บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญทั่วไป)

ข่าวการเมือง Thursday April 22, 2004 14:47 —รัฐสภา

                     บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันอังคารที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๕๐ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
และนายสหัส พินทุเสนีย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง
ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญทั่วไป) วันพุธที่ ๗ เมษายน ๒๕๔๗
ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติของวุฒิสภา รวม ๓ ฉบับ
คือ ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ….
และร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
พ.ศ. …. ซึ่งได้กำหนดจำนวนบุคคลที่จะประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นจำนวน สภาละ ๑๒ คน
ต่อมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ….
และร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พ.ศ. …. ให้ที่ประชุมพิจารณา ประธานวุฒิสภาจึงเสนอให้ที่ประชุม
พิจารณาเรื่องดังกล่าว ตามลำดับ ดังนี้
๑. ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการ
พลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภา
จำนวน ๑๒ คน ประกอบเป็นคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ประกอบด้วย
๑. นายคำพันธ์ ป้องปาน ๒. นายนพดล สมบูรณ์
๓. นายบุญยืน ศุภสารสาทร ๔. นายผ่อง เล่งอี้
๕. นายลำพอง พิลาสมบัติ ๖. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
๗. นายวิชัย ครองยุติ ๘. นายวิทยา มะเสนา
๙. นายสม ต๊ะยศ ๑๐. นายสมควร จิตแสง
๑๑. นายสุนทร จินดาอินทร์ ๑๒. นางสุนีย์ อินฉัตร
๒. ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ….
ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภา จำนวน ๑๒ คน ประกอบเป็น
คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย
๑. นายสุรใจ ศิรินุพงศ์ ๒. นางพรหมจารี รัตนเศรษฐ์
๓. นายณรงค์ นุ่นทอง ๔. นายนิรัตน์ อยู่ภักดี
๕. นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ๖. นายลำพอง พิลาสมบัติ
๗. พันตำรวจเอก สุรพงศ์ ไผ่นวล ๘. นายอนันตชัย คุณานันทกุล
๙. นายอุบล เอื้อศรี ๑๐. นางปราณี ภาษีผล
๑๑. นางเกษรี ณรงค์เดช ๑๒. นายธรรมนิตย์ สุมันตกุล
๓. ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน
พ.ศ. …. ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้งกรรมาธิการร่วมกันฝ่ายวุฒิสภา จำนวน ๑๒ คน ประกอบเป็น
คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบด้วย
๑. นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ๒. นายชงค์ วงษ์ขันธ์
๓. นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา ๔. นายพนัส ทัศนียานนท์
๕. นายพา อักษรเสือ ๖. นายมนตรี สินทวิชัย
๗. นายวงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง ๘. นายวิบูลย์ แช่มชื่น
๙. นางวิลาวัณย์ ตันวัฒนะพงษ์ ๑๐. นายวีรวร สิทธิธรรม
๑๑. นายสม ต๊ะยศ ๑๒. นายสมควร จิตแสง
จากนั้น ประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกัน
ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อน
เรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้วในลำดับที่ ๔.๑ รายงานการพิจารณาศึกษาบทบาท
และการดำเนินกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว ออกไปก่อน
เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯ ขอนำรายงานดังกล่าวไปทำการปรับปรุงเพื่อให้มี
ความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ต่อจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
คือ รายงานการพิจารณากรณีศึกษาเรื่อง อ้อยและน้ำตาล ซึ่งคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์พิจารณาเสร็จแล้ว
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบด้วยกับรายงานพร้อมทั้ง
ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
หลังจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องที่ค้างพิจารณา
คือ ญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วนต่อวุฒิสภาเพื่อให้มีการอภิปรายว่าประเทศไทยเป็นประเทศ
ที่รักสันติไม่เข้าข้างสงครามที่ประเทศใดเป็นผู้ก่อขึ้น ซึ่งนายแคล้ว นรปติ เป็นผู้เสนอ
ญัตติ เรื่อง สถานการณ์ของอิรักและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยและการเตรียมการ
ของรัฐบาล ซึ่งนายสมพงษ์ สระกวี เป็นผู้เสนอ และญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน
เรื่องขอให้วุฒิสภามีมติขอให้รัฐบาลถอนทหารออกจากประเทศอิรัก ซึ่งนายการุณ ใสงาม
และคณะ เป็นผู้เสนอ โดยเป็นเรื่องที่เลื่อนมาจากการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๑๙ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันจันทร์ที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗ เมื่อผู้เสนอญัตติทั้ง ๓ เรื่องได้แถลงเหตุผล มีสมาชิกฯ อภิปราย
รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบชี้แจงแล้ว
ได้มีสมาชิกฯ ร้องขอให้มีการประชุมลับในการพิจารณาญัตติ เรื่อง ขอเสนอญัตติด่วน
เรื่องขอให้วุฒิสภามีมติขอให้รัฐบาลถอนทหารออกจากประเทศอิรัก ซึ่งนายการุณ ใสงาม
และคณะ เป็นผู้เสนอ ตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๓ ประธานของที่ประชุมจึงดำเนินการประชุมลับ
เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เมื่อสมาชิกฯ ได้อภิปรายจนได้เวลาพอสมควร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ตอบชี้แจงแล้ว ประธานของที่ประชุมจึงได้ดำเนินการประชุมโดยเปิดเผย
ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติไม่เห็นชอบด้วยกับญัตติดังกล่าว
ต่อมา ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการการมีส่วนร่วม
ของประชาชนแทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ให้ที่ประชุมพิจารณา และมีมติให้ตั้ง
พลเอก วิชา ศิริธรรม เป็นกรรมาธิการแทนตำแหน่งที่ว่าง
เลิกประชุมเวลา ๑๘.๕๕ นาฬิกา
(นายพิเชษฐ์ กิติสิน)
รองเลขาธิการวุฒิสภา รักษาราชการแทน เลขาธิการวุฒิสภา
สรุปผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
ตั้งกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
จำนวน ๓ ฉบับ ดังนี้
๑. ร่างพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ. ….
๒. ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. ….
๓. ร่างพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน พ.ศ. ….
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ