บันทึกการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญทั่วไป)

ข่าวการเมือง Wednesday April 28, 2004 16:02 —รัฐสภา

                         บันทึกการประชุมวุฒิสภา
ครั้งที่ ๒๑ (สมัยสามัญทั่วไป)
วันจันทร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๔๗
ณ ตึกรัฐสภา
เริ่มประชุมเวลา ๐๙.๓๕ นาฬิกา
เมื่อสมาชิกฯ มาประชุมครบองค์ประชุม นายสุชน ชาลีเครือ ประธานวุฒิสภา
และนายสหัส พินทุเสนีย์ รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ขึ้นบัลลังก์
ประธานวุฒิสภาได้กล่าวเปิดประชุม แล้วแจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเรื่อง
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๑/๒๕๔๗ ลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง ประธานรัฐสภา
ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๒๖๖ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจ
หน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญฯ ในการตราร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ....
มีความโดยสรุปว่า การที่รัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ....
พร้อมส่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรี
นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๓
หากก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ได้ตรวจพบปัญหาข้อความที่ขัดแย้งกัน
ในร่างพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นความไม่สอดคล้องในการดำเนินการให้ถูกต้องตรงตามมติของวุฒิสภา
ที่ให้คงไว้ตามร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร เฉพาะมาตรา ๑๘ (๙) และมาตรา ๕๒ รัฐสภาในฐานะ
ที่เป็นองค์กรให้คำแนะนำและยินยอมในการตราร่างพระราชบัญญัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๒
ย่อมจะนำร่างพระราชบัญญัตินั้นกลับคืนมาพิจารณาปรับปรุงให้ถูกต้องสมบูรณ์ตรงตามมติของ
วุฒิสภาเฉพาะประเด็นที่ไม่สอดคล้องกันตามคำร้องดังกล่าวนั้นเสียก่อนแล้วจึงส่งให้นายกรัฐมนตรี
นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๙๓
ต่อไปได้
ประธานรัฐสภาได้มีหนังสือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ที่ สผ ๐๐๐๑/๓๑๓๓ ลงวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๗ แจ้งผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
พร้อมทั้งขอให้วุฒิสภาพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อไป
ซึ่งประธานวุฒิสภาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ในการดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. ….
ให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น สมควรดำเนินการ
โดยทางธุรการของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จึงมอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาแนวทางการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในมาตรา
ที่มีความคลาดเคลื่อนไม่สอดคล้องกัน โดยมีเลขาธิการวุฒิสภาเป็นประธานคณะทำงาน
และคณะทำงานดังกล่าวได้รายงานผลการพิจารณาดำเนินการแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ
มหาวิทยาลัยราชภัฏ พ.ศ. …. ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อประธานวุฒิสภาแล้ว
ซึ่งมีความเห็นโดยสรุปว่า สมควรดำเนินการแก้ไขมาตรา ๑๗ (๙) (ในคำวินิจฉัยของ
ศาลรัฐธรรมนูญเป็นมาตรา ๑๘ (๙)) และมาตรา ๕๑ (ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
เป็นมาตรา ๕๒) ให้เป็นไปตามร่างเดิมของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สอดคล้องและเป็นไปตามมติ
ของวุฒิสภา ซึ่งที่ประชุมวุฒิสภาได้รับทราบผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓๑/๒๕๔๗
ลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ต่อมา ประธานวุฒิสภาได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอนำเรื่อง การขยายเวลาการพิจารณา
ร่างพระราชบัญญัติ รวม ๔ ฉบับ ให้ที่ประชุมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ประธานวุฒิสภา
จึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว ตามลำดับ ดังนี้
๑. ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พ.ศ. ....
ร่างพระราชบัญญัติวิชาชีพกายภาพบำบัด พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๒
พฤษภาคม ๒๕๔๗ ตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา ๑๗๔ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาได้ทั้ง ๓ ฉบับ
๒. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการเฉลี่ยความเสียหายทั่วไป
จากภยันตรายในการเดินเรือ พ.ศ. .... ขอขยายเวลาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ออกไปเป็นกรณีพิเศษ อีก ๓๐ วัน นับแต่วันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ ตามรัฐธรรมนูญฯ
มาตรา ๑๗๔ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ขยายเวลาได้ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ร้องขอ
จากนั้น ประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภาคนที่สอง ได้ผลัดเปลี่ยนกัน
ทำหน้าที่ประธานของที่ประชุม โดยประธานของที่ประชุมได้ปรึกษาที่ประชุมเพื่อขอเลื่อนกระทู้ถาม
ลำดับที่ ๖ ขึ้นมาพิจารณาต่อจากกระทู้ถามลำดับที่ ๑ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ
ประธานของที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณากระทู้ถาม ตามลำดับ ดังนี้
๑. กระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาความแห้งแล้งและการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค
ในชนบททั่วประเทศไทย ของนายบุญทัน ดอกไธสง ถามนายกรัฐมนตรี
๒. กระทู้ถามด่วน เรื่อง การพัฒนาการชลประทานในระบบท่อ ของนายอุบล เอื้อศรี
ถามนายกรัฐมนตรี
ในการพิจารณากระทู้ถามลำดับที่ ๑ และลำดับที่ ๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามทั้ง ๒ กระทู้ดังกล่าว
๓. กระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาการสอบคัดเลือกและแต่งตั้งตำแหน่งผู้อำนวยการ
และรองผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ของนายผ่อง เล่งอี้
ถามนายกรัฐมนตรี
๔. กระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาในการแบ่งเขตพื้นที่การศึกษา ของนายวิทยา มะเสนา
ถามนายกรัฐมนตรี
๕. กระทู้ถามด่วน เรื่อง นโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาลและการปฏิรูปการศึกษา
ของนายวิบูลย์ แช่มชื่น ถามนายกรัฐมนตรี
๖. กระทู้ถามด่วน เรื่อง ปัญหาในการบริหารการปฏิรูปการศึกษา
ของนายคำพันธ์ ป้องปาน ถามนายกรัฐมนตรี
ในการพิจารณากระทู้ถามลำดับที่ ๓ ถึงลำดับที่ ๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง
ศึกษาธิการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตอบกระทู้ถามทั้ง ๔ กระทู้ดังกล่าว
ต่อจากนั้น ประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ
ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติและความประพฤติของบุคคลผู้ได้รับ
การเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ตามมาตรา ๑๓๕ ประกอบมาตรา ๓๐๒ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งที่ประชุมมีมติ
ให้ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติฯ จำนวน ๑๑ คน ประกอบด้วย
๑. นายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา ๒. นายไสว พราหมณี
๓. นางอรัญญา สุจนิล ๔. ร้อยตรี อำนวย ไทยานนท์
๕. นายสันติ์ เทพมณี ๖. พลตำรวจตรี สนาม คงเมือง
๗. นายนภินทร ศรีสรรพางค์ ๘. นายณรงค์ นุ่นทอง
๙. นายทองใบ ทองเปาด์ ๑๐. พันตำรวจเอก ไพจิตร ศรีคงคา
๑๑. พลเอก วัฒนา สรรพานิช
หลังจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้เลื่อนการพิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการ
พิจารณาเสร็จแล้วลำดับที่ ๔.๑๑ ขึ้นมาพิจารณาก่อน ประธานของที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุม
พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว ตามลำดับ ดังนี้
๑. รายงานการพิจารณาศึกษาเพื่อปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา
พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อคณะกรรมาธิการฯ
เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ
พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ จำนวน ๒๙ คน ประกอบด้วย
๑. นายเกษม ชัยสิทธิ์ ๒. พลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์
๓. นายชุมพล ศิลปอาชา ๔. นายเด่น โต๊ะมีนา
๕. นายถวิล ไพรสณฑ์ ๖. นายธวัชชัย เมืองนาง
๗. นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ๘. พลเอก บัณฑิตย์ มลายอริศูนย์
๙. นายประเกียรติ นาสิมมา ๑๐. นายประสิทธิ์ พิทูรกิจจา
๑๑. นายปราโมทย์ ไพชนม์ ๑๒. นายปรีชา ปิตานนท์
๑๓. พันตำรวจเอก ไพจิตร ศรีคงคา ๑๔. พลเอก มนัส อร่ามศรี
๑๕. พลเอก วัฒนา สรรพานิช ๑๖. นายวิเชียร เปาอินทร์
๑๗. พลตำรวจตรี วีระ อนันตกูล ๑๘. นายสนิท กุลเจริญ
๑๙. พันเอก สมคิด ศรีสังคม ๒๐. นายสราวุธ นิยมทรัพย์
๒๑. นายสันติ์ เทพมณี ๒๒. นายสุนทร จินดาอินทร์
๒๓. นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ๒๔. นายสุรสิทธิ์ ฉัตรชัยเดช
๒๕. นายสมบูรณ์ ทองบุราณ ๒๖. นายการุณ ใสงาม
๒๗. นายวิสิษฐ์ เตชะธีราวัฒน์ ๒๘. นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์
๒๙. นายณรงค์ นุ่นทอง
โดยมีกำหนดการปฏิบัติภารกิจภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่วุฒิสภามีมติ
ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดนี้ อนึ่ง ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้ส่ง ญัตติ เรื่อง
ขอแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งพลตำรวจเอก สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์
เป็นผู้เสนอ ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาด้วย
๒. รายงานการพิจารณาศึกษาบทบาทและการดำเนินกิจกรรมขององค์กร
พัฒนาเอกชน ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยเป็นเรื่องที่เลื่อนมาจาก
การประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๒๐ (สมัยสามัญทั่วไป) วันอังคารที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๗
เมื่อคณะกรรมาธิการฯ เสนอรายงาน และมีสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบ
ด้วยกับรายงานพร้อมทั้งข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ เพื่อส่งไปยังคณะรัฐมนตรี
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป
ต่อจากนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเรื่อง ตั้งกรรมาธิการแทนตำแหน่งที่ว่าง
รวม ๒ คณะ ให้ที่ประชุมพิจารณา ประธานของที่ประชุมจึงเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องดังกล่าว
ตามลำดับ ดังนี้
๑. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ
และสังคมแห่งชาติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้ง
นายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นกรรมาธิการแทน นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
๒. ตั้งกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา แทนตำแหน่งที่ว่าง ๑ ตำแหน่ง
ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ตั้ง นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นกรรมาธิการแทน นายชงค์ วงษ์ขันธ์
ซึ่งขอลาออกจากตำแหน่ง
เลิกประชุมเวลา ๑๘.๑๐ นาฬิกา
(นายมนตรี รูปสุวรรณ)
เลขาธิการวุฒิสภา
กลุ่มงานรายงานการประชุม
สำนักรายงานการประชุมและชวเลข
โทร. ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๗
โทรสาร ๐ ๒๘๓๑ ๙๑๒๓

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ