พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร ตั้งแต่วันที่ 12 - 18 สิงหาคม 2548

ข่าวทั่วไป Friday August 12, 2005 21:31 —กรมอุตุนิยมวิทยา

          พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตร
วัน ศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2548
คาดหมายลักษณะอากาศเพื่อการเกษตรใน 7 วันข้างหน้า
ตั้งแต่วันที่ 12-18 สิงหาคม 2548
ระยะนี้ร่องความกดอากาศต่ำหรือร่องฝนยังคงพาดผ่านภาคเหนือและตอนบนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยเกือบตลอดช่วง ลักษณะเช่นนี้จะทำให้บริเวณประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองกระจายถึงเกือบทั่วไปและมีฝนตกหนักบางพื้นที่ อนึ่ง พายุดีเปรสชั่นในอ่าวตังเกี๋ยเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว ส่วนพายุโซนร้อน “ซันหวู่” ในทะเลจีนใต้ตอนบนจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศจีนในแนวระหว่างเกาะไต้หวันกับฮ่องกงในวันที่ 13 ส.ค.
# ข้อควรระวัง # ช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. มีฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะทางตะวันออกของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร ชาวเรือและชาวประมงควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ เรือเล็กควรงดออกจาฝั่ง
ผลกระทบของลักษณะอากาศต่อการเกษตรตามภาคต่างๆในระยะ7วันข้างหน้ามีดังนี้
เหนือ
ลักษณะอากาศ
# ช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง 70-80% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งทางตะวันออกของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ต่อจากนั้นจะมีฝน 70% ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# บริเวณที่มีฝนตกทำให้อากาศมีความชื้นสูง เกษตรกรที่ปลูกลิ้นจี่ควรระวังและป้องกันการระบาดของ โรคราสีชมพู และโรคราสนิม ซึ่งจะทำให้ใบและยอดแห้งตาย ต้นชะงักการเจริญเติบโต หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรตัดส่วนที่เป็นโรคไปทำลาย และตัดแต่งกิ่งให้โปร่งเพื่อลดความชื้นบริเวณทรงพุ่ม
ตะวันออกเฉียงเหนือ
ลักษณะอากาศ
# ช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง 70-80% ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ทางตอนบนของภาค ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ต่อจากนั้นจะมีฝนฟ้าคะนอง 70% ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# ในช่วงที่มีฝนตก ชาวนาควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคไหม้ และหนอนกระทู้ ซึ่งจะทำให้ข้าวเสียหาย ต้นชะงักการเจริญเติบโต ดังนั้นจึงควรหมั่นสำรวจแปลงปลูก หากพบการระบาดของโรคและศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด นอกจากนี้ควรกำจัดวัชพืช เพื่อไม่ให้เป็นที่หลบซ่อนและเป็นแหล่งสะสมของโรคและศัตรูพืช
กลาง
ลักษณะอากาศ
มีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่เกือบตลอดช่วง โดยมีฝนตกหนักบางแห่งส่วนมากทางด้านตะวันตกของภาค ในช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 65%
ผลกระทบต่อการเกษตร
# บริเวณที่มีฝนตก โดยเฉพาะทางด้านตะวันตกของภาค เกษตรกรที่ปลูกกล้วยไม้ควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย เช่น โรคเน่าดำ โรคดอกสนิม และโรคเน่าเละ ซึ่งมักระบาดในช่วงที่อากาศมีความชื้นสูง ทำให้ใบ ต้นและดอกเสียหาย หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรตัดส่วนที่เป็นโรคไปกำจัด และแยกกระถางที่เป็นโรคออกจากโรงเรือนเพื่อป้องกันเชื้อโรคแพร่ไปยังต้นอื่นๆ
ตะวันออก
ลักษณะอากาศ
# มีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด ในช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ต่อจากนั้นจะมีฝน 40% ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95 % ตอนบ่าย 70%
ผลกระทบต่อการเกษตร
บริเวณที่มีฝนตก โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดจันทบุรีและตราด ชาวสวนยางพาราควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคเส้นดำ โรคใบยางร่วงลูกยางเน่า ซึ่งจะทำให้หน้ายางเสียหาย ใบร่วงหล่น หากพบการระบาดของโรคดังกล่าวควรรีบกำจัด และเก็บใบที่ร่วงหล่นไปทำลาย
ใต้
ลักษณะอากาศ
# ฝั่งตะวันออกช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนอง 30-50% ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
# ฝั่งตะวันตกช่วงวันที่ 13-15 ส.ค. มีฝนฟ้าคะนอง 60% ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม. ต่อจากนั้นมีฝนฟ้าคะนอง 30-50% ของพื้นที่ ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตอนเช้า 95% ตอนบ่าย 65%
ผลกระทบต่อการเกษตร
ชาวสวนลองกองควรระวังและป้องกันการระบาดของโรคผลเน่า ผีเสื้อมวนหวาน และโรคราสีชมพูซึ่งจะทำให้ผลเน่าและร่วงหล่น หากพบการระบาดของโรคและศัตรูพืชดังกล่าวควรรีบกำจัด โดยเก็บผลที่ร่วงหล่นไปทำลาย เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมอุตุนิยมวิทยา 0-2399-4568-74
-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ