คดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ /๒๕๕๑ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลปกครองกลาง วันที่ ๒๗ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๑ นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ที่ ๑ ผู้ฟ้องคดี นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ ๒ นายนคร ชมพูชาติ ที่ ๓ นายสุริยะใส กตะศิลา ที่ ๔ นายคำนูณ สิทธิสมาน ที่ ๕ นายคณิศร ฑปภูผา ที่ ๖ นายกิ่งแก้ว โยมเมือง ที่ ๗ นายประภาส บุรีศรี ที่ ๘ นางรัศมี ไวยเนตร ที่ ๙ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ ๑ คณะรัฐมนตรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา(ต. ๒๐)ระหว่างคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นประชาชนไทยและเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของชาติ มีหน้าที่ป้องกันประเทศรักษาผลประโยชน์ของชาติตามมาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้ชายแดนประเทศกัมพูชาอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารและมีความผูกพันยึดมั่นในปราสาทพระวิหารซึ่งเป็นมรดกทางอารยะธรรมล้ำค่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๕ เป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) เป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ต่อมาวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้ประเทศกัมพูชาเสนอต่อองค์การยูเนสโกในวันที่ ๕ กรกฎาคม๒๕๕๑ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้ข้อ ๑. ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชาตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ ๓๒ของคณะกรรมการมรดกโลก (ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๘)เขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. ๑ ในแผนที่ที่แนบท้ายที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลกัมพูชา แผนที่ดังกล่าวให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone)ในด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ของปราสาทตามที่ระบุไว้ตามเครื่องหมาย N. ๒ ด้วยข้อ ๒. ในบรรยากาศแห่งความปรารถนาดีและประนีประนอมต่อกันราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับให้ปราสาทพระวิหารถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกโดยขั้นตอนนี้ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) ตามพื้นที่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกของปราสาทข้อ ๓. แผนที่แนบท้ายตามที่ระบุในย่อหน้าที่ ๑ ข้างต้น ให้ใช้แทนแผนที่เดิมที่เกี่ยวกับและรวมถึง “Schema Directeur pour la Zonage de Preah Vihear” และรวมถึงผังหรือแผนแบบอ้างอิงทั้งเก้าที่ระบุถึงเขตพื้นที่สำคัญ (Core zone) และเขตอื่นๆ(zonage) เขตพื้นที่อื่นของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏในคำร้องขอขึ้นทะเบียนของประเทศกัมพูชาข้อ ๔. ในระหว่างรอผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน(JBC) เพื่อกำหนดอาณาเขตเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกรอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งระบุโดยเครื่องหมาย N.๓ ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ ๑ข้างต้น ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านการอนุรักษ์ เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนการจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้นซึ่งจะต้องนำเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกก่อนวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๐ เพื่อนำเข้าพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐ข้อ ๕. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก จะเป็นไปโดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ในการกำหนดเส้นเขตแดนของคณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศข้อ ๖. ราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ขอแสดงความขอบคุณอย่างลึกซึ้งต่อผู้อำนวยการยูเนสโก ฯพณฯ นายโคอิชิโร มัตซุอุระ สำหรับความช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกแก่กระบวนการในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลกเมื่อพิจารณาถ้อยคำเนื้อหาและสาระในแถลงการณ์ร่วม ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแถลงการณ์ร่วมมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่ของอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การดำเนินการดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ซึ่งแถลงการณ์ร่วมมีผลดังนี้๑. แถลงการณ์ร่วม ข้อ ๑. มีผลให้ประเทศไทยสละสิทธิในข้อสงวนที่ประเทศไทยจะเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต เนื่องจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕)ให้ประเทศกัมพูชามีอธิปไตยเหนือซากของปราสาทพระวิหาร แต่ประเทศไทยได้สงวนสิทธิที่มีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาโดยอาศัยกระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชา ซึ่งได้ยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อนายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๓กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) และมีผลเป็นการยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศกัมพูชาอย่างสมบูรณ์ถาวรตลอดไป นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการยอมรับพื้นที่กันชน(buffer zone) ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาทพระวิหารเป็นอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเหนือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ๒. หากพิจารณาข้อความในแถลงการณ์ร่วมข้อ ๒. โดยรอบคอบ ประเทศกัมพูชาไม่ได้สละสิทธิของความมีอยู่ในอำนาจอธิปไตยในพื้นที่กันชน (buffer zone) ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออกของตัวปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นเพียงข้อตกลงเพื่อเสนอปราสาทพระวิหารขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกเท่านั้น๓. แถลงการณ์ร่วม ข้อ ๓. มีผลเป็นการเพิ่มน้ำหนักในการยอมรับอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา การแสดงเจตนาสละสิทธิในบรรดาข้อโต้แย้งต่างๆ ของประเทศไทย และประเทศไทยก็ต้องยึดถือแผนที่ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ ๑ แทนตามแถลงการณ์ร่วมอย่างมิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป๔. แถลงการณ์ร่วม ข้อ ๔. มีผลให้ประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชาในพื้นที่ N.๓ ซึ่งเป็นการยอมรับการขยายอาณาเขตของประเทศกัมพูชานอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และมีผลทำให้เป็นการยุติการปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน (JBC) ตามพื้นที่ N.๓ ไปโดยปริยาย และเมื่อประเทศกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบตัวปราสาทเป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวแล้ว การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกย่อมเป็นสิทธิของประเทศกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว๕. หากพิจารณาแถลงการณ์ร่วมข้อ ๕. โดยรอบคอบแล้ว ข้อตกลงในแถลงการณ์ร่วมจะเป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศต้องปฏิบัติตาม๖. แถลงการณ์ร่วม ข้อ. ๖ การแสดงความขอบคุณเป็นมารยาทอันสำคัญที่ต้องแสดงให้ปรากฏอย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันการระบุชื่อนายโคอิชิโร มัตซุอุระผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก เป็นการแสดงให้ปรากฏต่อคณะกรรมการมรดกโลกและประชาชนโลกด้วยว่ากระบวนการในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลกตามความตกลงของแถลงการณ์ร่วมได้กระทำด้วยน้ำใจแห่งมิตรภาพและความร่วมมือต่อกันที่ต่างจะถือข้อกำหนดตามแถลงการณ์ร่วมเป็นข้อมูลผูกพันของทั้งสองประเทศอย่างมั่นคงต่อหน้าพยานการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่เป็นการกระทำในลักษณะปกปิด บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริงความหมายแห่งถ้อยคำในสาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วม ไม่แสดงสถานะของแถลงการณ์ร่วมที่แท้จริงอันจะมีผลต่อกระบวนการขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งไม่แสดงผลความผูกพัน ความเสียหาย อันจะเกิดแก่ประเทศไทยอย่างชัดแจ้ง โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดนและอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย โดยเจตนาไม่สุจริต จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญ สร้างภาระให้เกิดแก่ประเทศชาติ แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและปวงชนชาวไทยทุกคนดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม โดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) เป็นผู้ลงนาม จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีผลให้การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมายอาศัยเหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งถึงการร่วมกันกระทำการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เจตนาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทำการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีผลเสียหายต่ออาณาเขตดินแดนของประเทศไทย กระทบกระเทือนต่อพระราชอำ นาจขององค์พระมหากษัตริย์และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและปวงชนชาวไทยทุกคนทั้งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้ามีเจตนาที่จะปกป้องอาณาเขตดินแดน อำนาจอธิปไตยของประเทศไทย ปกป้อง พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของปวงชนชาวไทยทุกคน อีกทั้งเป็นคดีที่ศาลปกครองกลางสามารถออกคำบังคับได้ตามกฎหมาย จึงฟ้องศาลให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้๑) เพิกถอนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ที่เสนอร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อพิจารณาและมีมติเห็นชอบ๒) เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่มีมติเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวโดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ)เป็นผู้ลงนาม๓) เพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑(นายนพดล ปัทมะ) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑๔) มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโกผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ สรุปได้ว่า การลงนามในแถลงการณ์ร่วมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและประชาชนอาจสูญเสียดินแดนประเทศไทยโดยไม่อาจแก้ไขกลับคืนสู่สภาพเดิมอีกทั้งหากศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เนื่องด้วยเป็นการตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม และไม่กระทบกระเทือนต่ออาณาเขตดินแดนอำนาจอธิปไตยของประเทศกัมพูชา รวมทั้งไม่มีผลเป็นการยุติการขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชา แต่หากปล่อยให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินการไปอย่างต่อเนื่องแล้ว ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกเลิกเพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน จนไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าจึงขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ (๑) ให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งระงับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทั้งการเสนอเรื่องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และการลงนามในแถลงการณ์ร่วมเป็นอันสิ้นผลเป็นการชั่วคราว (๒) ให้ศาลมีคำสั่งระงับผลมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ กรณีเห็นชอบแถลงการณ์ร่วม และมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเป็นอันสิ้นผลเป็นการชั่วคราว (๓) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการใดๆ อันเป็นการแจ้งการยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโกไว้เป็นการชั่วคราวศาลได้ไต่สวนฝ่ายผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า นายกฤต ไกรจิตติ นายเชิดชู รักตะบุตรและ นายพิษณุ สุวรรณะชฎ พยาน เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดยพยานให้ถ้อยคำและเอกสารประกอบดังนี้นายกฤต ไกรจิตติ พยานให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งตามธรรมนูญของศาลดังกล่าวกำหนดให้วินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่คู่กรณีอ้างโต้แย้งกันเท่านั้น ในคดีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ประเทศไทยอ้างแนวเขตแดนอยู่ที่เส้นสันปันน้ำ แต่ประเทศกัมพูชาอ้างแผนที่ที่ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นขณะยึดครองประเทศกัมพูชา ซึ่งแนวเขตแดนไม่ได้เป็นไปตามแนวสันปันน้ำ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงพิพากษาว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชา แต่ไม่ได้พิพากษาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนทำให้มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่ส่วนหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น เคยโต้แย้งว่าคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปีค.ศ. ๑๙๐๗ และขัดต่อหลักความยุติธรรม อย่างไรก็ตามการขอทบทวนคำพิพากษาสามารถทำได้แต่ต้องดำเนินการภายใน ๑๐ ปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาซึ่งในปัจจุบันล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้วมติคณะรัฐมนตรีมีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกโดยจัดทำ ป้ายแสดงเขตและทำ รั้วลวดหนาม แนวเขตแดนตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ปรากฏตามแผนที่ท้ายเอกสารดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา โดยปรากฏตามวารสารของกระทรวงการต่างประเทศฉบับเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ เอกสารดังกล่าวถือเป็นเอกสารที่เป็นทางการและเผยแพร่ไปทั่วโลก ประเทศไทยได้จัดทำป้ายแสดงเขตและรั้วลวดหนามตามแนวเขตตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีแนวเขตมากกว่าตัวปราสาทพระวิหารโดยทิศตะวันตกจะอยู่ห่างจากแกนปราสาทพระวิหารประมาณ ๑๐๐ เมตร ส่วนทิศเหนือจะเป็นเส้นเฉียงจากทิศเหนือไปทางทิศตะวันออกโดยครอบคลุมถึงช่องบันไดหักโดยอยู่เหนือช่องบันไดหักประมาณ ๒๐ เมตร ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกใต้ช่องบันไดหัก ซึ่งเป็นพื้นที่สามเหลี่ยมนั้นไม่ได้กั้นเป็นเขตแดนในการลงนามในแถลงการณ์ร่วมพร้อมแผนที่แนบท้ายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ซึ่งกรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีการล้ำเข้ามาในเขตแดนไทยหลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีการประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ มีมติให้กระทรวงการต่างประเทศแก้ไขถ้อยคำในเอกสารต่างๆ จากคำว่า “แผนที่” เป็น “แผนผัง” ส่วนรูปลักษณ์และขอบเขตต่างๆ ยังคงเดิม เหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำดังกล่าวเพื่อให้ตรงกับความเป็นจริง และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้แจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปยังประเทศกัมพูชา เนื่องจากเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทยลงนามในแถลงการณ์ร่วมแล้ว เป็นเรื่องที่ประเทศกัมพูชาจะต้องไปยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกโดยประเทศไทยไม่ต้องดำเนินการใดๆเหตุที่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศกัมพูชาต้องให้ประเทศไทยรับรองเนื่องจากอนุสัญญาองค์การการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโกข้อ ๑๑ วรรคสาม กำหนดว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะต้องรับความยินยอมจากรัฐที่เกี่ยวข้อง เมื่อประเทศกัมพูชานำพื้นที่ที่ประเทศไทยอ้างสิทธิอยู่ในครั้งแรกไปขึ้นทะเบียนมรดกโลก ประเทศไทยได้คัดค้านจนในที่สุดประเทศกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออกและเมื่อตัดพื้นที่ทับซ้อนออกแล้ว ประเทศกัมพูชาสามารถยื่นขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลกได้เองโดยไม่ต้องให้ประเทศไทยให้ความยินยอม และไม่จำเป็นต้องใช้แถลงการณ์ร่วมที่จัดทำขึ้น การที่ประเทศไทยลงนามในแถลงการณ์ร่วมมีผลเท่ากับการให้การสนับสนุนในฐานะประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การที่คณะกรรมการมรดกโลกจะยินยอมขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารหรือไม่ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศไทยหากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า จะมีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศไทยเนื่องจากประเทศไทยได้เจรจากับประเทศกัมพูชาไว้แล้ว หากไม่มีการลงนามหรือใช้แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามไว้แล้ว จะทำให้ประเทศกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยใช้แผนที่ฉบับเดิมซึ่งรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนด้วย หากไม่มีการเจรจาและคัดค้านการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลกอาจยอมรับให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อนซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียอำนาจอธิปไตยและกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชานายเชิดชู รักตะบุตร พยาน ให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชาซึ่งมีความหมายถึงดินแดนและตัวปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุถึงเส้นเขตแดนส่วนที่เป็นพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ทำให้เป็นปัญหาของเขตแดนบริเวณดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในขณะนั้นได้มีมติให้จัดทำป้ายแสดงเขตและทำรั้วลวดหนาม โดยเลือกวิธีที่กำหนดขอบเขตของปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบันไดหัก โดยแนวเขตอยู่เหนือช่องบันไดหัก ๒๐ เมตร พื้นที่ซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมใต้ช่องบันไดหักมีสระน้ำ อยู่ใกล้กับตัวปราสาท นอกจากนั้น เป็นป่าสลับกับลานหิน สูงชัน ตามหลักฐานราชการระบุว่ามีการปักป้ายตามแนวเขตแดนไว้ ๕ ป้าย และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำรั้วลวดหนาม ซึ่งในปัจจุบันไม่มีซากรั้วเหลืออยู่ พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของปราสาทพระวิหารระหว่างตัวปราสาทพระวิหารกับเส้นสันปันน้ำจะอยู่ห่างกันประมาณไม่เกิน ๑๐๐ เมตรซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน ส่วนบันไดขึ้นปราสาทพระวิหารทั้งหมดอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา เพียงแต่ถนนที่เข้าสู่ปราสาทพระวิหารอยู่ในประเทศไทยการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาได้ดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ ๒ ปี แล้ว หากประเทศไทยไม่มีการลงนามแถลงการณ์ร่วมแล้ว จะทำให้ประเทศกัมพูชากลับไปใช้แผนที่ฉบับเดิม ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนในการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและคณะกรรมการมรดกโลกอาจขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปตามแผนที่ของประเทศกัมพูชา และในปีนี้ประเทศไทยไม่ได้มีตัวแทนในคณะกรรมการมรดกโลก ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าว ประเทศไทยก็อาจจะต้องเผชิญหน้ากับประเทศกัมพูชาในพื้นที่ทับซ้อน ในการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาเพื่อจัดทำแถลงการณ์ร่วม ณ กรุงปารีส แต่มีข้อตกลงให้มีการลงนามเมื่อประเทศกัมพูชาส่งแผนที่ให้ประเทศไทยก่อน จึงไม่ได้ลงนามกันต่อหน้าทั้งสามฝ่าย แถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สนธิสัญญาแต่เป็นเพียงเอกสารทางการทูตอย่างหนึ่ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่วนกรณีแถลงการณ์ร่วมที่ผ่านการพิจารณาของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงนำเข้าเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ได้ และการทำแถลงการณ์ร่วมไม่ได้ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้นแผนที่ท้ายแถลงการณ์ร่วมจัดทำโดยประเทศกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวโดยกำหนดพื้นที่ N. ๑ เป็นเขตประสาทพระวิหาร มีเนื้อที่น้อยกว่าแผนที่ที่จัดทำตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ บริเวณพื้นที่ N. ๒ เป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในประเทศกัมพูชาพื้นที่ N. ๓ เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ระหว่างการตกลงเรื่องเขตแดน และไม่มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน การทำความตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศเป็นไปตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีเขตแดนระหว่างประเทศไทยและกัมพูชายาวประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร การบริหารจัดการในพื้นที่ N. ๓เป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา และในพื้นที่ดังกล่าวมีประชาชนกัมพูชาสร้างวัดและอยู่อาศัย ซึ่งเดิมไม่มีปัญหาใดต่อกัน แต่เริ่มมีข้อพิพาทกัน เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งตามคดีนี้ปัจจุบันมีคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเขตแดนที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ซึ่งจะรวมถึงพื้นที่บริเวณ N. ๓ ด้วย คณะกรรมาธิการดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับโดยดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี ค.ศ. ๑๙๐๗นายพิษณุ สุวรรณะชฎ พยาน ให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า การจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการติดตามการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาและทราบว่ามีการทำแผนที่โดยมีการกำหนดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในประเทศไทย ประเทศไทยจึงได้คัดค้านในการประชุมครั้งที่ ๓๑ ที่นครไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นผลให้ประเทศกัมพูชาชะลอการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไปทำความตกลงกันในปัญหาเขตแดนและข้อขัดแย้งต่างๆ เพื่อให้ประเทศกัมพูชาสามารถจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกได้ในการประชุมครั้งที่ ๓๒ ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดาภายหลังการประชุมสมัยที่ ๓๑ ประเทศไทยได้พยายามให้ความร่วมมือกับประเทศกัมพูชาตามมติที่ประชุม แต่ไม่บรรลุผลเนื่องไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศกัมพูชา ประเทศไทยก็ได้ใช้วิธีทางการทูตผ่านทางองค์การยูเนสโก คณะกรรมการมรดกโลกและประเทศสมาชิกที่มีอิทธิพลเป็นผลให้ประเทศกัมพูชายอมผ่อนปรนท่าทีโดยขอขึ้นทะเบียนเฉพาะบริเวณปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่รวมพื้นที่ทับซ้อนการตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกจะขึ้นอยู่กับสมาชิก ๒๑ ประเทศซึ่งในการพิจารณาจะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน บางประเทศให้ความสำ คัญด้านโบราณคดี บางประเทศจะมีเหตุผลทางการเมือง ด้วยเหตุนี้การพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกอาจมีเหตุผลทางการเมืองประกอบ การที่ประเทศกัมพูชาไม่ยินยอมจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกับประเทศไทยเป็นเหตุผลทางการเมืองของประเทศกัมพูชาการขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะทำให้ประเทศกัมพูชาได้ประโยชน์ในด้านภาพลักษณ์ว่ามีวัฒนธรรมสูง มีอารยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเปิดกว้างรับความร่วมมือจากนานาชาติและเปิดกว้างในการพัฒนามรดกโลก ได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจในด้านความช่วยเหลือจากนานาชาติ สำหรับปราสาทพระวิหาร จากการประเมินของนักโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกประมาณได้ว่า ปราสาทพระวิหารจะได้รับงบประมาณในการบูรณปฏิสังขรณ์ ประมาณ ๑,๔๐๐ ล้านบาท ในระยะเวลา ๑๐ ปี โดยเป็นการประเมินของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบูรณปฏิสังขรณ์มรดกโลก ส่วนประเทศไทยจะได้ประโยชน์ด้วยเพราะทางขึ้นประสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนประเทศไทย และประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงกับปราสาทพระวิหาร เช่น แหล่งตัดหิน สระตราว ซึ่งเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพระวิหาร ทำนบโบราณ ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับปราสาทพระวิหาร สถูปคู่ ซึ่งกำลังตรวจสอบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารอย่างไร และภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดงแต่ประเทศไทยจะไม่เสียประโยชน์ใดๆ เว้นแต่อาจจะเสียความเป็นอิสระในการดำเนินการพัฒนาโบราณสถานและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องดำ เนินการตามหลักเกณฑ์ของศูนย์มรดกโลกพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานของรัฐมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและมีอำนาจบริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำเสนอร่างแถลงการณ์ร่วมต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยไม่สุจริต ใช้อำนาจหน้าที่และกระทำนอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่แสดงสถานะของแถลงการณ์ร่วม ทั้งไม่แสดงผลความผูกพันที่อาจเกิดแก่ประเทศชาติ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ประชุมพิจารณาโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบคอบ ใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและปวงชนชาวไทย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดลปัทมะ) เป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเป็นการให้ความเห็นชอบในการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วยกรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายที่อยู่ในอำ นาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลเห็นสมควรมีคำสั่งรับคดีนี้ไว้พิจารณาแล้วคดีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ศาลสมควรมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือไม่ในการพิจารณาคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าในกรณีนี้ต้องใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำ หนดไว้ในมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๗๗ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครองพ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดไว้ว่า ให้นำความในลักษณะ ๑ ของภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขอ เงื่อนไขในการออกคำสั่งของศาลและผลของคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อน การพิพากษา หรือวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาโดยอนุโลมเท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำได้และโดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้ และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง เมื่อศาลได้พิจารณาบทบัญญัติในลักษณะ ๑ ของภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้โดยไม่ขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๕๔ วรรคหนึ่ง (๒)ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย.. และมาตรา ๒๕๕วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า ในการอนุญาตตามที่ขอตามคำขอที่ยื่นไว้ ตามมาตรา ๒๕๔ ต้องเป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอมานั้น...(๒) (ข) โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลยศาลได้ตรวจพิจารณาคำขอเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ และเอกสารอื่นๆ ในสำนวนคดีด้วยแล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคดีปราสาทพระวิหารที่พยานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่งต่อศาล โดยคณะผู้พิพากษาเก้าต่อสาม ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชา โดยเหตุนี้ จึงพิพากษาว่าประเทศไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารและตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไปประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของประเทศกัมพูชาจะเห็นได้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุเขตแดนระหว่างปราสาทพระวิหารกับเขตแดนไทยอย่างชัดแจ้ง แม้ว่าคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕กำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหารมีแนวเขตจากปีกขวาของตัวปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบันใดหัก (ช่องบันใดหักอยู่ภายในบริเวณปราสาทพระวิหาร) แล้วลากเส้นตรงผ่านชิดบันไดนาคตรงไปจนถึงตัวปราสาทแล้วลากเส้นตรงขนานกับตัวปราสาทพระวิหาร ไปสุดที่หน้าผาชันด้านหลังปราสาทพระวิหาร จะเป็นเนื้อที่ปราสาทพระวิหารประมาณ เศษหนึ่งส่วนสี่ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่ที่พยานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่งต่อศาล ก็ตาม แต่ก็เป็นการกำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารโดยประเทศไทยฝ่ายเดียว ประกอบกับ นายกฤต ไกรจิตติ พยานให้ถ้อยคำยืนยันว่าประเทศไทยได้จัดทำป้ายแสดงเขตและรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่เพียงฝ่ายเดียว และนายเชิดชู รักตะบุตร พยาน ได้ให้ถ้อยคำว่า การปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา มีคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชาที่จัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พ.ศ. ๒๕๔๓ โดยดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปีค.ศ. ๑๙๐๗ รวมความยาวพื้นที่ชายแดนประเทศไทยที่ติดต่อประเทศกัมพูชา ๗๙๘กิโลเมตรที่ยังเจรจาปักปันเขตแดนยังไม่สำเร็จ ซึ่งรวมทั้งเขตแดนในบริเวณปราสาทพระวิหารด้วย จึงเชื่อว่ายังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาในบริเวณเขตแดนปราสาทพระวิหารโดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชาซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศทั้งสองแต่ประการใด อีกทั้งเมื่อพิจารณาแถลงการณ์ร่วมในข้อ ๑ที่ระบุว่า “ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลกซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชาตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ ๓๒ ของคณะกรรมการมรดกโลก (ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๘) เขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. ๑ ..” ซึ่งปรากฏว่าในแผนที่แนบท้ายแถลงการณ์ร่วมที่ประเทศกัมพูชาเป็นผู้จัดทำขึ้นมีการกำหนดเขตรอบพื้นที่ปราสาทพระวิหารอย่างชัดแจ้ง โดยระบุในแผนที่ว่าเป็นพื้นที่ N. ๑ แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีบริเวณจำนวนน้อยกว่าบริเวณปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๑๐กรกฎาคม ๒๕๐๕ ก็ตาม อาจถือได้ว่าประเทศไทยได้ยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. ๑ โดยปริยาย นอกจากนี้แถลงการณ์ร่วมในข้อ ๔. ที่ระบุว่า “..เครื่องหมาย N. ๓ ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ ๑ ข้างต้นให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านการอนุรักษ์เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนการจัดการดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้น..” ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวอาจมีผลผูกพันประเทศไทยและอาจทำลายน้ำหนักในการอ้างอิงเขตแดนที่ประเทศไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาโดยตลอด ดังนั้น คดีจึงมีมูลรับฟังได้ตามคำฟ้อง และการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชนซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าได้รับความเสียหายต่อไป อันเป็นความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งหากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงานของรัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีประสาทพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาลจะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา และการดำเนินการตามมติดังกล่าว จนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวนตุลาการศาลปกครองกลางนายประวิตร บุญเทียมตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลางนายณัฐ รัฐอมฤตตุลาการศาลปกครองกลางหมายเหตุ เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดเล็กน้อยในหน้าที่ ๑๒ ศาลจึงแก้ไขข้อความจาก“...ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔...พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๒ ...” เป็น “...ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕...พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ...” ท่านสามารถตรวจสอบต้นฉบับได้ที่ศาลปกครอง