รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน ก.ค.48

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 1, 2005 12:00 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 โดยสรุป
จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนกรกฎาคม 2548 เท่ากับ 110.4 สำหรับเดือนมิถุนายน 2548 เท่ากับ 108.7
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.6
2.2 เดือนกรกฎาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 5.3
2.3 เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2548 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้น
ร้อยละ 3.6
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 0.6 และดัชนีราคาสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 2.2 โดยมีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าที่สำคัญ ดังนี้
3.1 สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.6
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- ไก่สด ความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดภายในประเทศและการส่งออก
- ปลาและสัตว์น้ำ ได้แก่ ปลาจะละเม็ดดำ ปลากะพงแดง ปลาทู ปลาหมึกกล้วย
หอยแครง หอยลาย ปูม้า ปลาทูนึ่ง ปลาอินทรีย์เค็ม กุ้งแห้ง และลูกชิ้นปลา ปริมาณที่จับได้ลดลงประกอบกับต้นทุนเชื้อเพลิงมีราคาสูง
- ไข่ ได้แก่ ไข่ไก่ ไข่เป็ด เนื่องจากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดไม่เพียงพอกับความ
ต้องการ
- ผลิตภัณฑ์นม ได้แก่ นมสด นมข้นหวาน ครีมเทียม และนมถั่วเหลือง
- ผลไม้ ได้แก่ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก เงาะ มะม่วง องุ่น ฝรั่งและ
ชมพู่ เป็นช่วงปลายฤดูกาลของผลไม้หลายชนิด ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง
- อาหารสำเร็จรูป ได้แก่ ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยว โจ๊ก ข้าวราดแกง และอาหารตามสั่ง
ผู้ประกอบการปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้น
- เครื่องประกอบอาหาร ได้แก่ ขนมหวาน น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว
ซอสมะเขือเทศ เครื่องปรุงรส และผงชูรส
สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่
- เนื้อสุกร ภาวะการจำหน่ายชะลอตัวเนื่องจากราคาสูงเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ชนิดอื่น ๆ
ผู้บริโภคจึงหันไปบริโภคไก่และสัตว์น้ำทดแทนประกอบกับภาครัฐได้กำหนดให้เนื้อสุกรเป็นสินค้าควบคุม
- ผักสด ได้แก่ แตงกวา ผักกาดขาว ผักคะน้า ถั่วฝักยาว บวบ มะละกอดิบ ฟักเขียว
ฟักทอง มะนาว พริกสด ต้นหอม หัวผักกาดขาว ตำลึง และดอกกุ้ยฉ่าย ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมากตามฤดูกาล
3.2 สินค้าหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 2.2
สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เป็นไปตามภาวะราคา
น้ำมันในตลาดโลก และน้ำมันสำเร็จรูปของตลาดสิงคโปร์ที่สูงขึ้น
- ค่าโดยสารสาธารณะ ได้แก่ ค่าโดยสารรถประจำทางทั้งในท้องถิ่นและนอกท้องถิ่น
จากการที่ ขสมก. และ บขส. ได้ปรับอัตราค่าโดยสารสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2548 นอกจากนี้ค่าโดยสารเครื่องบินได้ปรับสูงขึ้นด้วย
- ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ได้แก่ สบู่ถูตัว ยาสีฟัน น้ำหอม แป้งทาผิว ผลิตภัณฑ์ป้องกัน
และบำรุงผิว ครีมนวดผม ผ้าอนามัย ค่าแต่งผมชาย และค่าแต่งผมสตรี
4. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศปี 2548 (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2548 เท่ากับ 102.7 เมื่อเทียบกับ
4.1 เดือนมิถุนายน 2548 สูงขึ้นร้อยละ 0.7
4.2 เดือนกรกฎาคม 2547 สูงขึ้นร้อยละ 1.9
4.3 เดือนมกราคม - กรกฎาคม 2548 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2547 สูงขึ้นร้อยละ 1.1
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-5850 โทรสาร.0- 2507-5825

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ