นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. .... ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาพร้อมกับร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ...... ตามข้อสังเกตของ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป ร่างพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝาก พ.ศ. .... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว ได้มีการปรับปรุงถ้อยคำรวมทั้งได้แก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญซึ่งสรุปได้ดังต่อไปนี้ 1. เปลี่ยนชื่อจาก “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันประกันเงินฝาก พ.ศ. ....” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.....” 2. การปรับปรุงแก้ไขบทนิยาม - ตัดการอ้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 - ตัดบทนิยามคำว่า “สมาชิก” ออก - ตัดบทนิยามที่ไม่จำเป็นต้องกำหนดไว้ ได้แก่ “บริษัทแม่” “บริษัทลูก” “บริษัทร่วม” “ผู้มีอำนาจจัดการ” “อำนาจควบคุมกิจการ” - เพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่” เพื่อให้มีความชัดเจนและสอดคล้อง กับการกำหนดให้ผู้อำนวยการสถาบันเป็นผู้แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ - เพิ่มเติมคำนิยาม “คณะกรรมการควบคุม” 3. ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการกำหนดให้กระทรวงการคลังมีอำนาจค้ำประกันการกู้เงิน ของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก 4. เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากจากไม่น้อยกว่า 7 คน เป็น จำนวน 7 คน แต่ไม่เกิน 9 คน และเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการเงินการคลังและกฎหมาย อย่างน้อยด้านละ 1 คน 5. การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากให้นำกฎหมายว่าด้วย ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มาใช้บังคับกับกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของสถาบัน คุ้มครองเงินฝาก 6. การนำส่งเงินเข้ากองทุน ได้กำหนดให้สถาบันการเงินต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา 7. จำนวนเงินที่ได้รับการคุ้มครอง ได้กำหนดให้สถาบันคุ้มครองเงินฝากให้ความคุ้มครองเงินฝากให้แก่ผู้ฝากเงินแต่ละรายในแต่ละสถาบันการเงินตามจำนวนเงินที่ฝากไว้ในทุกบัญชีรวมกัน ไม่เกิน 1,000,000 บาท 8. ตัดบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสถาบันการเงินออกโดยนำไปกำหนดไว้ใน ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ..... 9. ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการหักลบกลบหนี้ ออกโดยให้นำไปบทบัญญัติไว้ใน ร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.... 10. ตัดบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและนิติกรรมออก 11. บทเฉพาะกาล ได้กำหนดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ของสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะต้องดำเนินการให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดจำนวนเงินการคุ้มครองเงินฝากให้สูงกว่าที่กำหนดไว้ตามกฎหมายนี้ได้สำหรับระยะเวลา 4 ปี แรก ของการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ ทั้งนี้ การปรับปรุงถ้อยคำและแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวข้างต้น ทำให้ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ...... มีความชัดเจนและรัดกุมยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ...... อนึ่ง โดยที่ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ. ... และร่างพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. ... มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกัน ดังนั้น จึงเห็นควรเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้งสองฉบับข้างต้นต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติพร้อมกัน