FTA ไทย-ออสเตรเลีย ใกล้คลอด !! เตรียมลงนามกลางปีนี้…พร้อมบังคับใช้ 1 ม.ค. 48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 26, 2004 08:06 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้การจัดทำความตกลง FTA ไทย-ออสเตรเลีย ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ (กนศ.) พิจารณาในวันที่ 26 เมษายน 2547 คาดว่ารัฐมนตรีการค้าของไทยและออสเตรเลียจะมีการลงนามร่วมกันในกลางปีนี้ เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป โดยใช้ชื่อว่า AFTA (Thailand- Australia Free Trade Agreement : TAFTA) นาง สาวชุติมา กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า แม้ออสเตรเลียจะเป็นตลาดขนาดเล็ก มีประชากร 19.6 ล้านคน แต่ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพเนื่องจากเป็นประเทศพัฒนาแล้ว มีอำนาจการซื้อสูง ประชากรมีรายได้ต่อหัวสูงถึง 1ล้านบาทต่อปี ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยสามารถปรับปรุงคุณภาพ มาตรฐานสินค้าและบริการ รวมทั้งการตลาดให้สอดคล้องกับข้อกำหนดและความต้องการของผู้บริโภคจะทำให้สินค้าและบริการของไทยมีโอกาสเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียได้มากขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาในอุตสาหกรรมหลัก ๆ จะพบว่าอุตสาหกรรมของไทยที่จะได้ประโยชน์จากการเปิดตลาด FTA ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนตร์และชิ้นส่วน คาดว่าผู้ผลิตรถยนต์ในไทย เช่น โตโยต้า อีซูซุ และมิตซูบิชิ จะสามารถส่งออกไปออสเตรเลียได้มากขึ้นหากมีการลดภาษีนำเข้าลง โดยปัจจุบันออสเตรเลียเป็นตลาดรถปิคอัพที่สำคัญของไทยอยู่แล้ว โดยนำเข้าจากไทยปีละประมาณ 85% ของความต้องการทั้งหมด ซึ่งการทำ FTA จะช่วยเสริมตลาดส่งออกรถยนต์จากไทยเพิ่มขึ้นถึง 30% ทั้งในส่วนของรถปิคอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็ก อุตสาหกรรมอาหาร ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ใช้มาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ หรือ SPS ที่เข้มงวดมาก ไทยและออสเตรเลียได้ตั้งกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้าน SPS และยอมรับการแก้ไขปัญหาสุขอนามัยให้สำเร็จภายใน 2 ปี ซึ่งจะทำให้สินค้าหลักของไทย เช่น มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ ทุเรียน สับปะรด มะม่วง เนื้อไก่ และกุ้ง เข้าตลาดออสเตรเลียได้ โดยขณะนี้ออสเตรเลียได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ มังคุด ลิ้นจี่ และ ลำไย เสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งไทยจะสามารถเริ่มส่งออกได้ในฤดูการผลิตนี้ ในขณะเดียวกันสินค้าประเภทส้ม หน่อไม้ฝรั่ง เนื้อวัว เนื้อแกะ และนม ผลิตภัณฑ์นมของออสเตรเลียก็สามารถเข้ามาขายในไทยได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามในการเจรจาออสเตรเลียยอมรับให้ไทยจัดสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าอ่อนไหวโดยไทยจะค่อยๆ ทยอยลดภาษีจากอัตราในปัจจุบันเหลือศูนย์ใน 10-20 ปี เพื่อให้ผู้ผลิตของไทยมีเวลาในการปรับตัว และในระหว่างลดภาษีหากมีการทะลักเข้ามาเกินปริมาณที่กำหนดไว้ก็สามารถกลับไปขึ้นภาษีได้ในอัตราก่อนหน้าที่จะมีการลด อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะได้รับประโยชน์มาก การลดภาษีจะทำให้ไทยสามารถแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง เช่น จีน อินโดนีเซีย ได้ง่ายขึ้น เนื่องจากสินค้าจากไทยจะเสียภาษีร้อยละ 12.5 ในขณะที่สินค้าจากประเทศอื่นๆ จะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 25 ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวในออสเตรเลียยังเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นใช้แรงงานในการผลิต ขาดศักยภาพในการแข่งขัน โดยสินค้าของไทยที่คาดว่าจะทำตลาดได้ดีขึ้น ได้แก่ เชิ้ต และเสื้อผ้าเด็ก เสื้อผ้า Outdoor Sport เนื่องจากมีความได้เปรียบด้านราคา อีกทั้งผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการตอบสนองการสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและตรงต่อเวลา มีภาพลักษณ์ด้านคุณภาพที่ดี และเชี่ยวชาญด้านการผลิตเสื้อผ้าสำหรับฤดูร้อน จึงทำให้ไทยมีศักยภาพมากในการแข่งขัน อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมพลาสติกเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมของไทยที่มีความแข็งแกร่ง ในขณะที่ในออสเตรเลียมีผู้ประกอบการด้านนี้อยู่น้อยต้องพึ่งพาการนำเข้าสูง โดยผลจากการลดภาษีผ่านกลไก FTA ทำให้สินค้าไทยหลายประเภทมีศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีน มาเลเซีย เกาหลีใต้ และประเทศอื่นที่จำหน่ายอยู่ในออสเตรเลีย อาทิ เม็ดพลาสติก ถุงพลาสติก กระสอบ อุปกรณ์กีฬา เครื่องใช้ในครัวที่ทำด้วยพลาสติก เป็นต้น การค้าภาคบริการและการลงทุน ทางด้านการค้าบริการ ออสเตรเลียเปิดตลาดให้คนไทยเข้าไปลงทุนและทำงานได้ในทุกสาขาบริการ โดยสาขาบริการที่ไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปประกอบธุรกิจในออสเตรเลีย อาทิ บริการซ่อมรถยนต์ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร สถาบันสอนภาษาไทย สอนทำอาหารไทย สอนนวดไทย และการผลิตสินค้าทุกประเภท ในขณะที่ไทยเปิดตลาดให้คนออสเตรเลียถือหุ้นข้างมากในกิจการบางประเภทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนอยู่แล้ว อาทิ ที่ปรึกษาธุรกิจ การก่อสร้างขนาดใหญ่ สถาบันอุดมศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ โรงแรม มารีน่า และเหมืองแร่ โดยเปิดให้ออสเตรเลียถือหุ้นได้ร้อยละ 60 นางสาวชุติมา ยังกล่าวด้วยว่า โดยสรุปสินค้าของทั้งไทยและออสเตรเลียส่วนใหญ่มีลักษณะเสริมกันมากกว่าแข่งกันเพราะต่างคนต่างเก่งในการผลิตสินค้าคนละประเภท ดังนั้นการเปิดตลาดจึงเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาดมากขึ้น อีกทั้งในออสเตรเลียมีคนเอเชียและคนท้องถิ่นที่ชอบสินค้าและรสชาติอาหารของไทยมาก ดังนั้นสินค้าไทยจึงมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมากหากมีการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ปรับปรุงรูปแบบให้สนองความต้องการ และส่งเสริมการตลาดอย่างสม่ำเสมอ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775-สส-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ