. ถือหุ้นมากกว่าร้อยละ 50 บริหารงานในรูปแบบเอกชน โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ และมติผู้ถูกต้องคดีที่ 1 ที่ใช้กับรัฐวิสาหกิจทั่วไป ตามหนังสือสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ด่วนที่สุด ที่ นร (กพช.) 0804/1549 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 ซึ่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 อนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติดังกล่าวปรากฎตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0205/6728 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 เห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท.ภายใต้โครงสร้างที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยมีข้อสังเกตด้วยว่า หากจะมีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจัดตั้งเป็นบริษัทแยกออกจากบริษัทจัดซื้อและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติในลักษณะการแบ่งแยกตามกฎหมาย (Legal Separation) ตั้งแต่แรกจะทำให้การกำกับดูแลกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจการผูกขาดโดยธรรมชาติ มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงควรศึกษาแนวทางที่จะแยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติก่อนจะทำการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มิฉะนั้นอาจจะแยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้ยาก เพราะผู้ถือหุ้นอาจจะไม่ยินยอมเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่ได้รับจากมูลค่าของหุ้นที่สูง อันเกิดจากการมีอำนาจผูกขาดหากไม่สามารถแยกบริษัทท่อส่งก๊าซได้ก่อนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (IPO) ก็ให้แยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายใน ๑ ปี หลังการขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปและให้พิจารณากำหนดเป็นเงื่อนไขเพื่อให้มีการแยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติออกจากบริษัทจัดจำหน่ายก๊าซฯ ตามกำหนดเวลาที่ชัดเจน เช่น กำหนดในหนังสือชี้ชวน และกำหนดเป็นหนังสือเพิ่มเติมอื่นๆ เพื่อให้มีการดำเนินการอย่างแท้จริง ปรากฏตามหนังสือคณะกรรมการนโยบาลทุนรัฐวิสาหกิจ ด่วยที่สุด ที่ กค ๐๒๐๙.๓/๑๒๙๐๒ ลงวันที่ ๒๐ กรกฏาคม ๒๕๔๔ ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ ลงมติเห็นชอบแนวทางการเปลี่ยนสภาพของ ปตท. เป็นบริษัทจำกัด ตามมติคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ โดยให้คณะกรรมเตรียมการจัดตั้งบริษัทเร่งดำเนินการ และรับข้อสังเกตของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจไปประกอบการพิจารณาด้วย
ต่อมา ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้ง บริษัท ปตท.มีคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑๘ กรกฏาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนพนักงาน เป็นกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. โดยแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน ๓ คน ประกอบด้วย นายปิยะสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อธิบดีกรทรัพยากรธรณี และนายสืบตระกูล สุนทรธรรม กรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และกรรมการซึ่งเป็นผู้แทนพนักงาน ได้แก่ นายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. และต่อมาได้มีคำสั่งที่ ๒/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งนายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อกาส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศ เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม หลังจากนั้น มีคำสั่งที่ ๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจำนวน ๕ คน เพื่อให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและเสนอผลต่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเพื่อใช้เป็นแนวทางหรือข้อมูลประกอบการพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวกับบริษัทที่จัดตั้งขึ้น
คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นที่สโมสรราชพฤกษ์ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง ประกอบด้วย พนักงาน ปตท. ลูกค้าของปตท.เจ้าหนี้และลูกหนี้ มีผู้เข้าร่วมประชุม ๑๗๐ คน ต่อมา วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๔๔ เป็นการซ้อมความเข้าใจก่อนมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค กรุงเทพมหานคร มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน ๘๐ คน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๔ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ลงทะเบียน ๑,๘๗๗ คน จำนวนผู้ลงทะเบียนหน้างาน ๒๖๓ คน จำนวนผู้เข้าร่วมประชุม ๗๓๓ คน โดยคณะกรรมการฯ จัดให้มีการถ่ายทอดเสียงการรับฟังความคิดเห็นผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ ถึงเวลา ๑๒.๐๐ นาฬิกา และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ ช่อง ๑๑ ตลอดจนรายงานสถานการณ์โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ไอทีวี และยูบีซี ช่อง ๘ (ตัวอักษรวิ่งที่ด้านล่าง) และมีการลงประกาศการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการเปลี่ยนสภาพ ปตท. มาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ในหนังสือพิมพ์รายวันติดต่อกัน ๖ วัน จำนวน ๖ ฉบับ ฉบับละ ๑ วัน ดังนี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือมติชน ฉบับวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ฉบับลงวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๔ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ซึ่งในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ คณะกรรมการดังกล่าวได้แจกเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยรวมถึงระเบียบว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นฯ คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รายละเอียดที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทดำเนินการ รวมทั้งร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ภายหลังรับฟังความคิดเห็นแล้วคณะกรรมการฯ ได้จัดทำรายงานความคิดเห็นของประชาชนเสนอต่อคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท
คณะกรรมการเตรียรมการจัดตั้งบริษัทได้เสนอข้อมูลรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเพื่อพิจารณา ตามหนังสือ ที่ กค ๐๒๐๙.๓/๑๒๖๐ ลงวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๔ โดยมีสาระสำคัญว่า ให้โอนกิจการทั้งหมดที่ ปตท. ดำเนินการเอง รวมถึงที่ ปตท. ดำเนินการผ่านบริษัทในเครือโดยการเข้าร่วมทุนกับผู้ถือหุ้นอื่น ๆ ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้โอนอำนาจและสิทธิต่าง ๆ ที่ ปตท. มีอยู่ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๑๕๒๑ รวมถึงอำนาจ สิทธิ ภาระผูกพัน และประโยชน์อื่น ๆ ที่ ปตท. มีอยู่หรือได้รับตามกฎหมายหรือตามมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทั้งหมด และให้โอนสินทรัพย์ หนี้สินและส่วนของทุนทั้งหมดของ ปตท. ไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ในราคาตามบัญชี ณ วันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ในส่วนของร่างพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 26 ให้โอนอำนาจทั้งหมดที่ ปตท. มีอยู่ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เว้นแต่กรณีตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับแล้ว นอกจากนี้ คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งได้เสนอขออนุมัติหรือความเห็นชอบจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในหลักการและกำหนดเป็นนโยบายเพิ่มเติมจากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 คือ การจัดตั้งบริษัท ปตท. ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จำกัด และบริษัท ปตท. ท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด (หรือภายใต้ชื่ออื่นหากมีการเปลี่ยนแปลง) เป็นการจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ตามนโยบายแยกกิจการท่อก๊าซ จึงเห็นสมควรให้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ได้รับการสนับสนุนในเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับเพื่อให้การบริหารเงานและการำดำเนินกิจการของผู้ถูกฟ้องร้องคดีที่ 4 และบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่เป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูง คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจมีหนังสือ ที่ กค 0209.3/17803 ลงวันที่ 24 กันยายน 2544 ไปยังเลขาธิการคณะรัรฐมนตรีเพื่อนำเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่าคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสหาหกิจในการประชุมครั้งที่ 2/2544 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2544 มีมติเห็นชอบในประเด็นสำคัญการดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท จึงเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 พิจารณาให้ความชอบ รวมทั้งอนุมัติให้เปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นและจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต่อมา วันที่ 25 กันยายน 2544 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติเห็นชอบการแปลงทุนเป็นทุนเรือนหุ้นของ ปตท. ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามที่คณะกรรมการเตรรียมการจัดตั้งเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ โดยให้เปลี่ยนทุนเป็นหุ้น และจัดตั้งบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ให้ภาครัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 51
ต่อมา มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจได้รับยกเว้นมีสิทธิพิเศษ หรือได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือกฎหมายอื่นกำหนดไว้ให้แก่ ปตท. และให้ทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ได้มาจากการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าก่อนหรือหลังการจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อเป็นสินทรัพย์ที่ไม่อยู่ในความรับผิดชอบแห่งการบังคับคดี อีกทั้งให้ลูกจ้างของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสร้างและบำรุงรักษาคลังปิโตรเลียม และระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 โยกำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 พระราชกำหนดการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2523 และพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2537 ตั้งแต่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 และให้กใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป และในวันที่ 1 ตุลาคม 2544 มีการจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ชื่อ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 ทุนจดทะเบียน 28,572,457,250.00 บาท มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการปิโตรเลียม รวมถึงการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม รวมถึงการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับหรือสนับสนุนการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม ฯลฯ รวมทั้งประกอบกิจการและดำเนินธุรกิจอื่นๆ รวม 40 ข้อ
ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นำหุ้นสามัญจดทะเบียนต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยดำเนินการตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด ทั้งได้ออกหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไป ในราคาเสนอขายเบื้องต้น 31 ถึง 35 บาทต่อหุ้น กำหนดระยะเวลาจองซื้อสำหรับผู้จองซื้อรายย่อยและบุคคลทั่วไป ในวันที่ 15 ถึงวันที่ 16 และวันที่ 19 ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2544 ผ่านตัวแทนจำหน่ายหุ้นเป็นธนาคารไทยพาณิชย์จำนวน 5 แห่ง โดยวิธีจองซื้อแบบ online ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารด้วยวิธีจองชื่อก่อน จ่ายเงินก่อน จัดสรรก่อน ซึ่งปรากฎว่าประชาชนทั่วไปสนใจอย่างมาก ทำให้ตัวแทนจำหน่ายหุ้นในประเทศปิดรับจองซื้อภายในเวลาอันสั้น มีประชาชนทั่วไปได้รับจัดสรรหุ้นส่วนนี้ 11,109 คน
ในระหว่างที่คดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)พ.ศ.2544)โดยให้มีคณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจ สิทธิและประโยชน์อื่นที่กำหนดให้เป็นของ ปตท. ตามพาระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เป็นของคณะกรรมการดังกล่าว และให้บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 โดยผลของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 สิ้นสุดลงเมื่อพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้มีผลใช้บังคับ (ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550) โดยให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ต่อมา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีหนังสือ ที่ 530/20/63 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง เรื่อง ขอยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มาโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลลางโปรง ตำบลบางด้วน ฯลฯ พ.ศ.2529 ให้กระทรวงการคลัง โดยแจ้งว่า ปตท.ได้เวนคืนที่ดินตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จำนวน 106 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 32 ไร่ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติในอ่าวไทย โดยใช้ก่อสร้างระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อบนบก ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 รับโอนที่ดินที่เวนคืนดังกล่าวโดยผลของกาเปลี่ยนสภาพตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 พิจารณาแล้วเห็นว่าที่ดินดังกล่าวควรอยู่ในการกำกับดูแลของทางราชการ จึงมีความประสงค์ที่จะยกกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้กระทรวงการคลัง โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังคงใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อบนบกตามวัตถุประสงค์การเวนคืนดังกล่าวได้ตลอดไป โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ ให้แก่กระทรวงการคลังหรือทางราชการ
ต่อมา มีการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 124 ตอนที่ 89 ก หน้า 12 ถึง 64 เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ในพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยมีคุณสมบัติตามที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนด มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย รวมถึงอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาต และการกำหนดค่าบริการให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุน ความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานและผู้รับใบอนุญาต รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดราคาเพื่อความเป็นธรรมกับผู้ใช้พลังงานและผู้ประกอบกิจการ และสำหรับบทบัญญัติเกี่ยวกับการใช้อสังหาริมทรัพย์ มีสาระสำคัญว่า กรณีที่มีความจำเป็นที่ผุ้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจะต้องใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการเวนคืนตกเป็นของแผ่นดิน โดนสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีหน้าที่ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว และสำนักงานดังกล่าวประกาศเขตระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และผู้ประกอบการเอกชนอื่น ภายหลังจากที่คณะกรรมการประกอบกิจการพลังงานให้ความเห็นชอบการวางระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติตามที่ผู้รับอนุญาตเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติตามที่ผู้รับใบอนุญาตเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบโครงข่ายดังกล่าว และได้จัดตั้งทำแผนผัง ทิศทางและแนวเขตในการวางระบบโครงข่ายต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว และเมื่อการประกาศเขตระบบแล้ว ผู้รับใบอนุญาตมีอำนาจวางระบบโครงข่ายพลังงานไม่ได้ เหนือตาม หรือข้างระบบโครงข่ายพลังงานของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ดินของบุคคลใด รวมทั้งปักหรือตั้งเสา หรืออุปกรณ์ในพื้นดินของบุคคลใดที่มิใช่เป็นที่ตั้งของโรงเรือน ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น จ่ายค่าใช้ประโยชน์ตามหลักเกณฑ์เงือนไขและวิธีการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประกาศกำหนด ทั้งนั้ในบทเฉพาะกาลบัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ประกอบกิจการพลังงานต่อไปได้จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ต้องปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และเพื่อให้การประกอบกิจการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สามารถดำเนินการงานได้ต่อไปมิให้นำมาตรา 26 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาใช้บังคับกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวให้พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับคดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นก่อนเกี่ยวกับอำนาจศาลปกครองและเงื่อนไขการฟ้องคดีว่า ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจรับคำฟ้องไว้พิจารณาพิพากษาได้หรือไม่
ผู้ฟ้องคดีทั้งหายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ดำเนินการเปลี่ยนสภาพ ปตท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ไปเป็นรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 โดยกระบวนการเปลี่ยนสภาพ และการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ขัดต่อพระราบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นขอให้ศาลปกครองสูงสุดเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจโดยการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นในรูปแบบบริษัท ซึ่งอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 นั้น พระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดขั้นตอนดำเนินการอันเป็นสาระสำคัญไว้หลายขั้นตอนต่อเนื่องสัมพันธ์เป็นกระบวนการเดียวกัน โดยภายหลังที่รัฐบาลมีนโยบายจะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจใดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทแล้ว คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจต้องเสนอความคิดเห็นต่อผู้ถูกฟ้องคดีที 1 เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนวทางการนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบบริษัทและเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อนุมัติในหลักการแล้ว คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทซึ่งประกอบด้วยกรรมการโดยตำแหน่งและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิรวมทั้งผู้แทนพนักงานรัฐวิสาหกิจนั้น เป็นผู้ดำเนินการในรายละเอียดและเสนอแนะเกี่ยวกับบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นรวมถึงการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อจำกัดหรืองดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจที่จะโอนไปเป็นของบริษัทตามมาตรา 26 และร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกรัฐวิสาหกิจในกรณีมีการโอนกิจการของรัฐวิสาหกิจไปทั้งหมดตามมาตรา 28 รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจกำหนด ตามบทบัญญัติมาตรา 19 แล้วเสนอรายงานรายละเอียดต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ พิจารณาอนุมัติเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุมัติในรายละเอียดให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น ตลอดจนอนุมัติให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจโอนไปเป็นของบริษัทหรือกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณี และอนุมัติจัดตั้งบริษัทแล้ว จึงตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว และดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ อนุมัติให้เปลี่ยนทุนทั้งหมดของ ปตท. เป็นหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และให้โอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและทรัพย์สินทั้งหมดของ ปตท. ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ และมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๖ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๘ ให้มีผลใช้บังคับในวันเดียวกับวันที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ คือ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๔ จะเห็นได้ว่า การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนสถานะของ ปตท. จากรัฐวิสาหกิจ ประเภทองค์การของรัฐไปเป็นรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนสภาพ ปตท. เป็นบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รวมตลอดการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาที่ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา ๑๑ (๒) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ถึงที่ ๓ อ้างว่า ประเด็นกระบวนการเปลี่ยนสภาพ (แปลงสภาพ) ปตท. และจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นนั้นไม่ต้องด้วยกับความเห็นของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจาก
/การกระทำ...
หน้า 50
รายละเอียดต่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจและผู้ถูกฟ้องคิดที่ 1 พิจารณาอนุมัติเมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อนุมัติในรายละเอียดให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้น ตลอดจนอนุมัติให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจโอนไปเป็นของบริษัทหรือกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณี และอนุมัติจัดตั้งบริษัทแล้ว จึงตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว และดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งปรากฎว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อนุมัติให้เปลี่ยนทุนทั้งหมดของ ปตท. เป็นหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และให้โอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดชอบและสินทรัพย์ทั้งหมดของ ปตท. ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 ที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 26 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามมาตร 28 ให้มีผลใช้บังคับในวันเดียวกับวันที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 คือ วันที่ 1 ตุลาคม 2544 จะเห็นได้ว่า การตราพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนสถานะของ ปตท. จากรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐไปเป็นรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนสภาพ ปตท. เป็นบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 รวมตลอดการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมายขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของพระราชกฤษฎีกาที่ศาลปกครองสูงสุดมีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามมาตรา 11 (2) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 อ้างว่า ประเด็นกระบวนการเปลี่ยนสภาพ (แปลงสภาพ) ปตท. และจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นนั้นไม่ต้องด้วยกับความเห็นของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว
มีปัญหาต้องพิจารณาต่อไปว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามีสิทธิฟ้องคดีนี้หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 กำหนดว่า ผู้ใดได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ อันเนื่องจากการกระทำหรืองดเว้นการกระทำของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายหรือยุติข้อโต้แย้งนั้น ต้องมีคำบังคับตามที่กำหนดในมาตรา 72 ผู้นั้นมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง โดยที่วินิจฉัยแล้วว่า การเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจโดยการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นในรูปแบบบริษัทตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 กำหนดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญไว้หลายขั้นตอนต่อเนื่องสัมพันธ์เป็นกระบวนการเดียวกัน และการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเปลี่ยนสถานะของ ปตท.จากรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐไปเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งในกระบวนการก่อนการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้ จะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องที่เป็นสาระสำคัญหลายเรื่อง เช่น การกำหนดกิจการ สิทธิ หนี้ความรับผิด และสินทรัพย์ของปตท. ส่วนที่จะโอนให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และส่วนที่จะให้ตกเป็นของกระทรวงการคลัง การกำหนดทุนเรือนหุ้นหรือทุนจดทะเบียน จำนวนหุ้น มูลค่าหุ้น รวมทั้งการจัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้ด้วย ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 นอกจากนั้น ผลของการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีการนำหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่เปลี่ยนมาจากทุนของปตท.ไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและเสนอขายหุ้นบางส่วนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรกด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการต่อเนื่องภายหลังการเปลี่ยนสภาพเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แล้ว และเป็นกระบวนการที่มีการเตรียมการและดำเนินการในรายละเอียดเกี่ยวกับการนำหุ้นเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในขั้นตอนการดำเนินการตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเห็นชอบด้วย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติอนุมัติให้นำหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในคราวมีมติอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนสภาพ ปตท.ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 และอนุมัติในรายละเอียดเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2544 ฉะนั้น ในกระบวนการเปลี่ยนสภาพ ปตท. ไปเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว ประชาชนทั่วไปมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอยู่ด้วย โดยเฉพาะในขั้นตอนการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการเสนอขายหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรกแม้ว่าในขั้นตอนการเสนอขายหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะเกิดขึ้นภายหลังการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว แต่ก็เป็นผลโดยตรงจากการเปลี่ยนสภาพ ปตท.และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวที่ดำเนินการในกระบวนการเดียวกันดังนั้น เมื่อผู้ฟ้องคดีที่ 1 เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ข้อบังคับของมูลนิธิระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่า เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ส่งเสริมและประสานงานให้ผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคมีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ฟ้องว่าการเปลี่ยนสภาพ ปตท. ไปเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ และพระราชกฤษฎีการกำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2544 มีเนื้อหาสาระขัดต่อกฎหมายเช่น องค์ประกอบและคุณสมบัติของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.ขัดต่อกฎหมายอันมีผลทำให้พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่ชอบด้วยกฎหมายและเสียไปการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่เป็นไปตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนด มีการโอนที่ดินและสิทธิการใช้ที่ดินระบบท่อก๊าซธรรมชาติที่เดิมเป็นของ ปตท. อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไปเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกำหมายเอกชน และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับสิทธิพิเศษเหนือสาธารณชนทั่วไปรวมทั้งมีอำนาจมหาชนของรัฐในการเวนคืนที่ดินและรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน กำหนดราคาหุ้นและจัดสรรหุ้นไม่เป็นธรรมรวมทั้งวิธีการกระจายหุ้นให้ประชาชนไม่ทั่วถึงเป็นธรรมการแปรรูป ปตท. ทำให้ประชาชนต้องใช้น้ำมันและก๊าซหุงต้มราคาแพงเกินควรศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การฟ้องคดีนี้เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินของประเทศอันมีมูลค่าสูงและเกี่ยวข้องกับการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมทั้งอำนาจมหาชนของรัฐหากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า กระบวนการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวมีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายอันมีสภาพร้ายแรงจนถือได้ว่าการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ไม่มีผลในทางกฏหมายหรือมีการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรืออำนาจมหาชนของรัฐโดยไม่ชอบด้วยกฏหมายศาลย่อมมีอำนาจกำหนดบังคับได้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง ประกอบกับมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ การฟ้องคดีนี้จึงเกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ และถือได้ว่าเป็นการดำเนินการภายในขอบวัตถุประสงค์ของผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการเปลี่ยนสภาพปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒
ส่วนผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงผู้ฟ้องคดีที่ ๕ ในฐานะเป็นประชาชนผู้ใช้น้ำมันและก๊าซของ ปตท. ซึ่งยื่นคำร้องฟ้องร่วมกันเป็นฉบับเดียวกับผู้ฟ้องคดีที่ ๑ โดยอ้างเหตุแห่งการฟ้องคดีเป็นอย่างเดียวกัน ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ในกระบวนการเปลี่ยนสภาพปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาขน และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ รวมทั้งร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังที่วินิจฉัยแล้ว ซึ่งข้อ ๙(๓) ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสหากิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้คณะกรรมการจัดจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นโดยคำนึงนถึงความเป็นอิสระของผู้แสดงความคิดเห็น และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเป็นลำดับแรกก่อน ปรากฏว่าในการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวักบการเปลี่ยนสภาพ ปตท. คระกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นโดยในแบบลงทะเบียนร่วมแสดงความคิดเห็นกำหนดให้ระบุสถานภาพของผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นว่าเป็นลูกค้าก๊าซธรรมชาติ ปตท.ลูกค้าน้ำมัน ปตท. ลูกค้าผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมี ปตท. ลูกค้าผลิตภัณฑ์อื่นของ ปตท. ผู้ประกอบอาชีพประเภทต่างๆ รวมทั้งอาชีพอิสระ และสถานภาพอื่นๆ โดยเว้นช่องว่างให้กรอกข้อความ อันแสดงว่าคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเห็นว่า นอกจากลูกค้า ปตท. แล้วประชาชนทุกสถานภาพและทุกอาชีพเป็นผู้มีส่วนได้เสียและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพของ ปตท. จึงกำหนดให้มีสิทธิเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นดังกล่าว ดังนั้นผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้น้ำมันและก๊าซของ ปตท. แม้จะมิได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพของ ปตท. ในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๔ ที่คณะกรรมการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกำหนดขึ้น แต่การที่ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ ฟ้องว่า การเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ จัดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นเพียงหนึ่งครั้ง ประกาศในหนังสือพิมพ์ไม่ถูกต้อง และจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดไว้ ย่อมถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับที่ดำเนินการต่อเนื่องในกระบวนการเดียวกัน มีการจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ เป็นบริษัทมหาชนจำกัด และนำหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีการเสนอขายหุ้นบางส่วนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก ซึ่งผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ อ้างว่าการกำหนดราคาหุ้น การจัดสรรหุ้น และการกระจายหุ้นไม่ทั่วถึงเป็นธรรม โดยเมื่อเปิดให้มีการจองหุ้นวันแรก หุ้นถูกจองหมดภายในเวลา ๑ นาที ๗ วินาที และกระจุกอยู่ในบุคคลบางกลุ่มเท่านั้น ดังปรากฏเป็นข่าวในสื่อมวลชนทั่วไป แม้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้เข้าร่วมแสดงความจำนงจองซื้อหุ้นด้วยหรือไม่ แต่เมื่อหุ้นที่นำออกขายต่อประชาชนทั่วไป ครั้งแรกถูกจองซื้อหมดภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งนาทีเศษ แสดงให้เห็นว่าแม้ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ ไปร่วมแสดงความจำนงจองซื้อหุ้นด้วยก็อาจจะจองซื้อไม่ได้ จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ และมีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา ๔๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ก็ได้ให้การรับรองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติไว้ในมาตรา ๗ (๑) และ (๒) ว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานทั้งทางด้านอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ และเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงานชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาตในการมีส่วนร่วม เข้าถึงใช้ และจัดการด้านพลังงานภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงานและประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วม เข้าถึงใช้ และจัดการด้านพลังงาน ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในด้านที่เกี่ยวกับจากการการจัดการด้านพลังงานก๊าซธรรมชาติของผู้ถูกฟ้องคดีทั้สี่ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การโต้แย้งว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่มีสิทธิฟ้องคดีโดยอ้างเหตุผลหลายประการาจึงฟังไม่ขึ้น
ในข้อที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การโต้แย้งว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ถูกยกเลิกและสิ้นสุดลงแล้ว โดยประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 คำฟ้องทุกประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าขัดรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงไม่มีมูลนั้นศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิรูปฯ ฉบับดังกล่าว แต่ตามคำฟ้องเป็นกรณีกล่าวหาว่าการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับขัดหลักประกันสิทธิและเสรีภาพและความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญซึ่งนอกจากรัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 จะบัญญัติรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนชาวไทยไว้แล้ว ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ซึ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2549 มาตรา 3 ก็บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลไว้ รวมทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็บัญญัติรับรองไว้เช่นเดียวกันสือเนื่องตลอดมา ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่จึงไม่อาจรับฟังได้
มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่า คดีนี้ยื่นฟ้องภายในกำหนดเวลาการฟ้องคดีหรือไม่ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การฟ้องคดีขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกาต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2544 และมีผลใช้บังคับตั้งแตวันที่1 ตุลาคม 2544 ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ารู้การประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเมื่อใด ทั้งผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่ได้กล่าวอ้างว่ารู้การประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเมื่อใด จึงถือได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้าได้รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้านำคดีมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 จึงพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างในคำฟ้องว่า การฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อการค้มครองประโยชน์สาธารณะและอ้างในคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ไม่อาจยกปัญหาการขาดอายุความขึ้นอ้างได้เนื่องจากเป็นการฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายอมรับว่ายื่นฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว
ปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า การฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ หรือจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมที่ศาลรับไว้พิจารณาได้แม้ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาการฟ้องคดีแล้ว หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จะพิจารณาว่าเป็นการฟ้องคดีปกครองเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะหรือจะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ที่ศาลปกครองรับไว้พิจารณาพิพากษาได้ตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 นั้นต้องพิจารณาถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากคำพิพากษาในคดีนั้นเป็นสำคัญ คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่าการเปลี่ยนสภาพ ปตท. ไปเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 มีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ และพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 มีเนื้อหาสาระขัดต่อกฎหมายโดยกล่าวอ้างด้วยว่า ผลของการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ทำให้มีการโอนที่ดินที่ได้จากการเวนคืนและที่ดินตามแนวท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอสังหาริมทรัพย์อันเป็นส่วนควบของที่ดินดังกล่าวอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่เดิมเป็นของ ปตท. ไปเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน และมีการโอนสิทธิการใช้ที่ดินรวมทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นทรัพยสิทธิติดอยู่กับที่ดินจำนวน 3 โครงการ ไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีเอกสิทธิ์เหนือสาธารณชนทั่วไปโดยไม่มีกำหนด ระยะเวลาสิ้นสุด รวมทั้งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ที่อำนาจมหาชนของรัฐในการเวนคืนที่ดินและรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน โดยได้รับความคุ้มครองทั้งหมดตามกฏหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า การเปลี่ยนสภาพ ปตท.โดยการเปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รวมทั้งการตราพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับ ตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากเป็นกรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพย์สินอันมีมูลค่าสูงของประเทศและเกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของชาติแล้วยังเกี่ยวข้องกับการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และการมีอำนาจมหาชนของรัฐเหนือสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคลที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ การกระทำตามคำฟ้องจึงมีผลกระทบทั้งต่อทรัพย์สินของรัฐและทรัพย์สินของประชาชนในวงกว้าง การฟ้องคดีนี้จึงถือได้ว่าเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์ หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าการเปลี่ยนสภาพ ปตท. และการตราพระราชกฤษฏีกาทั้งสองฉบับมีการกระทำที่ขัดกฏหมายอันมีสภาพร้ายแรงจนถือได้ว่าไม่มีผลทางกฏหมาย หรือมีการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินรวมทั้งอำนาจมหาชนของรัฐไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ โดยไม่ชอบด้วยกฏหมาย ศาลย่อมมีอำนาจเพิกถอนพระราชกฤษฏีกาที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายได้ รวมทั้งมีอำนาจกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้ตามความเป็นธรรมแก่กรณี ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ การยื่นฟ้องคดีนี้จึงถือได้ว่าเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ ตามมาตรา ๕๒ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ และแม้ว่าเนื้อหาของพระราชกฤษฏีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฏหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔ จะระบุเพียงเงื่อนเวลายกเลิกกฏหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเท่านั้น แต่ในขั้นตอนการตราพระราชกฤษฏีกาฉบับนี้ได้ดำเนินการพร้อมกับการตราพระราชกฤษฏีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔ และดำเนินการในกระบวนการเดียวกับการกำหนดรายละเอียดการเปลี่ยนสภาพ ปตท.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งในขั้นตอนดำเนินการในรายละเอียดของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และการพิจารณาอนุมัติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ โดยคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสนอให้โอนสินทรัพย์ หนี้สิน และทุนทั้งหมดของ ปตท.ไปเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในวันที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ซึ่งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจพิจารณาแล้วมีมติให้ความเห็นชอบ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติอนุมัติ ปรากฎตามหนังสือคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ที่ กค 0209.3/1260 ลงวันที่ 19 กันยายน 2544 หนังสือคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ที่ กค 0209.3/17803 ลงวันที่ 24 กันยายน 2544 และหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร.0205/10871 ลงวันที่ 28 กันยายน 2544 ฉะนั้น การพิจารณาว่า กระบวนการเปลี่ยนสภาพ ปตท.เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาไปพร้อมกัน ที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การโต้แย้งว่าการยื่นฟ้องคดีนี้ไม่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงรับคำฟ้องนี้ไว้พิจารณาพิพากษาได้ และเมื่อวินิจฉัยเช่นนี้แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า การยื่นฟ้องคดีนี้จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือไม่ อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนไปแต่อย่างใด
คดีมีประเด็นแห่งคดีที่ต้องวินิจฉัยเพียงประเด็นเดียวว่า พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ตราขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายพิเศษที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบให้ฝ่ายบริหารดำเนินการเปลี่ยนสภาพหรือเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจจากประเภทองค์การของรัฐตามที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นให้เห็นรูปแบบบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดได้ โดยไม่ต้องเสนอกฎหมายต่อฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญไว้ในมาตรา 4 ว่า ในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจใดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทให้กระทำได้ตามพระราชบัญญัตินี้ การดำเนินการเริ่มต้นแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เสนอความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทตามาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 แล้ว จึงไปสู่ขั้นตอนการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งและดำเนินการของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท และคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกระบวนการในแต่ละขั้นตอนอย่างต่อเนื่องและสัมพันธ์กัน และเนื่องจากการดำเนินการเปลี่ยนสภาพของปตท.ซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 จากรูปแบบเดิมที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐตามที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นให้เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นรูปแบบบริษัทมหาชนจำกัดตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ดังนั้น การดำเนินการในทุกขั้นตอนจึงมีความสำคัญ และต้องเป็นไปเพื่อการปกป้องการดำเนินการที่รัฐธรรมนูญถือว่าอยู่ในอำนาจหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติโดยเคร่งครัด เมื่อได้ดำเนินการเสร็จสิ้นในแต่ละขั้นตอนโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงจะดำเนินการในขั้นตอนสุดท้ายต่อไปได้ คือ การดราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจตามมาตรา 28 ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงจะทำให้การเปลี่ยนสภาพของ ปตท.ไปเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เสร็จสมบูรณ์
สำหรับกระบวนการและขั้นตอนในการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว นั้น มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่า การแต่งตั้งนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ และนายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ชอบด้วยพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 หรือไม่
ในประเด็นนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่า การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว และกระบวนการเปลี่ยนสภาพ ปตท.เป็นบริษัทมหาชนจำกัดขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ตั้งแต่เริ่มต้น เนื่องจากพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดกระบวนการเปลี่ยนสภาพของรัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐตามที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นให้เป็นรูปแบบของบริษัท โดยบัญญัติขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญไว้ตามมาตรา 4 มาตรา 13 และมาตรา 16 แต่ปรากฏว่ามีการแต่งจั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.และดำเนินการประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ และดำเนินการอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2544 ให้เปลี่ยนสภา ปตท.เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ตามมติคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่บัญญัติให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 3 คน โดยต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินและการบัญชี และในกิจการหรือการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างน้อยด้านละ 1 คน แต่ปรากฏว่า กรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทผู้ทรงคุณวุฒิมีเพียงหนึ่งคนเท่านั้น คือ นายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในส่วนของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทนั้น มาตรา 16 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 กำหนดว่า เมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทแล้ว ให้มีคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ประกอบด้วยปลัดกระทรวงหรือทบวงซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้น เป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมทะเบียนการค้า ผู้อำนวยการค้าสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจนั้น ผู้แทนพนักงานของรัฐวิสาหกิจหนึ่งคน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกินสามคน ซึ่งแต่งตั้งตามความเหมาะสมของการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นหุ้นเป็นกรรมการ และผู้แทนกระทรวงการคลังเป็นกรรมการและเลขานุการ และมาตรา 16 วรรคสอง กำหนดคุณสมบัติของกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไว้ว่า ให้แต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินและบัญชี และในกิจการหรือการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างน้อยด้านละหนึ่งคน และจะต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17(5) ประกอบกับ มาตรา 5 และมาตรา 9 (4) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันภายในระยะเวลาสามปีก่อนได้รับแต่งตั้งคือ ต้องไม่เป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนทุนเป็นหุ้น ซึ่งเป็นลักษณะต้องห้ามที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติอนุมัติตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการแปรรูป ปตท. ซึ่งเป็นการอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 เป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทแล้ว ปรากฏตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ นร 0205/6728 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2544 และคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2544 เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 เห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท. ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงาน ต่อมาประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนพนักงานเป็นกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ตามคำสั่งที่ 1/2544 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 ประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายสืบตระกูล สุนทรธรรม กรรมการรองกรรมการผู้จัดการบริษัท ล็อกซเล่ย์ จำกัด (มหาชน) และแต่งตั้งนายณฐกร แก้วดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ปตท. เป็นกรรมการผู้แทนพนักงานและมีคำสั่งที่ 2/2544 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2544 แต่งตั้งนายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารเพือการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เข้าร่วมเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม โดยผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่อ้างว่าเป็นการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินและการบัญชีแทนนายสืบตระกูล ศาลปกครองสูงสุดมาพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจจะเป็นคณะบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ ในการเสนอความคิดเห็นต่อผู้ถูกห้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนวทาง ให้ดำเนินการนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจ มาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 (1) แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้อนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2544 ตามที่คณะกรรมการดังกล่าวเป็นผู้พิจารณามีมติ และสั่งการในเรื่องนโยบายพลังงานแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ก่อนแล้ว แม้จะเป็นการพิจารณาอนุมัติตามที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติเสนอ ซึ่งเป็นองค์กรที่มิได้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก็เป็นคณะบุคคลผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบบริษัทได้ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีอำนาจอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจใดเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท มาตรา ๑๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ประกอบกันในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจมีมติเห็นชอบแนวทางการแปรรูป ปตท. ตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติแล้ว และต่อมามีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ดังนั้น เมื่อการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้แต่งตั้งภายหลังวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีมติอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัทแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ว่า มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จะอนุมัติในหลักการเปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นของบริษัท จึงฟังไม่ขึ้น สำหรับในส่วนของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัททั้งสามคนที่ได้รับการแต่งตั้งคำสั่งทั้งสองฉบับดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย นายปิยสวัสดิ์ นายเชิดพงษ์ และนายธีระ นั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ในขณะที่บุคคลดังกล่าวได้รับแต่งตั้ง ปรากฏว่า นายปิยสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ โดยคณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลติดตาม ประสาน สนับสนุนและเร่งรัดการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ (๓) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้นส่วนนายเชิดพงษ์ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๓ (๑) แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ.๒๕๓๗ และนายธีระ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บุคคลทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นผู้มีคุณสมบัติ และมีความรู้ มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกิจการการดำเนินการของ ปตท. และทางการเงินและบัญชีด้วยอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งตามมาตรา ๑๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ แล้ว ประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่า นายปิยสวัสดิ์ และนายเชิดพงษ์ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทซึ่งมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 17 ประกอบกับมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 นั้น
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 17 ประกอบกับมาตรา 9(4) แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ที่เป็นหรือภายในสามปีก่อนวันได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเคยเป็นกรรมการในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุน หรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นนั้น มีเจตนารมณ์ที่จะห้ามมิให้บุคคลที่มีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ทับซ้อนกับกิจการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นเข้ามาทำหน้าที่เป็นกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำให้การเพิ่มเติมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า การมอบหมายให้นายปิยสวัสดิ์ซึ่งเป็นข้าราชการประจำ ตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติในขณะนั้น ไปดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งขณะนั้นบริษัทมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจโดยภาครัฐถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุนทั้งหมด ส่วนกรรมการบริษัท ขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด นั้น บริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทลูกของบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด อันมีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นแกนนำในการจัดตั้งขึ้น ซึ่งในขณะนั้นประกอบด้วยผู้ถือหุ้นภาครัฐ ได้แก่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และ ปตท.ถือหุ้นรวมกันร้อยละ 49 และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ถือหุ้นอีกร้อยละ 11 ของทุนทั้งหมด และการมอบหมายให้นายเชิดพงษ์ ซึ่งเป็นข้าราชการประจำตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีในขณะนั้น ไปดำรงตำแหน่งประธานกรรมการในบริษัทปุ๋ยแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยได้รับมอบหมายจากทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องหรือที่เป็นผู้ถือหุ้น ฉะนั้น การที่นายปิยสวัสดิ์ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ และนายเชิดพงษ์ ดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ซึ่งมีสถานะเป็นข้าราชการระดับสูงในองค์กรของรัฐ โดยองค์กรของรัฐดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจการของปตท.บุคคลทั้งสองจึงเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากทางราชการให้เข้าเป็นกรรมการหรือเป็นประธานกรรมการในนิติบุคคลที่เป็นผู้ร่วมทุนกับภาครัฐ และเป็นไปเพื่อประโยชน์ขององค์กรของรัฐเองมิใช่เป็นเพื่อประโยชน์เฉพาะตัวของนายปิยสวัสดิ์ และนายเชิดพงษ์ กรณีจึงไม่อาจถือว่านายปิยสวัสดิ์ และนายเชิดพงษ์ เป็นผู้มีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งมีประโยชน์อันจะทำให้การกระทำใดๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทเสียไปทั้งหมด หรือไม่มีผลทางกฎหมายดังที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้าง ดังนั้น การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามคำสั่งที่ 1/2544 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2544 และคำสั่งที่ 2/2544 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2544 จึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ส่วนประเด็นที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ภายหลังที่ ปตท.เปลี่ยนสภาพเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แล้ว นายวิเศษ จูภิบาล และนายมนู เลียวไพโรจน์ ได้เข้าถือหุ้นและเข้าดำรงตำแหน่งในบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การเข้าถือหุ้นและการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ของนายวิเศษ เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ส่วนกรณีนายมนูเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 18 ประกอบกับความในตอนท้ายของมาตรา 12 ที่กำหนดมิให้นำข้อห้ามการถือครองหุ้นหรือการเป็นกรรมการหรือผู้มีอำนาจในการจัดการในบริษัทที่จะจัดตั้งขึ้นจากการเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นมาใช้บังคับกับกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทซึ่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจและข้าราชการประจำที่ได้รับมอบหมายจากทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องการเข้าถือหุ้นและการเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของนายวิเศษ และนายมนูในผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนสภาตามพระราบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 แล้วจึงไม่มีผลกระทบต่อกระบวนการเปลี่ยนสภาพที่เกิดขึ้นก่อนการเข้าถือหุ้นของนายวิเศษและนายมนูแต่อย่างใด ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าที่ว่า บุคคลทั้งสองเข้าถือหุ้นและดำรงตำแหน่งในผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจรับฟังได้ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่
ในประเด็นนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่า การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มาตรา 13 และมาตรา 19 ที่กำหนดว่า ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ถูกต้อง ไม่เปิดเผย และไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางตามระเบียงคณะกรรมนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2543 มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพียงหนึ่งครั้งเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2544 และจัดเพียงแห่งเดียวที่กรุงเทพมหานคร จำนวนผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมีจำนวนน้อยมาก โดยปรากฎในหนังสือพิมพ์ชน วันที่ 7 กันยายน 2544 ก่อนวันรับฟังความคิดเห็นเพียงวันเดียวประกาศรายชื่อผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน 1,173 คน และมีการตั้งขัอจำกัดเรื่องจำนวนคนเข้าร่วมรับฟังตั้งแต่แรก โดยประกาศในหนังสือพิมพ์เชิญประชาชนเข้าร่วมมีข้อความว่า "สถานที่ประชุมมีที่นั่งเพียง 2,500 ที่นั่ง" การประกาศมิได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวที่กำหนดให้คณะกรรมการจัดทำประกาศโดยสรุปเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ และประกาศในหนังสือพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีจำหน่ายเผยแพร่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน ในฉบับเดียวกัน แต่ปรากฏว่ามีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันเพียงฉบับละ 1 วัน โดยประกาศในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ 21 สิงหาคม 2544 เพียงวันเดียว และในหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 23 สิงหาคม 2544 เพียงวันเดียว ทั้งมิได้สรุปเรื่องที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ประกาศเพียงเฉพาะหัวข้อที่จะรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น
ศาลปกครองสูงสุดวิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 15 (5) แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 บัญญัติให้คณะกรรมการนโยบายทุนวิสาหกิจมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามพระราชบัญญัตินี้ และตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้คณะกรรมการเตรียมจัดตั้งบริษัทมีหน้าที่กำหนดกิจการ สิทธิ ความรับผิด และสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจส่วนที่จะโอนให้แก่บริษัทที่จะจัดตั้งขึ้น และส่วนที่จะให้ตกเป็นของกระทรวงการคลัง กำหนดพนักงานที่จะให้เป็นลูกจ้างของบริษัท จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดเงื่อนเวลายุบเลิกรัฐวิสาหกิจ ในกรณีที่มีการโอนกิจการของรัฐวิสาหกิจไปทั้งหมด และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าว กำหนดสาระสำคัญ วิธีการ และกระบวนการในการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบประเด็น และข้อมูลที่จะจัดให้มีการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งวัน เวลา สถานที่ และการลงทะเบียนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นไว้ในข้อ ๙ ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๓ ว่า ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดำเนินการดังต่อไปนี้ (๑) จัดทำประกาศโดยสรุปเรื่องที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางวิทยุกระจายเสียง ประกาศโดยสรุปเรื่องที่จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ และประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย ที่มีการจำหน่ายแพร่หลายติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ วัน รวมถึงกำหนดวัน เวลา และสถานที่ในการลงทะเบียน และจัดให้มีการลงทะเบียนในคราวเดียวกัน รวมทั้งสิ้นเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน แต่ไม่เกิน ๑๕ วัน (๒) กำหนดจำนวนผู้แสดงความคิดเห็นตามที่เห็นสมควร และจัดเอกสารเกี่ยวกับเรื่องที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (๓) กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นโดยคำนึงถึงความเป็นอิสระของผู้แสดงความคิดเห็น และให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงเป็นอันดับแรก ซึ่งการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และการรับฟังความคิดเห็นตามข้อ ๙ ของระเบียบดังกล่าว ถือเป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญสำหรับการดำเนินการเปลี่ยนสภาพรัฐวิสาหกิจที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งได้รับแต่งตั้งจากคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทตามคำสั่งที่ ๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๔๔ จัดให้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๔ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้ลงทะเบียน ๑,๘๗๗ คน จำนวนผู้ลงทะเบียนหน้างาน ๒๖๓ คน มีจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม๗๓๓ คน และจัดให้มีการถ่ายทอดเสียงการรับฟังความคิดเห็นผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตั้งแต่เวลา ๙ นาฬิกา ถึง ๑๒ นาฬิกา และมีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ ตลอดจนรายงานสถานการณ์ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ และไอทีวี และยูบีซี ช่อง ๘ (เป็นตัวอักษรวิ่งด้านล่าง) และทางสื่อวิทยุโดยสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย FM.๘๗.๕ FM.๙๐.๕ FM.๙๔.๕ FM.๙๕.๐ FM.๙๖.๕ FM.๑๐๖.๕ และ AM.๑๑๐๗ มก. และทางสื่อหนังสือพิมพ์ จัดให้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันติดต่อกัน ๖ ฉบับ ฉบับละ ๑ วัน ได้แก่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ หนังสือพิมพ์เดอะ เนชั่น ฉบับที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๔ และหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๔ ซึ่งในการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นได้แจกเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงระเบียบว่าด้วยการรรับฟังความคิดเห็น คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินการประกาศทางหนังสือพิมพ์ดังกล่าวจะมิได้ประกาศลงในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทยฉบับเดียวกันติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ วัน ตามข้อ ๙(๑) ของระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๓ ก็ตาม แต่การที่คณะกรรมการดังกล่าวจัดให้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายถึง ๖ ฉบับ ฉบับละหนึ่งวันเป็นเวลาติดต่อกันถึง ๖ วัน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย ถึง ๔ ฉบับ คือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน และกรุงเทพธุรกิจ และฉบับภาษาอังกฤษอีก ๒ ฉบับ คือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และเดอะ เนชั่น โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ให้การโต้แย้งว่า หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับมีกลุ่มผู้อ่านแตกต่างกันออกไป ได้แก่ กลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย กลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์ธุรกิจ และกลุ่มผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายวันภาษาอังกฤษ โดยมียอดตีพิมพ์ของแต่ละฉบับในแต่ละวัน คือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จำนวน ๘๗๖,๕๔๔ ฉบับ เดลินิวส์ จำนวน ๖๐๐,๐๐๐ ฉบับ มติชน จำนวน ๔๕๐,๐๐๐ ฉบับ กรุงเทพธุรกิจ จำนวน ๑๐๕,๐๐๐ ฉบับ บางกอกโพสต์จำนวน 70,000 ฉบับ และเดอะ เนชั่น จำนวน 58,000 ฉบับ ในประเด็นนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด เมื่อพิจารณาถึงจำนวนการตีพิมพ์เฉพาะหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการประชาสัมพันธ์และกลุ่มเป้าหมายของการประชาสัมพันธ์แล้วศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า เป็นการประชาสัมพันธ์ทางหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลาย และกลุ่มเป้าหมายก็มีความหลากหลายเพียงพอที่จะถือได้ว่า เป็นการประกาศทางหนังสือพิมพ์อย่างทั่วถึงและเป็นระยะเวลาเพียงพอ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบข้อมูลได้อย่างทั่วถึงแล้ว แม้ว่าการดำเนินการประกาศทางหนังสือพิมพ์ดังกล่าวของคณะกรรมการ จะถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อ 9 (1) แห่งระเบียบดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงผลของการประชาสัมพันธ์ด้วยวิธีการเช่นว่านั้นแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายได้ว่าผลการประชาสัมพันธ์ได้บรรลุวัตถุประสงค์แล้ว ดังนั้น จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ในข้อที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากในการประกาศเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระบุว่ามีที่นั่ง 2,500 ที่นั่ง ทำให้มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวนน้อย นั้น ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงรับกันว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในวันที่ 8 กันยายน 2544 มีผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าจำนวน 1,173 คน และในวันรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีผู้ลงทะเบียนเพิ่มอีกจำนวน 704 คน รวมผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 1,877 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นพนักงานการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยและบริษัทร่วมทุนจำนวน 1,143 คน และประชาชนทั่วไป 734 คน แต่มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นจำนวน 733 คน ซึ่งเห็นได้ว่า สถานที่ที่จัดไว้เพียงพอสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด และในการดำเนินกระบวนการพิจารณาของศาล ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จะรับฟังได้ว่า การที่คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นลดน้อยลงแต่อย่างใด และในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนก็สามารถกำหนดจำนวนผู้แสดงความคิดเห็นได้ตามที่เห็นสมควรตามข้อ 8 (2) ของระเบียบคณะกรรมการทุนรัฐวิสาหกิจ ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนพ.ศ.2543 ข้ออ้างของผู้ฟ้องคดีทั้งห้าในข้อนี้จึงไม่อาจรับฟังได้ ศาลปกครอบสูงสุดจึงเห็นว่า กระบวนการและขั้นตอนที่ได้กระทำก่อนการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในส่วนของบทบัญญัติในพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 นั้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า ชอยด้วยกฎหมายหรือไม่
ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ากล่าวอ้างว่า การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวขัดหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ การตราพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 เนื่องจากมีผลให้มีการโอนทรัพย์สินและสิทธิซึ่งเดิมเป็นของ ปตท. ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกชน ได้แก่ ที่ดินที่ ปตท. ได้มาจากการเวนคืนก่อนการเปลี่ยนสภาพ และที่ดินตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติสายประธาน รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์อันเป็นส่วนควบที่ดินดังกล่าว ซึ่งล้วนเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 และมีการโอนสิทธิการใช้ที่ดินรวมทั้งระบบท่อก๊าซธรรมชาติอันเป็นทรัพยสิทธิติดอยู่กับที่ดิน 3 โครงการ คือ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย ไปให้บริษัทที่ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีฐานะเป็นบริษัทเอกชนทำให้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้รับเอกสิทธิ์เหนือสาธารณชนทั่วไปโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดอันมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงขัดต่อมาตรา 30 และมาตรา 50 และไม่สอดคล้องกับมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนั้น และมาตรา 26 แห่งพระราชวบัญญัติทุน พ.ศ. ๒๕๔๒ อีกทั้ง การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๔ กำหนดให้ผู้ถึงฟ้องคดีที่ ๔ มีอำนาจ ได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษ หรือได้รับความคุ้มครองทั้งหมด ตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ทั้งที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ มีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชน แต่กลับมีอำนาจมหาชนของรัฐได้แก่ อำนาจเวนคืนที่ดิน อำนาจในการประกาศเขตระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน ตามมาตร ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๒ ถึงมาตรา ๓๖ และมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเห็นว่า เป็นการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ปตท. มีสถานะเป็นนิติบุคคลและเป็นองค์การของรัฐซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกิจการของรัฐ โดยทุนทั้งหมดของ ปตท. ได้มาจากเงินและทรัพย์สินของรัฐที่รับโอนมาจากกระทรวงกลาโหมในส่วนของกรมการพลังงานทหารและโรงกลั่นน้ำมัน องค์การเชื้อเพลิงและองค์การก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ทรัพย์สินดังกล่าวของ ปตท. ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา ๙ และมาตร ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ และบทบัญญัติในมาตรา ๗ และมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้ ปตท. มีอำนาจถือกรรมสิทธิ์ มีสิทธิครอบครอง หรือมีทรัพยสิทธิต่างๆ สร้าง ซื้อ จัดหา สำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม และมาตร ๓๘ บัญญัติให้อำนาจ ปตท. ไว้ว่า เมื่อ ปตท.มีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อให้ในการวางระบบ การขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าวให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และมาตรา ๓๐ บัญญัติว่า ในการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อได้ให้ ปตท. มีอำนาจ(๑) กำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อตามความจำเป็นโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี(๒) วางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อไปได้ เหนือ ตาม หรือข้ามที่ดินของบุคคลใดๆ (๓)รื้อถอนอาคาร โรงเรือนหรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างหรือทำขึ้น หรือทำลาย หรือตัดฟันต้น, กิ่ง หรือรากของต้นไม้ หรือพืชผลในเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ โดยบทบัญญัติมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้ให้ความหมายของปิโตรเลียมว่า ปิโตรเลียมตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมและให้หมายความรวมถึงน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย สำหรับในส่วนของการสร้างและบำรุงรักษาระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อนั้น มาตรา 29 ให้อำนาจพนักงานและผู้ซึ่งปฏิบัติงานร่วมกับพนักงานมีอำนาจที่จะใช้สอยหรือเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมิใช่ที่อยู่อาศัยของบุคคลใดๆ เป็นการชั่วคราวภายใต้เงื่อนไขเพื่อการใช้สอยหรือเข้าครอบครองเป็นการจำเป็นสำหรับการสำรวจเพื่อสร้างหรือบำรุงรักษาระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือเป็นการจำเป็นสำหรับการป้องกันอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดแก่ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อจะเห็นฯได้ว่า ปตท. จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 โดยได้รับทุนทั้งหมดมาจากรัฐ และรัฐยังจัดสรรเงินให้ปตท. มาโดยตลอดอีกทั้งอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ก็เป็นอำนาจมหาชนของรัฐที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบให้แก่ ปตท.ซึ่งเป็นองค์การของรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียมเพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการของรัฐตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว และในส่วนของการใช้อำนาจมหาชนเพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ นั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลตลอดมาว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อกิจการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้เท่านั้น เช่น กิจการเพื่อการอันเป็นสาธารณูปโภค และเพื่อการได้มาซึ่งทรัพยากรธรรมชาติเป็นต้น ปัจจุบันบทบัญญัติในมาตรา 42 วรรหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติรับรองและยืนยันถึงหลักการดังกล่าวไว้ว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะกระทำมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะกิจการของรัฐเท่านั้น บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเป็นข้อยืนยันว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์จะต้องอาศัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ และต้องใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการของรัฐเท่านั้น แม้ว่ามาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 จะบัญญัติให้อำนาจ สิทธิ หรือประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นของบริษัทอาจจำกัดหรืองดได้ตามที่กำหนดในพระราชกฎษฎีกา และอาจกำหนดให้อำนาจนั้นเป็นของคณะกรรมการคณะหนึ่งคณะใด ตามที่จะกำหนดหรือจะให้แต่งตั้งโดยคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจได้ก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็ได้สงวนการใช้อำนาจไว้ด้วยว่าการออกพระราชกฤษฎีกาต้องคำนึงถึงการควบคุมการใช้อำนาจทางกฎหมายให้เป็นไปโดยถูกต้อง และรักษาประโยชน์ของรัฐประกอบด้วย การที่บทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดว่า ในการประกอบธุรกิจปิโตรเลียม ให้บริษัทมีอำนาจได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษ หรือได้รับการคุ้มครองตามที่กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือกฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ให้แก่ ปตท. และมาตรา 5 แห่งระราชกฤษฎีกาฉบับเดียวกัน บัญญัติให้ทรัพย์สินของบริษัทเฉพาะที่ได้มาจากการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ไม่ว่าก่อนหรือหลังการจัดตั้งบริษัท และทรัพย์สินของบริษัทในระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เป็นทรัพย์สินที่ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี และปรากฎข้อเท็จจริงตามหนังสือคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติด่วนที่สุด ที่ นร(กพช.)0904/1549 ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2544 หนังสือคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ด่วนที่สุด ที่ กค 0209.3/12902 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2544 และหนังสือคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ที่ กค 0209.3/1260 ลงวันที่ 19 กันยายน 2544 ว่า คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติมอบให้ ปตท. ไปดำเนินการแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ ออกจากกิจการจัดหาและจำหน่าย โดยให้ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 และในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการมีข้อสังเกตเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ว่า หากจะมีการแยกกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติจัดตั้งเป็นบริษัทแยกออกจากบริษัทจัดซื้อและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ ในลักษณะการแบ่งแยกตามกฎหมาย เฉพาะตั้งแต่แรกจะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงควรศึกษาแนวทางที่จะแยกบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติก่อนจะทำการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มิฉะนั้นอาจจะแยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้ยาก หากไม่สามารถแยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้ก่อนการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนเป็นการทั่วไป ก็ให้แยกบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายใน 1 ปี หลังการขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทรับข้อสังเกตนี้ไปประกอบการพิจารณา และคณะกรรมการการเตรียมการจัดตั้งบริษัทได้เสนอไว้ในรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดตั้งบริษัทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ว่า ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อนุมัติหรือให้ความเห็นชอบในหลักการและกำหนดเป็นนโยบายเพิ่มเติมในการจัดตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซธรรมชาติ จำกัด และบริษัทท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ จำกัด ตามนโยบายแยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติ โดยขอให้ได้รับการสนับสนุนเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แต่ไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินการตามนโยบายและข้อสังเกตดังกล่าวแต่อย่างใดจึงแสดงให้เห็นว่า มีการโอนทรัพย์สินที่ ปตท. ได้มาจากการเวนคืน มาเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 แล้ว และพระราชกฤษฏีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ก็มิได้มีบทบัญญัติจำกัดอำนาจมหาชนของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์สินในระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ตามที่ ปตท. มีอยู่แต่เดิมแต่อย่างใด นอกจากนั้น การให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 35 มาตรา 36 และมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ และไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนที่ไม่มีอำนาจมหาชนเช่นว่านั้น อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค หลักการแห่งความเท่าเที่ยมกันอย่างเป็นธรรมในการแข่งขันการประกอบกิจการทางธุรกิจตามมาตรา 30 และมาตรา 50 และเป็นการออกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 87 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 ที่บัญญัติให้รัฐกำกับดูแลให้มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงทางอ้อม เมื่อได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า อำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นอำนาจมหาชนที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับรัฐ และต้องอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อกิจการของรัฐอันจำเป็นตามที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น การที่พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของ ปตท. จำกัด(มหาชน) พ.ศ. 2544 มิได้จำกัดอำนาจมหาชนดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปรากฎว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้ดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 3 มาตรา 4 มาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 มีผลใช้บังคั่บเมื่อพับกำหนดสามสับวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2550 บทบัญญัติที่แก้ไขใมหม่ได้จำกัดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ที่ได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกำหนดให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4กล่าวคือ มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม บริษัทไม่มีอำนาจ สิทธิและประโยชน์ตามมตรา ๘ มาตรา ๑๑ และมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ และวรรคสองบัญญัติว่า บรรดาอำนาจ สิทธิ และประโยชน์อื่นที่กำหนดให้เป็นของปตท.ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ ให้เป็นของคณะกรรมการตามมาตรา ๕ โดยกำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการไว้ในมาตรา ๕ ว่า ให้มีคณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของบริษัทประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ โดยมีผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงานเป็นกรรมการและเลขานุการ ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)(ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นบทบัญญัติที่โอนอำนาจของ ปตท.ที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ ไปเป็นของคณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ รวมถึงการโอนอำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นอำนาจมหาชนของรัฐให้เป็นของคณะกรรมการชุดนี้ด้วย เมื่อวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่า รัฐธรรมนูญให้การรับรองและยืนยันหลักการในเรื่องอำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ตลอดมาว่าอำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เป็นอำนาจมหาชนของรัฐที่ต้องกระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะ และบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะที่เป็นแหล่งที่มาของอำนาจนั้น ในทางกฎหมายย่อมหมายถึง กฎหมายที่ออกโดยอำนาจที่มาจากฝ่ายนิติบัญญัติดังเช่นที่บัญญัติให้อำนาจการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์แก่ ปตท. ไว้ในมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ และเนื่องจากพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ บัญญัติให้อำนาจมหาชนของรัฐแก่ ปตท.ไว้หลายประการ เช่น มาตรา ๓๐ บัญญัติให้ ปตท. มีอำนาจกำหนดเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ การวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อไปได้ เหนือตาม หรือข้ามที่ดินของบุคคลใด ๆ รื้อถอนอาคารโรงเรือน หรือทำลายสิ่งอื่นที่สร้างหรือทำขึ้น หรือทำลาย หรือตัดฟัน กิ่ง หรือรากของต้นไม้ หรือพืชผลในเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ และมาตรา 35 บัญญัติให้อำนาจ ปตท. ไว้ว่า เพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัย ให้ ปตท. มีอำนาจทำลายหรือตัดฟันกิ่ง รากของต้นไม้ หรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ใกล้ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อได้ ก็ตาม อำนาจดังกล่าวก็เป็นอำนาจมหาชนของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ การที่บทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฏีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)พ.ศ.2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพนระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิ และประโยชน์จองบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)(ฉบับที่ 2)พ.ศ.2550 บัญญัติให้อำนาจของ ปตท.ตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 โอนไปเป็นอำนาจแก่คณะบุคคลกระทำการที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งไม่อาจตามพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ดังนั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงเป็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและสมควรเพิกถอน
ปัญหาว่า ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ นั้น
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในขณะที่ ปตท. มีสถานะเป็นองค์การของรัฐ และเป็นนิติบุคคลมหาชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำกิจการของรัฐ ปตท.ได้ใช่เงินทุนจากรัฐและใช้อำนาจมหาชนของรัฐเวนคืนที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญยัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการของรัฐ ที่ดินของเอกชนซึ่งได้มาจากากรใช้อำนาจเวนคืนดังกล่าวจึงกลับมาเป็นของรัฐหรือของแผ่นดิน ตามมาตรา 16 และมาตรา 42 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เมื่อข้อเท็จจริงรับกันว่า ปตท.ได้เวนคืนที่ดินตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติจากจังหวัดระยองมายังจังหวัดสมุทรปราการ เนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่ตำบลบางโปรง ตำบลบางด้วน ตำบลบางเมือง ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมืองสมุทรปราการ ตำบลบางพลีใหญ่ ตำบลบางเสาธง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ตำบลนาป่า ตำบลหนองรี อำเภอเมืองชลบุรี ตำบลหนองซ้ำซาก อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี และตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ.2529 เพื่อใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างระบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อบนบก ตามแผนพัฒนาก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ซึ่งเป็นกิจการของ ปตท. อันเป็นกิจการของรัฐตามมาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือของแผ่นดินที่ใช้เพื่อกิจการของรัฐ และเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมี ปตท. ในฐานะที่เป็นรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติและมีฐานะเป็นนิติบุคคลมหาชน ซึ่งรัฐเป็นเจ้าของทุนทั้งหมดเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐ และเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนให้แก่รัฐ
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งได้มาจากการใช้อำนาจเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นที่ราชพัสดุหรือไม่และการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นการโอนโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การโต้แย้งว่า ที่ดินได้ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ไม่ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่เป็นที่ราชพัสดุ ส่วนการโอนสินทรัพย์เดิมของ ปตท. ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นการโอนตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ ตามบทบัญญัติในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บทบัญญัติในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 บัญญัติว่า ที่ราชพัสดุ หมายความว่า อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่สาธารณสมบัติของแผ่นดินดังต่อไปนี้(1) ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน(2) อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ อสังหาริมทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จึงเป็นที่ราชพัสดุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และถือเป็นบทยกเว้นมาตรา 4 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและองค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ แม้ว่าบทบัญญัติในเรื่องการถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุแทนรัฐตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะบัญญัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุก็ตาม แต่ก็บัญญัติให้กระทรวงการคลังถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ราชพัสดุเฉพาะที่กระทรวง ทบวง กรมได้มาโดยการเวนคืนเท่านั้น ซึ่งไม่รวมถึงที่ราชพัสดุที่รัฐวิสาหกิจได้มาโดยการเวนคืน และบัญญัติเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุไว้ในมาตรา 8 วรรคหนึ่งว่า การโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุเฉพาะที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ ส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุอื่น ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะไว้ว่า หากจะโอนให้แก่เอกชนต้องกระทำโดยการตราพระราชบัญญัติ หลักในเรื่องดังกล่าวได้รับการยืนยันในกฎหมายอื่น ดังปรากฏในมาตรา 8 วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ที่บัญญัติว่า ที่ดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ หรือที่ดินที่ได้หวงห้ามหรือสงวนไว้ตามความต้องการของทบวงการเมืองใด ถ้าทบวงการเมืองนั้นเลิกใช้ หรือไม่ต้องการหวงห้ามหรือสงวนต่อไป เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาถอนสภาพแล้ว คณะรัฐมนตรีจะมอบหมายให้ทบวงการเมืองซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้ใช้หรือจัดหาประโยชน์ก็ได้ แต่ถ้าจะโอนต่อไปยังเอกชนให้กระทำโดยพระราชบัญญัติ และถ้าจะนำไปจัดเพื่อประชาชนตามประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกา และมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่บัญญัติว่า "ทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา"
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า โดยที่การเปลี่ยนสถานะของ ปตท. ไปเป็นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยการเปลี่ยนทุนของ ปตท. เป็นหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 และมีการจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด เป็นการดำเนินการตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ทำให้ ปตท. เปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจประเภทองค์การของรัฐจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ เป็นบริษัทมหาชนจำกัดตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดในระบบกฎหมายเอกชน และมีการดำเนินการทางธุรกิจเช่นเดียวกับนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน และการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติว่าให้กระทรวงการคลังถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 51 ก็ไม่เป็นการแน่นอนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จะคงสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ ซึ่งมีกระทรวงการคลังถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ตลอดไป เพราะกระทรวงการคลังอาจถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าจำนวนดังกล่าวได้ ตามบทบัญญัติในมาตรา 26 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ที่กำหนดว่า อำนาจ สิทธิ หรือประโยชน์ที่กฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงทุนเป็นหุ้นของบริษัทหรือกฎหมายอื่นมีบทบัญญัติให้อำนาจรัฐวิสาหกิจ ให้สิ้นสุดลง เมื่อบริษัทนั้นสิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ และถึงแม้ว่ากระทรวงการคลังยังคงถือหุ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ก็ตาม แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจเฉพาะตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีส่วนราชการมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ 50 ก็เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณเท่านั้น หาได้มีผลทำให้สถานะทางกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคลตามกฎหมายเอกชนเปลี่ยนแปลงกลับมาเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนอีก การโอนที่ราชพัสดุดังกล่าวให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งเป็นนิติบุคคลกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งดำเนินกิจการในฐานะบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดจึงไม่อาจโอนไปโดยผลของการเปลี่ยนสถานะจากรัฐวิสาหกิจที่เป็นองค์การของรัฐซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชน ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัดซึ่งมีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงมิได้มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป และไม่อาจมีอำนาจมหาชนของรัฐ รวมทั้งไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของปตท. ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนรัฐได้ จึงต้องโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวกลับไปเป็นของรัฐ โดยอาศัยมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามบทบัญญัติในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ชอบที่จะแยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวออกเสียก่อน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ที่บัญญัติว่า ในวันที่จดทะเบียนบริษัทตามมาตรา 22 ให้บรรดากิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิดและสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติโอนไปเป็นของบริษัท หรือเป็นของกระทรวงการคลัง แล้วแต่กรณีประกอบกับข้อเท็จจริงรับฟังได้ต่อไปว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีหนังสือที่ 530/20/63 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง เรื่องขอยกกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้มาโดยพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลบางโปรง ตำบลบางด้วน ฯลฯ พ.ศ.2549 ให้กระทรวงการคลัง โดยแจ้งด้วยว่า ปตท. ได้เวนคืนที่ดินตามพระราชบัญญัติการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งอยู่ในท้องที่จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง จำนวน 106 แปลง เนื้อที่รวมประมาณ 32 ไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติในอ่าวไทย โดยใช้ก่อสร้างระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อบนบกจึงเป็นการยอมรับว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวควรโอนให้เป็นของกระทรวงการคลังดังนั้น โดยอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงชอบดที่จะต้องอนุมัติโอนสินทรัพย์ของ ปตท.ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐให้เสร็จสิ้นก่อนวันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโอยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2542 และเนื่องจากบทบัญญัติในมาตรา 24 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะที่กำหนดเรื่องการจัดการสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจ ที่เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท. เคยมีอยู่ต่อไป โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังที่กำหนดสำหรับในส่วนของทรัพย์สินที่ ปตท. ได้มาโดยมิได้ใช้อำนาจมหาชน แต่ได้มาโดยวิธีการอื่น เช่น การซื้อ จัดหา หรือแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 นั้น ไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518
ปัญหาว่า สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ได้แก่ ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการท่อบางปะกง - วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า - ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี - วังน้อย จาก ปตท. ไปยังบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือไม่ และทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน หรือไม่
ในประเด็นข้อนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การโต้แย้งว่า เป็นทรัพย์สินของ ปตท. ซึ่งโอนไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 โดยผลของมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า อสังหาริมทรัพย์ หมายความว่า ที่ดินและทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินมีลักษณะเป็นการถาวรหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้น และหมายความรวมถึงทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน หรือทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินหรือประกอบเป็นอันเดียวกับที่ดินนั้นด้วย การใช้อำนาจของปตท.วางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อไปใต้ เหนือ ตาม หรือข้ามที่ดินของบุคคลใดๆ ตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง (2) แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2521 เป็นการใช้อำนาจมหาชนของรัฐบังคับแก่ที่ดินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน จึงเป็นสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นด้วยอำนาจของกฎหมาย โดยมีวัตถุแห่งสิทธิเป็นอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งถือเป็นสิทธิเด็ดขาดที่มีอยู่เหนืออสังหาริมทรัพย์ของเอกชน และก่อให้เกิดภาระและหน้าที่ต่อเอกชนซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินตามที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันว่า ในเขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ไม่ว่าบนบกหรือในน้ำ หรือใต้พื้นท้องน้ำหรือพื้นท้องทะเล ห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน ต้นไม้ หรือสิ่งอื่นใด ติดตั้งสิ่งใด เจาะหรือขุดพื้นดิน ถมดิน ทิ้งสิ่งของหรือกระทำด้วยประการใดๆ ที่อาจทำให้เกิดอันตรายหรือเป็นอุปสรรคแก่ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจาก ปตท. และมาตรา 35 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าเพื่อประโยชน์แห่งความปลอดภัย ให้ ปตท.มีอำนาจทำลายหรือตัดฟันต้น กิ่ง รากของต้นไม้หรือสิ่งอื่นใดที่อยู่ใกล้เขตระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ แต่ต้องแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้หรือสิ่งนั้นทราบล่วงหน้าภายในเวลาอันสมควร ถ้าไม่อาจติดต่อกับเจ้าของหรือผู้ครอบครองได้ ให้ ปตท.มีอำนาจดำเนินการได้ตามที่เห็นสมควรในกรณีที่ต้นไม้หรือสิ่งอื่นใดนั้นมีอยู่ก่อนการสร้างระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อให้ ปตท. จ่ายค่าทดแทนอันเป็นธรรมให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองต้นไม้หรือสิ่งนั้นตามสมควรแก่กรณี
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ในขณะที่ ปตท. ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินของเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อทั้ง ๓โครงการ คือ ระบบท่อก๊าซธรรมชาติ ซึ่งประกอบด้วยท่อส่งก๊าซ รวมทั้งวัสดุและอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ในโครงการท่อบางปะกง-วังน้อย โครงการท่อจากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย ซึ่งเป็นไปเพื่อกิจการของรัฐ นั้นปตท.กระทำการในฐานะที่เป็นองค์การของรัฐ บังคับแก่อสังหาริมทรัพย์ของเอกชนและจ่ายเงินค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐ ดังนั้น สิทธิเหนือทรัพย์สินของเอกชนที่เกิดจากการใช้อำนาจของ ปตท. เพื่อใช้วางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อดังกล่าว จึงถือเป็นทรัพย์สินอันเกี่ยวกับที่ดินที่ก่อตั้งขึ้นด้วยอาศัยอำนาจตรามาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง (๒) แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑ ตามนัยมาตรา ๑๒๙๘ แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นทรัพย์สินที่ใช้เฉพาะในกิจการของรัฐทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๑๓๙ แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ และเนื่องจากบทบัญญัติในมาตรา ๑๓๐๔ (๓) แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า สาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้น รวมทรัพย์สินทุกชนิดของแผ่นดินซึ่งใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน เช่น ทรัพย์สินใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะเป็นต้นว่า ป้อมและโรงทหาร สำนักราชการบ้านเมืองเรือรบ อาวุธ ยุทธภัณฑ์ และเมื่อเปรียบเทียบถึงทรัพยสิทธิของเอกชน เช่น สิทธิในการวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายคลึงกันผ่านที่ดินของเอกชนเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินที่ติดต่อ เป็นทรัพยสิทธิของเอกชนที่ก่อตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจมาตรา ๑๓๕๒ แห่งประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมิได้เกิดจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ ก็ถือเป็นทรัพยสิทธิประเภทหนึ่งที่ใช้บังคับระหว่างเอกชนด้วยกันซึ่งแตกต่างจากทรัพยสิทธิของรัฐที่มีเหนือที่ดินของเอกชนดังกล่าว ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยอำนาจมหาชนของรัฐตามกฎหมายเฉพาะ และแม้จะถือเป็นอสังหาริทรัพย์ประเภททรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับที่ดิน ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตามแต่ทรัพยสิทธิดังกล่าวย่อมแตกต่างจากทรัพยสิทธิของเอกชนในเรื่องที่มาของอำนาจวัตถุประสงค์ในการใช้ และผู้ทรงสิทธิในทรัพยสิทธินั้น ศาลปกครองสูงสุดจึงเห็นว่าสิทธิเหนือพื้นที่ดินของเอกชนเพื่อใช้วางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อซึ่งรวมถึงท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 3 โครงการดังกล่าว เป็นทรัพยสิทธิของรัฐและเป็นอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ส่วนทรัพย์สินที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ นั้น ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการที่ ปตท. ซึ่งเป็นองค์การของรัฐใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินของเอกชนตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง (1) และ (2) แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 และจ่ายเงินค่าทดแทนโดยใช้เงินของ ปตท. ให้แก่เจ้าของหรือผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทรัพย์สินด้งกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของรัฐที่ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการปิโตรเลียม อันเป็นกิจการของรัฐโดยเฉพาะ ซึ่งแม้ว่าการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้ง 3 โครงการดังกล่าว จะมิได้ตกเป็นส่วนควบของที่ดิน ดังเช่น ในกรณีปลูกตึกลงในที่ดินที่เช่าผู้อื่นเป็นการชั่วคราวซึ่งไม่เป็นส่วนควบของที่ดินตามมาตรา 146 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า การวางระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติต้องมีการกำหนดเขตระบบการวางท่อและเครื่องหมายแสดงเขตระบบโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 แสดงว่า มีการกำหนดแนวเขตระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติไว้แน่นอน และการวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติต้องขุดลึกลงไปจากพื้นดินกว่า 2 เมตร อีกทั้งต้องฝังให้ติดตรึงตราถาวรหรือประกอบเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับที่ดิน โดยต้องมีมาตรฐานความปลอดภัยสูง จึงไม่อาจวางให้อยู่เหนือพื้นดินเหมือนอย่างระบบการวางท่อน้ำประปาโดยทั่วไป ท่อส่งก๊าซธรรมชาติจึงมีลักษณะเป็นทรัพย์อันติดอยู่กับที่ดินในลักษณะติดตรึงตราเป็นการถาวร ซึ่งเคลื่อนย้ายไม่ได้โดยง่ายเนื่องจากเขตระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติถูกกำหนดโดยกฎหมายแล้ว จึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา 139 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ทรัพย์สินส่วนที่เป็นท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงทรัพย์สินที่ประกอบกันเป็นระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ เช่นท่อส่งน้ำมัน ซึ่งใช้อำนาจมหาชนของรัฐดำเนินการเช่นเดียวกับระบบท่องส่งก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 1304 (3) ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีหน้าที่ต้องโอนทรัพย์สินดังกล่าวกลับไปเป็นของกระทรวงการคลังตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 เช่นเดียวกับกรณีการโอนที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่กระทรวงการคลัง
สำหรับในส่วนของพระราชกฤษฏีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 นั้น ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ว่าพระราชกฤษฏีกาฉบับที่จะบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ส. 2521 ซึ่งมีลำดับศักดิ์สูงกว่า แต่โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญไว้วินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 50/2542 ว่า การที่มาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 บัญญัติว่า ในกรณีที่มีมติคณะรัฐมนตรียุบเลิกรัฐวิสาหกิจใด ให้ถือว่ากฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นอันยกเลิกตามเงื่อนเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นเพื่อการนั้น มิได้หมายความว่ากฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเป็นเพียงเงื่อนไข ส่วนการยกเลิกกฎหมายจัดตั้งรัฐวิสาหกิจนั้นจึงถูกยกเลิกโดยมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บทบัญญัติในมาตรา 28 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวจึงผูกพันศาล การที่พระราชกฤษฏีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 มีเนื้อหาไม่ชอบด้วยกฎหมายบางส่วน รวมทั้งมีการโอนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและสิทธิทั้งหลายที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐไปให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งต้องเพิกถอนเพื่อให้มีการแก้ไขการกระทำและบทบัญญัติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย เพื่อคุ้มครองสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ประโยชน์แห่งรัฐในด้านกิจการพลังงาน และประโยชน์ในการบริหารจัดการบริษัทของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 และเอกชนที่ประกอบกิจการปิโตรเลียม แต่เมื่อปรากฏว่า การเปลี่ยนสภาพ ปตท.ไปเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ได้ดำเนินการจนล่วงเลยขั้นตอนการออกพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ มีการจดทะเบียนจัดตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นบริษัทมหาชนจำกัดจนกระทั่งมีการนำหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เข้าจดทะเบียนและซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2544 เวลาล่วงเลยไปถึง 5 ปี มีการซื้อขายเปลี่ยนมือผู้ลงทุนในหุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จำนวนมาก มีการก่อนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายระหว่างผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 กับบุคคลภายนอก อีกทั้งปรากฏว่า ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2550 หุ้นของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดประมาณ 8.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีมูลค่าสูงเป็นอันดับหนึ่ง หากมีการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ทรัพย์สินและสิทธิทั้งหลายที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐ กลับไปเป็นของ ปตท.ดังเดิม แต่การเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า อาจก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน ทั้งยังอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อตลาดทุนรวมถึงตลาดเงิน และบุคคลภายนอกที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 นอกจากนั้น อาจก่อให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายตามมาอีกนานัปการด้วย เมื่อพิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าว ประกอบกับการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่พยายามแก้ไขปัญหา รวมทั้งฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติดำเนินการตราพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2550 และมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วตั้งแต่วันที่ 11 ธันวาคม 2550 ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ บัญญัติให้มีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงานรวมทั้งกิจการก๊าซธรรมชาติด้วยและการออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน ทั้งเป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบการวางระบบโครงข่ายพลังงาน โดยในบทบัญญัติมาตรา 104 มาตรา 105 และมาตรา 106 ได้บัญญัติสาระสำคัญเกี่ยวกับการใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในกิจการพลังงานและการใช้อำนาจมหาชนของรัฐของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานไว้ว่า กรณีที่มีความจำเป็นที่ผู้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ จะต้องใช้อสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างระบบโครงข่ายก๊าซธรรมชาติ ให้ดำเนินการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนและให้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาจากการเวนคืนตกเป็นของแผ่นดิน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานมีหน้าที่ปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เมื่อมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว การใช้อำนาจมหาชนของรัฐเกี่ยวกับการเวนคืนอสังหาริทรัพย์ รวมทั้งการใช้อำนาจมหาชนของรัฐในการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามที่พระราชบัญญัติไว้ นอกจากนั้น ในบทเฉพาะกาล มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามมาตรา ๑๔๖ โดยบัญญัติให้นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ประกอบกิจการพลังงานได้ต่อไปจนกว่า บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ต้องปฎิบัติตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการกำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) แล้วแต่กรณี และมาตรา ๑๔๙ บัญญัติว่า เพื่อให้การประกอบกิจการพลังงานของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จนกว่าบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะได้รับใบอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ และในช่วงเวลาดังกล่าวให้พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ มีผลใช้บังคับต่อไป จึงถือได้ว่า บทบัญญัติมาตรา ๑๔๖ และมาตรา ๑๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.๒๕๕๐ เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติให้คณะกรรมการกำกับการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว เป็นผู้ใช้อำนาจมหาชนของรัฐแทนคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเป็นการชั่วคราวแล้ว อีกทั้งคำฟ้องในประเด็นการโอนที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเนื้อที่ประมาณ ๓๒ ไร่ ทรัพย์สินและสิทธิการใช้ที่ดินในระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐที่โอนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ซึ่งเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลโดยตรงต่อความไม่ชอบด้วยกฎหมายของบทบัญญัติในมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ดังที่วินิจฉัยไว้ข้างต้นและต่อมา ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาล มีการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๐ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ที่จะต้องกระทำการแก้ไขการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้น ให้ชอบด้วยกฎหมาย และในกรณีเช่นนี้ ศาลมีอำนาจกำหนดคำบังคับสั่งให้บุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งห้ามการกระทำทั้งหมดหรือบางส่วนได้ และจะกำหนดให้มีเงื่อนไขอย่างไรก็ได้ ตามความเป็นธรรมแห่งกรณี ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกา และบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ รวมทั้งวิธีการแก้ไขความไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเห็นว่าไม่จำต้องเพิกถอนบทบัญญัติในมาตรา ๔ วรรคสอง แห่งพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ อีกทั้งเหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นว่านั้น ก็มิได้มีความร้ายแรงถึงขนาดที่จะเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น เพื่อให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และตามคำพิพากษาต่อไปพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. ๒๕๕๐ ส่วนคำขอตามคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้งห้า ที่ขอให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๐ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ นั้น ให้ยก
นายจรัญ หัตถกรรม ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด
นายธงชัย ลำดับวงศ์
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายเกษม คมสัตย์ธรรม
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายชาญชัย แสวงศักดิ์
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ตุลาการผู้แถลงคดี: นางเสริมดรุณี ตันติเวสส มีความเห็นแย้ง คดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549
ข้าพเจ้า นายธงชัย ลำดับวงศ์ และนายชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการ ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเป็นตุลาการเสียงข้างน้อยในองค์คณะที่ 2 ไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของตุลาการเสียงข้างมากในองค์คณะที่วินิจฉัยว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และการยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน จึงขอทำความเห็นแย้งไว้ ดังต่อไปนี้
คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเบื้องต้นเกี่ยวกับเงื่อนไข ในการฟ้องคดีตามคำคัดค้านของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายื่นฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 49 และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน
สำหรับประเด็นที่ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ นั้นข้าพเจ้ามีความเห็นดังนี้
1.ศาลปกครองเป็นองค์กรหนึ่งในบรรดาองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ซึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าวบัญญัติให้มีองค์กรตรวจสอบการใชอำนาจรัฐบริหารให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับลักษณะของการใช้อำนาจรัฐ กล่าวคือ ถ้าเป็นการใช้อำนาจรัฐทางบริหารที่มีลักษณะเป็นเรื่องทางนโยบายหรือเป็นเรื่องทางการเมือง การตรวจสอบความเหมาะสมทางนโยบายหรือทางการเมืองก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาหรือสมาชิกของรัฐสภา ถ้าเป็นการใช้อำนาจรัฐทางบริหารเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินแผ่นดิน ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ถ้าเป็นการใช้อำนาจรัฐทางบริหารที่มีปัญหาด้านการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถ้าเป็นการใช้อำนาจรัฐทางบริหารเกี่ยวกับการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา แต่ถ้าเป็นการใช้อำนาจรัฐทางบริหารที่มีการโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายหรือการดำเนินการทางการปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีทางปกครองและอำนวยความยุติธรรมทางปกครองแต่ศาลปกครองจะมีอำนาจตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการใช้อำนาจทางปกครองของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ ก็ต่อเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นแล้วและเป็นข้อพิพาทที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับไว้พิจารณาได้ นอกจากนี้ จะต้องมีการนำข้อพิพาทนั้นมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองโดยผู้ฟ้องคดีจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการในการฟ้องคดีหรือที่เรียกกันว่าเงื่อนไขในการฟ้องคดีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 กรณีจึงแตกต่างจากการตรวจสอบได้เอง โดยไม่ต้องรอให้มีผู้ใดมาร้องเรียน ดังนั้น ผู้ร้องเรียนต่อองค์กรดังกล่าวจึงอาจเป็นพลเมืองดีที่คอยเป็นหูเป็นตาให้แก่ทางราชการ หรือการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ แต่การฟ้องคดีต่อศาลปกครองนั้น ผู้ฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองไว้ 3 ประการ คือประการหนึ่ง ผู้ฟ้องคดีต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายในเรื่องที่นำมาฟ้อง ประการที่สอง ความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับต้องเกิดจากการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน และประการที่สาม การแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียความเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับนั้น ศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับให้ได้มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า นอกจากความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้รับนั้นจะต้องเกิดจากการกระทำของหน่วยงานทางปกครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีแล้ว คำขอที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองออกคำบังคับให้นั้นจะต้องมาความสัมพันธ์และมีผลเป็นการแก้ไขหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ผู้ฟ้องคดีได้รับโดยตรงและเป็นคำขอที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะออกคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันอีกด้วย
๒. มาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติว่า การดำเนินการทั้งช่วงเกี่ยวกับการฟ้อง การร้องสอด การเรียกบุคคล หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเป็นคู่กรณีในคดีการดำเนินกระบวนพิจารณา การร้องฟังพยานหลักฐาน และการพิพากษาคดีปกครองนอกจากที่บัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ซึ่งได้มีการกำหนดระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยระเบียบดังกล่าวกำหนดไว้ในข้อ ๕ วรรคสอง ว่า ในกรณีที่กฎหมายหรือระเบียบนี้มิได้กำหนดเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ ให้ดำเนินการตามหลักกฏหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ซึ่งแม้ว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และระเบียบดังกล่าวจะมีการกำหนดเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครองที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่ในบรรดาประเทศต่างๆ ที่มีศาลปกครองและมีวิธีพิจารณาคดีปกครองมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งพอจะสรุปหลักกฎหมายทั่วไปในเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีปกครองได้ดังนี้
(๑) ในกรณีที่เป็นการฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาให้หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง คดีละเมินทางปกครอง หรือคดีพิพาทเกี่ยวกับความรับผิดชอบอย่างอื่นผู้มีสิทธิฟ้องคดีจะต้องเป็นผู้ทรงสิทธิซึ่งสิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนจากการกระทำทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้น ซึ่งคล้ายกับในคดีแพ่ง ซึ่งผู้มีสิทธิฟ้องคดีแพ่งจะต้องใช้สิทธิทางศาล
(๒) ในกรณีที่เป็นการฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง หากจำกัดผู้มีสิทธิฟ้องคดีเฉพาะผู้ทรงสิทธิซึ่งสิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนจากกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ถูกโต้แย้งแล้ว ก็จะมีผลทำให้การฟ้องคดีโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของกฎประเภที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการออกคำสั่งทางปกครองโดยกฎดังกล่าวยังไม่มีผลกระทบต่อสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยตรง ไม่อาจกระทำได้ หรือผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีจะต้องรอให้สิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนจนเกิดความเสียหายขึ้นแล้ว จึงจะมีสิทธิฟ้องคดีได้ ซึ่งอาจจะมีผลทำให้กฎหรือคำสั่งทางปกครองบางประเภทไม่อาจถูกฟ้องคดีคดีต่อศาลปกครอง อันมีผลทำให้หลักนิติรัฐหรือหลักที่ว่าการใช้อำนาจทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายขาดสภาพบังคับไปได้ ด้วยเหตุนี้ หลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองจึงผ่อนคลายความเข้มงวดในส่วนของผู้มีสิทธิฟ้องคดี โดยถือหลักว่า ผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎหรือนิติกรรมทางปกครองได้ จะต้องเป็นผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียกับการเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนั้นแต่ก็ไม่ไปไกลจนถึงขนาดยอมรับให้บุคคลใดๆ อ้างประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียในฐานะที่เป็นประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศนำกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่ตนไม่เห็นด้วยมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น ทั้งๆ ผู้ฟ้องคดีมิได้มีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียโดยตรงกับการที่ศาลปกครองจะเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นหรือไม่ ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากหลักกฎหมายโรมันที่ไม่ยอมให้ประชาชนนำเรื่องใดๆ มาฟ้องคดีต่อศาลได้ โดยที่ผู้ฟ้องคดีมิได้เป็นผู้ซึ่งถูกกระทบสิทธิหรือมีประโยชน์เกี่ยวข้องใดๆ ในเรื่องที่นำมาฟ้องนั้นหรือที่เรียกกันว่า "action popularis"
(3) ในการพิจารณาประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียของผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้น มีหลักในการพิจารณาดังนี้
(ก) ผู้ฟ้องคดีจะต้องระบุว่า ตนฟ้องคดีในฐานะอะไร โดยจะต้องแสดงให้ศาลเห็นว่าตนมีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่นำมาฟ้องนั้นอย่างไรซึ่งศาลจะพิจารณาประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียของผู้ฟ้องคดีในขณะที่ยื่นคำฟ้องและพิจารณาเท่าที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างเท่านั้น ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีมีประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียอย่างอื่นที่จะทำให้ตนเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีได้ แต่ผู้ฟ้องคดีมิได้กล่าวอ้างมาด้วยศาลก็จะหยิบยกประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่นได้เสียเช่นว่านั้นขึ้นมาพิจารณาเองเพื่อให้ผู้ฟ้องคดีกลายเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีมิได้
(ข) ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้เสียที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างจะต้องเป็นของตัวผู้ฟ้องคดีเองโดยตรง ผู้ฟ้องคดีจะนำประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้ส่วนเสียของบุคคลอื่นมาอ้างเป็นเหตุในหารฟ้องคดีมิได้ มิฉะนั้นก็จะกลายเป็นการฟ้องคดีแทนบุคคลอื่นนอกจานี้ การฟ้องคดีในฐานะที่เป็นประชาชนเพื่อพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายหรือการฟ้องคดีในฐานที่เป็นผู้บริโภคเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะโดยเรื่องที่นำมาฟ้องนั้นมิได้มีผลกระทบต่อผู้บริโภคก็ไม่อาจกระทำได้
(ค) ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้ส่วนเสียที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างนั้นจะต้องมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุแห่งการฟ้องคดี โดยผู้ฟ้องคดีจะต้องแสดงให้เห็นว่าตนได้รับผลกระทบจากการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีอย่างไรและหากศาลพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นแล้วจะเยียวยาผลกระทบที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าได้รับนั้นได้อย่างไร
(ง) ประโยชน์เกี่ยวข้องหรือส่วนได้ส่วนเสียที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างนั้นจะต้องมีลักษณะที่ค่อนข้างแน่นอน มิใช่เป็นเพียงการคาดคะเนว่ามีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้
(4) ในกรณีที่ผู้ฟ้องเป็นนิติบุคคล มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาดังนี้
(ก) นิติบุคคลยอมมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อความมีอยู่ ทรัพย์สิน หรือเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวกับการดำเนินงานหรือกิจการของนิติบุคคลนั้นได้อยู่แล้ว
(ข) ในกรณีที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นโดยมีวัตตถุประสงค์ในการปกครองหรือคุ้มครองประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกนิติบุคคลนั้น เช่น สหกรณ์ สหภาพ หรือสมาคมนิติบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกของนิติบุคคลเป็นเรืองที่อยู่ภายในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้นได้
(ค) ในกรณีที่มีการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือคุ้มครองประโยชน์ส่วนร่วมในเรื่องหนึ่งเรื่องใดโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นสมาชิกของนิติบุคคลนั้น หรือมีวัตถุประสงค์ในการรณรงค์ต่อต้านการกระทำในเรื่องหนึ่งเรื่องใดๆที่อาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนร่วม เช่น มูลนิธิต่อต้านการสูบบุหรี่หรือการดื่มแอลกอฮอล์ นิติบุคคลนั้นย่อมมีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่มีผลกระทบต่อเรื่องที่นิติบุคคลนั้นมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องหรือคุ้มครองหรือต่อต้านโดยตรงได้ แต่การจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการปกป้องประโยชน์สาธารณะเป็นการทั่วไปหรือในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายในทุกเรื่อง ย่อมไม่อาจกระทำได้อยู่แล้วเพราะเป็นวัตถุประสงค์ที่ขาดความเฉพาะเจาะจงของนิติบุคคลนั้นจึงไม่อาจมีการฟ้องคดีโดยนิติบุคคลในฐานะที่เป็น "ผู้พิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมาย" เพื่อขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองใดๆ ก็ตามที่นิติบุคคลนั้นเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยที่ไม่มีความเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์ใดๆ กับนิติบุคคลนั้น
3.ในคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าฟ้องคดีในฐานะที่แตกต่างกัน ดังนี้
(1) ผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยื่นฟ้องคดีนี้แทนประชาชนผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองตามสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค ส่งเสริมและประสานงานให้ผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคมีส่วนในการคุ้มครองผู้บริโภค และดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์
(2) ผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 5 ยื่นฟ้องคดีนี้ในฐานะที่เป็นประชาชนและในฐานะที่เป็นผู้บริโภคน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติของ ปตท.
(3) ผู้ฟ้องคดีที่ 4 และผู้ฟ้องคดีที่ 5 ยื่นฟ้องคดีนี้ในฐานะที่เป็นแกนนำคัดค้านการวางท่อก๊าซจากยาดานา ประเทศพม่า มายังจังหวัดกาญจนบุรี และในฐานะที่เป็นสมาชิกสมาคมประมงและผู้ประกอบอาชีพทำประมง
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าอ้างรวมกันมาว่าจนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการที่ต้องใช้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้าที่แพงเกินควรอย่างมาก อันเกิดจากการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ และผลจากการแปลงสภาพและการโอนอำนาจและสิทธิต่างๆ ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทำให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจการกลั่นน้ำมัน ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 สามารถกำหนดราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งกลายเป็นความเดือดร้อนของผู้บริโภค ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มจะต้องแบกภาระค่าก๊าซที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เป็นผู้ดำเนินการ
4. เมื่อนำข้อกล่าวอ้างดังกล่าวข้างต้นของผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามาพิจารณากับบทบัญญัติของมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ประกอบกับหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองในเรื่องผู้มีสิทธิฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้ามีความเห็นดังนี้
(1) ในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 5 ซึ่งฟ้องคดีในฐานะที่เป็นประชาชน ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และก๊าซธรรมชาติของ ปตท.ในฐานะที่เป็นผู้คัดค้านการวางท่อก๊าซฯ และในฐานะที่เป็นผู้ประกอบอาชีพทำประมง กล่าวอ้างว่าตนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหาย เนื่องจากการตราพระราชกฤษฎีการทั้งสองฉบับมีผลทำให้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้า มีราคาที่แพงเกินสมควรอย่างมาก และทำให้เกิดการผูกขาดในธุรกิจการกลั่นน้ำมันโดยผู้ฟ้องคดีทั้งสี่เพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ โดยมิได้แสดงให้เห็นว่าตนได้รับผลกระทบจากการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับอย่างไร และหากศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับแล้ว จะมีผลทำให้น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และไฟฟ้ามีราคาลดลงได้หรือไม่ อย่างไร
(2) พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้มีผลทางกฎหมายที่แตกต่างกันดังนี้
(ก) การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 ซึ่งตราขึ้นตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 มีผลทางกฎหมายเป็นเพียงการแปลงสภาพของ ปตท. จากการเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติให้กลายมาเป็นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อให้มีทุนเรือนหุ้น โดยที่รัฐยังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้จึงมิได้มีผลเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ซึ่งหมายถึงการโอนหรือขายหุ้นที่รัฐถือครองอยู่ไปเป็นของเอกชน ซึ่งรัฐจะโอนหรือขายหุ้นที่ตนถือครองอยู่ไปเป็นของเอกชนหรือไม่ เป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาล และจะต้องดำเนินการตามกฎหมายอื่น การแปลงสภาพทางกฎหมายของรัฐวิสาหกิจกับการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แม้จะมีความเกี่ยวเนื่องกันได้ แต่ก็เป็นคนละขั้นตอนกัน การฟ้องคดีและการพิจารณาพิพากษาคดีปกครองจึงต้องพิจารณาเฉพาะเหตุแห่งการฟ้องคดีเท่านั้น มิใช่พิจารณารวมไปถึงกระบวนการดำเนินการก่อนการตราพระราชกฤษฎีกาและการดำเนินการภายหลังการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้ ซึ่งแม้ว่าผู้ฟ้องคดีจะฟ้องคดีเหมารวมกันมาด้วย ก็มิได้หมายความว่าศาลปกครองจะมีอำนาจรับคำฟ้องในส่วนที่พาดพิงไปถึงเรื่องอื่นที่มิได้เกี่ยวข้องกับพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ นอกจากนี้การที่ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม หรือไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็มิได้มีความเกี่ยวข้องหรือเป็นผลมาจากการตราพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้แต่อย่างใด
(ข) การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) พ.ศ. 2544 ซึ่งตราขึ้นตามมาตรา 26 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 ก็มีผลทางกฎหมายเป็นการกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษหรือได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือกฎหมายอื่นได้บัญญัติไว้ให้แก่ ปตท.โดยมิได้มีผลทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม หรือไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงแต่อย่างใด
โดยสรุป การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับจึงมิได้มีผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีที่ 2 ถึงผู้ฟ้องคดีที่ 5 ในฐานะต่างๆ ที่ได้กล่าวอ้าวแต่อย่างใด ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามิได้เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542
(3) ในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ยื่นฟ้องคดีนี้แทนประชาชนผู้บริโภคโดยไม่สามารถแสดงให้เห็นว่าการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคอย่างไร โดยผู้ฟ้องคดีที่ 1 อ้างแต่เพียงว่าตนมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วย ซึ่งการกำหนดวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเป็นเรื่งอของผู้ขอจดทะเบียนและนายทะเบียนที่พิจารณาจดให้ แม้ว่าจะมีการยอมจดทะเบียนให้นิติบุคคลใดมีวัตถุประสงค์หลักในการฟ้องคดีแทนผู้บริโภคเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค หรือให้นิติบุคคลใดบุคคลหนึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการฟ้องคดีเพื่อพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายได้ก็ตาม ก็มิได้มีผลทำให้นิติบุคคลนั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้โดยอัตโนมัต ดังจะเห็นได้จากการที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า สมาคมใดมีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมนั้นอาจยืนคำขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองเพื่อให้สมาคมนั้นมีสิทธิและอำนาจฟ้องตามมาตรา 41 ได้ และมาตรา 41 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่าในการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ให้สมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองมาตรา 40 มีสิทธ์ในการฟ้องคดีแพ่ง คดีอาญา หรือดำเรนินกระบวนพิจราณาใดๆ ในกรณีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ และให้มีอาจฟ้องเรียกค่าเสียหายแทนสมาชิกของสมาคมถ้ามีหนังสือมอบหมายให้เรียกค่าเสียหายแทนจากสมาชิกของสมาคม ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคนั้นนิติบุคคลอาจฟ้องคดีเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ ก็เพราะมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจไว้ โดยนิติบุคคลนั้นจะต้องมีลักษณะและจะต้องปฏิบัติให้เป็นตามเงื่อนไขที่กฎหมายดังกล่าวที่กำหนดไว้ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยจึงมิได้มีผลทำให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 กลายเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองได้ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง
(4)โดยสรุป ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามิได้เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
สำหรับประเด็นที่ว่า การยื่นฟ้องคดีนี้มีลักษณะเป็นการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามนัยมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 หรือไม่นั้น ข้าพเจ้ามีข้อสังเกตและความเห็นดังนี้
1.การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 มาตรา 49 บัญญัติว่า การฟ้องคดีปกครองจะต้องยื่นฟ้องภายในเก้าสิบวันแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุการฟ้องคดี ซึ่งหมายความว่า ในกรณีที่เป็นการฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ผู้ฟ้องคดีจะต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีประเภทนี้ไว้ค่อนข้างสั้นเช่นนี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองที่ยึดถือกันอยู่ในบรรดาประเทศต่างๆ ที่มีศาลปกครองนั้นเป็นการใช้อำนาจรัฐหรืออำนาจมหาชนตามกฎหมายในเรื่องทางปกครอง โดยหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้ใช้อำนาจนี้แทนรัฐแม้ว่าการใช้อำนาจเช่นว่านี้จะต้องอยู่ภายใต้หลักที่ว่าการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายและอาจถูกผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการใช้อำนาจทางปกครองที่ตนเห็นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายนำไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย และถ้าศาลปกครองเห็นว่ากฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลปกครองก็มีอำนาจพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นได้ก็ตาม แต่การฟ้องคดีประเภทนี้จะต้องกระทำภายในระยะเวลาอันจำกัด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาดุลยภาพระหว่างสิทธิของผู้ซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายที่ต้องการโต้แย้งความชอบด้วยกฎหมายของกฎหรือคำสั่งทางปกครอง และสิทธิบุคคลอื่นซึ่งได้รับประโยชน์หรือความคุ้มครองจากกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นประกอบกับความมั่นคงทางกฎหมายของกฎหรือคำสั่งทางปกครอง และความเชื่อถือประชาชนโดยทั่วไปที่มีต่อกฎและคำสั่งทางปกครองที่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ หากกฎหรือคำสั่งทางปกครองที่มีผลใช้บังคับแล้วอาจถูกนำมาฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อใดก็ได้ก็ย่อมจะกระทบต่อหลักความมั่นคงทางกฎหมายของกฎและคำสั่งทางปกครองและก่อให้เกิดความไม่แน่ใจในความคงอยู่และผลบังคับของกฎหรือคำสั่งทางปกครองได้นอกจากนี้ ยังอาจมีการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองอื่นที่สืบเนื่องมาจากการออกกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นอีกมากมาย โดยกฎหรือคำสั่งทางปกครองนั้นอาจก่อให้เกิดสิทธิหรือนิติสัมพันธ์ต่าง ๆ ตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าการฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนกฎหรือคำสั่งทางปกครองต้องกระทำภายในระยะเวลาที่จำกัด
2.การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ.2542 มาตร 52 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า การฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้นั้น นับว่าเป็นการบัญญัติกฎหมายของไทยที่ก้าวหน้าว่าหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองและเป็นข้อยกเว้นของหลักทั่วไปในมาตรา 49 จึงพึงนำมาใช้อย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการพิจารณาพิพากษาคดีที่มีการฟ้องขอศาลปกครองพิพิกษาเพิกถอนกฎ
3.การที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2549 อันเป็นเวลาเกือบ 5 ปี หลังจากที่พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2544 โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะนั้น ข้าพเจ้าได้แสดงความเห็นไว้แล้วว่า การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.2544 มีผลทางกฎหมายเป็นเพียงการแปลงสภาพของรัฐวิสาหกิจจากประเภทที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติให้กลายเป็นรัฐวิสาหกิจประเภทที่เป็นบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการโอนหรือขายหุ้นที่รัฐถือครงอยู่ในรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพแล้วไปเป็นของเอกชน และเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้ายังไม่เห็นพ้องด้วย ซึ่งมิได้ทำให้การฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กลายเป็นการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการคุมครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องคดีเมื่อใดก็ได้ ส่วนการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.2544 โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 มีอำนาจได้รับยกเว้นมีสิทธิพิเศษหรือ ได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือกฎหมายอื่นได้บัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 การที่ผู้ฟ้องคดีทั้งห้าให้เหตุผลในการฟ้องคดีโต้แย้งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ว่าเป็นการกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลเอกชนมีอำนาจมหาชนของรัฐเท่านั้น เท่ากับเป็นการโต้แย้งหลักการและบทบัญญัติของมาตรา 26 วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2542 ซึ่งมิใช่เหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ และไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองสูงสุดที่จะพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของบทบัญญัติในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ด้วยเหตุผลเพียงเท่านี้ ข้าพเจ้าจึงยังไม่เห็นว่าการฟ้องคดีขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้จะเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะได้อย่างไร แต่ในทางกลับกัน ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ได้คัดค้านมาโดยตลอดว่าการเพิกถอนพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับจะมีผลกระทบต่อประเทศทั้งในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงาน เศรษฐกิจของประเทศ และความเชื่อมั่นของการลงทุนในตลาดทุนไทยทั้งระบบอย่างไร
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า การยื่นฟ้องคดีนี้ไม่มีลักษณะเป็นการฟ้องคดีปกครองที่เกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะที่จะยื่นฟ้องเมื่อใดก็ได้ตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542
โดยสรุป ข้าพเจ้าเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้งห้ามิได้เป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง และการยื่นฟ้องคดีนี้ก็พ้นระยะเวลาในการฟ้องคดีแล้ว โดยไม่เข้าข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นควรที่ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องในคดีนี้ไว้พิจารณา
(นายธงชัย ลำดับวงศ์)
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
(นายชาญชัย แสวงภักดิ์)
ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ