พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรตั้งแต่ระหว่าง9-15 กรกฎาคม 2550

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2007 16:00 —กรมอุตุนิยมวิทยา

           ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่าง ๆ 
ระหว่าง 09 กรกฎาคม 2550 - 15 กรกฎาคม 2550
ภาคเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองกระจายกับมีลมกระโชกแรงบางพื้นที่ ส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 12-15 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางแห่ง สำหรับผู้ที่ปลูกพืชไร่ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราน้ำค้างในข้าวโพด และโรคใบจุดในพืชตระกูลถั่ว นอกจากนี้ชาวสวนลำไยควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคราสีชมพู
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ถึงกระจาย กับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ทางตอนล่างและด้านตะวันออกของภาค ส่วนในช่วงวันที่ 12-15 ก.ค. มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป โดยมีฝนตกหนัก บางแห่ง เนื่องจากสภาพอากาศชื้นสูง ดังนั้นเกษตรกรที่ปลูกไม้ผลควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคมัมมี่และโรคผลเน่าในน้อยหน่า โดยกำจัดวัชพืชบริเวณสวนให้โล่งเตียน อากาศถ่ายเทได้ดี
ภาคกลาง
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง กับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางตะวันตกของภาค โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 11-15 ก.ค. สำหรับพื้นที่การเกษตร ในที่ลุ่มเกษตรกรควรป้องกันน้ำท่วมขังด้วย นอกจากนี้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคพืชต่าง ๆ เช่น โรคใบจุดสีน้ำตาล ในข้าวนาปี โรคราน้ำค้างในองุ่น และโรคแอนแทรกโนสในฝรั่ง เป็นต้น
ภาคตะวันออก
มีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งกับลมกระโชกแรงบางพื้นที่ตามบริเวณเทือกเขาและชายฝั่ง โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 11-15 ก.ค. ชาวสวนควรทำทางระบายน้ำออกจากพื้นที่การเกษตร เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังซึ่งจะเป็นสาเหตุของการระบาดของโรครากเน่าและโคนเน่าในไม้ผล ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์ควรดูแลโรงเรือนอย่าให้อับชื้น เพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์เลี้ยงอ่อนแอและเจ็บป่วยได้ง่าย นอกจากนี้ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือด้วย
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)
ทางฝั่งตะวันออกของภาคมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไป และมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไปตลอดช่วง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง สำหรับบริเวณที่มีฝนตกหนักเกษตรกรควรระบายน้ำออกจากพื้นที่เพาะปลูก อย่าให้มีน้ำท่วมขังบริเวณโคนต้นพืชนาน เพราะจะทำให้รากพืชขาดอากาศและตายได้ ส่วนผู้ที่เลี้ยงสัตว์น้ำควรระวังและป้องกันความเสียหายเนื่องจากคลื่นลมแรง อนึ่ง ระยะนี้บริเวณอ่าวไทยและทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็กในทะเลอันดามันควรงดออกจากฝั่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ